

EVENT
VISIT : “SPEEDMASTER 60th ANNIVERSARY” เอ็กซิบิชั่นสุดพิเศษ จาก OMEGA พาชม 12 เรือนเวลาหายากในตำนานแบบใกล้ชิด
By: NTman August 29, 2017 73892
เดินทางผ่านประวัติศาสตร์มายาวนานร่วม 60 ปี กับ Speedmaster หนึ่งในคอลเลคชั่นนาฬิกายอดนิยมจาก OMEGA แบรนด์นาฬิกาสุดหรูสัญชาติสวิส ที่นอกจากจะได้ความนิยมในระดับโลก ในประเทศไทยเองก็มีเหล่า Speedmaster Lover อยู่ไม่น้อยเช่นกัน เนื่องในโอกาสพิเศษแบบนี้ ทาง OMEGA จึงเลือกประเทศไทยให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในการจัดงาน “SPEEDMASTER 60th ANNIVERSARY” เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการเดินทางให้กับเรือนเวลาโครโนกราฟเลื่องชื่อของโลกอย่าง Speedmaster
แน่นอนว่า UNLOCKMEN ไม่พลาดที่จะไปเก็บบรรยากาศภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นมาในรูปแบบเอ็กซิบิชั่นสุดพิเศษ พาผู้ร่วมงานอย่างเราย้อนเวลาสู่ความท้าทายแห่งห้วงอวกาศ เนรมิตพื้นที่ชั้น G ศูนย์การค้า Central Embassy ให้กลายเป็นพื้นผิวดวงจันทร์ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมแบ่งโซนจัดแสดงนิทรรศการเป็น 7 โซน ให้เราได้ซึมซับหลากเรื่องราวของ Speedmaster ที่ขึ้นหิ้งเป็นตำนานบนหน้าประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในสนามแข่งรถประลองความเร็ว ไปจนถึงความเกี่ยวพันกับห้วงอวกาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชายแทบทุกคนมาตั้งแต่ยังเด็ก
สำหรับสุดยอดไฮไลต์ ที่เรามั่นใจว่าผู้หลงใหลมนตร์เสน่ห์แห่งเรือนเวลา รวมถึงเหล่า Speedmaster Lover ทั้งหลายเป็นต้องมุ่งตรงเข้าหา คือโซนที่ 7 โซนสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้ได้ชื่นชมความล้ำค่าระดับมาสเตอร์พีซของ 12 เรือนเวลาแห่งประวัติศาสตร์ OMEGA Speedmaster รุ่นหายาก ส่งตรงจาก OMEGA Museum ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาให้ยลโฉมกันแบบใกล้ชิดถึงเมืองไทย ซึ่งเราขออาสาพาชาว UNLOCKMEN ทุกท่าน ไปทำความรู้จักกับความเป็นมาของนาฬิกาทั้ง 12 เรือน ที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ความสำเร็จ 60 ปีของ OMEGA Speedmaster ว่าแต่ละเรือนนั้นมีความน่าสนใจอย่างไร
เรือนเวลาที่เป็นจุดกำเนิดตำนานของตระกูล Speedmaster ชื่อ “Broad Arrow” นั้นได้มาจากจากรูปทรงของเข็มนาฬิกาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จักรกลเวลาเรือนนี้นอกจากจะเป็นหน้าแรกของเรื่องราวแห่ง Speedmaster แล้วก็ยังเป็นนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟแบบแรกที่นำสเกลทาคีมิเตอร์มาไว้บนขอบตัวเรือนแทนที่จะเป็นบริเวณหน้าปัด – การออกแบบอันโดดเด่นนี้เอื้อการใช้งานให้กับเหล่านักแข่งรถเป็นอย่างมาก คาดว่าเรือนเวลารุ่นนี้น่าจะมีมูลค่าสูงที่สุดในตระกูล Speedmaster จากบทบาทการเป็นผู้เริ่มต้นการเดินทางที่แสนพิเศษของคอลเลคชัน
เรือนเวลารูปแบบที่สองของ Speedmaster ที่สร้างตัวตนที่แตกต่างจากต้นฉบับอย่าง “บรอดแอร์โรว์” (Broad Arrow) ด้วยขอบตัวเรือนอะลูมิเนียมสีดำ เข็มวินาทีทรงโลลิป็อปที่ปรับตามความต้องการของกองทัพอากาศ และเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีทรง “แอลฟ่า” (Alpha) เรือนเวลานี้นับเป็นนาฬิการุ่นแรกของแบรนด์ OMEGA ที่เคยถูกใช้งานบนอวกาศ หลังจากที่ Walter Schirra ได้สวมใส่นาฬิกา Speedmaster ส่วนตัวร่วมในภารกิจบนยาน Sigma 7 ของโครงการ Mercury ในวันที่ 3 ตุลาคมปี 1952 จึงนับว่าเป็นการรูดม่านเปิดฉากการผจญภัยในอวกาศครั้งแรกของ Speedmaster
