

Business
UNLOCK BIZ : ปลดล็อคแนวคิดบริหารธุรกิจออนไลน์อย่างไรให้สำเร็จ ในยุคที่ดิจิทัลแข็งขันเยี่ยงสนามรบ
By: Lady P. May 26, 2018 104885
ในยุคที่โลกเปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตัลแบบเต็มอัตรา การแข่งขันเยี่ยงสนามรบ แบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ แบรนด์ใหม่ต้องงัดกลยุทธ์ออกมาสร้างอาณาจักรในโลกออนไลน์ คนที่ปรับตัวได้ก่อนย่อมได้เปรียบ คนที่ไม่เปิดรับสิ่งใหม่อาจประสบพบเจอกับความยากลำบากในการอยู่รอด ในโลกที่การทำธุรกิจแข่งขันสูงขนาดนี้ นอกจากการที่จะมีสินค้าและการบริการที่เยี่ยมยอดแล้ว การรู้จักใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนที่อยากให้ธุรกิจรุ่งโรจน์เกิดได้ในยุคนี้ เพราะต่อให้ของดีแค่ไหน ถ้าขาดซึ่งการเข้าถึงที่ดี ก็เหมือนมีปืนแต่ไร้กระสุน
UNLOCKMEN เห็นถึงความสำคัญในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งในโลกดิจิตัล จึงไม่พลาดที่จะพามาปลดล็อคแนวคิดกับสุดยอดท่านผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิตอลเอเยนซี่ คุณจิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจ เวิร์ค จำกัด จากพนักงาน Graphic Designer สู่เจ้าของธุรกิจเอเยนซี่ที่มีชื่อเสียง กวาดรางวัลมามากมาย ล่าสุดกับความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยในรางวัล Cannes Lions Grand Prix, สามปีติดกับรางวัล Agency of the year และรางวัลอีกมากมายที่นับไม่ถ้วน เราจึงไม่พลาดที่จะมาเก็บเคล็ดลับวิธีการบริหารธุรกิจในโลกออนไลน์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิตอลครองเมือง เพื่อปลดล็อคศักยภาพธุรกิจให้ได้เต็มที่
“Internet is future of everything” คำที่จุดประกายให้คุณจิณณ์ได้ก้าวข้ามโลกของ Brick and Mortar มาสู่โลกออนไลน์ ตั้งแต่สมัยที่ Internet ยังเป็นยุคของ Netscape ที่นับว่าเป็น browser แรก ๆ ของการบุกเบิกการใช้อินเตอร์เน็ต
คุณจิณณ์ เริ่มต้นจากการจบมหาวิทยาลัยด้าน Communication Art ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วงนั้นงานด้าน Graphic Designer เป็นงานที่บูมมาก เพราะการโฆษณาจะเน้นการทำ Print งานโปสเตอร์ค่อนข้างเยอะ ใคร ๆ พอเรียนจบในรุ่นก็ไปสมัครทำงานเป็นกราฟฟิคทำ Print เหมือน ๆ กัน ด้วยความคิดในตอนนั้นที่อยากทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นในรุ่น และกำลังค้นหาว่าตนเองจะทำอะไรต่อดีหลังจากเรียนจบ ซึ่งช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่ Internet เริ่มเข้ามา เป็นยุคที่ Speed อินเตอร์เน็ตน่าจะเป็น 14.4 K Modem ซึ่งเราก็รู้สึกสนใจในด้านนี้
โดยอีกมุมหนึ่งของการทำกราฟิคดีไซน์ที่นับว่าท้าทายมากในยุคนั้นคือการทำด้าน Animation, ด้าน Sound ซึ่งมันดีกว่า Print ตรงที่ว่าไฟล์มันค่อนข้างเบา สามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายไฟล์ได้ตลอดเวลา ซึ่งผมน่าจะเป็นคนเดียวในคลาส ที่ตัดสินใจว่าเราจะไปสมัครงานด้านดีไซน์ในสาขานี้ และด้วย Movie Industry ที่อเมริกามันใหญ่มาก ถ้างานของตัวเองได้ไปอยู่ใน movie มันจะทำให้เรารู้สึกว่าเราเท่มากอะไรงี้ เราเลยเลือกอยู่ในสายงานดีไซน์ด้านนี้มา
