

EVENT
ONE DAY BAB2018 BY UNLOCKMEN: เก็บอาร์ตให้เต็มวันมันไปได้แค่ไหน รีวิวสด ดิบ แบบลงพื้นที่จริง!
By: unlockmen November 6, 2018 126830
นาทีนี้คงไม่มีงานศิลปะไหนดังและน่าไปมากกว่า BAB2018 งานอาร์ตระดับโลกที่จะแสดงถึงแค่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 กับ 20 สถานที่แสดงงานศิลปะสุดเจ๋งในกรุงเทพฯ ที่ผู้ชายทุกคนจะต้องไปเช็กอิน ดังนั้น เมื่อเราแนะนำว่าควรไป เราย่อมไม่พลาดลงพื้นที่ไปเช็กอินกันด้วยตัวเองและนำกลับมารีวิวกันแบบเรียล ๆ เลยว่าจุดไหนน่าไปลอง และจุดไหนต้องเตรียมตัวอย่างไร
หลังจากกางแผนที่ออกมาเพื่อวางแผนก่อนออกเดินทางจริง ทีมงานปรึกษากันว่า “เราจะเดินทางตามเก็บงานศิลป์กันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใน 1 วัน แต่จะเลือกไปในเส้นทางที่เดินทางได้ยากเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านที่เดินทางยากมีโอกาสได้ดูงานกัน” จึงได้บทสรุปว่าทีมงานเลือกทางชมศิลปะเส้น River Route ทั้ง 8 กันโดยออกสตาร์ทที่ฝั่งปิ่นเกล้าในเวลาที่ไม่ทรมานใจชายเกินไปคือ 9.30 บริเวณเมเจอร์ปิ่นเกล้า
รูปแบบการเดินทางทั้งหมดนี้เราเลือกใช้วิธีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและการเดินเท้าล้วน เผื่อใครจะพาคนพิเศษไปเก็บงานศิลป์ด้วยวิธีนี้จะได้จำลองสถานการณ์จริงและรู้ที่ทางการจอดรถเลย เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่จากคู่มือ BAB จะเน้นการเดินทางแบบสาธารณะมากกว่า
สตาร์ทสถานที่แรก Bankok of Thailand Learning Center (BOT) บริเวณสามเสน ริมน้ำ ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งเทเวศน์ ภายในจัดแสดงงานศิลปะทั้งหมด 6 ชิ้น แบ่งเป็น 3 สถานที่ที่ติดตั้งภายในอาคาร สามารถจอดรถใต้อาคารฟรี 4 ชั่วโมง ชั่วโมงต่อไปคิดชั่วโมงละ 20 บาท
#1
ศิลปิน: หวง หย่ง ผิง (Huang Yong Ping)
ชื่อผลงาน: เรือมังกร (Dragon Boat)
ลักษณะงาน: Mixed Media Installation
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 ขึ้นบันไดเลื่อนจากอาคารข้างที่จอดรถ
รูปแบบ: เรือขนาดใหญ่ หัวเรือเป็นรูปมังกรเป็นปากทางเข้า เมื่อเดินเข้าไปด้านในเรือได้จะเห็นด้านในตกแต่งด้วยกระเป๋าเดินทางวินเทจขนาดใหญ่นำมาจัดวาง ส่วนกาบเรือด้านนอกตกแต่งด้วยไม้กวาดวางเรียงกันเสมือนเรือจริง จะถ่ายภาพสวย ๆ หรือนำเรื่องราวมาจัดวางก็ได้
#2
ศิลปิน: โซลด์ เอาท์ สตูดิโอ, Souled Out Studios (SOS), Lucas Price
ชื่อผลงาน: Bangkok Body Body
ลักษณะงาน: Film
พื้นที่จัดแสดง: เดินทะลุจากประตูกระจกด้านหลังเรือมังกรในชั้นเดียวกันจะพบกับกล่องห้องกั้นม่านสีดำ ที่นั่งทำด้วยบล๊อกปูนสี่เหลี่ยมด้านบนเป็นลวดลาย
รูปแบบ: เป็นห้องมืดสำหรับฉายหนังเล่าเรื่องราวของบุคคลหลายเชื้อชาติที่อาศัยในกรุงเทพฯ ใครที่ไม่ทราบช่วงเวลาการแสดงมองหาสตาฟห้อยป้าย BAB บริเวณนั้นเพื่อสอบถามได้
#3, 4, 5, 6
ศิลปิน: โซลด์ เอาท์ สตูดิโอ, Souled Out Studios (SOS)
ชื่อผลงาน: Memories House / Urban Bliss / Alter to the lost Conversation
ลักษณะงาน: ประติมากรรม
พื้นที่จัดแสดง: บริเวณริมน้ำ ด้านหลังห้องสมุด BOT
ด้านหลัง Urban Bliss
Alter to the lost Conversation
Alter to the lost Conversation
