

Entertainment
K-POP HISTORY: จากวัฒนธรรมชายขอบ สู่การครองโลกด้วยเสียงเพลงและท่าเต้น
By: unlockmen April 18, 2019 144730
คุณรู้จักคำว่า K-POP ครั้งแรกเมื่อไหร่?
สำหรับเรามันค่อนข้างเป็นความทรงจำเลือนราง เนื่องจากเวลาที่ผ่านมายาวนาน แต่ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นตอนที่เราได้ยินเพลง Begin ของ TVXQ หรือ ดงบังชินกิ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีจากทางวิทยุ
เหตุการณ์นั้นเป็นเหมือนการเปิดประตูโลกดนตรีและวัฒนธรรมอีกบานให้เรา หากนับตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ เวลาก็ล่วงเลยมาเกินทศวรรษ แต่วงการ K-POP ก็ยังไม่หยุดนิ่งหรือหายไปไหน มีการผลัดเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่น หลังจาก TVXQ ก็มีชื่อของศิลปินอีกมากมายที่แวะเวียนมาเขย่าวงการ ไม่ว่าจะเป็น BIGBANG, Wonder Girls, Girls’ Generation, Super Junior, SHINee และอีกมากมาย
K-POP ยังคงก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และช่วงนี้มันก็กระโดดขึ้นไปอีกขั้น จากการที่ BLACKPINK ได้ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรี Coachella (สามารถอ่านเรื่องราวความเป็นมาของเทศกาลดนตรีนี้ได้ ที่นี่), BTS ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time นอกจากนั้นยังทำสถิติเป็นวงที่ขายตั๋วคอนเสิร์ตหมดเร็วที่สุดและยอดวิวใน YouTube พุ่งสูงที่สุดใน 24 ชั่วโมง
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ในเกาหลีหรือเอเชีย อีกต่อไป แต่วัฒนธรรม K-POP ได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่าย ๆ
แต่ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่นี้ เราอาจจะต้องย้อนกลับไปไกลสักหน่อย ในช่วงเวลาที่โลกยังไม่รู้จักกับ TVXQ ด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปในปี 1992 ในวันที่โลกยังไม่รู้จัก K-Pop อยู่ ๆ ก็มีศิลปินกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า Seo Taiji and Boys ปรากฏตัวขึ้นในรายการประกวดร้องเพลงทางโทรทัศน์ พวกเขามาพร้อมกับแนวเพลงป็อปแดนซ์ ผสมผสานฮิปฮอป เกิดเป็นความสนุกสนานและพลังงานล้นเหลือบนเวที
เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชนชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้เพลงป็อปเกาหลีจะถูกสอดไส้ไว้ด้วยความคิดชาตินิยม ดูโบราณคร่ำครึ แต่ Seo Taiji and Boys กลับทำลายขนบเหล่านั้นลงด้วยความขบถที่แฝงมากับเนื้อเพลง
‘การปรากฏตัวของ Seo Taiji and Boys ทางโทรทัศน์ในครั้งนั้น ไม่ต่างจากตอนที่ The Beatles ออกรายการ The Ed Sullivan Show ทั้ง 2 เหตุการณ์ต่างเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล’
Seo Taiji and Boys ร้องแรป แต่งตัวสไตล์ตะวันตก และเต้นบีบอย ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเกาหลีมาก่อน ชื่อของบอยแบนด์วงนี้จึงพุ่งทะยานทันทีที่เปิดตัว และหลังจากนั้นไม่ว่าทั้ง 3 หนุ่มจะขยับตัวทำอะไรก็เป็นกระแสไปหมด
หลังจากใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสีแห่งความโด่งดังอยู่ 4 ปี ในปี 1996 พวกเขาก็ตัดสินใจยุบวงในขณะที่ยังอยู่บนจุดสูงสุดของวงการบันเทิง แต่ตำนานก็คือตำนาน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร ทุกคนก็ยังจำได้เสมอว่า Seo Taiji and Boys คือผู้เปิดประตูให้โลกใบนี้ได้รู้จักคำว่า K-Pop
เมื่อประตูบานใหญ่เปิดออก ก็ย่อมมีผู้เห็นช่องทางว่าสิ่งนี้สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้ เราสามารถทำเงินได้มหาศาลจากการขายสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ชื่อของชายคนนั้นคือ Lee Soo-man
ถ้าใครติดตาม K-Pop มาพอสมควรคงรู้ว่าชายคนนี้คือราชาแห่งอาณาจักร SM Entertainment แต่ถ้าย้อนไปในปี 1996 SM Entertainment ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าปัจจุบัน เป็นเพียงค่ายเพลงธรรมดา ๆ ค่ายหนึ่งเท่านั้น
