

Business
รู้จัก “สุริยาหีบศพ” ธุรกิจความตายเพื่อหัวใจคนเป็น กิจการใจรักที่คนส่วนใหญ่ขยาดกลัว
By: unlockmen February 13, 2018 92549
เดือนกุมภาพันธ์ ภาพความรักหวานสดใสอบอวลไปทั่วพื้นที่ บรรยากาศเทศกาลชวนให้หัวใจสูบฉีด ภาพของคนที่เรารักพร้อมเลือดฝาดแต้มพวงแก้ม รอยยิ้ม ลมหายใจ และอุณหภูมิร่างกายอุ่น ๆ ที่สัมผัสแล้วชวนให้รู้สึกดี แต่มักไม่ค่อยมีใครคิดถึงสิ่งตรงข้าม วันที่หัวใจหยุดเคลื่อนไหว ร่างเย็นเฉียบ ไร้การตอบสนอง และรอวันเน่าเปื่อย กลิ่นหอมคุ้นเคยที่จางผันกลายเป็นความคลุ้งคลื่นเหียนชวนสะอิดสะเอียน ถึงเวลานั้นเราจะยังมั่นคงอยู่เคียงข้างหรืออยากเบือนหน้าหนีกันแน่?
กับประเด็นคำถามทิ้งท้ายนั้น เราได้มีโอกาสฟังบทสัมภาษณ์ของพี่วิโรจน์ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของสุริยาหีบศพในรายการ podcast ของ The Secret Sauce มีหลายมุมที่เราไม่เคยรู้และไม่เคยได้ยินจึงอยากเก็บมาแบ่งปันให้ชาว UNLOCKMEN ได้เพิ่มมิติรักให้ครบรส เปลี่ยนมุมมองที่เราอาจจะมีทั้งรักทั้งชังเมื่อได้ยินว่าเขากำลังทำ “ธุรกิจหีบศพ” งานที่แลกลมหายใจคนอื่นเป็นเม็ดเงิน
ถึงความตายจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่มักไม่ค่อยมีใครอยากทำงานกับความตาย เพราะมีความเชื่อว่า “ศพ” หรือร่างไร้ลมหายใจที่เกี่ยวพันกับดวงวิญญาณและความเชื่อนั้นผูกกับความซวยล้วน ๆ ทำไปก็ไม่เจริญ จึงเป็นเหตุผลผู้บุกเบิกกิจการหีบศพอันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่าง คุณสมชาย สุริยเสนีย์ เจ้าของกิจการสุริยาหีบศพ ต้องฝ่าฟันกระแสคำต่อต้านของครอบครัวมากมาย แต่สุดท้ายด้วยทัศนคติที่ดีในการทำงานที่ต้องการส่งความรักสุดท้ายของคนเป็นถึงคนตาย และเป็นเพื่อนที่เคียงข้างความเสียใจทุกมิติ จึงทำให้ธุรกิจนี้เติบโตและเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญและเป็นหลักพิงให้กับทุกชีวิตในบ้าน และยืนยงมายาวนานถึง 4 ทศวรรษโดยไม่มีใครแทนที่ได้ และมีโอกาสได้รับเกียรติรับใช้ราชสำนัก ขณะเดียวกันก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นจากการเสริมของลูกไม้ไกลต้นอย่างพี่วิโรจน์ สุริยเสนีย์ที่เข้ามารับช่วงต่อจนโด่งดังในระดับสากล
ทั้งที่เห็นชัดว่าเป็นงานที่ได้เม็ดเงินจากคนตาย แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจนี้ปลูกฝังเป็นปรัชญา หรือกฎเหล็กทางธุรกิจที่พนักงานทุกระดับที่มีกว่า 300 ชีวิตจากทุกสาขาต้องจดจำกลับเป็นข้อห้ามว่า “ห้ามหากินกับคนตายเด็ดขาด” เพราะเขารู้ว่าความสูญเสียนั้นเจ็บปวด หัวใจของการทำงานจึงต้องคิดจุดเริ่มต้นว่าเราต้องการทำอะไรให้กับบุคลที่สูญเสียคนที่รักได้บ้าง ไม่ใช่การฉวยโอกาสกับจังหวะอ่อนแอของคน ความซื่อสัตย์ที่สั่งสมเหล่านี้ได้สะท้อนกลับมาเป็นเสียงของคำชื่นชม และความยั่งยืนทางธุรกิจ
“สิ่งที่ยากที่สุดของสุริยาอีกอย่างคือตอนจุดธูปขอพรไหว้พระ บอกว่าขอให้ผมขายดีๆ หรือเวลาผมไปทำบุญหลวงพ่อก็จะบอกว่า โยม ขอให้ขายดีๆ นะ ถ้าผมขายดีนี่แสดงว่าคนตายเยอะนะ หลวงพ่อก็บอก เอ้ย ก็เอาคนที่ถึงเวลาสิ” – วิโรจน์ สุริยเสนีย์
