

Play
THE COLLECTOR: ‘ธวัชชัย วิบูลย์จันทร์’ ชายผู้หลงใหลในเรื่องราวและบรรจุภัณฑ์เบียร์จากทั่วทุกมุมโลก
By: unlockmen May 7, 2020 180599
ถ้าพูดถึงเบียร์ ผู้ชายอย่างเราคงมีภาพจำและความหลงใหลเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่เกิดจากส่วนผสมของน้ำ มอลต์ ฮอบส์และยีสต์ชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เพราะไม่เพียงแค่เรื่องรสชาติ แต่รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตและเรื่องราวของบรรจุภัณฑ์ก็มีสเน่ห์ที่น่าหลงใหลไม่แพ้กัน
แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ ‘ต้น-ธวัธชัย วิบูลย์จันทร์’ หรือชื่อที่คนเรียกวงการเรียกกันติดปากว่า ‘อาจารย์ต้น’ ได้ทำความรู้จักกับเบียร์ จนนำมาสู่การสะสมบรรจุภัณฑ์ของเบียร์หลักหลายพันขวด รวมไปถึงเปิดคอร์สสอนความรู้เรื่องเบียร์ให้กับคนที่สนใจ วันนี้เชิญมาทำความรู้จักนักสะสมผู้หลงใหลในเรื่องเบียร์คนนี้ให้ดียิ่งขึ้น
*เนื่องด้วยข้อกำหนดทางกฎหมายทำให้เราไม่สามารถเผยแพร่รูปภาพของบรรจุภัณฑ์ให้เห็นในบทความนี้ได้ สำหรับใครที่อยากชมคอลเลกชันบรรจุภัณฑ์เบียร์เต็ม ๆ ของต้น- ธวัธชัย วิบูลย์จันทร์ สามารถเข้าไปชมรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่: bit.ly/3frQcdX
แนะนำตัวเองหน่อยครับ
สวัสดีครับ ต้น ธวัชชัย วิบูลย์จันทร์ครับ
ปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ครับ?
ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาจารย์ที่คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ส่วนปัจจุบันผมหันมาแบ่งปันความรู้ความหลงใหลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เบียร์ผ่านทางเพจ Beertechnologist รวมถึงเปิดคอร์สสอนความรู้เกี่ยวกับเบียร์ด้วยครับ
รู้ตัวเองว่าเริ่มหลงใหลในเครื่องดื่มชนิดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเหตุผลอะไร?
ในช่วงแรกที่รู้ว่าตัวเองชอบในหลาย ๆ ด้านเกี่ยวกับเบียร์เป็นตอนที่ผมเรียนอยู่ปี 3 ครับ ตอนนั้นมีโอกาสได้ไป Microbreweries ในสถานที่หนึ่งย่านสุขุมวิท โดยการ Microbreweries เป็นเหมือนการผลิตเบียร์และขาย ณ ที่ตรงนั้นเลย นั้นเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผมรู้สึกประทับในองค์ประกอบต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นของเครื่องดื่มชนิดนี้
ต่อยอดความชอบในเรื่องเบียร์ของตัวเองยังไง?
ในช่วงแรกยังเก็บความชอบเอาไว้ก่อนครับ จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีผมก็เขาไปเป็นอาจารย์สอนต่อที่คณะต่อเลย รวมถึงได้ทุนของมหาวิทยาลัยไปศึกษาต่อเรื่องเบียร์ที่ภาควิชา Food Science and Technology, University of California, Davis โดยบุคคลที่เรามีโอกาสเรียนด้วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเบียร์ระดับโลกอย่างศาสตราจารย์ Charles W. Bamforth
หลังศึกษาความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเบียร์อยู่ประมาณ 2 ปี ก็กลับมาสอนที่คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้ตระเวนทำความรู้จักเบียร์ชนิดต่าง ๆ หลายครั้งเพื่อนที่รู้ว่าเราชอบก็จะซื้อมาฝากเวลาที่เห็นเบียร์ชนิดแปลก ๆ
อะไรที่กระตุ้นให้อยากทำความรู้จักเบียร์จากทั่วโลกเพิ่มขึ้น?