ผ่านมาสักระยะ คนกลุ่มใหญ่ ๆ ก็เริ่มไปทางนั้นเยอะ เราก็ไม่อยากไป เราชอบไปคนกลุ่มน้อย ๆ ที่ไม่มีใครไปดีกว่า แล้วก็เป็นกลุ่มใหม่ ๆ ที่เราเชื่อว่ามันจะเป็นอนาคต เพราะตอนที่ได้ไปสัมภาษณ์กับคนที่อยู่ใน Internet Industry มีอาจารย์ท่านนึงพูดว่า อินเตอร์เน็ตมันจะเป็น Future of Everything พอฟังได้ยินเสร็จตอนนั้นเราเห็นภาพเลยว่าอันนี้แหละจะเป็นสิ่งที่เราจะไปแน่นอน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นไอเดียในการที่ผมเข้ามาสู่วงการธุรกิจดิจิตอลเอเยนซี่จนถึงปัจจุบัน
INTERNET IS FUTURE OF EVERYTHING
Challenge แรกคือเรื่องของความเร็วของอินเตอร์เน็ตในยุคนั้น ซึ่ง Speed เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมาก มันต้องเร็ว เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายที่สุด แต่ในเมืองไทยยุคนั้น Speed อินเตอร์เน็ตยังเป็นเพียง 1 Mb ในขณะที่อเมริกาไปถึง 10 Mb แล้ว
อีกปัจจัยหลักคือ จำนวนคน เพราะว่าที่อเมริกาเนี่ย penetration เรื่องของ Digital Marketing มันไปสูงกว่าเมืองไทยเยอะ ซึ่งในยุคแรกของบ้านเรา จำนวนคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมันมีแค่ 15% ของประชากรทั้งหมด ยุคนั้นจึงถือเป็นความท้าทายมาก และเป็นปัญหาหลักที่ลูกค้าถามว่า มันจะเวิร์คมั้ย จะเข้าถึงผู้บริโภคได้จริงหรือ ซึ่งแม้จะมีความไม่มั่นใจในช่วงแรก แต่หลายแบรนด์ก็เห็นเทรนด์ Digital Marketing ที่ชัดเจนและเข้าใจตรงกันว่า ต้องเริ่มเพราะมันมาแน่ แต่จะเริ่มด้วยวิธีอะไร ซึ่งในยุคนั้น basic ที่ใช้กันก็คือ การสร้าง Website นั่นเอง
ต้องบอกว่าค่อนข้างแตกต่างกันเยอะ แต่ก่อนมันจะเป็นเรื่องของ Information ที่เริ่มมาจาก library ทำยังไงให้เราเข้าถึงหนังสือที่อยากอ่าน เหมือนคลังความรู้ที่มีไว้ให้คนที่อยากรู้เข้าไปหาอ่าน ชั้นอยู่ตรงนี้ ชั้นพูดแบบนี้ อยากรู้ก็เข้ามา อะไรประมาณนั้น
ต่อมามันเริ่มมีการปรับตัวเข้าหาคนมากขึ้น มี Interaction เช่นถ้าเราก็มีข้อมูลที่เราไป research มา เราก็เอามาโพสใน public เพื่อแชร์กับคนอื่นได้ เป็น 2 ways communication มากขึ้น กลายเป็นยุคที่ออนไลน์ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องมือหลักเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิต อย่าง E-commerce ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถตัดสินใจซื้อของได้ง่ายขึ้น และก็มีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เป็น E-mail, Photobook album, Chat ซึ่งเริ่มพัฒนาเป็น tools ที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ
มาถึงปัจจุบัน เป็นยุคที่ออนไลน์ฉลาดและซับซ้อนมาก มีการเก็บรวบรวม database เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ว่าเราจะสามารถนำ data เหล่านี้ไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร จะสร้าง Customer Experience อย่างไรเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการได้