“เราจะไม่ปฏิเสธลูกค้า” คำกล่าวสั้น ๆ ของพี่รุ่งโรจน์อธิบายลักษณะธุรกิจหีบศพของสุริยาหีบศพที่เป็นมากกว่านักค้า แต่เป็นผู้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นมาให้กับผู้เข้ามาติดต่อแบบครบวงจรนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้เรามองว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจและเจตนา ถ้าคุณมองโลกแบบบริโภคนิยม คุณจะมองว่าเขากำลังหากินกับคนตาย แต่สำหรับคนที่เข้าใจและเคยพบการสูญเสีย หรือตกอยู่ในสถานการณ์นั้นมาก่อน ย่อมเข้าใจดีว่า ความเป็นชายมันไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันความรู้สึกส่วนนี้มาให้ เราอ่อนแอและแพนิกเกินกว่าจะคัดเลือกหรือตระเตรียมอะไรในภาวะที่หัวใจไม่แข็งแรง แค่ฝืนฟังคำแสดงความเสียใจจากทุกช่องทางและตอบ “ขอบคุณ” กลับไปก็ยากเกินทนแล้ว
อินไซด์ลึก สิ่งที่เราไม่เคยสงสัย แต่เมื่อรู้แล้วต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เพราะเขาคือต้นฉบับของหีบศพที่เราเห็นกันทั่วไป 2 สิ่งนี้
สัจธรรมที่ว่าพอคนเราตายแล้วก็เท่ากันหมด ทั้งรูปร่างหน้าตาที่เคยหล่อเหลา เงินทองในกระเป๋า หรือชาติตระกูล เพราะสุดท้ายต้องพำนักในบ้านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ขนาดไม่กว้างใหญ่กว่าลำตัวมากมาย ปิดและตอกประทับด้วยฝาโลงเหมือนกัน แต่ในความเท่าเทียมเราก็พบว่าไม่ใช่ร้านขายหีบศพทุกในไทยที่เป็นแบบนั้น การรับดีลดูแลผู้เสียชีวิตต่างชาติมาจัดพิธีกลับเป็นเรื่องยาก แต่คุณวิโรจน์ได้เข้ามาต่อยอดด้วยการสร้างบริษัท Siam Funeral ก้าวไกลชนิดเป็นสมาชิก NFDA ของอเมริกา ไปงาน Asia Funeral Expo หรืองานสัปเปร่อโลก ซึ่งเป็นงาน conference การจัดการพิธีศพ แชร์องค์ความรู้ถึงกันไปทั่วโลก ทั้งการบุภายใน เสื้อผ้า หีบ ฯลฯ ซึ่งจัดวนสลับกันไปในหมู่ประเทศสมาชิก
Funeral Home ศัพท์นี้หลายคนอาจไม่คุ้น แต่มันคือ service ที่เป็นลักษณะของบริษัทรับจัดงานศพ ซึ่งเมื่อนำมาเทียบแล้วต่างประเทศจะแตกต่างกับประเทศไทย ในต่างประเทศ Funeral Home คือเอกชน แต่บ้านเราคือวัด ซึ่งดูเป็นการผูกขาดบริการนั้น ในอนาคตแบรนด์สุริยาหีบศพจึงตั้งความหวังว่าอยากจะสร้างที่สวดศพของเอกชน ที่ไม่ใช่วัด เหมือนกับกลุ่มประเทศอื่นในเอเชียที่ทำสำเร็จแล้วทั้ง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ทั้งหมดนี้เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะหลายคนไม่ได้อยากไปจบการจัดพิธีที่วัด แต่ต้องการจัดพิธีที่บ้าน และเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ยากจะเข้าใจ เนื่องจากคนในต่างจังหวัดทุกวันนี้เขาก็ยังทำกัน
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องเล่าความสำเร็จและความสุขที่เกิดจากความรักและความตั้งใจชนิดไม่เกี่ยงอาชีพ หรือเป็นอาชีพที่อาจไม่เข้าตาในมาตรฐานสังคมปกติ ซึ่งเราเชื่อว่าจะกลายเป็นที่มาของแรงบันดาลใจมหาศาลสำหรับคนทำงานชาว UNLOCKMEN ทุกคน เพราะหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการพัฒนาศักยภาพงานด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ และให้ความรัก เช่นเดียวกับประโยคทิ้งท้ายของพี่วิโรจน์เมื่อพูดถึงความสุขจากการทำงานว่า
“ความสุขของผมจริงๆ คือลูกค้านั่งจับมือผม แล้วบอกว่าขอบคุณมากนะ นั่นแหละคือความสุขของผม ประสบความสำเร็จครับ เราไม่ใช่เทวดา แต่ในมุมของลูกค้าที่สูญเสีย เราคือเทวดาของเขา” – วิโรจน์ สุริยเสนีย์
เรื่องเล่าจบแล้ว อย่าลืมใช้ชีวิตให้คุ้มค่า พัฒนาตัวเองก่อนจะเจอกับวันหน้าในบ้านหลังสุดท้ายนะ