

Featured
ZERO TO HERO: “ลุงรีย์” เกษตรกรฮิปปี้ที่เปลี่ยนป่าคอนกรีตเป็นฟาร์มโดยไม่รอวันเกษียณ
By: unlockmen April 8, 2020 181255
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนเจ๋ง ๆ หลายคนหันไปทำเกษตร
เรียกว่าเป็นกราฟที่สวนทางกับยุคที่เรายังเด็กแบบกลับหัวกลับหาง
แม้ไม่อยากจะเรียกว่าเป็นเทรนด์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปลายทางการเกษียณที่หลายคนมองไว้วันนี้ มันเป็นความรู้สึกพอเพียงที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในบัญชี เปลี่ยนมาเน้นการได้ออกไป “มีที่สักที่” ให้ไปเดินรดน้ำ เก็บผักเก็บไข่ที่มีคุณภาพกินอย่างมีความสุขและอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์
ทว่าฝันส่วนใหญ่มันเริ่มต้นใกล้ ๆ วัยเกษียณที่มีเงินก้อน กระทั่งเรามีโอกาสแวะมาที่และได้พูดคุยกับรีย์ – ชารีย์ บุญญวินิจ เกษตรกรหนุ่มเมืองพันธุ์แท้ ที่ล่อแหกทุกกฎการทำเกษตร เฮี้ยนหาหนทางเลี้ยงไส้เดือน ปลูกผักบนปูน แถมในฟาร์มยังมีไก่มากกว่า 5 ตัวแน่ ๆ เท่าที่มองเห็น นี่ยังไม่นับรวมเป็ด เต่า ไปจนถึงหมูขนาดยักษ์อีก 2 ตัว
ชีวิตเขาเนี่ย คนจะว่า “บ้า” ก็คงได้ เพราะถ้าใครยืนยันว่าจะสร้างฟาร์มในกรุงเทพฯ จากพื้นที่ขนาดเล็กที่เคยเริ่มต้นจากโรงรถ เกษตรบนพื้นปูน มันก็แปลกจริง ๆ
“เราใช้ข้อดีของกรุงเทพฯ แต่ว่าเราก็รู้ว่าข้อเสียของกรุงเทพฯ มันคืออะไร ความวุ่นวาย ฝุ่น โน่นนี่นั่นทุกอย่าง เราก็อยู่กับมัน เราไม่มีต่างจังหวัดให้กลับ อยู่กรุงเทพฯ ไปทั้งชีวิต
ไม่งั้นทำยังไงอะ ? ต้องรอเกษียณ 60-70 ไปซื้อที่ต่างจังหวัด แล้วค่อยทำ ค่อยเริ่มเหรอ เราก็อยู่กับไส้เดือนตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า”
7 ปีที่เขามองเห็นความเป็นไปได้ 7 ปีที่เขาค่อย ๆ เปลี่ยนจากอาชีพดีไซเนอร์ อาชีพเชฟ มาเลี้ยงไส้เดือนและต่อยอดจนกลายมันเป็นงานหลักในวัย 32 วัยที่เราว่าคะนองเกินกว่าจะเป็นลุง
คุณเริ่มเป็นเกษตรกรตั้งแต่ตอนไหน?
