

DESIGN
‘Open Space Vol.2’ ปีที่ 2 ของ SUPH Art Space พื้นที่ศิลปะที่อยากเป็นสะพานสายแรก ให้ศิลปินได้เจอกับเหล่าผู้คนที่จะหลงรักงานของพวกเขา
By: GEESUCH February 10, 2023 222097
ใครที่ยังช้าอยู่ต้องเร็วแล้วนะ เร็วอะไร ไปไหนอะ ? ก็ไปงานที่เหล่าผู้คนที่รักศิลปะกาปฎิทินรอวันอย่างใจจดจ่อ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ หรือที่เราเรียกกันติดปากอย่างคุ้นเคยว่า Bangkok Design Week งานที่จัดอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2018 ยังไงล่ะ ปีนี้ BKKDW ก็กลับมาเปลี่ยนให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองศิลปะ ที่นอกจากให้ทุกคนได้เสพย์ศิลปะที่ถูกเลือกและทำขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะกันอย่างอิ่มเอมแล้ว ก็ยังให้เราได้ Unseen พื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองกรุงเทพที่อาจไม่เคยเห็นกันมาก่อนตลอดทั้งสัปดาห์ งานเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 และจะจบวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้แล้ว
Urban‘NICE’zation : ‘เมือง – มิตร – ดี’ คือคอนเซปต์ของาน BKKDW ในปี 2023 ให้ทุกคนมาจินตนาการร่วมกันว่าเราจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เมืองดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง และเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน งานในปีนี้เลยเล่นใหญ่กระจายงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ถึง 9 ย่าน 191 สถานที่ 515 งาน ทั่วกรุงเทพกันไปเลย ! และท่ามกลางงานแสดงศิลปะมากมายเต็มไปหมดของ BKKDW เราไม่อยากให้ทุกคนพลาดนิทรรศการที่ชื่อว่า Open Space Vol.2 จัดโดย SUPH Art Space
“เราอยากเป็นพื้นที่ให้ศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ ที่มีไอเดียแต่ไม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกมาใช้พื้นที่ของเราเพื่อเปิดตัว เป็นเหมือนกับสถานที่ที่เป็นก้าวแรกของศิลปิน ก่อนที่เขาจะต่อยอดและเติบโตไปในอนาคต”
อ๊ะ ๆ ถ้าใครยังไม่คุ้นหูชื่อ SUPH Art Space ก็ไม่แปลกเลย เพราะนี่คือพื้นที่จัดงานศิลปะที่เพิ่งเปิดตัวหมาด ๆ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี้เอง ด้วยเหตุผลสุดเรียบง่ายว่า “ก็ห้องที่เช่าอยู่มีพื้นที่กว้างเกินไปอะ” จบ. (ง่ายจริง) เพียงเปิดตัวปีแรกก็เข้าร่วมกับ Bangkok Design Week สร้างความคึกคักให้กับซีนศิลปะ ด้วยการเป็นคนคิดและจัดโปรแกรม Open Space Vol.2 อย่างที่บอกไป โดยงานนี้จะเป็นการคัดเลือกศิลปินที่น่าสนใจ (ทั้งไทยและต่างประเทศ) มาร่วมจัดแสดงผลงาน Art Exhibition ในพื้นที่เดียวกัน แต่ภายในงานก็ยังมีการแสดงสด ดนตรีทดลอง เวิร์กช็อป และขายของด้วยนะ
ถึงจะบอกว่าเป็นการ Opencall คัดเลือกผลงานเพื่อจัดแสดง SUPH Art Space ก็บอกกับเราว่าอยากให้ทุกศิลปินที่ตั้งใจส่งเข้ามาได้จัดแสดงทุกคนเลย แต่พื้นที่คงจะไม่พอ เพราะงานในปีนี้มีศิลปินมากถึง 27 คน จัดแสดงเต็มพื้นที่ห้องแถวทั้ง 2 ชั้นแล้ว … นี่อาจจะไม่ใช่ Space ที่หวือหวาเท่ากับ Art Gallery ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อศิลปะโดยเฉพาะตั้งแต่แรก แต่ในความเรียบง่ายมันเป็นพื้นที่ที่ใส่ใจงานทุกชิ้นที่ถูกจัดแสดง Express แบบที่ตั้งใจจริง ๆ เกิดเป็นความสบายใจที่คนดูงานอย่างเรารู้สึกได้ อาจจะใช้คำว่า Comfort Art Space ได้เลยนะ
UNLOCKMEN ได้คุยกับ 6 ศิลปินที่จัดแสดงผลงานใน Open Space Vol.2 ถึงตัวงานศิลปะที่นำมาจัดแสดง และมุมมองที่พวกเขามีต่อการที่ศิลปะซึ่งจะช่วยให้เมืองดีขึ้นได้ เป็นน้ำจิ้มให้ใครที่ยังลังเลอยู่ว่าวันหยุดนี้จะใช้เวลาไปกับ BKKDW ในย่านไหนดี ก็ขอชวนมาเจอกับผลงานของศิลปินทั้ง 27 คน ที่ SUPH Art Space กัน รับรองว่าจะได้อะไรกลับไปแน่นอน
