

DESIGN
กำเนิดโลโก้ ‘SUPREME’ ดีไซน์ของ BARBARA KRUGER การต่อต้านทุนนิยม ที่กลายเป็นโคตรทุนนิยม
By: unlockmen July 18, 2018 88652
นาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักแบรนด์ Supreme ยิ่งถ้าเป็นสาย Street Fashion แน่นอนว่าต้องมีชื่อ Supreme ติดเป็นหนึ่งในแบรนด์ระดับท็อปของสายนี้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังโลโก้ Supreme ที่ประกอบด้วยอักษรสีขาวบนพื้นแดงนี้มีแรงบันดาลใจมาจากที่ไหน ถ้าพวกคุณคือคนหนึ่งที่ใช้ไอเท็มของแบรนด์ Supreme ที่อยากเพิ่มความเท่มากกว่าการใส่ ลองมาเติมความลึกกันหน่อยกับศิลปินหญิงเบื้องหลังแรงบันดาลใจโลโก้ และชนวนดราม่าของการฟ้องร้องระหว่าง Supreme กับ Supreme Bitch เพราะทั้งหมดเกิดและจบด้วยเธอคนนี้ “บาร์บาร่า ครูเกอร์” (Barbara Kruger)
Barbara Kruger คือศิลปินอเมริกันที่เติบโตจากเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เธอเกิดใน ค.ศ. 1945 เข้าเรียนที่สถาบัน Parson’s School of Design และได้เรียนกับช่างภาพระดับตำนานอย่าง Diane Arbus กับกราฟิกดีไซน์เนอร์ดัง Marvin Israel ซึ่งการเรียนเหล่านี้เองที่ทำหน้าที่เป็นโรงบ่มงานไอเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ในฉบับของตัวเธอ
หลังจากเรียนจบ เธอก็ไปรุ่งในวงการสื่อสิ่งพิมพ์หลาย ๆ ตำแหน่ง ทั้งในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบของ กองเดนาสต์ (Conde Nast) กราฟิกนิตยสารแฟชั่น Mademoiselle บรรณาธิการภาพนิตยสาร House and Garden, Apeture และอีกหลายเล่ม ยาวไปจนถึงงานเขียนคอลัมน์ด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์และดนตรี เรียกได้ว่าครบถ้วนงานศิลป์ทั้งด้าน Visual และ Content แบบเต็บสูบ
ตัวอย่าง Layout ในหนังสือ Pictures/Reading
ผลงานความเป็นศิลปินชื่อดังที่ทำให้หลายคนคุ้นตา มันคือมู้ดโทนงานชนิดคอนเซ็ปต์ชวลแบบแสบ ๆ คัน ๆ ที่คนเห็นกันบ่อยบนงานศิลปะแบบ Pop Art ซึ่งมันมาตอนช่วงปลายปี 1970 แล้ว เธอทดลองเขียน เขียน และเขียน ประกบภาพกับถ้อยคำ โดยออกแบบเลย์เอาท์วางภาพแลนด์สเคปกับข้อความไว้หลากอารมณ์ ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นงานเขียนแนวทดลองก็ได้ ต่อมาจึงเข็นมันออกเป็นงานแรกในหนังสือชื่อ Pictures/Reading นับว่าเป็นก้าวแรกที่ท้าทายและนำมาสู่ก้าวต่อ ๆ ไปของงานสไตล์นี้ ที่จะทำให้เธอโด่งดังและโดดเด่นในฐานะศิลปินเฟมินิสต์
ภาพ Untitiled (I Shop Therefore I Am)
หลังถ่ายทอดภาพกับข้อความในหนังสือ Pictures/Reading แบบภาพหน้าหนึ่ง คำบรรยายอีกหน้าหนึ่ง มาต้นปี 1980 เธอก็หันมาเปลี่ยนวิธี หยิบเอาคำมาวางพาดลงในภาพเสียเลย กลายเป็นงานสไตล์คอลลาจตัดแปะ เลือกสีเตะตาระยะไกลอย่างสีแดงมาเป็นแบ็คกราวน์ขับด้วยอักษรสีขาว แล้วใช้ font ยอดนิยมในงานโฆษณาอย่างตระกูล Futura Bold Oblique มาใช้