เราจับผักปลูกลงดินวันนี้เราก็เป็นเกษตรกรแล้ว
คำตอบโคตรเอา…เออจริง ปลูกผักลงไปในดินก็ได้เป็นเกษตรกรจริง ๆ แต่เริ่มต้นง่ายไม่ได้แปลว่าจะกลายเป็นมืออาชีพได้ง่าย เพราะเขาก็ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มามากมายเหมือนกัน
รีย์ (ขอไม่เรียกเขาว่าลุงแล้วกันเพราะอายุเราไม่ห่างกันเท่าไหร่) เรียนจบด้านเซรามิก ต่อโท Interior Design ทำงานมาหลากหลายทั้งงานออกแบบที่เขามองว่ามันปวดหัว จนเปลี่ยนใจไปทำงานเชฟ แต่ก็ไม่แคล้วเจอปัญหาใหม่เรื่องสภาพร่างกายที่ปวดตัว เขาจึงพยายามหาบาลานซ์จนวันนี้ค้นพบว่างานเกษตรกรนี่แหละตอบโจทย์
เส้นทางการเข้าสู่วงการเลี้ยงไส้เดือน เริ่มต้นจากการอิทธิพลงานครัวที่เขาคลุกคลีจนเห็นว่ามันคือต้นทางของขยะมากมาย ประกอบกับองค์ความรู้สมัยบวชด้านการเลี้ยงไส้เดือนที่เรียนรู้จากพระนักพัฒนา เมื่อนำมาผสมผสานกันแล้วจึงได้วิธีลดขยะจากการทำปุ๋ย จากนั้นก็ค่อย ๆ ฝึกซ้อมเปลี่ยนจากงานอดิเรกเป็นงานจริงอย่างมืออาชีพ
“ผมซ้อมตั้ง 5 ปีนะ กว่าจะออกมาเต็มตัว ระหว่างทำเกษตรเนี่ย เมื่อเรารู้สึกว่างานที่เราทำมันไปเบียดเบียนงานหลัก เราต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่างานอดิเรกที่เราทำ หรือมันไปได้ดี ก็ต้องให้น้ำหนักกันไป ค่อย ๆ เฟดออกมา แต่ก็ทำจริงจังนะ คือตอนแรงเยอะ ๆ 27-28 เนี่ย ทำ 200-300% ก็เหนื่อยกว่าคนอื่น 2-3 เท่า แต่มันก็สนุก
มันไม่ได้อยู่กับคนเยอะ แต่ว่าอยู่กับผัก กับดิน กับไส้เดือน มันก็ไปเรื่อย ๆ เสร็จแล้วความชำนาญก็เกิดขึ้นมันก็เริ่มมั่นใจ พอมั่นใจแล้วก็ลงมือทำ ทำเท่า ๆ กับคิด ส่วนใหญ่คิดแล้วมักจะไม่ได้ทำ บางคนทำแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรเลย”
“ผมไม่ได้รู้นะไส้เดือนมีกี่ปล้อง ผสมพันธุ์ตรงไหนยังไม่ค่อยแน่ใจเลย แต่รู้ว่ามันเอาไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง มันไปสุดอะไรได้บ้าง แล้วไส้เดือนแต่ละพันธุ์ มันมี 3,000 กว่าชนิด เรารู้แค่ไม่กี่ชนิดที่เอาไปใช้งานได้จริง”
บทสนทนาที่ค่อย ๆ น่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ หัวเราะดังขึ้นเรื่อย ๆ มาจากคำพูดและท่าทีที่รีย์ไม่ได้แสดงออกว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าถึงยากหรือต่างจากคนธรรมดายังไง สิ่งที่เขาเรียนรู้หรือเก่งอาจจะไม่ใช่ทุกรายละเอียดแต่เป็นการเข้าใจภาพรวม บางทีการทำเกษตร รวมทั้งงานอื่น ๆ ถ้าเราไม่ “ลงลึก” ระดับนักวิชาการบนหิ้ง แต่ “รู้และเข้าใจ” ว่าสิ่งนี้หากลงมือทำผลลัพธ์ที่ตามมาคืออะไร เราเรียกว่ามันคือ “wisdom” หรือ “ภูมิปัญญา” ซึ่งถ้าปรับใช้ได้ย่อมเป็นประโยชน์และเข้าถึงคนหมู่มากได้มากกว่า