รูปแบบ: บ้านหัว Alex ที่สามารถอ้อมด้านหลังเปิดประตูเข้าไปชมภาพจิตรกรรมได้, บ้านสังกะสีที่สามารถอ้อมด้านหลังจะพบโพรงพื้นที่ว่างพร้อมรองเท้าให้เข้าไปนั่งบนตัวบ้านและรับฟังเสียงจากผนังบ้าน, บ้านเพ้นท์ภาพสัญลักษณ์ของความตายสีน้ำเงินและสีขาว ด้านในบ้านประดับด้วยเครื่องเซรามิก
ถัดมาเราขับรถข้ามมาที่วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ข้ามมาทางฝั่งท่าเตียน จุดนี้หาที่จอดรถยากมาก เราเลือกไปจอดที่ราชนาวีสโมสรแล้วเดินต่อมายังท่าเตียนและเดินเท้ากลับมาที่วัด ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ราคาชั่วโมงละ 30 บาท
#1
ศิลปิน: จิตต์สิงห์ สมบุญ (Jitsing Somboon)
ชื่อผลงาน: Paths of Faith
ลักษณะงาน: แฟชั่น
พื้นที่จัดแสดง: ขึ้นบันไดมา อยู่ด้านซ้ายมือทางเข้าวิหารพระนอน
รูปแบบ: คอลเล็กชั่นเสื้อคลุมสีขาวปักคำว่า “ศรัทธา” ในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ไว้กลางหลังสำหรับให้เหล่านักท่องเที่ยวสวมใส่ขณะเดินเข้าไปในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกติมีสตาฟทำหน้าที่ดูแลชุดทั้งหมด หลังสักการะเดินออกไปอีกด้านของวิหารต้องถอดแล้วนำมาคืนกับสตาฟ
#2
ศิลปิน: ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ (Phaptawan Suwannakudt)
ชื่อผลงาน: Knowledge in your hands, eyes and minds
ลักษณะงาน: จิตรกรรมฝาผนัง, อะคริลิคบนผืนผ้าใบ
พื้นที่จัดแสดง: สระจระเข้ในวัดโพธิ์
รูปแบบ: บทประพันธ์ วรรณกรรม งานออกแบบ การนวดสมุนไพร โหราศาสตร์ และภูมิปัญญาทางการแพทย์ ภาพยึดด้วยผ้าตาข่ายโปร่ง หากเงยหน้าเพื่อมองบริเวณคานด้านนอกจะพบบทประพันธ์และระหว่างชมมีการเปิดเพลงไทยบรรเลง สะท้อนเรื่องราวของศิลปินที่มีบิดาคือ คุณไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ผู้บุกเบิกจิตรกรรมฝาผนังไทยเป็นต้นแบบ
#3
ศิลปิน: หวง หย่ง ผิง, Huang Yong Ping
ชื่อผลงาน: Zou You He Che
ลักษณะงาน: Mixed-Media Installation
พื้นที่จัดแสดง: ศาลามิสกวัน
รูปแบบ: ประติมากรรมสัตว์ในจินตนาการคาบตำรายารักษาโรคในปาก ท่อนล่างนับจากส่วนหัวลงมาเป็นรูปเท้าขนาดใหญ่
#4
ศิลปิน: ปานพรรณ ยอดมณี (Pannapan Yodmanee)
ชื่อผลงาน: Sediment of Migration
ลักษณะงาน: อะคริลิค บนคอนกรีต, เหล็ก
พื้นที่จัดแสดง: แปรผันตามพื้นที่ กระจายหลายจุด
รูปแบบ: จิตรกรรมลอยตัววางคู่กับรูปปั้นฤาษีดัดตนและตุ๊กตาอับเฉาในวัดโพธิ์ ภาพบนคอนกรีตเป็นรูปการติดต่อค้าขายระหว่างสบามและจีน การเดินทางแสวงบุญ ความแตกต่างด้านศรัทธาและชาติพันธุ์
#5
ศิลปิน: ธวัชชัย พันธ์สวัสดิ์ (Tawatchai Puntusawasdi)
ชื่อผลงาน: A Shadow of Giving
ลักษณะงาน: แผ่นทองเหลือง, ทองแดง, สังกะสี
พื้นที่จัดแสดง: ยึดบริเวณผนังของของอาคาร
รูปแบบ: ประติมากรรมเชิงทดลองได้แรงบันดาลใจจากภาพสองมิติของโรงทานยื่นออกมา สื่อสัญลักษณ์ของการให้ ความเคารพ และความไม่เห็นแก่ตัว
โดยรวมแต่ละสถานที่ในวัดใช้เวลาวนเวียนหาค่อนข้างนาน เพราะป้ายตำแหน่งที่จัดแสดงไม่ชัดเจนและมีหลายซอก ประกอบกับช่วงนี้มีงานสมโภชวัดอยู่ด้วยยิ่งทำให้ความพลุกพล่านเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ ทางที่ดีให้พยายามมองหาสตาฟและป้ายเบียนนาเล่สีเขียวไว้