ต้องบอกว่าศิลปินคนแรกที่เราจะได้สัมภาษณ์เกือบไม่ใช่คุณ Hornsé Hornsé เสียแล้ว แต่จะเป็นคุณ ‘มองค์พิซีเออร์’ (ซึ่งอยู่ในคนที่ 2 ของคอลัมน์) ทั้งคู่เป็นเพื่อนเรียนปริญญาโทที่ศิลปากรสาขาเดียวกัน และเหตุเกิดจากการที่พวกเธอได้วางคิวมาให้เราเรียบร้อยแล้ว แต่มาเปลี่ยนเอานาทีสุดท้ายก่อนสัมภาษณ์ด้วยความรักที่อยากให้อีกคนได้เป็นคิวแรกของกันและกัน (พูดจริงแหละ)
“คำว่า Hornsé Hornsé มีที่มาจากคำว่า ‘Horned Frog’ เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของกบชนิดหนึ่งค่ะ”
เรามาสืบค้นทีหลังพบว่าคือ ‘กบตาหนาม’ คุณ Hornsé Hornsé เล่าต่อไปอีกว่าพี่สาวเป็นคนตั้งชื่อนี้ให้ เพราะอยากให้ชื่อคล้องกับตัวเองว่า Hana Hana แล้วจริง ๆ คำว่า Hornsé Hornsé ในภาษาเสียงเพลงเนี่ย มีความหมายว่า ‘หงส์ที่สง่างาม’ ซึ่งเป็นชื่อที่มีความแก้เคล็ดนิดนึง เพราะว่าเธอออกตัวเลยว่าตัวเองเต้นกับร้องเพลงได้แบบปีกหักมาก อย่างน้อยก็ขอให้ชื่อก็ยังเป็นหงส์ที่สง่างามแล้วกันนะ 555 แต่ชื่อศิลปินว่าน่าสนใจแล้ว สไตล์งานของคุณ Hornsé Hornsé ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก
“หนูทำงานเรื่องเดิมมาโดยตลอดเลย ซึ่งก็คือเรื่อง ‘โลกในอุดมคติ’ และ ‘บุคคลในอุดมคติ’ ซึ่งจะมีที่มาจากกลไกป้องกันตัวเองทางจิต มันเป็นโลกในอุดมคติที่ผสมกับการลังเลสงสัยในสังคมค่ะ คือเหมือนสังคมเรามันจะมีหลายอย่าง ทั้งด้านดีและไม่ดี ทำให้เราสงสัยในสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รอบตัว หรือว่าสถานการณ์ที่พบเจอในชีวิต ก็เอามาถ่ายทอดโดยผสมกับโลกในอุดมคติ ก็คือมันจะมีความฝันกับความจริงปนอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราก็จะไม่ได้บอกมากว่าอันไหนเป็นความฝัน หรือว่าอันไหนเป็นความจริง”
“ส่วนคาแรคเตอร์ดีไซน์ในงานจะมีอยู่ 2 ตัว เป็นตุ๊กตาในวัยเด็กของเราเอง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนในวัยเด็กและเป็นเพื่อนในจินตนาการของเราค่ะ ก็เลยเอาเขาทั้ง 2 มาถ่ายทอดเป็นตัวละครในเรื่อง”
แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะคือสิ่งที่เราอยากรู้ต่อจากนั้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้เข้าใจงานของคุณ Hornsé Hornsé ได้มากขึ้นกว่านี้
“จริง ๆ ไม่ได้มีสื่อที่ตายตัวเป็นพิเศษ แต่ถ้าแนวงานค่อนข้างที่จะชอบแนว Fantasy ค่ะ แต่จะเป็น Romantic Fantasy มากกว่า เพราะมันค่อนข้างจะรู้สึกถึงความโรแมนติกอะไรบางอย่างขณะมองงาน ศิลปินที่ชอบก็จะเป็น Mark Ryden แต่จะมีศิลปินไทยที่อาจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แต่เป็นคนโปรดชื่อ ‘ลำพู กันเสนาะ’ ค่ะ (ยิ้มแก้มปริ) เพื่อน ๆ ที่สนิทก็จะรู้กันดีว่าค่อนข้างที่จะเป็น Big Fan มาก ๆ เลย (ยิ้มแก้มปริมากขึ้นอีก) ฉันรักเขาได้ยินมั้ย ! เราชอบเขามากจริง ๆ ก็จะศึกษาพี่เขามากเป็นพิเศษ นอกนั้นก็จะมีเป็นพวกภาพยนตร์”
“แต่ส่วนใหญ่การคิดงานจะเกิดขึ้นจากการลงเลนส์สงสัยในสังคม หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวจริง ๆ ค่ะ โดยส่วนตัวเราเป็นคนชอบตั้งคำถามว่าทำไมมนุษย์ถึงเป็นแบบนี้ ทำไมส่วนใหญ่ถึงทำให้สังคมมันกลายเป็นแบบนี้”
ถึงเวลาไปทำความรู้จักกับ ผลงานใน Open Space Vol.2 ของเธอที่ถูกติดตั้งอยู่บนกำแพงหลังคุณ Hornsé Hornsé ขณะเรากำลังสัมภาษณ์กันอยู่ งานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในงานนี้ (ซึ่งเธอบอกว่าไม่คิดเลยว่าจะใหญ่ขนาดนี้)