ทุก wisdom ที่มีล้วนสั่งสมจากความเข้าใจและประสบการณ์ สำหรับคนที่ไร้ความรู้และขาดประสบการณ์ด้านเกษตรกรรมแบบเขา เขาตัดสินใจใช้วิธีของตัวเองวันนั้นด้วยการลุยตามแผนที่คิด แม้พอทดลองแล้วมันจะไม่ตรงตามที่คิดไว้ แต่ก็ได้พบทางออกที่เป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ
รีย์เคยตั้งต้นจากจะผลิตปุ๋ยให้ร้านต้นไม้ ร้านต่าง ๆ แต่พอลงไปทดสอบ ไปเปิดรับจัดสวน ซื้อเหมาก็ติดปัญหาเรื่องการลงปุ๋ยที่มีคู่แข่ง เจอเรื่องเครดิตได้เงินช้า เมื่อเทียบแล้วก็ไม่คุ้มราคาต้นทุนเวลาและราคาของปุ๋ยจึงหันมาทำเอง ใช้งานเอง โดยมองจุดเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ได้อินไซต์คนเมืองอย่างการลดปริมาณขยะที่เราทุกคนก่อ
จะดีแค่ไหนถ้าเราทำให้มันลดลงจนเหลือ 0 ได้อย่างครบวงจร
“อะไรที่คิดทั้งหมดน่ะมันต้องลงไปเล่นดู พอลงไปเล่นก็จะรู้ว่าทำแล้วเอามาใช้เองน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องที่สุด เพราะมันตันละหมื่น โลละสิบบาท ทำเกือบตายอ่ะ แล้วไม่เอามาใช้ ไปเน้นขายปุ๋ย ไม่มีความรู้เกษตรต้องไปนั่งขายปุ๋ยทีละคนอีกเหรอ
เพราะฉะนั้นจะรวยกับไส้เดือนด้วยการขายปุ๋ยทำฟาร์มไส้เดือนไม่น่าจะเป็นความสามารถที่ทุกคนทำได้ ผมเลยกลับมาสนใจเรื่องเล็ก ๆ ว่าไส้เดือนกำจัดขยะได้ ชวนคนเมือง ชวนคนที่อยู่บ้านกำจัดขยะประจำครัวเรือน เรื่องเล็ก ๆ แต่มันมีคนอยากรู้เกิดใหม่เรื่อย ๆ”
เครื่องผลิตปุ๋ยและน้ำ EM จากขยะและเศษอาหารขนาดใหญ่
หลังจากประสบการณ์เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง ปัจจุบันรีย์เริ่มปรับตัวและเล่นธุรกิจอย่างมีแบบแผนขึ้น เขาเลือกถอยบางงาน ไม่ได้ลงไปชกทุกแมตช์เหมือนเก่า แต่เลือกตั้งรับและลงในเฉพาะในจังหวะที่เห็นสมควร
“มันไม่ได้ศึกเดียวหนิ ออมกำลังไว้ตอนนี้ ทำตัวเองให้ดี อีกสักพักก็อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะกับเรา แทนที่เราจะมาตะบี้ตะบันทำ ป่วย หาย ตะบี้ตะบันทำ ทำปกติแต่ทำได้ทุกวันแล้วมีความสุข แล้วไม่เล่นศึกไหนกับใคร มันก็อาจจะเป็นทางสำหรับคนบางคน
เราก็ไม่ได้ยอมแพ้นะ แต่เราแค่ถอยออกมาดูก่อนว่าคนเขาทำอะไรกัน ในมุมที่เราทำแล้วฟาร์มดีขึ้น คนรอบตัวดีขึ้น เราก็ทำ”
การทำเกษตรฉบับรีย์ เขาอธิบายเนื้องานว่ามันไม่ต่างจากการเป็น CEO คนหนึ่ง อาจจะต่างที่เล่นกับหมาได้ แต่ด้านอื่น ๆ เขาก็ทำมันอย่างเป็นระบบระเบียบ เป็นนักวิทยาศาสตร์กัน มีวิจัยมีการทดลอง มีการจดบันทึก มีการพัฒนา มีแผน มีเป้า เราจึงขอยก 3 หลักการทำงานของเขามาแบ่งปันกันต่อไปนี้