สถานที่แห่งที่ 3 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร สามารถข้ามฝั่งจากท่าเรือบริเวณท่าเตียนไปได้เลย แต่เนื่องจากเรานำรถมาจึงขับไปจอดที่บริเวณวัดเครือวัลย์ (จอดฟรี) จากนั้นจึงเดินเท้าต่อไปยังวัดอรุณฯ ระยะทางไม่ไกลกันนักสามารถเดินทางสะดวก
#1
ศิลปิน: สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ (Sanitas Pradittasnee)
ชื่อผลงาน: Across the Universe and Beyond
ลักษณะงาน: อะคริลิค, โครงสร้างเหล็กและกระจก
พื้นที่จัดแสดง: เขามอ
รูปแบบ: งานศิลปะที่ผสานความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุเข้ากับการใช้แสงและเงาสะท้อน ด้านหน้ามีทางเข้าให้เราเดินวนตามช่องทางด้านใน โครงสร้างเหล็กที่สร้างล้อมเขามอติดกระจกสีแดงล้อมรอบ เมื่อเราเดินเข้าไปในพื้นที่ภาพสะท้อนตัวเองที่เห็นจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ชี้ให้เห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และกระจกที่ประดับเป็นทรงปรางค์เมื่อสะท้อนกับแสงระยิบระยับสร้างความรู้สึกว่าแม้ชิ้นงานจะตั้งในวัดและเล่าเรื่องราวธรรมะแต่ก็มีความร่วมสมัย
#2
ศิลปิน: คมกฤษ เทพเทียน (Komkrit Tepthian)
ชื่อผลงาน: Giant Twins และครุฑ
ลักษณะงาน: ไฟเบอร์กลาส
พื้นที่จัดแสดง: ฝั่งตรงข้ามทางเข้าเขามอ
รูปแบบ: ไฟเบอร์กลาสเชื่อมกับเสมือนแฝดอิน–จัน เป็นส่วนผสมระหว่างจีนกับสยามโดยนำรูปร่างของยักษาและนักรบจีนมาฟิวชั่นเข้าด้วยกัน ส่วน “ครุฑ” เป็นประติมากรรมครึ่งคนครึ่งนกทำจากเลโก้สลับสี
สถานที่แห่งที่ 4 วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร มีพื้นที่สำหรับจอดรถภายในวัดได้เลยสะดวก
#1
ศิลปิน: มณเฑียร บุญมา (Montien Boonma)
ชื่อผลงาน: Zodiac House
ลักษณะงาน: เหล็ก, สมุนไพร, ยา, ไม้, กระดาษแก้วและแผ่นโปร่งแสง
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 บริเวณศาลาการเปรียญ
รูปแบบ: ประติมากรรมสไตล์โกธิคสีดำที่ใช้สัญลักษณ์ของจักรราศี โดยสื่อเรื่องการแสวงหาความสงบ การเกิดใหม่และการติดต่อกับโลกหลังความตาย โดยศิลปะเหล่านี้จะตั้งอยู่เผชิญหน้ากับอาสนะสงฆ์เพื่อสื่อสารกับคนตายและโลกหลังความตาย
#2
ศิลปิน: เปาโล คานีวาริ (Paola Canevari)
ชื่อผลงาน: Monuments of the Memory, the Golden Room
ลักษณะงาน: ห้องขนาด 4×5 เมตร, ไม้เคลือบทอง
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 บริเวณศาลาการเปรียญ
รูปแบบ: จิตรกรรมสีทองไร้เนื้อหาติดตั้งภายในห้องสีขาว ด้านบนคลุมด้วยผ้า สื่อสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความทรงจำ และการสวดภาวนาระหว่างสองศาสนาคือคริสต์และพุทธ
#3
ศิลปิน: กมล เผ่าสวัสดิ์ (Kamol Phaosavasdi)
ชื่อผลงาน: Sweet Boundary: In the Light Tube
ลักษณะงาน: ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 1 บริเวณศาลาการเปรียญ
รูปแบบ: ผลงานศิลปะสร้างเป็นห้องที่สามารถเข้าได้ 2 ด้าน ห้องหนึ่งเป็นสีขาวล้วน ส่วนอีกห้องเป็นสีชมพู โดยมีกระจกกั้นตรงกลางพร้อมติดกราฟฟิกรูปรั้วเหล็ก ได้แรงบันดาลใจมากจากการทำวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของวัดกับพื้นที่ใกล้เคียง รั้วเหล็กที่ขึ้นเป็นรูปดาบ ธนู และหอก เป็นของนำเข้าจากอังกฤษในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่ทางวัดแลกมาด้วยน้ำตาลจำนวนเท่ากับน้ำหนักของรั้วเหล็กเหล่านี้ ผลงานชิ้นนี้ย้อนไปเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและไทยช่วงที่ยังสามารถผูกขาดการค้าทางทะเลในภูมิภาคก่อนสภาวะน้ำตาลล้นตลาดโลกและการมาถึงของชาติตะวันตก