“ผลงานที่เอามาแสดงใน SUPH Art Space ชื่อ ‘At The Back Of My Mind’ หมายถึง ‘ใจจริง ๆ ข้างในของฉัน’ ซึ่งหนูได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องดัง แล้วเราก็เอาตัวละครของเราที่อยู่ในโลกในอุดมคติหรือที่เป็นตุ๊กตาในวัยเด็กมานำเสนอ มันก็จะลิงก์กับหนังเรื่องนั้นด้วย แต่ว่าขอยังไม่บอกว่าเป็นหนังเรื่องอะไรค่ะ อยากให้ทุกคนค่อย ๆ ดูรายละเอียดในผลงานเอาเองแล้วก็จะอ๋อขึ้นมาเลย ซึ่งสัญญะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากหรือว่าหม้อปรุงยาในรูป ก็ค่อนข้างที่จะบอกเกือบหมดแล้ว ถ้าศิลปินเฉลยไปเลยก็อาจจะไม่สนุกและไม่ตื่นเต้น ก็คิดว่ายังไม่บอกแล้วให้ทุกคนมาดูผลงานเองดีกว่าค่ะ ก็เชิญมาชมที่ SUPH Art Space นะคะ ขอฝากผลงานด้วยนะคะ”
ถึงคิวของศิลปินคนที่ 2 ที่จริง ๆ แล้วถูกวางเอาไว้เป็นคนแรก คุณ ‘มองค์พิซีเออร์’ หรือที่เธอให้เราเรียกสั้น ๆ ว่า ‘มองพี่’ เพื่อให้คุยกันได้สะดวกกว่า ความหมายของชื่อที่ใช้ในการเป็นศิลปินนี้มีที่มาจากคาแรคเตอร์ของตัวเธอเองที่จะไม่ค่อยมองหน้าคนอื่นสักเท่าไหร่ คำว่ามองค์พิซีเออร์ที่ดูเป็นคำภาษาฝรั่งเศส จริง ๆ มันคือประโยคภาษาไทยคำว่า ‘มองพี่สิเออ’ นั่นล่ะ
“เอาจริง ๆ เลยคือไสตล์งานของเราค่อนข้างที่จะอธิบายค่อนข้างยากนิดนึง เพราะด้วยตัวงานหลัก ๆ ที่เราทำเป็น Performance Art หรือก็คือ ‘ศิลปะการแสดงสด’ ซึ่งสิ่งที่เราสนใจในเนื้อหาหรือมาสู่กระบวนการของเรา มันคือร่องรอยของ Performance อย่างงานชิ้นที่เอามาแสดงที่ Open Space Vol.2 ชิ้นนี้ มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งของร่องรอยจากการ Perform ของเรา แล้วก็กำลังพูดถึงการ Perform ของตัวตัววัตถุที่เราหยิบมาด้วย”
เมื่อคุณมองพี่เกริ่นถึงผลงานใน Open Space Vol.2 ของตัวเองมามาขนาดนี้แล้ว เราก็ไม่รอช้าที่จะถามกลับถึงคอนเซปต์ของตัวงานอย่างรวดเร็ว แต่เอาจริง ๆ งานที่ว่าด้วยร่องรอยบางอย่างในรูปแบบของบทกวีที่ถูกใส่กรอบเป็นชุดเหล่านั้นก็ดึงดูดใจคนทำงานสายเขียนอย่างเราอยู่แล้วล่ะ
“ชื่องานของเราคือ ‘The Ashes Of Memories (ตะกอนของความทรงจำ)’ คือเอาจริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนที่มีอะไรซับซ้อนสักเท่าไหร่ ส่วนตัวแล้วเรานำเสนองานที่ทำอย่างตรงไปตรงมามาก ๆ อย่างชิ้นนี้ชื่องานก็บอกอยู่แล้ว ‘ตะกอนของความทรงจำ’ เราเอามาจากไดอารี่ที่เราเขียนเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของเรา ซึ่งในความสัมพันธ์นี้มันมีส่วนที่เชื่อมโยงกับสังคมตรงที่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับหรือคาดหวัง หรืออยากจะให้เราเป็น แล้วเราก็เขียนเรื่องราวเหล่านั้นลงในไดอารี่ของเราก่อนที่จะมาทำการเผา เพราะว่าความสัมพันธ์ในครั้งนี้มันได้จบลงไปแล้ว”
“ที่เรานำมันมาเผาก็เพราะเรารู้สึกว่าในทุก ๆ ความทรงจำ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่สามารถจะตามทุกเรื่องในชีวิตของเราได้อยู่แล้ว คือบางทีเรายังนึกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตอนเช้าเรากินอะไรมา มันคือกระบวนการในตัวเราที่ค่อย ๆ กลั่นกรองอะไรบางอย่างให้มันเหลือแค่สิ่งที่สำคัญกับเราจริง ๆ ซึ่งในงานเซ็ทนี้ก็เหมือนกัน ในตัวไดอารี่ของเรา เราปล่อยให้ไฟที่เราเผากระดาษเป็นเหมือนกับการที่เราค่อย ๆ เผาความทรงจำไปเรื่อย ๆ มันทำให้เราเห็นตัวอักษรบทใหม่ บทกวีบทใหม่ที่มันได้หลงเหลืออยู่ แล้วเราก็คิดว่าอันนั้นแหละมันคือส่วนสำคัญเวลาที่เรามองย้อนกลับไปในความสัมพันธ์ครั้งเก่า ๆ แล้วได้เห็นว่ามันได้หลงเหลืออะไรไว้ให้เราบ้าง”
ในฐานะคนดูงานที่สนใจงาน Performance Art อยู่แล้ว เราจึงค่อนข้างสนใจว่างานหรือศิลปินที่มีอิทธิพลที่มีต่อคุณมองพี่คืออะไรกัน จะใช่แบบที่เราคิดไว้รึเปล่านะ ?