“ต้องรู้จักสินค้าและการบริการของตนเองให้ดีก่อน” ต้องกลับมาดูก่อนว่าปัจจุบันสินค้าที่เราขายคืออะไร ประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีในออนไลน์คืออะไร เพราะประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ กับการเดินไปซื้อที่ร้านนั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง ในร้านค้า ลูกค้าจะเดินเข้าหน้าร้านแล้วหยิบสินค้า จับสินค้าแล้วก็ไปจ่ายตังค์ แต่สำหรับลูกค้าที่ซื้อของในออนไลน์ เขาไม่ได้เห็น ไม่ได้จับสินค้า ไม่ได้ดม ไม่ได้สัมผัส คือจ่ายเงินให้คุณไปก่อนที่จะได้หยิบจับด้วยซ้ำ คุณจึงต้องใส่ใจในการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจในทุกรายละเอียด
บางทีคนลืมไปว่าทำไมต้องถ่ายรูปเยอะ ๆ ในการขายของ ทำไมต้องเขียน Description เยอะ ๆ เพื่อเพิ่มรายละเอียดให้ครบถ้วน ถามว่าขายส่งเดชไปได้มั้ย ใครจะซื้อไม่ซื้อก็แล้วแต่ บอกเลยว่าในโลกออนไลน์มันไม่เหมือนร้านโชว์ห่วยหรือ 7-11 ที่แม้ผมจะไม่ชอบเจ๊เจ้าของร้าน แต่ก็จำใจต้องซื้อน้ำในร้านเจ๊ดื่มอยู่ดี เพราะขี้เกียจเดินทางไกล ๆ ไปซื้ออีกร้านนึง
สิ่งที่คุณต้องตระหนักคือ ในตลาดออนไลน์ คนที่ขายสินค้าออนไลน์เป็นร้อย ๆ ล้าน ๆ ร้านค้า เรียงรายแล้วอยู่ในสถานที่เดียวกัน คือหน้าจอ ขายของที่คล้ายหรือเหมือนกันด้วยซ้ำ ลูกค้าจึงมีสิทธิจะเลือกซื้อร้านไหนก็ได้เพียงแค่ปลายนิ้ว
CUSTOMER EXPERIENCE IS KEY SUCCESS
“การสร้าง Customer Journey เป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง Customer Experience ที่ดี” ไม่ใช่มีของจะขายก็ขายเลย เราต้องวิเคราะห์ตั้งแต่พฤติกรรมกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาให้ดี เค้าคือใคร เค้าทำอย่างไร เค้าจะคิดอะไร เค้าจะมองตรงไหน การสร้าง Interaction กับกลุ่มลูกค้าควรเป็นรูปแบบไหน เริ่มตั้งแต่เห็นโฆษณาของเรา กดเข้ามาอ่านข้อมูล การสอบถามข้อมูล การสั่งซื้อ รับของ จนกระทั่งส่งสินค้าและบริการถึงผู้บริโภค การดูแลหลังการขาย รวมถึงการศึกษาดูว่าปัจจุบันลูกค้าไปซื้อคู่แข่งเพราะว่าอะไร มีประสบการณ์อย่างไรกับทางคู่แข่ง สิ่งที่ดีและไม่ดีคืออะไร แล้วเราจะสร้างให้มันแตกต่างยังไง
จริง ๆ มันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีสินค้าที่มีคุณภาพแตกต่างกับคู่แข่งยังไง แต่มันอยู่ที่ประสบการณ์ที่ลูกค้าเจออะไร เพราะทุกอย่างมันคือส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการซื้อของลูกค้าทั้งนั้น มันคือการใส่ใจในรายละเอียด
พูดได้ว่าบางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น เค้าเน้น Customer Experience เป็นตัวนำก่อนรายได้ซะอีก เค้าไม่แคร์ว่าเขาจะขายของได้มั้ย ยกตัวอย่าง บางแบรนด์ให้ซื้อสินค้าไปเลยสิบชิ้น ไม่พอใจจะคืนมาสิบชิ้นเลยก็ได้ เพราะเขาต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า แต่ร้านอื่นบอกว่า ไม่ได้ ซื้อแล้วห้ามคืนเว้ย อารมณ์ของคนซื้อมันก็ต่างกัน ใคร ๆ ก็อยากซื้อกับร้านแรก ถูกมั้ยล่ะ เพราะฉะนั้นการออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าจึงสำคัญมาก