1. ทำธุรกิจส่วนตัวต้องมีวินัย: รีย์เป็นเกษตรกรที่ทำงานบนพื้นที่ของครอบครัว แต่เขายืนยันว่าทุกตารางนิ้วที่เขาใช้พื้นที่ของที่บ้าน เขาต้องจ่ายค่าเช่า คำนวณต้นทุน และทำทุกอย่างอย่างมีระบบและวินัย รวมทั้งหากตัดสินใจขยายพื้นที่ ควรต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปจะสามารถหาประโยชน์ให้ได้มากกว่าการใช้เดิม
“ถ้าเราคิดว่า เฮ้ยทำไมที่ตัวเองแล้วต้องเสียตังค์อีกวะ เมื่อไรจะได้ฟรีวะ เราอาจจะล่มไปแล้ว เพราะเราติดกับการได้ฟรีแล้วเราไม่รู้ต้นทุนที่ที่มันทำงานอยู่ มันมีรถจอดอยู่ ถ้าเราไปใช้งานเราก็ควรจะหาเงินให้มากกว่าไอ้รถที่มาจอด มันมีคนนอนอยู่ในห้อง ถ้าเราจะใช้งานเราก็ต้องหาเงินให้มากกว่าคนที่มันอยู่ในห้อง ถ้าเราทำได้ เราก็มีสิทธิ์จะเพิ่ม“
2. เกษตรกรยังมีตลาดใหม่เสมอ: คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตลาดสินค้าเกษตรถูกผูกขาดด้วยเจ้าใหญ่ ๆ หมดแล้ว แต่ถ้าศึกษาให้ดีเราจะพบว่ามีตลาดใหม่ที่มีพื้นที่เหลืออยู่ เพราะขาใหญ่กับรายย่อยครองตลาดและผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมต่างกัน
“เราก็ต้องศึกษา Supply Chain เราต้องมีความรู้ เราจะสร้างตลาดใหม่ โอ้โห ขาใหญ่เขาขายผักกันเป็นตัน เราขายผักเป็นอะไร? เป็นต้นไหมล่ะ ถ้าเราบอกว่าเราขายเป็นต้นมันก็คนละตลาดแล้ว มันไม่เหมือนกัน
เขาบอกว่าขาใหญ่เขาขายเป็นปิ๊กอัป เราขายฝาก Lineman ขาใหญ่เขาจะเล่นไหม หรือถ้าเขาลงมาเล่นเขาจะชำนาญเท่าเราไหม ขาใหญ่บอกตัดผัก วัยรุ่นบอกขายผักเป็นกระถาง ตลาดเดียวกันหรอ คนละตลาดกัน ไม่เกี่ยวกันเลย ตลาดใหม่มีช่องว่างอีกเพียบ”
3. ใช้นวัตกรรมอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด: เกษตรกรไม่ได้จำเป็นจะต้องเดินไปรดน้ำเหมือนเก่า หากรู้จักการวางระบบนวัตกรรมช่วยควบคุม ฟาร์มลุงรีย์วันนี้มีระบบสมาร์ตฟาร์มช่วยดูแล แต่เขาก็ยังต้องเรียนรู้และปรับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยถือคติว่าเรารู้ว่าขอบโลกเขาฉลาดกันแค่ไหน เราเลยคิดว่าตัวเองโง่อยู่ตลอด และเปิดรับสิ่งใหม่
“สมาร์ตฟาร์มยังใช้ประสิทธิภาพของมันออกมาได้ 20% เอง ยังตั้งระบบของมันไม่เก่ง ยังใช้น้ำไม่คุ้มทุกจุด ยังต้องมายืนรดน้ำอยู่ เพราะเราไม่รู้นี่หว่า ตรงนี้ต้องค่อย ๆ ไป ไม่งั้นมันก็จะเป็น Over Technology คุณใช้เทคโนโลยีเยอะ แต่ผลผลิตของคุณไม่เห็นจำเป็นเลย เราต้องหาสิ่งที่มันแมตช์กัน จำเป็นต้องทำ“
ฉากหน้าวันนี้อาจจะเป็นความสำเร็จที่มองเห็น แต่เบื้องหลังความล้มเหลวที่ผ่านมายังคงจารึกในความทรงจำของคนที่เคยเผชิญ ‘อุปสรรค‘ คือบทหนึ่งของความสำเร็จวันนี้ที่เขาไม่เคยลืม
