

World
“ภาวะผู้นำกับสายสัมพันธ์การทูต” เมื่อวิกฤตไวรัสทำให้ผู้มีอำนาจวางทิฐิจับมือกันชั่วคราว
By: unlockmen March 27, 2020 180334
“ไม่ว่าใครก็ติดไวรัสได้ ไม่ว่าจะรวยหรือจนหรือมีอำนาจล้นฟ้า” ประโยคดังกล่าวคือการนิยามถึงภัยร้ายจากการระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดี เพราะใคร ๆ ก็สามารถป่วยได้ด้วยกันทั้งนั้น จึงทำให้สถานการณ์การเมืองโลกในช่วงนี้ลดความร้อนระอุลงอย่างไม่น่าเชื่อ
UNLOCKMEN จะพาทุกคนสำรวจไปทั่วโลกว่าประเทศน้อยใหญ่แต่ละที่เขามีมาตรการรับมือกับไวรัสอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเทศที่มีคู่กรณีหรือไม่ค่อยจะลงรอยกัน ดูสิว่าไวรัสระบาดสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการทูตมากน้อยแค่ไหน
Getty Images
ช่วงแรกประเทศจีนเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเมืองอู่ฮั่นในฐานะเมืองแพร่เชื้อ ประเทศจีนกล่าวหาว่ากองทัพสหรัฐฯ อาจเป็นผู้ปล่อยเชื้อใส่ประเทศจีน ส่วนทางสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเป็นจีนเองนี่แหละที่คิดค้นเชื้อโรคและเกิดความผิดพลาดจนทำให้คนตายไปจำนวนมาก
ประเทศคู่กรณีอย่างไต้หวันกับจีนที่ทะเลาะกันอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อไต้หวันบอกว่าพวกเขาเตือนองค์การอนามัยโลก (WHO) ไปตั้งแต่แรกแต่กลับไม่มีใครสนใจฟัง เพียงเพราะไต้หวันไม่ถูกนับว่าเป็นประเทศในสายตาของจีนและองค์การอนามัยโลก
ทางฝั่งญี่ปุ่นที่มีข้อพิพาทกับจีนแถมยังไม่ค่อยลงรอยกับเกาหลีใต้ก็มาร่วมวงครั้งนี้ด้วย สำนักข่าวญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนแสดงความรับผิดชอบเพราะเป็นประเทศแรกที่เกิดการแพร่ระบาด ส่วนเกาหลีใต้ก็มีท่าทีแข็งกร้าวเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ทั่วประเทศ หลายเมืองเกิดการโทษกันไปมา
Getty Images
Getty Images
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกไวรัสโควิด-19 ว่า “ไวรัสจีน” องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เตือนผู้คนทั่วโลกว่าโปรดอย่าเรียกชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า “ไวรัสจีน” เพราะการกระทำดังกล่าวจะสร้างภาพลักษณ์ผิด ๆ ให้กับเพื่อนร่วมโลก เพราะไวรัสไม่รู้เรื่องพรมแดน ไม่สนใจชาติพันธุ์อันแตกต่าง สีผิว หรือเงินเก็บที่คุณฝากธนาคารเอาไว้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกท่านอย่าสร้างภาพเหมารวมผิด ๆ ก่อให้เกิดความแตกแยก
หลังจากหลายชาติต่างสลับสับเปลี่ยนวิวาทกันไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีไวรัสโควิด-19 ก็แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยย้ายจากจีนมาเป็นอิตาลีที่อาการหนักเข้าขั้นโคม่า ถัดจากอิตาลีคือสหรัฐฯ ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนน่าใจหาย และจำนวนผู้ติดเชื้อกับผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มวางทิฐิลงกันบ้างแล้ว
Getty Images
หลังจากกรณีการเรียกชื่อไวรัสว่า “ไวรัสจีน” ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขียนจดหมายส่วนตัวถึงผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน เพื่อเสนอความช่วยเหลือเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเกาหลีเหนือ แสดงสายสัมพันธ์อันดีของสองผู้นำหลังจากทั้งสองคนไม่ได้ติดต่อกันมานานหลายเดือน และมักมีเหตุพิพาทกันบ่อยครั้งเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
เวลานี้สองผู้นำหันหน้าเข้าหากันอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมาทางเกาหลีเหนือยืนยันกับสื่อทั่วโลกว่าไม่มีคนในประเทศติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งที่เกาหลีเหนือมีพรมแดนติดกับประเทศจีนที่เคยเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสก็ตาม แต่การที่ประธานาธิบดีแสดงความห่วงใยถึงเกาหลีเหนือก็ช่วยให้สถานการณ์ตึงเครียดมายาวนานผ่อนลงได้
Getty Images
ทางฝั่งทำเนียบข่าวกล่าวกับสื่อถึงเหตุที่ประธานาธิบดีเขียนจดหมายถึงผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในระดับโลกเพื่อต่อสู้กับวิกฤตไวรัส ส่วนทางคิม จองอึน หลังจากรับจดหมายจากทรัมป์ก็ไปร่วมชมการทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบชิล ๆ ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็เพิ่งต่อสายตรงถึงอเมริกา
วันที่ 27 มีนาคม 2020 สถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอการร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ก่อนหน้านี้ทั้งสองจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้างในช่วงหลายสัปดาห์ก่อน แต่สี จิ้นผิง ยินดีเป็นอย่างยิ่งแบ่งปันข้อมูลรวมถึงประสบการณ์ทุกอย่างที่รู้ให้กับสหรัฐฯ
Getty Images
การหันมาเจรจาของเหล่าผู้นำของประเทศมหาอำนาจทำให้สื่อทั่วโลกต่างจับตามอง การตื่นตัวของพวกเขาทำให้ชาวโลกเห็นว่าปัญหาไวรัสคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือทุกคนบนโลกให้เร็วที่สุด อย่างน้อยในช่วงมืดหม่นก็ยังพอจะมีเรื่องราวความร่วมมือที่ไม่คาดคิดให้เห็น