เปรียบเทียบเหมือนคนที่ชอบดูฟุตบอลครับ หลายคนคงเคยรู้สึกว่าตัวเองดูพรีเมียร์ลีกอยู่ พร้อมกันนั้นเราก็รับรู้ว่ามันมีลีกฟุตบอลจากประเทศอื่นอีก แถมแต่ละลีกยังมีเอกลักษณ์แตกต่างออกไป
เพราะเบียร์จากแต่ประเทศถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร เพราะถ้าสังเกตดี ๆ แต่ละประเทศจะมีเบียร์ที่เหมาะสมกับอาหารท้องถิ่นของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา คนชอบทานบาร์บีคิวกันทำให้เบียร์รสค่อนข้างจัดจ้าน หรือในประเทศญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการกินปลาดิบ รสชาติเบียร์ของญี่ปุ่นก็จะมีความกลมกล่อม เพราะไม่ต้องการให้มีรสชาตินำปลาดิบ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของคุณต้น ประทับใจเบียร์ของประเทศอะไรมากที่สุด เพราะอะไรครับ?
ส่วนตัวผมประทับใจเบียร์ของหลายประเทศ แต่หลัก ๆ แล้วจะชอบเบียร์ของสหรัฐอเมริกา สมัยเรียนอยู่ที่นั่นเรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเบียร์ซึ่งเปิดให้ทัวร์ฟรี ทุกคนสามารถเข้าชมได้เลยกระบวนการผลิตได้เลย
อะไรทำให้ตัดสินใจเริ่มสะสมเบียร์และบรรจุภัณฑ์เบียร์?
สำหรับผมรู้สึกว่าบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ของเบียร์ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือกระป๋องของเบียร์แต่ละยี่ห้อในแต่ละประเทศต่างจะมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป บรรจุภัณฑ์หลายชิ้นยังสามารถบอกเล่าได้ถึงเรื่องราวท้องถิ่นของในประเทศนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีครับ
ในการสะสมช่วงแรก ตลาดเบียร์ในบ้านเรายังไม่มีความหลากหลาย คุณต้นทำความรู้จักและหาซื้อเบียร์ยี่ห้อต่าง ๆ จากช่องทางไหนบ้าง?
ถือเป็นโชคดีมากกว่าครับ เพราะหลังได้ไปศึกษาเกี่ยวกับเบียร์ในสหรัฐอเมริกาช่วงเวลาที่กลับมาตลาดคราฟต์เบียร์ของประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าเบียร์ที่ไม่เคยมีในตลาดเข้ามาพอดี ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนและความหลากหลายขึ้น ทำให้ผมตัดสินใจเริ่มการสะสมมาจนถึงวันนี้
ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกซื้อเบียร์แต่ละขวดเข้ามาในคอลเลกชัน?
ถ้าเป็นช่วงแรกแทบไม่ต้องตัดสินใจเลยครับ ลองทุกอย่างเพราะมันมีให้เลือกไม่กี่อย่าง อะไรที่เป็นของใหม่ในตลาดเราเก็บทั้งหมด เบียร์ขวดไหนยี่ห้ออะไรได้ชื่อว่าเข้ามาใหม่เราก็ตามไปลอง ตามไปเก็บ
ส่วนในปัจจุบัน ตลาดเบียร์เข้าถึงได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก โดยสามารถเข้าไปดูและเลือกดูได้ตามเพจ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ในแอปพลิเคชันยังช่วยให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะจะมีเรตติ้งของเบียร์แต่ละขวดทำสถิติบอกเอาไว้ด้วย แต่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนเลือกเบียร์ขวดที่ตัวเองชอบโดยไม่ต้องสนใจเรตติ้งที่มีอยู่
ปัจจุบันสะสมมากี่ปีแล้ว มีบรรจุภัณฑ์เบียร์สะสมไว้ทั้งหมดกี่ขวด?