#4
ศิลปิน: กฤช งามสม (Krit Ngamsom)
ชื่อผลงาน: Turtle Religion
ลักษณะงาน: ประติมากรรมสื่อผสม
พื้นที่จัดแสดง: เขามอ
รูปแบบ: ประติมากรรมเต่าเหล็กด้านบนแบกวัตถุต่าง ๆ สะท้อนความกลมเกลียวของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมพื้นที่ ผสมเป็นเนื้อเดียวกันในพื้นที่ย่านคลองสาน
สถานที่แห่งที่ 5 โรงแรม THE PENINSULA BANGKOK โรงแรมขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเดียวกับวัดประยุรฯ สามารถเข้าจอดรถบริเวณที่จอดใต้โรงแรมได้โดนไม่เสียค่าบริการ
#1
ศิลปิน: เฮริ โดโน (Heri Dono)
ชื่อผลงาน: The Female Angles
ลักษณะงาน: ไฟเบอร์กลาส, ผ้า, ไม้ไผ่ และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์
พื้นที่จัดแสดง: ล็อบบี้โรงแรม บริเวณห้องอาหาร
รูปแบบ: ประติมากรรมติดตั้งแขวนอยู่ด้านบนโถง หากเดินผ่านอาจไม่ทันสังเกตได้ ควรสอบถามพนักงาน ด้านข้างมีปุ่มให้กดเล่น เมื่อกดแล้วนางฟ้าด้านบนจะขยับปีกเคลื่อนไหวและมีส่งเสียง
#2
ศิลปิน: วิศุทธิ์ พรนิมิตร (Wisut Ponnimit)
ชื่อผลงาน: The Female Angles
ลักษณะงาน: อะนิเมชั่น
พื้นที่จัดแสดง: ล็อบบี้โรงแรม บริเวณห้องอาหาร
รูปแบบ: อะนิเมชั่นแสดงในจอ LCD ตั้งอยู่บริเวณล็อบบี้ ส่วนนี้หากไม่สังเกตอาจจะไม่ทราบเลย เพราะกลืนกันกับโต๊ะอาหารและขนาดจอไม่ใหญ่โดดเด่นเท่าไหร่
#3
ศิลปิน: กวิตา วัฒนะชยังกูร (Kawita Vatanajyankur)
ชื่อผลงาน: The Spinning Wheel
ลักษณะงาน: วิดีโอ HD
พื้นที่จัดแสดง: ล็อบบี้โรงแรม บริเวณห้องอาหาร
รูปแบบ: วิดีโอฉายภาพในจอ LCD แสดงศิลปะโดยแปรร่างกายเป็นเข็มถักนิตติ้งที่ถูกถักทอชิ้นผ้าจากการแสดงท่วงท่ากระโดดขึ้นลงสลับฝั่งไปมา
เมื่อดูครบทั้ง 3 ชิ้นบริเวณล็อบบี้ครบแล้ว ให้เดินลงบันไดเพื่อไปท่าน้ำของโรงแรม THE PENINSULA BANGKOK จากนั้นแจ้งพนักงานบริเวณทางเดินไปยังท่าน้ำและบริเวณท่าน้ำว่าต้องการข้ามฝั่งเพื่อเดินทางไปชมงานอาร์ตเบียนนาเล่ จากนั้นจะมีเรือรับส่งไปยังท่าน้ำอีกฝั่งใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 5 นาที เดินขึ้นท่าน้ำก็จะมองเห็นงานศิลปะชิ้นถัดไป
สถานที่แห่งที่ 6 โรงแรม The East Asiatic Building โรงแรมขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
#1
ศิลปิน: เอ็มกรีน แอนด์ แดรกเซท (Elmgreen & Dragset)
ชื่อผลงาน: Zero
ลักษณะงาน: โครงสระว่ายน้ำสแตนเลส, ฐานปูนซีเมนต์
พื้นที่จัดแสดง: พื้นที่ด้านหน้าอาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: สระว่ายน้ำตั้งฉากความสูง 8 เมตรทำจากสแตนเลสสตีล และรูปทรงนามธรรมที่เหมือนเลขศูนย์ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก หากอยากมองเห็นเป็นรูปสระน้ำให้ชัดเจนขึ้นลองขยับมุมถ่ายมุมที่เห็นด้านหลังเป็นท้องฟ้าสีฟ้าจะสร้างอารมณ์สมจริงยิ่งขึ้น
#2
ศิลปิน: อนุพงศ์ เจริญมิตร (Anupong Charoenmitr)
ชื่อผลงาน: Invisible Stream