Speedmaster รุ่นนี้คือนาฬิกาแบบแรกที่ผ่านการทดสอบสุดเข้มงวดสำหรับคุณสมบัติด้านการบินจากองค์การ NASA มีหลายแบรนด์ที่ได้ร่วมส่งเรือนเวลาของตนเข้ารับการทดสอบในครั้งนี้ แต่ Speedmaster คือเรือนเวลาหนึ่งเดียวที่สามารถผ่านการทดสอบและได้ร่วมเขียนหน้าประวัติศาสตร์ไปกับภารกิจของยาน Gemini และยาน Apollo มอบทั้งความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือสูงสุดให้แก่เหล่านักบินอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะเป็นเรือนเวลารุ่นแรกที่ได้สวมใส่บนดวงจันทร์แล้วก็ยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในเรือนเวลาชุดสุดท้ายที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ในปี 1972 อีกเช่นกัน
ปี 1969 เมื่อ Neil Armstrong และ Buzz Aldrin เหยียบลงบนผิวของดวงจันทร์ Speedmaster จึงได้เป็นนาฬิกาแบบแรกที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ นับตั้งแต่วันนั้น Speedmaster จึงได้รับใช้ในเกือบทุกภารกิจที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์มาโดยตลอด ในด้านการดีไซน์ของ Moonwatch นั้นนับเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ถูกออกแบบด้วยตัวเรือนทรงอสมมาตรเพื่อเพิ่มสมบัติการป้องกันมากยิ่งขึ้นให้กับทั้งเม็ดมะยมและปุ่มกด และยังเป็นครั้งแรกที่ข้อความ “Professional” ได้ปรากฏที่บนหน้าปัด
เปิดตัวในปี 1968 พร้อมกับกลไกรุ่นใหม่อย่าง คาลิเบอร์ 861 นับเป็นเรือนเวลาที่สร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่กับประวัติศาสตร์ของ Speedmaster เพราะไม่เพียงแต่นวัตกรรมในกลไกรุ่นใหม่ที่ถูกบรรจุเข้ามา ข้อความอันโด่งดังว่า “FLIGHT-QUALIFIED BY NASA FOR ALL MANNED SPACE MISSIONS” และ “THE FIRST WATCH WORN ON THE MOON” ยังได้ถูกสลักลงบนฝาหลังนับตั้งแต่ในปี 1970 เป็นต้นมา
นับเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ทำจากทอง 18K และใช้ขอบตัวเรือนสีเบอร์กันดี แต่ละเรือนได้รับการสลักหมายเลขประจำเครื่อง โดย 19 หมายเลขแรกนั้นถูกมอบให้กับเหล่านักบินอวกาศทั้ง 19 นาย ที่งานกาล่าดินเนอร์ในฮูสตัน รัฐเท็กซัส ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 1969 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองหลังยาน Apollo 11 สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้มอบอุทิศย้อนหลังให้แก่ Virgil Grissom, Ed White และ Roger Chaffee ผู้กล้าทั้ง 3 นายแห่งยาน Apollo 1 ซึ่งประสบกับโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าระหว่างการทดสอบ
มิติตัวเรือนที่เปลี่ยนไปของ Speedmaster Mark II ได้เริ่มส่งสัญญาณครั้งแรกของการเริ่มรีดีไซน์นาฬิกาโครโนกราฟที่ได้รับความนิยมสูงของ OMEGA ได้รับการผลิตในปี 1969 นับเป็นการขยายไลน์ของ Speedmaster ให้กว้างมากยิ่งขึ้นด้วยรูปลักษณ์แบบใหม่ ตัวเรือนมีทั้งทำจากสแตนเลสสตีล, ทอง 18K หรือหุ้มทองให้ได้เลือกสรร พร้อมด้วยหน้าปัดและสเกลเวลาผสมอีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ตัวเรือนทรงถังเบียร์ของ MARK II และปรับให้สามารถอ่านเวลาสะดวกมากยิ่งขึ้นทำให้ MARK II กลายเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ไม่ได้ติดตั้งด้วยกระจกเฮซาไลท์