อีกสิ่งที่สำคัญมากคือ “ต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าให้มาก” ถึงจะดีไซน์ประสบการณ์ที่ดีให้เขาได้ โดยปัจจุบันก็จะมีการใช้ Tools ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเก็บ Data มาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า ว่าลูกค้าของเราคือใคร อยู่ที่ไหน ต้องการอะไร ซื้ออะไร ไม่ซื้ออะไร ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันทางแบรนด์ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้มาก และนี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทาง CJ WORX ได้ร่วมมือกับ BUYERMINDS เพื่อเน้นวิจัยพฤติกรรมอินไซด์ของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจผลตอบรับของพฤติกรรมต่าง ๆ
จริง ๆ ผมไม่ได้มองว่าอันนี้มันคือเทรนด์นะ เพราะว่ามันก็ไม่ใช่เทรนด์ ที่เราไปจับมือเอเจนซี่ BUYERMINDS ที่เนเธอร์แลนด์ เพราะเรามองเห็นโอกาส และมันเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราสามารถสร้างยอดขายให้ลูกค้าได้ ณ จุดขาย เข้าใจพฤติกรรมอินไซต์ของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเอเจนซี่จะมีหน้าที่ในการพาคนไปที่จุดขายแค่นั้นเอง
ส่วนพอไปถึง ณ จุดขาย Data ที่เราเจอบ่อย ๆ ก็คือเรื่อง CONVERSION RATE เช่น พาคนไปถึงจุดขายแล้ว 100 คน แต่คนซื้อแค่ 1 คน ซึ่งเราก็มอง เฮ้ย!!! แล้วลูกค้าจะลงทุนกับเราเพราะอะไร ทำไมลูกค้าต้องมาจ่ายเงินกับเราเยอะ ๆ เพื่อได้แค่ลูกค้าคนเดียว แล้วอีก 99 คนเหล่านี้ไปไหน ทำไมเอเจนซี่ไม่ทำให้มันกลายเป็น 100 คนเลยละ ทำไมมันกลายเป็นแค่คนเดียว
เราก็เลยมองว่า มันน่าจะดีที่เรามีศาสตร์ที่สามารถเข้าใจถึงจิตวิตญาณของลูกค้า ว่าพอเข้าไปที่ ณ จุดขาย สาเหตุใดที่ทำให้เขาไม่ซื้อ ทั้งที่มี Awareness แล้ว จดจำแบรนด์แล้ว ถึง Point of Sales แล้ว แต่ทำไมเขาไม่ซื้อ ซึ่งอาจทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า เราก็เลยรู้สึกว่าศาสตร์ที่ BUYERMINDS มาเล่าให้เราฟัง มันเป็นสิ่งที่เมืองไทยไม่มี เมืองนอกอาจจะมีเยอะแยะก็ได้นะ แต่เมืองไทยพอยังไม่มีเนี่ย เราก็มองว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำมาดีไซน์ช่องทางให้ลูกค้าเพื่อสร้าง Conversion Rate ณ จุดขายได้
It’s much easier to double your business by doubling your conversion rate than by doubling your traffic – Jeff Eisenberg
ถ้าอยากขายของได้ในโลกออนไลน์มันง่ายมากเลย คือต้องไปเริ่มที่ตัวเองก่อน เข้าใจว่าจุดขายของคุณคืออะไร มันมี Demand ในตลาดหรือเปล่า จุดขายของคุณมันแข็งแรงพอมั้ย จุดขายของคุณมันไปช่วยแก้ Pain point ให้ลูกค้าได้จริงหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ได้มีของอะไรใหม่ อย่างถ้าเป็นยาลดน้ำหนัก ก็เป็นเหมือนทุกคนทั่วไป เป็นลูกอมลูกกวาดธรรมดาทั่ว ๆ ไป คุณก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองให้โดดเด่นขึ้นมา นั่นก็คือจุดขายอยู่ดี