ที่สำคัญยังวางทับลงในรูปถ่ายตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อสร้างจังหวะความรู้สึกให้คนดูรับรู้และตีความได้ลึกเข้าไปในภาพอีกชั้น เช่น งานเด่น ๆ ที่ใครเห็นแล้วจะต้องคิดถึงเธอคนนี้แน่นอนคือ ภาพ Untitiled (I Shop Therefore I Am) ผลงานปี 1987 ที่กระตุกหนวดเสือพวกบริโภคนิยมด้วยการจับ quote ยอดฮิตอย่าง “I think therefore i am” ของนักปรัชญาชื่อดังอย่าง เรอเน เดสการ์ตส์ (René Descartes) มาเปลี่ยนเป็น “I shop therefore I am” แล้วเลือกวางในภาพ Monochrome
มือจับวัตถุสี่เหลี่ยมที่ดูแล้วก็จะเข้าไจทันทีว่ามันคือบัตรเครดิต ขยี้กันแบบสุด ๆ กับเศรษฐีเงินผ่อนทั้งหลายที่เธอตั้งใจเสียดสีว่า “สิ่งที่ซื้อคือตัวตนของคุณ” เบื้องหลังตัวตนคนที่เรามองเห็น อาจจะมาจากการซื้อมาโปะ ๆ เข้าไป ภาพที่เห็นจริงไม่จริงไม่รู้ คนข้าง ๆ ที่เราเห็นดูคูลดูรวย อาจจะเป็นพวกหมุนเงินด้วยบัตรแบบเดือนชนเดือนอยู่ก็ได้ ช่างไม่มีอะไรจริงเอาเสียเลย
แต่เอาเข้าจริงจากการตีความที่ต่างกัน บางคนอาจจะรู้สึกว่ากำลังถูกตีแสกหน้า ทว่าในมุมกลับก็มีคนที่มองอีกมุมหนึ่งว่า เมื่อเปลือกมันซื้อได้ก็เอาให้สุดเลย เห็นดีเห็นงามจะใช้เปลือกประโคม และใช้ข้อความนี้สร้างเหยื่อทางการตลาดมันก็มี ค่านิยมของงานเฟมินิสต์ที่มีเลยออกมารับใช้บริโภคนิยมไปอีกต่อ ซึ่งเจ๊ครูเกอร์ก็ไม่ได้มายด์อะไร และขยันสร้างผลงานน่าสนใจอื่น ๆ ออกมาเรื่อย ๆ และผลงานที่น่าชื่นชมเหล่านี้เองได้ถูกส่งต่อเป็นไม้ผลัดแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน และคนทำงานมากมาย รวมถึงเจ้าชองแบรนด์ Supreme อย่างเจมส์ เจบเบีย (James Jebbia) ที่ก็ออกมายืดอกยอมรับตาใส ว่าผลงานของเจ๊ครูเกอร์นี่แหละบันดาลใจโลโก้ของผม
นอกจากเอาโลโก้มาจากสไตล์งานของ Barbara Kruger แล้ว ในช่วงปี 2000 ก่อนที่ Supreme จะ Collab กับ Louis จนฮิตลั่นโลก ก็เคยขโมย Logo ของ Louis มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตถึงขนาดต้องฟ้องร้องกันมาแล้ว และยังมีอีกหลายโลโก้ที่ Supreme เคยเอามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ตัวเองกลับไปฟ้อง Supreme Bitch เรื่องการละเมิดโลโก้เป็นจำนวนค่าเสียหาย $10,000,000 ซึ่งหลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี
ประเด็นฟ้องดราม่าที่ดังไปสะเทือนวงการระหว่าง Supreme กับ Married To The Mob (MTTM) เจ้าของแบรนด์ “Supreme Bitch” ที่ลงท้ายฝ่ายที่ถูกฟ้องอย่าง MTTM ยังสามารถเดินหน้าใช้คำว่า “Supreme Bitch” ในเชิงเสียดสีแบรนด์ Supreme ได้ แต่ต้องปรับสไตล์และสีการดีไซน์สักนิด อย่าให้ไปเหมือนกับ Supreme เป๊ะ ก็เชื่อว่ารอดเพราะได้แต้มบุญจากเจ๊ครูเกอร์อยู่เหมือนกัน เพราะดันมีนักข่าวส่งเมลไปถามเธอในประเด็นนี้ และได้รับแนบอีเมลตอบกลับในชื่อไฟล์ว่า “fools.doc” ซึ่งมีใจความแสบสันต์ว่า
“What a ridiculous clusterfuck of totally uncool jokers. I make my work about this kind of sadly foolish farce. I’m waiting for all of them to sue me for copyright infringement.”