“เอาจริง ๆ ในฐานะ Performance Art เราเชื่อว่าศิลปินทุกคนน่าจะตอบว่า Marina Abramović แต่ว่าคนที่เราชอบจริง ๆ คือ Félix González-Torres ซึ่งเขาเป็นศิลปินรักร่วมเพศ เราค่อนข้างชอบสไตล์งานของเขา ถึงแม้ว่างานของทั้งคู่จะไม่ได้ใกล้เคียงอะไรกับงานของเราเลย อันนี้เป็นรสนิยมส่วนตัว”
การสัมภาษณ์คุณเป้ย GORGEOUS.P เป็นบทสนทนาที่เราสามารถสปอยล์รสชาติล่วงหน้าได้เลยตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ว่าจะมีความเผ็ด ความมันส์แบบไม่เกรงใจใครรออยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดจากที่คาดไว้จริง ๆ เพียงแค่เปิดบทสนทนากันมีกี่คำหลังจากกล้องสปีด หลังจากที่คุณเป้ยบอกว่าทำงานประจำเป็น ‘คนตัดต่อ’ (Editor) เรามาเริ่มจากฟังที่มาของชื่อศิลปินจากปากของคุณเป้ย GORGEOUS.P แบบที่เราไม่ได้ตัดต่ออะไรเพื่ออรรถรสอันเต็มรูปแบบในบรรทัดถัดจากนี้ได้เลย
“คือต้องขอเล่าก่อนเลยนะว่าเราเป็นคนที่มีความมั่นใจแบบพุ่งทะยานม๊ากกก แล้วก็จะรู้สึกว่า I’m Gorgeous มันก็จะมาจากแบบ I’m Gorgeous Editor อะไรงี้ จนเรามีโอกาสได้ทำงานนู่นนี่นั่น ก็เลยเป็นชื่อ GORGEOUS.P เพราะตัว P ก็มาจากชื่อเล่นและชื่อจริงเราด้วย”
แบบนี้ก็อยากรู้สไตล์งานของคุณเป้ยละ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
“สไตล์งานเรามันปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ว่ามวลรวมของมันคืองาน Digital Collage ที่มาจากพวกยุคต่าง ๆ และส่วนใหญ่เราจะไม่ได้เอางานที่มันเป็นโมเดิร์นมาทำหรือนำเสนอ แต่จะเป็นพวกภาพแบบแวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) ดาวินชี (Leonardo da Vinci) เป็นรสนิยมชอบโดยส่วนตัว คือสมัยที่เรียนมันจะมีวิชา Semiotic In Film แล้วมันก็จะต้องเรียน Semiotic In Art ด้วย ซึ่งต้องนั่งตีความรูป ๆ นึง แบบยุคเก่า ๆ ขึ้นหิ้งของประวัติศาสตร์ศิลปะ มาตีความว่า “ไก่ที่อยู่ในรูปนี้แปลว่าอะไร มันแทน Jesus รึเปล่านะ” ก็เลยทำให้เราสนใจงานที่อยู่ตามมิวเซียมค่อนข้างเยอะ”
แล้ววิธีการทำงานแบบ Collage ล่ะ เริ่มต้นอย่างไรบ้าง
“วิธีการทำงานของ GORGEOUS.P มันก็เกิดจากการที่เราเป็นมนุษย์ท่องอินเทอร์เน็ตคนนึงอยู่แล้ว เวลาเจอภาพอะไรที่ดูน่าจะเป็น element ได้นะ เราก็จะเซฟเก็บไว้ เป็นสต็อกเอาไว้เยอะ ๆ แล้วถ้าเราอยากทำงานศิลปะเราก็ค่อย ๆ หยิบเล็กผสมน้อย เอาเข้าเอาออก จนเรารู้สึกว่ามันไม่น้อยเกินไปและก็ไม่เยอะเกินไปเพื่อให้เกิดเป็นผลงานชิ้นนึง แล้วเราค่อยใส่ความหมายที่เราต้องการจะสื่อลงไปทีหลัง ส่วนใหญ่งานของเป้ยความหมายมันจะเบาบางมาก มันจะไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น เรารู้สึกว่าในงาน Collage ตัวเดิมของ Source มันมีความหมายอยู่แล้ว หน้าที่ของศิลปินก็แค่ทำขึ้นมาเพื่อมีแก่นบางอย่างบาง ๆ ให้คนที่มาชมงานมาดูมาตีความมันมากกว่า เพราะเรารูสึกว่า หน้าที่ของศิลปินมันตายไปเมื่องานชิ้นนั้นได้ทำเสร็จแล้ว คนที่จะทำให้งานชิ้นนั้น ๆ มีชีวิตต่อไปก็คือคนที่มาดูและตีความมันมากกว่า”
ถ้าลองเลื่อน Instagram ดูผลงานศิลปินของ GORGEOUS.P ที่คุณเป้ยโพสต์เอาไว้ เราเชื่อเลยว่าคุณจะต้องมีความคิดเดียวกันถึงแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อนักตัดต่อวิดีโอและภาพนิ่งคนนี้อย่างแน่นอน
“คนที่มีอิทธิพลในการทำงานศิลปะต่อเราอย่างถึงที่สุด ก็คือคุณ Nakrob MOONMANAS คือสมัยเด็ก ๆ เราไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า Collage คืออะไร จนไปเจองานของเขาที่เราขอเรียกว่าน่าจะเป็นไทยประยุกต์ ที่มันทัชชิ่งเรา เพราะเราก็หลงใหลในความเป็น Asian มาก ๆ มันมีคัลเจอร์บางอย่าง ความสไบเอย ความเป็นเครื่องทรงใด ๆ แล้วเราก็ไม่นึกว่าสิ่งพวกนั้นจะสามารถปรับแต่งไปเป็นทางประมาณว่า ‘รูปแวนโก๊ะใส่สไบ’ คือมันพิเศษสำหรับเราจริง ๆ แล้วคือเราเป็นติ่งคุณนักรบเค้าเว้ย เราก็ตามไปเรียนกับเค้าเป็น 10 กว่าที่เลย เค้าไปตรงไหนชั้นก็อยู่ตรงนั้น”
