เนื่องด้วยเรากำลังใช้ชีวิตท่ามกลางป่าคอนกรีตที่มีสิ่งปลูกสร้างหลากระดับ ตั้งแต่บ้านแนวราบ อาคารแนวตั้ง ไปจนถึงตึกระฟ้าสูงลิบลิ่ว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีสถาปัตยกรรมสอดแทรกอยู่ในแทบทุกรายละเอียดยิบย่อยของชีวิตเสมอ ไม่เพียงนิยามถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างบ้าน อาคาร หรือคอนโดมิเนียมที่มนุษย์อาศัยอยู่ หากสถาปัตยกรรมกว้างขวางจนครอบคลุมไปถึงเจดีย์ สถูป และอนุสาวรีย์ที่ปราศจากผู้อยู่อาศัย ในยุคกระแสนิยมที่ทุกอย่างมาเร็วไปเร็วเฉกเช่นตอนนี้ ต้องยอมรับว่าแนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมแบบเดิมถูกปรับแต่งและโละทิ้งไป แทนที่ด้วยแนวคิดสมัยใหม่ จนบางครั้งค่านิยมของสถาปัตยกรรมปัจจุบันโน้มเอียงไปทางสุนทรียศาสตร์ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกและรสนิยม มากกว่าความหมายดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ชั่งตวงระหว่างเทคนิควิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างละเท่า ๆ กัน แต่น่าแปลกที่การตอกเสาเข็มสร้างสถาปัตยกรรมของ ‘บุญเสริม เปรมธาดา’ กลับต่างออกไป เขาไม่ได้ใช้สถาปัตยกรรมเพื่อขับเน้นความงามให้ตกกระทบต่อสายตาผู้ชมเท่านั้น ทว่ายึดมั่นการขับเคลื่อนบริบทแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเวลาเดียวกัน วิธีการทางสถาปัตยกรรมที่ปลีกออกไปของ ‘บุญเสริม เปรมธาดา’ ความสงสัยใคร่รู้เรื่องมุมมองการสร้างสถาปัตยกรรมพาเราเดินดุ่มเข้ามาคุยกับ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (สถาปัตยกรรม) ในปีล่าสุด ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘Bangkok Project Studio’ และสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วม 20 ปี “หลังเรียนจบผมก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไปที่ทำงานในสตูดิโอออกแบบและสร้างงานตามคำสั่งลูกค้า แต่พอทำมาได้สักพักมันก็เบื่อ และรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมมันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อคุณภาพชีวิตคนเลย ตั้งแต่นั้นผมจึงตัดสินใจออกมาเปิดสตูดิโอของตัวเอง เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกในการออกแบบ แต่เผอิญมันดันเป็นวิธีการทางสถาปัตยกรรมที่โลกกำลังสนใจตอนนี้” “ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมคือความจริงใจ” ไม่แปลกถ้าคุณไม่เคยเห็นผลงานของสถาปนิกคนนี้ในกรุงเทพฯ