

Life
ZERO TO HERO: ‘แต้ว-สุดาพร’ กับความมุ่งมั่นบนเส้นทางสู่ตำนานนักชกหญิงไทยคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิก
By: NTman September 30, 2021 206372
ผ่านเวลามายังไม่ทันจะครบ 2 เดือน เราเชื่อว่า ณ ตอนนี้ หลายคนคงยังจำความรู้สึกภาคภูมิใจกับการที่ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยได้ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลกในกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุด ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการคว้าเหรียญโอลิมปิกแรกในประวัติศาสตร์มวยสากลหญิงไทย นั้นถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สุดตราตรึงใจพี่น้องชาวไทยในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งที่ผ่านมา
คอลัมน์ ZERO TO HERO วันนี้ จึงอยากนำเสนอเรื่องราวความมุ่งมั่นตั้งใจของ ‘แต้ว-สุดาพร สีสอนดี’ นักชกมวยสากลหญิงทีมชาติไทย ผู้เป็นเจ้าของเหรียญโอลิมปิกประวัติศาสตร์เหรียญที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น ย้อนไปตั้งแต่ก้าวแรกสู่สังเวียนมวยในวัยเด็ก แม้จะมีเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เธอผู้นี้ก็ยังคงมุ่งมั่นอดทนฟันฝ่า จนถึงวันที่ประสบความสำเร็จเป็นฮีโร่ที่สร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลก เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนสามารถไปสู่เป้าหมายในเวทีชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน
ก่อนจะมีชื่อเสียง เกียรติยศ รวมถึงเงินรางวัลอัดฉีดจำนวนมากมายอย่างทุกวันนี้ หากย้อนไปราว ๆ 20 กว่าปีที่แล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่ ‘แต้ว-สุดาพร’ ยังคงเป็นเด็กหญิงตัวน้อย ที่บังเอิญได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับสังเวียนผ้าใบใน “สุดยอดการช่าง” ค่ายมวยไทยเล็ก ๆ ที่คุณพ่อของแต้วเปิดขึ้นมาเพื่อฝึกมวยให้กับเด็ก ๆ ที่อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี บ้านเกิดของเธอ
จากความซุกซนตามประสาเด็ก ที่เห็นการปะทะหมัดมวยเป็นเรื่องสนุก จนอยากซ้อม อยากออกหมัด โดยมีคุณพ่อเป็นครูมวย และกระสอบทรายเป็นคู่ซ้อม ในที่สุดเมื่ออายุย่างเข้า 11 ปี แต้วก็มีโอกาสได้ลงนวมแข่งขันจริงจังบนสังเวียนมวยไทย จากการชักชวนของคุณพ่อ และความตั้งใจของเธอที่อยากชกมวยหาเงินมาช่วยจุนเจือทางบ้าน
ซึ่งเวทีแรกที่เดบิวต์นักชกมวยไทยหน้าใหม่ฉายา “น้องแต้ว สุดยอดการช่าง” สู่เส้นทางมวยหญิงอย่างเป็นทางการ คือเวทีในงานบุญบั้งไฟ ที่อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี และไฟต์แรกนี้จบลงอย่างสวยงามด้วยชัยชนะของเธอ พร้อมเงินค่าตัว 500 บาท
แม้จะดูเป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับเด็ก 11 ขวบ แต่เมื่อเริ่มเดินสายแบบจริงจังต่อเนื่องไปสัก 5-6 รายการ ด้วยความที่ต้องตั้งใจซ้อมหนัก แถมยังต้องไปเจ็บตัวบนเวที แม้จะชนะในการแข่ง แต่ความเหนื่อยล้าก็ทำเอาเด็กหญิงแต้วคนนี้แอบท้อจนอยากเลิกชกเหมือนกัน
“ผ่านไปได้ประมาณ 5-6 ไฟต์มันเริ่มรู้สึกเหนื่อยอะค่ะ ต้องซ้อมหนัก ขึ้นไปต่อยก็เจ็บตัว แต่ที่ยังตัดสินใจไปต่อเพราะคำของคุณพ่อที่พูดกับแต้วขึ้นมาคำหนึ่งว่า เห็นมั้ยตัวเองหาเงินได้ตั้งแต่เด็ก มันเลยทำให้เราภูมิใจ และเราก็อยากแบ่งเบาภาระทางครอบครัวมันทำให้ต้องสู้ต่อ”
แต้วเล่าย้อนให้เราฟังถึงสมัยที่ยังเป็นสาวน้อยนักมวยไทย ที่แม้จะเหนื่อยจะท้อแค่ไหน แต่ความตั้งใจในการแบ่งเบาภาระครอบครัวทำให้เธอยังคงเดินหน้าในเส้นทางมวยต่อไป