ทีนี้เราอยากรู้คอนเซปต์งานของ GORGEOUS.P ที่นำมาจัดแสดงใน Open Space Vol.2 แล้ว ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
“รูปของเรามีชื่อว่า Valley Of Muses เป็นภาพมนุษย์ที่อยู่กับสายงานอาร์ทต่าง ๆ มารวมตัวกันด้วยความใจรักบางอย่างในสิ่งที่ตัวเองทำ ณ ศาสตร์ของความเป็นอาร์ท ก็จะมี Musical มี Artist หรือ Novelist ต่าง ๆ ที่มันรวมอยู่ในนี้ มันก็เลยเป็น Valley Of Muses เพราะว่า Muses ตามความเข้าใจของเรา มันคือเทพที่ประศาสตร์พรให้กับ Artist สายต่าง ๆ เหมือนคนอยากเด่น อยากดังในการทำศิลปะด้านของตัวเอง ก็จะไปขอพร Muses ทั้ง 9 องค์ แต่งานที่เอามาแสดงที่ Open Space Vol.2 ก็จะไม่ใช่งานปัจจุบันของเป้ยแล้ว แต่งานของเป้ยจะเป็นไทย ๆ”
“เรียกชื่อศิลปินว่า LineLaabug ก็ได้ค่ะ คำว่า ‘Line’ มาจากคำที่แปลว่าเส้นปกติ เราชอบทำงานที่มันเกี่ยวกับเส้นอยู่แล้ว ส่วนคำว่า ‘La’ นี่คือเพื่อนมองว่าเวลาเราเดินเราเหมือนตัว ‘Teletubbies’ 555 เพื่อน ๆ ก็เลยไปคิดชื่อมาว่า ‘lala’ มันก็เหมือนคาแรคเตอร์เราดี เลยเอามารวมกันเป็น ‘LineLaa’ ส่วน Bug อันนี้มันคือชื่อคณะของจิตกรรมศิลปากรที่เราเรียน”
งานของคุณแอนท์ LineLaabug เป็นหนึ่งในงานที่มีรูปแบบของผลงานที่ค่อนข้างแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ ตรงที่เป็น Interactive Art หรือ ‘ศิลปะเชิงปฎิสัมพันธ์’ ให้คนดูมีส่วนร่วมกับงานได้ สิ่งที่ใช้สร้างผลงานก็จะมาจากพวกข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่ใช้ได้จริง ของแต่งบ้านหรือของใช้ในคอนโดที่เขาแต่งสวย ๆ ที่เลือกสิ่งเหล่านี้เพราะคุณแอนท์บอกว่า “ศิลปะมันเหมือนเข้าถึงยาก เราก็เลยเอาพวกของใช้มาทำเป็นฟอร์มของงานเรา” เพราะอยากให้งานเข้าไปอยู่ในชีวิตคน และเพื่อสื่อถึงความสบายใจด้วย และเป็นสิ่งเหล่านี้เองที่สร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างงานของคุณแอนท์ด้วย งานที่จัดแสดงใน Open Space Vol.2 ก็เป็นแบบนั้น
“งานที่เอามาแสดงจะมีอยู่ 2 งาน ก็คือ ‘Fuji Space’ งานนี้เราเอาดอกไม้ของญี่ปุ่นที่มันเรียกว่าดอกฟูจิ (fuji flower) เพราะตัวสีของมัน เราอยากให้ความรู้สึกของคนที่เข้ามาในงานเรารู้สึกสบายด้วยตัวสีและบรรยากาศของงานที่ผ่อนคลาย เหมือนเขานอนมองท้องฟ้าแล้วก็มีดอกไม้ ส่วน ‘You Can Sit On me’ ก็คืองานที่เชิญชวนว่า “เขามานั่งบนฉันสิ” เป็นการเชิญชวนให้คนเข้ามานั่งตามชื่อผลงานเลย ตัวนี้เราเอาแรงบันดาลใจมาจาก หญ้า ดอกไม้ ที่อยู่ตามข้างทาง เราอยากดึงพวกลักษณะทางธรรมชาติตรงนั้นเข้ามาใส่ในงานของเรา”
ทำไมถึงเลือกใช้ดอกไม้เข้ามาอยู่ในงานหมดเลย ต้องการสื่อถึงอะไรรึเปล่า
“เอาจริง ๆ ไม่ได้ต้องการให้แสดงถึงอะไร แต่เราคิดว่าพวกธรรมชาติที่เรามองเห็นอยู่รอบ ๆ ง่าย ๆ ก็อยากดึงเข้ามาให้มันอยู่ใกล้เรามากขึ้น จากที่มันอยู่แค่ที่ตาเราเห็น เราอยากให้มันมาอยู่รอบ ๆ เรา อยู่ในห้องนอนได้ อยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของเราได้ ก็เลยแปลงมาเป็นดอกไม้ในแบบของเราแทน”
“About You”
คือคำอธิบายสั้น ๆ ของงาน Digital Collage ชื่อ You ของคุณเก่ง Canyouhearcloud ศิลปิน Pop Art ที่เล่าเรื่องราวใน Pop Culture ผ่าน Character Design ชื่อ ‘ตาดาว’ ซึ่งคุณเก่งบอกว่าจริง ๆ แล้วงานส่วนใหญ่ที่เขาคิดและทำออกมาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘การเมือง’ หรือเรื่องที่เป็นกระแสอยู่ในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ทั้งเพื่อตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์
ทำไมถึงเลือกใช้ตัวละคร ‘ตาดาว’ อยู่ตลอดเวลา ตัวคาแรคเตอร์ตัวนี้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า ?
