

FASHION
น้ำตาจระเข้ ใครคือเจ้าของที่แท้จริงของสัญลักษณ์ Crocodile
By: unlockmen March 21, 2017 55973
เราเชื่อว่าหลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเสื้อผ้า polo แบรนด์ยอดฮิต ที่มีโลโก้จระเข้ปักอยู่บริเวณอก ว่าจริงๆ แล้วมีกี่แบรนด์ที่ใช้สัญลักษณ์นี้ และใครเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงกันแน่ วันนี้ UNLOCKMEN ได้ไปสืบค้นประวัติเกี่ยวกับโลโก้ Crocodile ที่มูลค่าสูงไม่แพ้โลโก้ใดในโลกมาฝากกันว่า ใครกันแน่ที่เป็นตัวจริงเรื่องจระเข้
ย้อนกลับไปในยุค 1920s ชายชาวฝรั่งเศสนามว่า René Lacoste กำลังโลดแล่นอยู่ในคอร์ตเทนนิส ครองความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเป็นว่าเล่นถึง 7 สมัย ก้าวขึ้นไปรั้งตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของโลกในปี 1926 และ 1927 เรียกว่าเป็นปีทองยิ่งกว่ายุคภราดรคว้าแชมป์ซะอีก
ในช่วงนี้เองที่ René Lacoste ได้ฉายา The Crocodile มาครอง เมื่อเจ้าตัวท้า Alan Muhr กัปตันชาวฝรั่งเศสของ Davis Cup Team ในยุคนั้น ว่าถ้าตัวเค้าสามารถชนะการแข่งขันนัดเย็นวันนั้นได้ Muhr จะต้องจ่ายเงินซื้อกระเป๋าหนังจระเข้ให้เป็นรางวัล แต่น่าเสียดายที่ René Lacoste เป็นฝ่ายแพ้ในการแข่งขันนัดนั้น จึงอดได้กระเป๋ามาครอบครอง
อย่างไรก็ตาม การเดิมพันครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานโลโก้จระเข้ เพราะนักข่าวอเมริกันได้ยินเรื่องการเดิมพันระหว่าง René Lacoste กับ Alan Muhr จึงนำไปพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ Boston Evening Transcript ว่า “The young Lacoste has not won his crocodile skin suitcase but he fought like a true crocodile.” แม้จะไม่ได้รางวัลกระเป๋าหนังจระเข้ แต่ René Lacoste ก็สู้เต็มที่ไม่แพ้จระเข้ตัวจริงเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อ René Lacoste เห็นพาดหัวข่าวนี้ กลับรู้สึกชอบฉายาที่นักข่าวตั้งให้ซะงั้น บอกว่ามันเข้ากับสไตล์การเล่นเทนนิสของเค้าเป๊ะ คือกัดไม่ปล่อย เล่นแล้วหวดไม่ยั้งจนกว่าจะเอาชนะเหยื่อของเค้าได้
จากฉายา Crocodile กลายเป็นโลโก้ ในปีที่ René Lacoste ได้แชมป์ U.S. Open ก็ใช้ฤกษ์งามยามดีเปิดตัวโลโก้จระเข้หันขวาเป็นครั้งแรก ซึ่งคนที่ออกแบบให้ไม่ใช่ใคร คือเพื่อนของ René Lacoste ที่ชื่อ Robert George ซึ่งแฟนพันธ์แท้ Lacoste อาจจะพอคุ้นชื่อนี้ จาก Speical collection ที่ถูกผลิตเพื่อเป็นเกียรติประวัตินั่นเอง
ในปี 1933, Lacoste ที่มีชื่อเสียงน้อง ๆ ดาราภาพยนตร์ ได้ร่วมมือกับ André Gillier เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เริ่มก่อตั้งบริษัท La Société Chemise Lacoste แบบจริงจัง พวกเขาเริ่มจากการออกแบบเสื้อเทนนิสตามแบบฉบับของตัวเอง จนได้สินค้าที่แตกต่าง ด้วยเอกลักษณ์เสื้อคอโปโล มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี ออกแบบให้สวมใส่ในระหว่างการเล่นจับคู่กัน โดยเสื้อทำจากวัสดุผ้าน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี มีความยืนหยุ่นสูง ซึ่งนับว่าแปลกใหม่ในวงการแฟชั่นและกีฬามาก เพราะก่อนหน้าจะผลิตเสื้อแบบใหม่ ผู้เล่นเทนนิสมักใส่เสื้อแขนยาว แถมยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการนำสารพัดเฉดสีเกือบทุก pantones ใส่ลงไปในเสื้อ polo กลายเป็นเสื้อกีฬาที่สามารถใส่ได้ทุกวัน ยิ่งทำให้ Lacoste ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