‘เราควรทำอุตสาหกรรมดนตรีให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม’ นี่คือแนวคิดของ Lee Soo-man และเพียงแค่วงแรกอย่าง H.O.T ที่เขาหยิบมาปั้นก็ดังเป็นพลุแตก จากการทำตามแนวทางเดิมที Seo Taiji and Boys ได้วางไว้ เพิ่มเติมด้วยท่าเต้นที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี
จากนั้นไม่นานนัก เกาหลีใต้ก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย แต่เหตุการณ์นี้กลับส่งผลด้านบวกต่อ K-Pop เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้นคิดเหมือนกับ Lee Soo-man สิ่งเดียวที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ และสามารถทำเงินมหาศาลคือวัฒนธรรม
ผลพวงที่ตามคือการที่รัฐออกกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมพร้อมทุ่มเงินจำนวน 1% ของงบประมาณแผ่นดินผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
The Korea Times
จากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล 3 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SM Entertainment, JYP Entertainment, และ YG Entertainment ก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือ พวกเขาใช้โอกาสนี้สร้างสูตรสำเร็จของวัฒนธรรม K-Pop ขึ้นมาและสูตรดังกล่าวก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าสูตรการปั้นศิลปินแบบนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินเกาหลี เปล่าเลย มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นมันก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในนามค่ายเพลง Motown
Billboard
ไม่ใช่แค่สูตรสำเร็จในการ ‘สร้าง’ แต่อุตสาหกรรม K-Pop ยังมีสูตรสำเร็จในการ ‘ขาย’ อีกด้วย ท่ามกลางวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปนับร้อยรับพัน ทุกวงต่างมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า 90% ของพวกเขาและเธอมีอะไรที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น
เหล่านี้คือสูตรสำเร็จคร่าว ๆ ที่เป็นเหมือนข้อบัญญัติสำหรับทุกวง K-Pop และมันก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลงดงาม
ถ้า Seo Taiji and Boys คือหมุดหมายแห่งการเริ่มต้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2012 ก็เปรียบเหมือนหมุดหมายแห่งการเข้าสู่ระดับสากลของอุตสาหกรรม K-Pop
ชายหนุ่มเจ้าเนื้อนามว่า PSY มาพร้อมกับเพลงและท่าเต้นที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Gangnam Style
บูม!
โลกทั้งใบหยุดหมุน พร้อมใจหันมามองชายหนุ่มจากแดนกิมจิคนนี้
“มันเกิดอะไรขึ้น?” PSY เคยถามคำถามนี้กับโปรดิวเซอร์
“ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันเจ๋งมากไม่ใช่เหรอ” คำตอบของโปรดิวเซอร์ในวันนั้น
PSY ได้ประกาศศักดา K-Pop ให้โลกรู้ ด้วยปรากฏการณ์มากมายที่ไม่มีใครคาดคิด Gangnam Style ถูกบันทึกว่าเป็น MV แรกในประวัติศาสตร์ที่ยอดวิวทะลุ 1 พันล้าน ไม่เพียงเท่านั้น Gangnam Style ยังเป็นเหมือนโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนรับรองว่าในช่วงเวลานั้นคุณต้องได้ยินเพลงนี้หรือเห็นท่าเต้นนี้แน่นอน
ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักถ้าหน้าประวัติศาสตร์ K-Pop จะบันทึกชื่อของ PSY เอาไว้ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลแห่งอุตสาหกรรมนี้
BTS101 Media
จาก Seo Taiji and Boys ในปี 1992 มาจนถึงปัจจุบัน วงการ K-Pop ยังคงก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดพัก เราเองก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าต่อจากนี้ K-Pop จะสร้างปรากฏการณ์อะไรกับโลกใบนี้อีก แต่มันก็น่าสนใจที่จะติดตามใช่มั้ยล่ะ ในฐานะคนรัก K-Pop คนหนึ่ง เราก็อยากเป็นส่วนร่วมเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์บทนี้ ประวัติศาสตร์ที่เราไม่อยากให้มีตอนจบ…
เรียบเรียงจาก สารคดี Explained ตอน K-Pop