ลักษณะงาน: วิดีโอจัดวาง 2 จอภาพ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: ผลงานวิดีโอถ่ายทอดเรื่องราวของอาคาร East Asiatic ในแง่อาคารสถาปัตยกรรมแบบเวนิสที่สร้างในศตวรรษที่ 19 การเดินทางของพ่อค้าชาวสยามและเดนมาร์กที่บุกเบิกการค้าทางทะเลในช่วงเวลานั้นนำมาเล่าเชื่อมโยงกับการเดินทางไปโคเปนเฮเกนขออนุพงศ์ในจอหนึ่ง ขณะที่อีกจอที่วางเคียงกันได้ฉายภาพของกรุงเทพฯ จากมุมมองของ Hans Neils Anderson ผู้ก่อตั้งบริษัท East Asiatic ทว่าความแตกต่างระหว่างเรื่องเล่าจากสองพื้นที่กลับให้ความรู้สึกในรูปแบบเดียวกันคือความสงบและความสุข
#3
ศิลปิน: อี บุล (Lee Bul)
ชื่อผลงาน: Diluvium
ลักษณะงาน: โครงสระเหล็ก, เทปสีเงิน และสื่อผสม
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: ผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ทำเป็นห้องวงกตที่หุ้มด้วยเทปสีเงิน แสดงรูปลักษณ์ความเป็น futuristic ขัดแย้งกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารที่จัดแสดงที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเวนิส
#4
ศิลปิน: ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ (Patipat Chaiwitesh)
ชื่อผลงาน: 2562++
ลักษณะงาน: ศิลปะจัดวาง, สื่อผสมและสัตว์สตั๊ฟ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic ห้องที่อยู่ใกล้กับงาน Diluvium
รูปแบบ: ตู้โชว์สัตว์สต๊าฟสายพันธุ์ประหลาดต่าง ๆ ทั้งอีกาที่อยู่ด้านในขวดพลาสติก เต่าที่มีกระดองเป็นเรซิ่นพลาสติก นกที่ติดห่วงยางพลาสติกและน้ำมัน ฯลฯ เพื่อบอกเล่าปัญหามลพิษในแหล่งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ริมน้ำต่าง ๆ
#5
ศิลปิน: คธา แสงแข (Kata Sangkhae)
ชื่อผลงาน: Companion Hands
ลักษณะงาน: โลหะหล่อสัมฤทธิ์, ลังกระสุน
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: รูปหล่อแขนสองข้างของศิลปินที่โน้มเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ แต่ไม่ได้แนบสนิท ซึ่งทำหน้าที่แสดงสัญลักษณ์ของความสุขและความเศร้า เคล้ากับการเห็นจังหวะการเต้นของหัวใจไปพร้อมกัน จึงทำให้รู้สึกถึงเรื่องของชีวิต ความตาย อิสรภาพและอำนาจเผด็จการตลอดจนความสุขและความรุนแรง เพราะสีแดงสื่อสารได้ทั้งความรักหวานชื่นและการปะทะอารมณ์ที่รุนแรงไปพร้อมกัน
#6
ศิลปิน: ซาร่า ฟาวริโอ (Sara Favriau)
ชื่อผลงาน: Rien n’est moins comparable
ลักษณะงาน: ไม้เต็ง ไม้สัก ไม้กรันเกรา
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: การจัดวางท่อนไม้แกะสลักต่างชนิดภายในอาคารให้รู้สึกกลืนกับบริบทพื้นที่จนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอาคารแห่งนี้
#7
ศิลปิน: แอนดรูว์ สตาห์ล (Andrew Stahl)
ชื่อผลงาน: Roma และ Samui Thoughts
ลักษณะงาน: จิตรกรรมสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 2 อาคาร The East Asiatic
รูปแบบ: ภาพ Roma คือภาพที่ศิลปินพาย้อนกลับไปในอดีตคราวที่ชาวยุโรปยังคงทำงานในย่านเจริญกรุง ขณะที่ Samui Thought คือภาพของเศษวัตถุจากแหล่งน้ำที่สะท้อนปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสีย 2 ภาพนี้มีความเชื่อมโยงของเรื่องราวในแง่ของความเจริญและมลภาวะที่พบจากความเจริญนี้ สะท้อนเรื่องราวของย่านอาคารจัดแสดงที่อยู่ริมน้ำและอยู่ในย่านเจริญกรุง