แต่เมื่อเริ่มโด่งดังปัญหาก็เริ่มตามมา เพราะเมื่อนาย Vincent De Paul Draddy ประธานบริษัท David Crystal Inc, เข้ามาเป็นพันธมิตร เพราะมองเห็นว่าเสื้อ Polo Lacoste สามารถนำมาสร้างเป็นเทรนด์ให้แพร่หลายในอเมริกาได้ เขาจึงได้นำเสนอแบรนด์ IZOD ในฐานะผู้นำพา license จระเข้ไปบุกตลาดแฟชั่นอเมริกา และจะให้ใช้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้ชื่อ IZOD Lacoste พร้อมโลโก้จระเข้เขียวไปใช้ด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จระเข้ Lacoste สามารถว่ายน้ำมาบุกตลาดอเมริกาได้สำเร็จอย่างเป็นทางการในปี 1963 โดยมีความแตกต่างตรงที่ American version จะมีชายเสื้อด้านหลังยาวกว่าด้านหน้า
“เอาไปได้ แต่อย่าโมดิฟายเสื้อของฉันนะ” การปรับเปลี่ยนรูปแบบเสื้อ รวมถึงการลดคุณภาพของผ้านำเข้า เนื่องจากต้นทุนที่แพงขึ้น ทำให้เจ้าของเดิมเริ่มไม่พอใจ นำพาไปสู่ความไม่ลงรอยในการทำธุรกิจ เป็นที่มาของการแยกทาง และ Lacoste ก็ได้ซื้อหุ้นคืน รวมถึงสิทธิการทำตลาดในประเทศอเมริกามาอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนจะเปลี่ยนถ่ายการบริหารสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน จนกระทั่ง Lacoste เริ่มเปิดกว้างในการขาย License ให้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายในแต่ละประเทศมากขึ้น ข้อเสียก็คือการควบคุมคุณภาพที่ทำได้ยาก ไม่ตรวจเข้มเหมือนสมัยรุ่นก่อตั้งโดย René Lacoste
และอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีการนำโลโก้จระเข้มาใช้ คือบริษัทจาก Hong Kong ที่ชื่อว่า Crocodile Garment ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นแบรนด์นี้กันมาบ้าง เพราะมีวางขายตามห้างสรรพสินค้าบ้านเรา แบรนด์นี้ก็นำโลโก้จระเข้มาปรับเปลี่ยนเล็กน้อยพองาม อย่างเช่นดวงตาจระเข้ที่จะใหญ่กว่าของ Lacoste แถมทำกลับด้านกัน ก็ไม่แคล้วที่ว่าทั้งคู่ก็มีเรื่องการฟ้องร้องกัน จนในที่สุด Crocodile ต้องยอมแพ้แล้วปรับเปลี่ยนให้ต่างออกไปจนดูลักษณะผิดรูป ผิดร่าง แต่ก็ยังสามารถสร้างความสับสนให้กับลูกค้าได้อยู่บ้างถ้าไม่ทันสังเกต
นี่แหละคือความยากวุ่นวายจากการทำธุรกิจ เรื่องของ branding และ logo เรียกว่ามีส่วนสำคัญลำดับต้น ๆ เป็นชนวนสู่การฟ้องร้องเรียกเงินจำนวนมหาศาลมานักต่อนัก ดังนั้นหากชาว UNLOCKMEN คนไหนมีไอเดีย หรือกำลังทำบริษัทอะไรอยู่ ก็อย่างนิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปจดสิทธิบัตรอะไรให้เรียบร้อย จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายภาคหน้า ป้องกันปัญหาปวดใจแบบจระเข้ตัวเขียวตัวนี้นะครับ