“จริง ๆ ผมไม่ได้คิดมาตั้งแต่แรกครับ แค่อยากวาดคนที่มีแววตาสวย ๆ แววตาเป็นประกายเฉย ๆ ก็เลยวาดตาออกมาเป็นแบบนี้ แต่เคยมีคนบอกว่าพอมันไปผูกเกี่ยวกับเรื่องของการเมือง มันก็บังเอิญไปตรงกับคีย์เวิร์ดทางการเมืองอันนึง ที่เขาชอบใช้กันว่า ‘ตาสว่าง’ แล้วพอคลิกกันแบบนี้ มันก็เลยมาตรงกับคอนเซปต์ของเราซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่ คำว่าตาสว่างมันเหมือนคนที่เห็นปัญหาก่อนใคร แล้วก็กำลังวิพากวิจารณ์สิ่งนั้นอยู่”
ย้อนกลับมาพูดถึง You งานที่คุณเก่งนำมาจัดแสดงใน Open Space Vol.2 สักนิดนึง อยากรู้ว่าคอนเซปต์หรือที่มาที่ไปของงานนี้คืออะไร
“งานชิ้นนี้ผมค่อนข้างที่จะเลือกทำงานแบบเบา ๆ สบาย ๆ อยากให้เข้ากับบรรยากาศของแกลเลอรี่กับเพื่อน ๆ ที่มาแสดงงานด้วยกัน จากงานส่วนตัวที่ทำเป็นเรื่องของการเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าเรื่อง Pop Culture หรือว่าบางอย่างก็ยังแอบมีเรื่องที่มีความหนักแน่นอยู่”
“You เป็นงานที่ชวนให้เราเข้าไปดูชีวิตประจำวันของคน ๆ นึง เป็น Routine ของคนชั้นกลางที่ต้องตื่นออกไปทำงานทุกวัน เขาต้องเจออะไรบ้างในแต่ละวัน มันจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของเขาที่มีอยู่ภายในแต่ละกิจกรรมนั้น ๆ และผมก็แค่อยากจะสื่อว่า คน ๆ นึงมันก็อยากจะมีความสัมพันธ์ หรืออยากจะมีใครสักคนนึงที่เอาไว้แชร์เรื่องราวแย่ๆ ในแต่ละวันบ้าง มันเป็นเหมือนบทสรุปของวันนั้น ว่าจะมีใครสักคนคอยรับฟังเรามั้ย หรือว่าคน ๆ นั้นก็มีวันแย่ ๆ แล้วก็เอามาแบ่งปันให้เราเหมือนกัน เพื่อพร้อมที่จะกลับไปเริ่มต้นใหม่ในวันพรุ่งนี้ เป็น Routine วนต่อไปเรื่อย ๆ”
“ถ้าถามว่า You เกี่ยวข้องกับการเมืองแบบที่ผมทำบ่อย ๆ มั้ย มันก็อาจจะดูเกี่ยวแล้วก็ไม่เกี่ยว เพราะผมมองว่าเราออกไปทำงานทุก ๆ วัน แค่เราก้าวเท้าออกไปอยู่บนอะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่ใช่ของเราแล้วมันเป็นส่วนรวม อันนั้นมันก็เป็นการเมืองแล้ว ตั้งแต่เรานั่งวินมอเตอรไซต์ แล้วแต่ละวินก็มีพื้นที่ของเขา นั่นก็เป็นการเมืองของวินมอเตอร์ไซต์แล้ว เราไปเจอรถติดมันก็เป็นเรื่องของการคมนาคม การบริหาร ทุก ๆ อย่างมันดูมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด เหมือนที่มีคนเคยพูดว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ถ้าถามว่างานนี้มันเกี่ยวข้องกันมั้ยกับเรื่องการเมือง มันก็มีส่วนอยู่บ้าง”
Pop Culture & Politics ที่ขับเคลื่อนอยู่ในงานคุณเก่งมีที่มาที่ไปจากไหน เราอยากรู้ว่าอะไรเป็นอิทธิพลให้กับงานของ Canyouhearcloud
“จริง ๆ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมก็ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น อาจจะเป็นการผสม ๆ กันมากกว่า ด้วยความที่ทำงาน Pop Art ตั้งแต่ตอนเรียน ก็จะชอบงานสไตล์ของ Andy Warhol เป็นหลักอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นศิลปิน Pop Art ที่ดังในยุคนั้น คือจริง ๆ ผมชอบลักษณะวิธีการตอนที่ Pop Art รุ่งเรือง คือเขาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสร้างงานศิลปะที่ไม่ใช่เป็นแค่แบบออกมาจากมือคนอย่างเดียว แต่ก่อนผมก็ทำงานที่เป็นแนว Object เป็น Paint ทีนี้ผมแค่รู้สึกว่าพอมันทำ Digital Art มันมีความกระชับ มันลดกระบวนการบางอย่างในการทำงานลง ก็เลยชอบวิธีความคิดแบบลัทธิ Pop Art ที่ว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้ฝีมือจากคนจากมือขนาดนั้น มันมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่เอาไว้ช่วยทุ่นแรงได้อยู่”