ผมเริ่มสะสมครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันถ้านับทั้งขวดและกระป๋องทั้งหมดที่มีรวมกันจะมีประมาณ 2,600 ขวดครับ ส่วนหนึ่งซื้อในประเทศด้วยตัวเองผ่านทางร้านที่นำเข้าคราฟต์เบียร์ ส่วนหนึ่งได้มาจากการเดินทางไปต่างประเทศและเพื่อนซื้อมาฝาก มีทั้งแบบที่ขายเป็นขวดแยกปกติและขายพร้อมกันยกเซตแบบ Limited Edition
ทำไมถึงเลือกสะสมบรรจุภัณฑ์เบียร์ที่มีเบียร์อยู่ข้างในมากกว่าเก็บบรรจุภัณฑ์เปล่า?
ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าโดยปกติแล้วโรงงานผลิตเครื่องดื่มหรือโรงงานผลิตเบียร์แต่ละที่ เวลาผลิตจะต้องเก็บตัวอย่างสินค้าล็อตนั้น ๆ เอาไว้ด้วย เช่นเบียร์ที่เขียนข้างขวดว่า Best Before Date ภายในเวลา 1 ปี โรงงานก็ต้องเก็บสต็อกเอาไว้ 1 ขวด ถ้าในเวลาต่อเวลามีลูกค้าหรือคนร้องเรียกปัญหาเกี่ยวกับเบียร์ล็อตนั้น ๆ ทางโรงงานก็จะนำเบียร์ขวดที่เก็บไว้มาเปิดเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ตัวผมเองก็อยากทำในแบบเดียวกันจึงตัดสินใจเก็บสะสมแบบนี้ครับ
และถ้าสังเกตดี ๆ ผลิตภัณฑ์เบียร์จะไม่เขียนว่า Expire Date แต่เป็น Best Before Date ดังนั้นถึงจะเลยมา 3 ปีผมก็ยังเปิดได้อยู่ รวมถึงเก็บรวบรวมเอาไว้ใช้ในการสอนด้วยว่าตัวอย่างในการเก็บเบียร์แต่ละชนิดเป็นยังไง
เก็บบรรจุภัณฑ์เบียร์เอาไว้จำนวนมากขนาดนี้ มีวิธีการดูแลรักษาเฉพาะไหม?
ต้องอธิบายก่อนว่ามีเบียร์หลายประเภทที่เสื่อมสภาพไปตามเวลา ถ้าเป็นการเก็บสะสมไว้ในตู้แบบของผมคือการเก็บไปเลย ให้ทำใจไปเลยว่ารสชาติจะด้อยลง ซึ่งผมไม่ได้มีความคิดว่าจะเปิดขวดที่เก็บสะสมเพื่อดื่ม
นอกจากสะสมแล้ว คุณต้นยังเปิดคอร์สสอนความรู้เรื่องเบียร์ด้วย อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้หันมาเปิดสอนความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มชนิดนี้ครับ?
เหตุผลแรกเลยผมรู้สึกว่าอยากให้ความรู้กับคนที่ชอบเบียร์และอยากทำความรู้จักเครื่องดื่มชนิดนี้ให้ดีมากขึ้น แต่นอกจากจะสอนให้รู้จักเบียร์ดีขึ้นแล้ว เราไม่ได้สนับสนุนให้คนดื่มเบียร์ แต่จะแนะนำวิธีการดื่มที่เหมาะสมหรือที่เรียกกันว่า “ดื่มเบียร์ให้ตรงปก”
ดื่มเบียร์ให้ตรงปกคืออะไร?