สถานที่แห่งที่ 7 โรงแรม Mandarin Oriental อีกหนึ่งโรงแรมสถาปัตยกรรมตะวันตก ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามทางเข้าอาคารจัดแสดงผลงานศิลปะของ The East Asiatic ด้วยประติมากรรมขนาดค่อนข้างใหญ่อย่างเจ้า Lost Dog เชื่อว่าเป็นจุดแลนด์มาร์กที่คนสามารถพบเห็นได้ไม่ยาก
ศิลปิน: แอนดรูว์ สตาห์ล (Aurelee Richardl)
ชื่อผลงาน: Lost Dog
ลักษณะงาน: ไฟเบอร์กลาส ปิดทอง ขนาดสูง 5.90 เมตร
พื้นที่จัดแสดง: ลานด้านหน้าทางเข้าโรงแรม Mandarin Oriental
รูปแบบ: บูลด๊อกยักษ์สีทองสว่างวาววับที่กำลังตามหาเส้นทางแห่งความสุข ท่ามกลางโลกที่วุ่นวายด้วยน้ำมือมนุษย์
สถานที่สุดท้ายในส่วน River Route ที่เราเดินทางไป ให้มุ่งเดินตรงไปตามถนน โดยจำไว้ว่าด้านหลังของเรายังคงเป็นท่าเรือ เมื่อพบต้นโพธิ์ และบริเวณซอยแยกด้านซ้ายที่มีอาคารทรงไทยชั้นเดียวด้วยหน้าซอย จากนั้นเดินตรงเข้าไปเล็กน้อยจะพบกับป้าย O.P. Place ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของซอย เมื่อเดินเข้าไปที่โถงกลางจะพบบันไดไม้ให้เราสามารถแยกขึ้นไปได้ 2 ด้าน งานศิลปะจัดอยู่บริเวณชั้น 3 สามารถขึ้นชมได้ทั้ง 2 ทาง
#1
ศิลปิน: Art Labor (Vietnam)
ชื่อผลงาน: Jrai Dew: a radicle room
ลักษณะงาน: สื่อผสม, วัสดุจดหมายเหตุ, สารคดี และบทความ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ศิลปะสะท้อนสังคมเวียดนามหลายมิติ หลายประเภทชิ้นงาน ซึ่งได้จากการทำงานกว่า 3 ปีของศิลปินร่วมกับกลุ่มชุมชนบริเวณที่ราบสูงตอนเหนือของเวียดนาม เช่น เปลพักริมทาง กาแฟ ฯลฯ
#2
ศิลปิน: โมลโยโน (Moelyono)
ชื่อผลงาน: Listen to the voice my Land Papua
ลักษณะงาน: งานวาดภาพอะคริลิคบนผืนผ้าใบ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ภาพวาดบุคคลของ Papua แนว Realistic ถ่ายทอดให้รู้สึกถึงความสวยงามชวนฝัน ความคมชัดภาพและสีที่เกลี่ยอย่างเรียบเนียนบนผืนผ้าทำให้รู้สึกเหมือนภาพวาดชิ้นนี้คือภาพถ่าย
#3
ศิลปิน: จอสซ่า สติฟเฟ่น (Joscha Steffens)
ชื่อผลงาน: Teen Spirit Island, Dream/Hack, Uchronia
ลักษณะงาน:Archival Pigment Print
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ศิลปินนำชื่อผลงาน Teen Spirit Island มาจากชื่อสถาบันจิตเวชสำหรับเด็กในเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนีที่สร้างขึ้นเบื่อบำบัดอาการเสพติดประเภทต่าง ๆ ของเยาวชน ประเภทต่าง ๆ รวมถึงการเสพติดวิดีโอเกม ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2558 เขาจึงติดตามชีวิตของนักเล่นเกมออนไลน์มืออาชีพที่เข้าแข่งขันเกม League of Legend ในระดับโลกและนำเสนอเป็นภาพทั้ง 5 ของเกมเมอร์เหล่านั้น
Dream/Hack คือผลงานต่อยอดของศิลปินที่เปลี่ยนไปโฟกัสที่พฤติกรรมทางกายภาพของผู้เล่นที่อยู่ในอาการคลิกเมาส์ไม่หยุดเพื่อสะท้อนมุมมองด้าน “การใช้แรงงาน” ที่ซ่อนอยู่
Uchronia คือผลงานวิดีโอที่ฉายภาพสีเขียวในห้องมืด และวางวัตถุคล้ายระฆังไว้ในพื้นที่กลางห้อง เพื่อจำลองชุมชนนาซีสมมติบนเกาะนิรนามขึ้นมา เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 หและยังคงทำงานรับใช้กลุ่ม SS (Schutzstaffel) และเรียกตัวเองว่าเป็นทหาร์แวร์มัคท์แห่งไรซ์เยอรมัน ภาพที่ได้เห็นจากฟิล์มที่ฉายจะลางเลือน เสียงแผ่วเบา ไม่ชัดเจน เพื่อให้คนเข้าชมได้เข้าถึงบรรยากาศเพิ่มขึ้น