ความประทับใจที่เรามีต่อคุณม่อน Sandier ศิลปินที่เราเลือกสัมภาษณ์เป็นคนสุดท้ายจากศิลปิน Open Space Vol.2 ทั้งหมด 6 คน คือการที่เขาพูดว่าอยากให้งานตัวเองดูน่ารัก ขัดกับรูปร่างที่ดูสูงใหญ่มีความน่าเกรงขามของตัวเอง และอยากให้คนที่เห็นคาแรคเตอร์ดีไซน์ที่ชื่อว่า Sandier รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ดู
“ตัวคาแรคเตอร์ Sandier จริง ๆ แล้วเป็นตัวที่ต่อยอดมาจาก Thesis จบที่ ม.กรุงเทพ ต้องเล่าก่อนว่าบ้านผมทำท่าทราย ผมชอบ Texture ที่มันเป็นฝุ่น ๆ ผมก็เลยหยิบเอาตัวฝุ่นมาอยู่ในคาแรคเตอร์ครับ เป็นเทคนิคในการทำ ส่วนตัวสีเราชอบสีที่น่ารักหวาน ๆ อยู่แล้ว หลัก ๆ ก็จะใช้สีชมพู สีเหลือง สีม่วง ใช้มาตลอด ซึ่งตัว Sandier มันคือตัวแทนของผมเลย เป็นตัวแทนในการแสดงออกเรื่องความคิด หรือสิ่งที่ผมอยากทำ หรืออะไรที่มันเป็นเกี่ยวกับปัญหาของผม เรื่องร่างกาย หรืออื่น ๆ ก็จะแสดงออกผ่าน Sandier”
คุณม่อนพูดมาแบบนี้เรายิ่งอยากรู้จักเจ้าตัว Sandier มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะตัวที่อยู่ในงานที่ถูกแสดงอยู่ใน Open Space Vol.2 ช่วยเล่าคอนเซปต์ให้ฟังหน่อย
“ชื่องานนี้คือ ‘Family’ ครับ คือส่วนใหญ่งานของผมจะเล่าถึงตัวเอง เล่าถึงครอบครัว อย่างดอกไม้ในภาพก็มาจากว่าแม่ผมเป็นคนที่ชอบดอกไม้ ผมก็เลยวาดดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ในงาน แล้วงานนี้ก็จะพูดถึงการโอบกอด ตัวดอกไม้ต่าง ๆ ในภาพก็จะเป็นสัญลักษณ์แทนคนในครอบครัวผมเอง มีพ่อ แม่ พี่น้อง 2 คน แล้วก็เอาตัวคาแรคเตอร์ของผมกอดไว้ เพื่อแสดงถึงความรักที่ผมมีให้พวกเขา เพราะว่าส่วนใหญ่ผมจะทำงานอยู่ที่บ้าน แล้วก็จะอยู่กับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยเกิดเป็นงานนี้ขึ้นมา”
คุณม่อนมีความคาดหวังต่อคนที่มาเสพย์ผลงานของเราดูแล้วจะได้อะไรกลับไป
“อยากให้คนมองมันสนุกครับ หลัก ๆ เลยคือให้มันดูสดใสขัดกับตัวเรานิดนึง 555 ผมรู้สึกว่ามันจะมี Action ที่น่าสนใจของคนมาดูงานเสมอ ประมาณว่า “คนนี้หรอที่เป็นคนวาด” แต่ผมรู้สึกแฮปปี้เลยนะ เพราะจริง ๆ ทุกคนมันมีมุมหวานของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทึม ๆ ดุ ๆ ตลอดเวลา แล้วผมก็ไม่อยากวาดงานให้มันเป็นแง่ลบ หรือเรื่องดึงมาเป็นเรื่องลบ ๆ ด้วย เราจะไม่สนุก เพราะผมก็แค่อยากวาดงานไปทุกวัน เอาเรื่องเล็ก ๆ ในแต่ละวันมาทำเป็นภาพ แล้วก็วาดให้มันสดใส ให้มันสนุกเท่านั้นเอง”
ก่อนโบกมือลา SUPH Art Space และศิลปินทั้ง 6 คนไป เราไม่ลืมที่จะถามคำถามสำคัญกับพวกเขาถึงความคิดเห็นที่ว่า “ศิลปะจะมีส่วนช่วยให้เมืองหรือสังคมดีขึ้นได้อย่างไร” และนี่คือมุมมองที่พวกเขามีต่อความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและเมืองในแบบของตัวเอง ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นภาพของ Urban‘NICE’zation หรือ ‘เมือง – มิตร – ดี’ ได้กระจ่างชัดมากขึ้น
Hornsé Hornsé : ศิลปินเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคม เป็นคนปกติอยู่แล้ว การทำงานศิลปะมันค่อนข้างที่จะสะท้อนสังคมออกมาเหมือนกัน และการที่คนมาดูงานศิลปะก็เหมือนกับการได้ดูข่าว ซึ่งงานศิลปะก็เป็นมุมมองของศิลปินที่ได้กรั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ก็เลยคิดว่ามันก็เหมือนกับ ‘ข่าวสาร’ ที่ตีแผ่บริบทของสังคม ทั้ง 2 ด้านที่ดีและไม่ดีที่ศิลปินคิดขึ้นค่ะ