การดื่มเบียร์ให้ตรงปก ยกตัวอย่างเป็น Lager ก็ควรมีลักษณะคลีน สะอาด ถ้าเป็น India Pale Ale ก็ควรเป็นเบียร์ประเภทที่มีฮอบส์นำและมีบอดี้หนาซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยของเบียร์แต่ละชนิดก็แตกต่างกันออกไป
คอร์สที่เปิดสอนที่มีอะไรบ้าง?
คอร์สที่เปิดสอนจะมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น Brewing Science 101, Introduction to Brewing Science, On-Off Flavors in Beer และ Microbiology of Beer
ยกตัวอย่างเช่น Brewing Science 101 จะเป็นคอร์สสอนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเบียร์ On-Off Flavor In Beer หรือกลิ่น รส รสสัมผัสและลักษณะที่พึงและไม่พึงประสงค์ของเบียร์ รวมถึงมีคอร์สทำความรู้จักวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิตเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ฮอบส์ มอลต์และยีสต์
ในคอร์สผมก็จะแนะนำว่าน้ำดีเหมาะสำหรับการผลิตเบียร์คืออะไร แร่ธาตุที่อยู่ในน้ำเป็นยังไง เหมาะต่อการทำเบียร์ประเภทไหน อย่างสมัยก่อนเราจะเห็นเลยว่าถ้าโรงเบียร์ไปตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำไหน แหล่งน้ำที่นั่นคือแหล่งน้ำที่ดีสำหรับทำเบียร์ซึ่งจะมีโรงเบียร์อยู่เป็นจำนวนมาก ฮอบส์เองก็มีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็ให้กลิ่นที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงความรู้เฉพาะเกี่ยวกับวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ส่วนตัวแล้วคิดว่าเบียร์ที่ดีจะต้องมีลักษณะยังไง?
สำหรับผมเบียร์ที่ดีอันดับที่ 1 คือเบียร์ที่เราชอบครับ
ในอนาคตมีแผนจะตามเก็บเบียร์ตัวไหนให้เข้ามาอยู่ในคอลเลกชันอีกไหม? รวมถึงมีคอร์สเรียนในอนาคตจะมีอะไรเพิ่มเติมให้คนที่สนใจอยากเรียนบ้าง?
ในเรื่องการสะสมเบียร์ตอนนี้ยังไม่อยู่ในลิสต์ครับ คิดว่าถ้าเจอถูกใจก็เก็บ ส่วนเรื่องคอร์สสอนความรู้เกี่ยวกับเบียร์ตั้งใจจะเปิดสอนเพิ่มในเรื่องสารเคมีที่อยู่ในน้ำที่อาจส่งผลต่อรสชาติของเบียร์
สุดท้ายฝากอะไรถึงคนที่สนใจสะสมบรรจุภัณฑ์เบียร์หน่อย
สำหรับคนที่ชื่นชอบเบียร์และอยากจะลองเริ่มการสะสม สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือสะสมเบียร์ที่ตัวเองชอบได้เลย
แต่อยากให้สะสมอย่างมีสติ มีสติในที่นี้คือควรรู้ว่ากระป๋องหรือขวดที่อยู่กับเราสามารถแตกและเสียหายได้ตลอด และอีกหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนในวงการเบียร์ทั่วโลกคือการ ”เมาไม่ขับ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับคนรักที่รักเบียร์
เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจแล้วว่าเรื่องเบียร์ ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องรสชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรรมวิธีการผลิตและความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ แต่เรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญที่สุดคือ การรู้จักสะสมอย่างมีสติ ไม่ให้ความหลงใหลของตัวเราส่งผลกระทบด้านลบต่อคนอื่น เพราะคนที่หลงใหลเบียร์ไม่ได้หลงใหลความเมามาย แต่พวกเขาหลงใหลในเอกลักษณ์เฉพาะที่หาจากเครื่องดื่มชนิดไหนในโลกไม่ได้ต่างหาก
ชมคอลเลกชันเบียร์ของอาจารย์ต้นเต็ม ๆ ได้ที่: bit.ly/3frQcdX