(“มันช่างเป็นเรื่องวุ่นวายไร้สาระน่าขันของพวกตัวตลกที่โคตรน่าสมเพช. งานที่ฉันทำก็เกี่ยวกับเรื่องตลกโง่เง่าที่น่าเศร้าพวกนี้นี่แหละ. ฉันกำลังรอพวกนั้นทั้งหมดมาฟ้องร้องฉันข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์อยู่น่ะนะ”)
เข้าทำนอง ขโมยงานกู ที่พูดแซะ Capitalism ไปทำโลโก้ของแบรนด์แห่ง Capitalism แล้วยังไปฟ้องคนอื่นเรื่องขโมยโลโก้ที่มึงขโมยกูไปใช้ มันสุดแสนจะ Inception
น่าสนใจว่าการเอาผลงานผู้วิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยม มาตัดแปะเป็นโลโก้แบรนด์บริโภคนิยมเองเสียเลยนี่แหละ ที่อาจจะเป็นเบื้องหลังของการขายดิบขายดีนี้ เราอาจจะพูดได้ว่างานที่เป็นแมสมีเดียในสายตาผู้คนจะถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเข้าถึงคนได้มากที่สุดเช่นกัน
ทำไมถึงเป็นวัตถุดิบชั้นดี? ส่วนตัวเรามองว่างานของครูเกอร์ถือเป็นงานแมสที่ไปโผล่ทุกที่ตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ทั้ง offline และ online ในโซเชียลก็มี พื้นที่ทั่วไปก็มี สวนสาธารณะ โปสเตอร์ บิลบอร์ด เราก็ต้องเคยคุ้นตางานสไตล์นี้อยู่บ้าง และงานพวกนี้ก็ได้รับการยอมรับในสายตาคนทั่วไปอยู่แล้ว พอมองเห็นงานรูปแบบเดียวกัน สมองอาจจะทำให้เราเชื่อมโยงความคิดถึงแบรนด์ Supreme ในทันที ซึ่งเป็นข้อดี และงานเหล่านี้ยังสามารถเข้าถึง Niche Segment คือเหล่า Skater ที่เป็น Target ตรงของแบรนด์ด้วย
ตัวอย่างงานที่ปรากฎในพื้นที่สาธารณะของ Barbara Kruger
ส่วนสำคัญอีกอย่างคือการเล่นคำสไตล์ครูเกอร์ ถึงแม้ว่าเจบเบียจะออกมาบอกว่า เขาคิดคำขึ้นมาเท่ ๆ ไปงั้นแหละ แต่ความจริงความฟลุคนี้มันก็ไม่ฟลุคหรอก เพราะความหมายของคำมันเป็นส่ิงที่ดึงดูดคนได้ดี ถ้าคุณจะซื้ออะไรสักอย่างแล้วมันมีแบรนด์แปะว่า “มีอำนาจสูงสุด” หรือ “สำคัญที่สุด” ก็เหมือนการแปะไลฟ์สไตล์ให้ไปในตัวว่า แบรนด์นี้ใช้แล้วดี ใช้แล้วคูล นี่แหละคือพลังของคำในโลโก้ที่หลายคนอาจไม่คาดคิด ประเด็นนี้มองไปก็จะสอดคล้องกับจิตวิทยาความเชื่อที่ก็ยังใช้ได้ในไทยอย่าง “รถคันนี้สีแดง” ที่เป็นแค่สติ๊กเกอร์แปะบนรถสีอะไรก็ตามที่ไม่ใช่สีแดง แล้วคนใช้สบายใจ ก็ถือเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
ถึงตรงนี้หลาย ๆ คนน่าจะได้รู้จักและเข้าใจเบื้องหลังเบื้องลึกโลโก้แบรนด์ Supreme กันพอสมควรแล้ว กับเรื่องการวิเคราะห์และดราม่าเรื่องการก็อปปี้หรือไม่ เพราะศิลปะเป็นความลื่นไหลจากยุคสู่ยุคที่ส่งอิทธิพลถึงกัน (ตราบใดที่ไม่ทำกันไปแบบน่าเกลียด) และสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้ Supreme ครองการขายดีต่อเนื่อง มันต้องมากับคุณภาพของเนื้องานเป็นหลัก ถ้าเปลือกดีแต่เนื้อไม่โอเค ยังไงพวกเราก็คงไม่เลือกอยู่แล้ว จริงไหม?