หลังจากตัดสินใจลุยต่อเดินสายไล่ล่ารางวัลบนสังเวียนมวยไทยเพื่อหารายได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีมากมายนัก ทำให้หลังจากที่ ‘แต้ว-สุดาพร’ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เธอได้เลือกไขว่คว้าโอกาสด้วยการเบนเข็มสู่เส้นทางมวยสากล เพื่อโควต้าเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่น
“ตอนนั้นแต้วรู้สึกว่าเรายังชอบมวยไทยมากกว่า ระหว่างเรียนมวยสากล ก็ยังมีซ้อมมวยไทย ไปเดินสายต่อยหาเงินอยู่เลย แล้วในช่วงแรก ๆ เวลาซ้อมมวยสากลก็มีเบื่อบ้าง เพราะการเคลื่อนไหวการออกอาวุธมันไม่หลากหลายเท่ามวยไทย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ตั้งใจกับมวยสากลนะ ในเมื่อเราเลือกเข้ามาตรงนี้แล้วเราก็รู้ตัวว่าต้องทำมันให้ดี เพราะเราอยากมีโอกาสได้ติดทีมชาติ”
แต้วเล่าให้เราฟังถึงช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาสัมผัสกับมวยสากล ซึ่งเป็นเหมือนโลกใบใหม่ที่ต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร แต่ด้วยความตั้งใจฝึกซ้อม ทำให้ผลงานในฟากฝั่งมวยสากลของเธอคนนี้ก็ทำได้ดีไม่ใช่เล่น จนสามารถคว้าแชมป์มวยสากลหญิงในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติมาครอง เป็นใบเบิกทางให้ แต้ว-สุดาพร’ ได้เข้าแคมป์ทีมชาติเมื่ออายุ 16 ปี
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่าชีวิตของเธอคนนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 16 แต่ก็ใช่ว่าจะได้เฉิดฉายสร้างผลงานในฐานะตัวจริงได้ทันที เพราะ ณ ช่วงเวลานั้นยังมีรุ่นพี่ฝีมือดีอย่าง ทัศมาลี ทองจันทร์ และ เปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม เป็นตัวหลักของสมาคม น้องใหม่อย่าง ‘แต้ว-สุดาพร’ จึงแทบไม่มีแมทช์แข่งขันใด ๆ ทำได้แค่อดทนตั้งหน้าตั้งตาซ้อมในฐานะตัวสำรอง ตลอด 2 ปีในแคมป์ทีมชาติไทย ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือของโรงเรียนกีฬาที่ยังคงหารายการแข่งขันมวยไทยให้เธอได้ขึ้นชก เพื่อนำเงินค่าตัว และเงินเบี้ยเลี้ยงทีมชาติส่งกลับไปให้ทางบ้านทุกเดือน
แม้จะมีภาระทางบ้านที่ต้องดูแล แต่แต้วได้เปิดใจกับเราว่า มันมีช่วงเวลาที่เธอตัดสินใจหักดิบกับการชกมวยไทยหาเงิน เพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักมวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติให้เป็นผลสำเร็จ
“หลังจากเข้าไปเก็บตัวได้สักระยะ เรารู้สึกเลยว่ามันยาก เทคนิคมวยสากลของเรามันคนละเรื่องกับพี่ ๆ ทีมชาติคนอื่นเลย เรามีแค่ร่างกาย หัวใจ แล้วก็พอมีทางมวยจากการชกมวยไทยบ้าง พอไปซ้อมกับพี่เค้าแล้วมันจะมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าทำไมพี่เค้าทำได้ แล้วเราทำไม่ได้ เราโดนพี่เค้าต่อย เราเหนื่อย เราเจ็บ จนคิดว่าต้องเก่งให้ได้แบบเค้าบ้าง”
“ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจว่าจะเลือกจริงจังกับมวยสากลอย่างเดียวแล้ว ไม่เอาแล้วมวยไทย เพื่อทุ่มเวลาตั้งใจซ้อมเทคนิคมวยสากลให้ดี ซ้อมให้หนักกว่าเก่า หลังจากฝึกซ้อมเสร็จ ก็กลับมาซ้อมเทคนิคที่โค้ชสอนกับตัวเองคนเดียวหน้ากระจกทุกวัน”
การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะมุ่งมั่นบนเส้นทางมวยสากลในครั้งนั้น ทำให้เธอสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยการประเดิมภารกิจทีมชาติแบบงดงาม ด้วยการคว้าเหรียญทองจากศึกซีเกมส์ 2011 ที่อินโดนีเซีย และยังคงเดินหน้าคว้าเหรียญเงินซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมา, เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย ตามมาด้วยตำแหน่งรองแชมป์ในการแข่งขันมวยสากลหญิงชิงแชมป์โลก ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในปีเดียวกัน
นอกจากนี้เธอยังกลับมาทวงแชมป์คว้าเหรียญทองในซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนที่จะจัดการนักชกจากอุซเบกิสถาน ซิวตั๋วไปสร้างตำนานคว้าเหรียญประวัติศาสตร์ในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา
โตเกียว โอลิมปิก 2020 ไม่ได้เป็นเพียงแค่โอลิมปิกเกมส์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ต้องถูกเลื่อนการจัดแข่งขันมาในปี 2021 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 124 ปี นับตั้งแต่มีโอลิมปิกสมัยใหม่เกิดขึ้นมา แต่นี่ยังเป็นโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ของ ‘แต้ว-สุดาพร’ ด้วยเช่นกัน
เพราะหลังจากที่เธอได้ผ่านสังเวียนมวยมาตั้งแต่เวทีระดับชาติ, ระดับภูมิภาค, ระดับทวีป ไปจนถึงระดับโลกในรายการชิงแชมป์โลก แต่สำหรับ โตเกียว โอลิมปิก 2020 ถือเป็นโอลิมปิกแรกของเธอ และมันคือมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่เธอใฝ่ฝันจะคว้าเหรียญจากรายการนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
แน่นอนว่าเหรียญทองคือความฝันของเธอ แต่มันไม่ใช่ความคาดหวังที่แต้วนำมาแบกไว้เพื่อกดดันตัวเอง เพราะเธอคิดเพียงแค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุด โฟกัสในแต่ละรอบที่ต้องขึ้นชก และในเมื่อทำดีที่สุดแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรมันก็ไม่มีอะไรให้ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
และในที่สุดในการแข่งขันมวยสากล โตเกียว โอลิมปิก 2020 รุ่นไลท์เวท น้ำหนัก 60 กก. หญิง รอบก่อนรองชนะเลิศ ‘แต้ว-สุดาพร’ สามารถชกเอาชนะ แคโรไลน์ ดูบัวส์ จากสหราชอาณาจักร คะแนนรวม 3-2 การันตีเหรียญทองแดงโอลิมปิกมาไว้ในมือ สร้างประวัติศาสตร์การคว้าเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกของมวยสากลหญิงไทย
“ตอนที่กรรมการผายมือมาที่หนูให้หนูชนะ หนูดีใจจนพูดอะไรไม่ออกเลยค่ะ มันเป็นความฝันของหนู นาทีนั้นคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อ ถ้ามีโอกาสเจอท่าน หนูอยากจะบอกว่า หนูทำได้แล้ว ถ้าพ่อยังรับรู้ หนูขอให้พ่อภูมิใจในตัวหนูนะคะ หนูทำวันนี้ได้แล้ว”
นี่คือถ้อยคำที่แต้วได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังรู้ผลว่าตัวเองสามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกแรกในประวัติศาสตร์วงการมวยสากลหญิงไทย ซึ่งมีใจความสำคัญส่งถือคุณพ่อที่เสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีก่อน ผู้เปรียบเสมือนครูมวยคนแรกคนเธอ
และถึงแม้ว่าในรอบรองชนะเลิศ ที่ต้องเจอกับคู่ปรับเก่า เคลลี แอนน์ แฮร์ริงตัน เต็งหนึ่งดีกรีแชมป์โลกจากไอร์แลนด์ เธอจะพลาดท่าแพ้คะแนนไปแบบหวุดหวิด แต่นอกจากความเสียดายที่ไม่ได้ไปลุ้นเหรียญทองในฝัน สิ่งที่เหลือในความรู้สึกของแต้วกลับไม่มีความเสียใจใด ๆ เพราะเธอได้ทุ่มเททำลงไปอย่างดีที่สุดแล้ว จะมีก็เพียงความภาคภูมิใจที่เธอทำได้ตามความหวังของพ่อ และความฝันของตัวเอง กับความสำเร็จบนเส้นทางมวยในระดับโลก อีกทั้งเธอคนนี้ยังได้เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวไทยในฐานะฮีโร่ผู้คว้าเหรียญโอลิมปิกแรกให้กับกีฬามวยสากลหญิงไทย