#4
ศิลปิน: ยูกิ คิฮาระ (Yuki Kihara)
ชื่อผลงาน: Taualuga: The Last Dance
ลักษณะงาน: การแสดงสด, วิดีโอ
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: งานชิ้นี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อให้รับกับภาพจดหมายเหตุใน Museum of New Zealand Te Papa Tongarewa ที่ประกอบด้วยภาพถ่ายในประเทศซามัวซึ่งเป็นบ้านเกิดของศิลปิน ในยุคที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าของพื้นที่ ชนเผ่าซามัวได้แสดงท่าทางการร่ายรำชุดนี้ (Taualuga) ขึ้นเพื่อแสดงถึงการต่อสู้ขัดขืน และความเศร้าต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมดังกล่าว หากสังเกตวิดีโอชิ้นนี้ให้ดีจะเห็นได้ว่าภาพของ Taualuga นั้นคือภาพมือเคลื่อนไหวซ้อนกันไปมาท้ังสิ้นจนเห็นเป็นภาพของหัวกระโหลก ฯลฯ
Invocation คือผลงานวิดีโออาร์ตอีกชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ liulotofaga อันเป็นพิธีกรรมโบราณที่เกี่ยวข้องกับการขุดหลุมฝังศพเอากระดูกผู้วายชนม์กลับมาทำความสะอาดดูแล เพื่อแสดงสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าบรรพบุรุษและเรียกจิตวิญญาณของผู้วายชนม์ให้กลับคืนมาสู่ปัจจุบันอีกครั้ง พิธีกรรมนี้ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ครบห้องการแสดงจากบันไดฝั่งขวาแล้ว เราย้ายมาขึ้นไปดูผลงานศิลปะต่อบริเวณฝั่งซ้ายของชั้น 3 กันบ้าง ทันทีที่ขึ้นมาจะเจอผลงานศิลปะชิ้นแรกเป็นลักษณะแท่งพลาสติกใสบนแท่นวางทแยงเรียงต่อกัน
#5
ศิลปิน: ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล (Latthapon Korkiatarkul )
ชื่อผลงาน: QUALITY : quality
ลักษณะงาน: ธนบัตร, แผ่นอะครีลิค, ไม้
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ศิลปินนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจและนำแนวคิดนี้มาสร้างสรรค์ผลงาน ผ่านการนำธนบัตร 24 ใบจากต่างสกุลเงินนำมาขูดพื้นผิวออกจนเกลี้ยงเกลาเพื่อทำลายมูลค่าความเหลื่อมล้ำของสกุลเงินแต่ละประเทศ ผงสีที่ถูกเก็บไว้เคียงข้างธนบัตรเปล่าไร้ลวดลายแทนที่ซากแห่งความสุขที่เคยมีคุณค่า
#6
ศิลปิน: โฮ ซู่ เหงียน (Ho Tzu Nyen)
ชื่อผลงาน: Earth
ลักษณะงาน: วิดีโอจอเดี่ยว ความยาว 42 นาที
พื้นที่จัดแสดง: ด้านข้างผลงาน QUALITY : quality เป็นซุ้มทางเข้าปิดม่านสีดำ
รูปแบบ: วิดีโอในรูปแบบของหนังเงียบที่ถูกใส่ซาวด์แทรคต่าง ๆ เนื้อหาซับซ้อนไม่ตัดต่อตามเส้นเรื่อง พร้อมบทสนทนาที่ไม่อาจปะติดต่อปะต่อกันคือการสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวที่ศิลปินมีต่อประเทศสิงคโปร์ เทคนิคการถ่าย long-take ของนักแสดงกว่า 50 ชีวิตที่ปรากฎบนจอแสดงให้เห็นภาพของอากัปกิริยาครึ่งหลับครึ่งตื่น สื่อเรื่องราวนัยความตายและการเกิดใหม่ที่แสดงผ่านร่างกายที่ถูกเจาะองค์ประกอบเพื่อจัดวางรูปแบบขึ้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่ชอบงานถ่ายวิดีโอน่าจะชื่นชอบงานชิ้นนี้
#7
ศิลปิน: สมัคร์ กอเซ็ม (Samak Kosem)
ชื่อผลงาน: Nonhuman Ethnography
ลักษณะงาน: สื่อผสม, ภาพถ่าย, บันทึกสนาม, วิดีโอศิลปะ และวัตถุจัดแสดง