หลังจากเปิดตัวในปี 1971 เรือนเวลา Speedmaster Mark III พร้อมกับตัวเรือนทรง “ไพล็อต” (Pilot) ได้กลายเป็นนาฬิกาโครโนกราฟแบบแรกของ OMEGA ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 1040 นับได้ว่าเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแบรนด์ ในโฆษณาช่วงปี 1972 นั้นทาง OMEGA ได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า “หลังจากลงจอดบนดวงจันทร์ถึง 6 ครั้ง มีเพียงสิ่งเดียวที่เราได้สอนให้แก่ Speedmaster นั่นคือการสอนให้เรือนเวลาขึ้นลานเอง” เอกลักษณ์อื่นที่น่าสนใจอย่างเช่น เข็มโครโนกราฟ 60 นาทีทรงครอส (Cross) และฟังก์ชันระบุช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา
นาฬิการุ่นนี้เป็นเรือนเวลาโครโนกราฟที่ใช้กลไกอัตโนมัติรุ่นแรกของโลกที่ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ ได้รับการผลิตเนื่องในโอกาสฉลองการก่อตั้งครบ 125 ปีของแบรนด์ OMEGA (เริ่มก่อตั้งปี 1848) ด้วยจำนวนการผลิต 2,000 เรือน Speedmaster 125 นี้ยังอาจหาญผจญสู่ห้วงอวกาศร่วมไปกับ Vladimir Dzhanibekov ในปี 1978 โดยนักบินอวกาศชาวรัสเซียรายนี้ใช้เวลาอยู่ในอวกาศทั้งสิ้นกว่า 145 วันและอีก 16 ชั่วโมง
ชื่อเล่น “ล็อบสเตอร์” (Lobster) นี้ได้มาจากทรงสายนาฬิกาแปลกตาชวนพาให้คิดถึงเปลือกหางของสัตว์ในไฟลัมครัสเตเชียน Speedsonic ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการเรือนเวลาที่ใช้ระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้นทุกขณะในยุคสมัยนั้น ระบบกลไกไฟฟ้าถูกนำมาติดตั้งเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือที่สูงมากยิ่งขึ้น จุดที่น่าสนใจอีกอย่างยิ่งคือขนาดของเม็ดมะยมซึ่งถูกปรับให้เล็กลงเพื่อตอกย้ำว่าผู้ใช้งานจะไม่ต้องปรับวันหรือเวลาบ่อยเหมือนอย่างเช่นเคย
ในปี 1975 นักบินอวกาศชาวรัสเซียและอเมริกันต่างสวมใส่ Speedmaster ระหว่างการพบกันบนอวกาศ ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของจุดจบของสงครามเย็น เรือนเวลารุ่นนี้ถูกผลิตจำนวนจำกัด 500 เรือนเพื่อตอกย้ำมิตรภาพบนอวกาศระหว่างทั้งสองชาติ จักรกลเวลานี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูล “แพตช์” (Patch) เรือนเวลานี้ตกแต่งด้วยมิชชันแพตช์ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาแทนที่โลโก้ของ OMEGA นอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องของมาร์คเกอร์และปุ่มกดที่ยาวมากกว่า ปกติที่เป็นเอกลักษณ์
เป็นที่รู้จักในนาม “Mars Watch” เรือนเวลารุ่น X-33 ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะลงจอดบนดาวอังคารหรือดาวเคราะห์สีแดง (Red Planet) ใช้เวลา 5 ปีในการร่วมมือกันพัฒนาระหว่างแบรนด์ OMEGA กับองค์กรอวกาศระดับโลกต่างๆ รวมถึงฝูงบินผาดแผลง “Blue Angels” จากกองทัพเรือและ “Thunderbirds” ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการดีไซน์ที่ล้ำสมัยทำให้นาฬิการุ่นนี้ ถูกใช้งานทั้งบนกระสวยอวกาศของ NASA และบนสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่รู้สึกประทับใจกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของนาฬิกา OMEGA ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่คอลเลคชั่น Speedmaster เพียงเท่านั้น แต่ยังมีคอลเลคชั่นอื่น ๆ ที่ผ่านเรื่องราวความภาคภูมิใจมาอย่างยาวนอน ซึ่งรอให้ทุกคนไปสัมผัสนวัตกรรมชั้นเลิศและประสบการณ์เหนือระดับไปกับ OMEGA ได้ที่บูติคสาขา Central Embassy โทร.02-160-5959, สาขา Siam Paragon โทร.02-129-4878 และ สาขา The Emporium โทร.02-664-9550