“แต้วคิดว่าเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ถึงผลมันจะออกมาไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ แต่มันคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ทำไปจนสุดความสามารถของตัวเองแล้ว แม้มันจะน่าเสียดาย แต่มันไม่มีอะไรที่น่าเสียใจ ตอนขึ้นรับเหรียญมันเลยมีแค่ความรู้สึกดีใจที่เราทำได้ตามความฝันของพ่อ ได้ทำตามความฝันของตัวเองที่อยากมีผลงานในโอลิมปิก ภูมิใจที่ทุกสิ่งที่เราทุ่มเท ตั้งใจซ้อม การที่ตัดสินใจเบนเข็มจากมวยไทยมาเล่นมวยสากล มันไม่ได้สูญเปล่า”
หลังจากคว้าเหรียญโอลิมปิกประวัติศาสตร์ของไทยมาแล้ว บนเส้นทางนักชกระดับโลกของแต้วก็ยังคงมีไฟต์สำคัญที่เปรียบเสมือนโอกาสให้เธอได้สร้างผลงานอีกครั้งในรายการชิงแชมป์โลกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ กับความตั้งใจที่จะไปพิสูจน์ศักยภาพตัวเองในวัย 29 ปี
“แต้วรู้สึกว่าเรามีผลงานมาหมดแล้วทุกรายการ แต่มันก็ยังมีที่ไปได้ไม่ถึงเส้นชัย การได้กลับไปรายการชิงแชมป์โลกอีกครั้ง เราก็ยังคงตั้งใจฟิตซ้อม เพื่อจะไปแสดงศักยภาพให้โลกได้เห็นว่าในอายุขนาดนี้เราก็ยังไปต่อได้ ยังมีประสิทธิภาพที่ดี ถ้าถามว่าคาดหวังเรื่องคว้าแชมป์มั้ย ทุกคนก็คงคาดหวังกันหมด แต่ในส่วนของเราก็แค่ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา”
น้ำเสียงของแต้วที่เล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งความท้าทายบนเส้นทางนักชกระดับโลกของเธอ ยังคงสื่อถึงความมุ่งมั่นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่พาเธอฟันฝ่าทุกเส้นทางมาตั้งแต่ยังเด็กจนกลายเป็นนักชกหญิงอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก ณ ปัจจุบัน และก่อนที่จบการสัมภาษณ์ ‘แต้ว-สุดาพร’ ฮีโร่โอลิมปิกของเรายังได้ฝากกำลังใจให้ใครก็ตามที่กำลังมุ่งมั่นทุ่มเทอยู่บนเส้นทางของตัวเองอยู่
“อยากฝากถึงใครที่กำลังจะท้อ หรืออาจจะอยู่บนเส้นทางชีวิตที่ไม่มีทางเลือกมากนักเหมือนกับแต้วตอนเด็ก ๆ ถ้าเราเจอสิ่งที่ชอบแล้ว อยากให้ลองมุ่งมั่นและตั้งใจทำมันให้เต็มที่ แต้วเชื่อว่ายังไงสักวันหนึ่งคุณก็จะสามารถเดินทางไปถึงความสำเร็จได้”
และสำหรับเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจดี ๆ แบบนี้ เราต้องขอบคุณผู้สนับสนุนอย่าง FURIO น้ำมันหล่อลื่นเกรดพรีเมียม ที่เล็งเห็นถึงคุณค่า และพลังความมุ่งมั่นของ ‘แต้ว–สุดาพร’ นักกีฬาทีมชาติไทยผู้สร้างชื่อเสียงระดับโลกด้วยการคว้าเหรียญโอลิมปิกมวยสากลหญิงไทยเหรียญแรกมาครองได้สำเร็จ
เฉกเช่นเดียวกับแนวคิดของ FURIO ที่เชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจในการไปถึงเป้าหมาย ที่ไม่ใช่ใครก็ไปถึงได้ง่าย ๆ นั้นต้องใช้กำลังขับเคลื่อนภายในที่แข็งแกร่ง ซึ่ง FURIO ก็พร้อมพาทุกคนไปได้ทุกที่ กับขีดสุดเทคโนโลยีการปกป้องจากสนามแข่งสู่รถคุณ ด้วยพลังปกป้องมาตรฐานระดับโลก
โดยน้ํามันหล่อลื่นเกรดพรีเมียม FURIO พัฒนาด้วย Respoplex Technology โมเลกุลอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพการเคลือบยึดเกาะได้ดีเยี่ยม พร้อมปกป้องเครื่องยนต์จากการสึกหรอทันทีที่สตาร์ท มุ่งมั่นวิจัยพัฒนาโดย BiC (Bangchak Initiative and Innovation Center) ร่วมกับทีมแข่งรถระดับโลกและ Afton Chemical ผู้ผลิตสารเพิ่มคุณภาพชั้นนําจากสหรัฐอเมริกา ช่วยให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า ไม่จะว่าที่ไหน ก็ไปถึงเป้าหมายได้ อย่างแน่นอน
FURIO น้ำมันหล่อลื่นเกรดพรีเมียม มีวางจำหน่ายแล้ววันนี้ ที่
สถานีบริการน้ำมันบางจาก ร้าน Lube Shop ทั่วประเทศ
รวมไปถึงช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ furio.bangchaklubricants.com