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ผลงานของศิลปินชิ้นนี้เป็นซีรีส์ผลงานอ้างอิงจากงานวิจัยภาคสนามในสามจังหวัดชายแดนใต้ ตัวงานเน้นความสนใจวัฒนธรรม “เควียร์” ของมนุษย์และส่ิงมีชีวิตสายพันธุ์อื่น
Sheep & Waves คือส่วนหนึ่งของซีรีส์ที่นำระเบียบวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยามาตรวจตราสิ่งที่เป็นตัวแทนของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และพื้นที่ ตัวงานผลิตขึ้นด้วยหลายสื่อ
Field notes คือบันทึกภาคสนามภาษามลายูที่บันทึก
Festival of Sacrifice คือภาพในกรอบที่ทำขึ้นจากขนของแกะหลงทาง
Particle on Talo Kapo คือภาพวาดหลากเฉดสีของเกลียวคลื่นที่อยู่เคียงข้างข้อความทางศาสนาและเส้นสายโค้งวน
#8
ศิลปิน: ไอซ่า จ๊อคสัน (Eisa Jocson)
ชื่อผลงาน: Becoming White
ลักษณะงาน: การแสดงสด ประกอบสื่อผสม
พื้นที่จัดแสดง: ชั้น 3 อาคาร O.P. Place
รูปแบบ: ใน Becoming White ศิลปินเล่าเรื่องราว “ความสุข” ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (แรงงานต่างด้าวกลุ่มหนึ่ง) ว่าด้วยกิริยาท่าทาง “การแสดงออกถึงความสุข” ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้แรงงาน รอยยิ้ม ท่วงท่าที่สะท้อนผ่านเจ้าหญิงดิสนีย์อย่างสโนวไวท์ ที่จัดร่วมกับวัตถุแสดงชิ้นอื่นต้องการมุ่งสื่อถึงแรงงานอพยพชาวฟิลิปปินส์ในฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ ที่คนทั่วโลกรู้จักกัน โดยศิลปินกล่าวว่า
“ที่ดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง เหล่านักเต้นชาวฟิลิปปินส์ถูกจ้างให้มาเป็นกองทัพพาเหรดสร้างความสุขและความบันเทิงและแสดงซ้ำซากถึงแบบแผนความสุข แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทำทุกวันในฐานะผู้ใช้แรงงาน พวกเขาถูกแยกออกจากบทบาทหลักที่กันไว้ให้คนบางชาติเท่านั้น (ในที่นี้น่าจะหมายถึงบทสโนวไวท์ ฯลฯ ที่ต้องใช้คนขาวหรือชาติใดเฉพาะในการแสดง) ในขณะที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทสมทบไร้ตัวตน เช่น ม้าลายในเรื่อง Lion King หรือปะการังใน Little Mermaid หรือลิงในเรื่อง Tarzan”
O.P. Place คือสถานที่สุดท้ายของการเดินทางในวันนี้ ท่ามกลางแสดงสีส้มที่ลับขอบฟ้าไป ทีมงาน UNLOCKMEN ได้กลับไปรอเรือข้ามฟากเพื่อเดินทางกลับไปท่าเรือ THE PENINSULA BANGKOK เพื่อนำรถกลับก่อนเดินทางกลับบ้าน
การมาเก็บงานศิลปะสร้างแรงบันดาลใจในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด แม้จะมีความขลุกขลักในการหาผลงานศิลป์เพราะบางสถานที่มีขนาดใหญ่คนพลุกพล่าน หรือสตาฟไม่ได้อยู่ประจำตำแหน่งในระหว่างที่เราเดินทางไปให้เราได้ถามเส้นทาง ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นช่วงแรกของการจัดเทศกาลเต็มรูปแบบ หากสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ควรเป็นเรื่องของป้ายการเดินทางที่ชัดเจน หรืออาจติดตั้งบอลลูนขนาดใหญ่ให้สามารถมองเห็นตำแหน่งของงานศิลป์นั้นได้จากด้านบน จะได้ไม่หลงเดินวนเวียนจนอาจทำให้ชมได้ไม่จุใจ
ใครที่อยากเดินทางแบบเราหรือสอบถามรายละเอียดที่เราไปเจอ สามารถคอมเมนต์ใต้โพสต์ได้ หรือแชร์พื้นที่ที่คุณคิดว่าเจ๋งกว่าที่เราไปมาแบ่งปันให้ชาว UNLOCKMEN ดู ก็ทำได้เช่นกัน ส่วนพวกเราทีมงานคงจะหาเวลาไปตามเก็บพื้นที่อื่น ๆ มาฝากภายหลัง อย่าลืมติดตามคอนเทนต์กัน!