“ไอ้เรื่องทำผิดพลาดพังเนี่ยสุดยอด ทำพังเยอะ เอาอะไรจะมาสร้างให้มั่นใจ รายได้เหรอ? การอยู่รอดเหรอ? เฮ้ย ขาดทุนเละเทะ ปีสองปีแรก เราไม่ได้ไปบอกใคร
แต่มันขาดทุนในเนื้องานที่มันอาจจะแปรมาเป็นของ อาจจะแปรมาเป็นสิ่งก่อสร้าง มันอาจจะแปรมาเป็นฟาร์ม ซึ่งมันไม่ได้ขาดทุนเสียทีเดียว มันคือความรู้อะไรต่าง ๆ ที่เราสะสมแล้วเราค่อยมั่นใจ
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว การเลี้ยงไส้เดือนก็เหมือนกิ้งกืออ่ะ มันก็ต่อสู้กับทัศนคติของคนว่าไส้เดือนน่าเกลียดน่ากลัว จนเดี๋ยวนี้พ่อแม่ซื้อไส้เดือนให้ลูกไปฝึกเลี้ยง โรงเรียนอนุบาลมีหลักสูตรต่าง ๆ มีเป็นปุ๋ยไส้เดือน
งานวิจัยสิ่งมีชีวิตใหม่ในระบบนิเวศป่าที่เหมาะแก่การย่อยสลายเศษพืช เศษอาหาร ฯลฯ
มันอาจจะเป็นตรงนี้หรือเปล่าที่เราเหนื่อย แต่เรารู้ว่ามันดี ไอ้จังหวะนั้นน่ะที่ไม่ได้มีใครมาบุกตะลุยด้วยกัน ใครจะรู้ว่ามันเหนื่อยขนาดไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เป็นเหมือนชุดความรู้ติดตัว เออ ถ้าคุณจะเปลี่ยนทัศนคติจากสัตว์ที่น่ากลัวแต่มีประโยชน์ มันก็จะใช้หลักคิดคล้าย ๆ กัน บอกเขาให้เขาลองทำตาม เขาได้สัมผัสแล้วเขาก็จะรู้ว่าประโยชน์มันกลบความน่ากลัวไปหมดเลย”
แล้วเฟลบ้างไหม?
ไม่มีเฟล ต้องบิ๊วตัวเองได้ดิ ต้องเติมไฟให้แพสชั่น ก็ต้องไปกินแพสชั่น (กินแพสชั่นยังไง) อ้าว ไม่บอก ไปหาเอาเอง แต่ละคนมันมีวิธีไม่เหมือนกันหรอก (หัวเราะ)
ผมมีลูกศิษย์เกิน 1,000 คน เก่งกว่าผมอีก ทำได้ดีกว่า ทำงานส่งออก สารพัด เราก็ดีใจ ตรงนั้นอาจจะเป็นแพสชั่น หรือเปล่า ความรู้โง่ ๆ ของเรา เลี้ยงไส้เดือนเป็น สอนเขาเป็น ‘ทำฟาร์มเจ๋งขนาดนั้นเลยหรอครับ’ ตื่นเต้นที่เขามาบอกเรา นี่หรือเปล่าแพสชันแลกเปลี่ยนกัน
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของ รีย์ หรือลุงรีย์ ผู้ชายฮิปปี้ ๆ ฮา ๆ ภูมิลำเนากรุงเทพฯ 100% คนหนึ่งที่ไม่ได้มีมาด ไม่ได้เป็นเกษตรกรลุคสวมยูนิฟอร์มลอกมาจากหนังสือเรียน แต่ยังเป็นผู้ชายเมืองที่ชอปปิงยูนิโคล่ แม้จะผลิตอาหารเองได้และเป็นเชฟ แต่ก็เป็นคนปกติที่ยังสั่งอาหารมากินในช่วงเวลานี้ จะต่างก็แค่เขารู้เท่าทันเพราะอยู่ในกระบวนการผลิต
ส่วนใครที่อยากเริ่มต้นวันนี้ เพราะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ข้าวของแพง อยากผลิตอาหารเอง เขาฝากทิ้งท้ายด้วยข้อแนะนำว่า จงเริ่มจากในครัวเรือน เมื่อทำได้ดีมันจะเติบโตต่อไปจนอาจกลายเป็นรายได้หลักของคุณเอง
Photographer: Warynthorn Buratachwatanasiri & Krittapas Suttikittibut