มองค์พิซีเออร์ : ศิลปินก็เป็นคน ๆ นึงที่อยู่ในสังคม เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว อิทธิพลภายนอก สภาพแวดล้อมภายนอก มันมีผลกับเราอยู่แล้ว เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เราต้องการสื่อสารออกไปมันจะมีเรื่องของสังคมที่มันเข้ามา บางทีที่บอกว่า ‘งานศิลปะแยกขาดออกจากสังคมหรือไม่มีความเกี่ยวข้องเลย’ เรามองว่ามันเป็นไปไม่ได้ อยู่ที่ว่าศิลปินจะนำเสนอในเรื่องประเด็นไหนเป็นหลักมากกว่า บางคนก็อาจจะถนัดในเรื่องการแสดงออกทางการเมือง บางคงอาจถนัดในเรื่องของความสัมพันธ์ อย่างตัวเราเอง ถึง Main จะพูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รีเลทกับสังคมเลย เพราะเราพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวเองที่ไม่ได้ตรงกับความคาดหวังทางสังคม ศิลปินไม่เคยแยกขาดออกจากสังคม
GORGEOUS.P : เรารู้สึกว่าในการใช้ชีวิตของเราทุกคนมันมีความ Suffer ในแต่ละระยะของสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่มันจะเยียวยาคนได้มันคือศาสตร์บางอย่างที่เราเรียกมันว่าเป็น ‘ศิลปะ’ เป็นศิลปะในทุกแขนงไม่ว่าจะอาหาร หนังสือ หรือภาพวาด มันคือสิ่งเยียวยาจิตใจ เพื่อเป็น Life Healing ยกตัวอย่างเราถ้ารู้สึก Suffer เรากินชานม มันก็เป็นเรื่องของศาสตร์แห่งอาหารก็ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่าศิลปะมันเป็นสิ่งที่เยียวยาหัวใจ หรือเป็นพื้นที่หลบภัย เป็นยารักษา ในการที่จะเยียวยารักษาคนแต่ละเลเยอร์ของสังคม
LineLaabug : ศิลปะมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร ก็น่าจะตรงตัวอยู่แล้วก็คือ ‘ความสุนทรีย’ เราขาดศิลปะไม่ได้อะ ถ้าเราไม่มีศิลปะเลย ก็จะขาดความสวยงามของการใช้ชีวิตบนโลกนี้ไป สังคมก็อาจจะตรึงเครียดไปรึเปล่า ? แค่ลองมองไปรอบ ๆ ก็เห็นศิลปะได้แล้ว สมมุติอย่างขยะอย่างเนี้ย ถ้าจะทำให้สวยมันก็สวยได้ อย่างเรียนคณิตศาสตร์เราก็ยังต้องใช้เส้นสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยมเรียนรู้มันเลย อันนั้นก็มองว่าเป็นศิลปะเหมือนกัน เรามองว่าศิลปะก็คือชีวิตของเราทุก ๆ วัน
Canyouhearcloud : ศิลปะเป็นเหมือนตัวสะท้อนสังคมในแต่ละยุค อย่างในยุค Pop Art ที่ Computer เริ่มเข้ามามีบทบาทกับผู้คน คอมพิวเตอร์ก็เริ่มมีบทบาทกับการทำงานศิลปะขึ้นมา เช่น การทำ Silk Screen การพิมพ์ ศิลปะมันก็โตขึ้นไปตามเมืองที่เปลี่ยนไป อย่างเมืองตอนนี้เรากำลังมีปัญหาเรื่องอะไรอยู่ ศิลปินก็จะถ่ายทอดเรื่องนั้นออกมา ก็กลายเป็นยุคสมัยของเหตุการณ์นั้น ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าศิลปะมีส่วนกับสังคมยังไง ผมคิดว่ามีโดยตรงเลย ศิลปะมันสะท้อนชีวิตของคน สะท้อนวิธีการใช้ชีวิต สะท้อนสิ่งที่ผู้คนโหยหา มันผ่านออกมาจากศิลปะได้ แล้วเราก็สามารถศึกษามันได้จากเรื่องราวศิลปะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
Sandier : มันทำให้มีสุนทรียในการใช้ชีวิตมากขึ้น ผมว่ารอบตัวควรมีศิลปะ เพื่อให้คุณภาพชีวิตมันดีขึ้น ทั้งต่อวิธีคิด หรือการมองสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีสัน ถ้าไม่มีศิลปะก็คงจะเบื่อน่าดู
SUPH Art Space Presents : “OPEN SPACE vol.2”
Location : 117/5 ซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า9 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร.0635296269
Date : 04-12/02/2023
Contact : suph.one/suphartspace / FB : SUPH art space
อ่านรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม : https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023/program/41168