เข้าใจแบรนด์ตัวเองให้ลึกซึ้งก่อนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าคุณเริ่มเอง คุณจะรู้และเข้าใจสินค้าเป็นอย่างดี โดยไม่ต้องเดินมาหาเอเจนซี่ในวินาทีแรกที่คุณมีแบรนด์ การเริ่มทำเองและมี passion กับมัน ทำโปรดักส์ที่สามารถช่วยเหลือลูกค้าด้วยจิตใจที่คุณซื่อสัตย์จริง ๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงในสิ่งที่คุณตั้งใจทำให้จริง ๆ และพอคุณสามารถสร้างจุดขาย ที่มันต่างจากคู่แข่งได้ หลังจากนั้นเอเจนซี่จะเข้ามาช่วยคุณได้เยอะเลย
เริ่มศึกษาการทำ Online Marketing และเข้าใจ Digital Term ด้วยตัวเองก่อน ก็จะช่วยในการทำแบรนด์เองได้ดีขึ้นได้เยอะ เพราะถ้าคุณบอกว่าอยากสร้างแบรนด์ในออนไลน์ คุณก็ต้องมีความรู้ว่า Facebook Boost Post คืออะไร, Reach คืออะไร ไม่งั้นเดี๋ยวพอมาจ้างเอเจนซี่ปุ๊ป เอเจนซี่ก็จะแนะนำทางที่คุณไม่คุ้นเคย แล้วคุณก็งงว่ามันคืออะไร หรือมันจะมีประโยชน์อย่างไรจากการใช้บล็อกเกอร์, Publisher หรือการใช้เพจอะไรอย่างนั้น
ฉะนั้นถ้าคุณไม่เริ่มทำเอง ศึกษาเองก่อน และไม่เห็นผล คุณจะไม่รู้ว่าคุณจะทำไปเพื่ออะไร
ถ้าเราลองดูหลาย ๆ เจ้า Apple, Google, Facebook ทุกคนเป็น Digital Business หมด เพียงแต่อยู่บน Hardware หรือ Software ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละธุรกิจ แต่ลองสังเกตดูดี ๆ ธุรกิจเหล่านี้ต่างจากธุรกิจโรงงาน สมมติอย่างธุรกิจโรงงานจะทำเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ก็จะทำเกี่ยวกับมันสำปะหลังให้ดีที่สุด ให้ราคาที่ถูกที่สุด แต่ดิจิตอลเราจะโฟกัสที่ Experience ค่อนข้างเยอะ ว่าเราจะพัฒนา Experience อย่างไร จะเห็นชัดเจนว่าดิจิตอลไม่เคยอยู่นิ่ง ไม่งั้น Facebook จะอยู่ได้อย่างไร การทำดิจิตอลมันคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือจะต้อง Launch Feature ใหม่ตลอด ไม่เหมือนธุรกิจโรงงานหรือสินค้า จะไม่มีออกมาบ่อยขนาดเรา แต่ธุรกิจดิจิตัล คือเราต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง มีไอเดีย หรือ tools ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเสมอ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่คนทำธุรกิจนี้จะต้องคิดเสมอว่าเราจะพัฒนาต่อเนื่องได้ยังไง มันไม่มีคำว่าดีที่สุด มันจะมีคำว่าดีขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลา
อีกสิ่งที่สำคัญมากคือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า นอกจากเราจะช่วยลูกค้าคิดไอเดียโฆษณาเจ๋ง ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายแล้ว เราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้าว่าสินค้ามันช่วยลูกค้าได้จริง ๆ นะ ถ้าสินค้ามันไม่ได้ช่วยใด ๆ ลูกค้าเลย ลูกค้าก็ยังไม่เห็นคุณค่าของเรา ในขณะที่เรากำลังจะสื่อสารออกไปว่าโปรดักส์ของเราดียังไง ส่วนคนที่ใช้แล้วก็จะมาบอกว่าโปรดักส์มันไม่ได้เรื่อง คราวนี้หละ คุณก็รู้ว่าลูกค้าเชื่อลูกค้า ตราบใดที่คุณบอกว่าสินค้าคุณอร่อย แต่ลูกค้าบอกว่าไม่อร่อย อย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ทีนี้เราก็ต้องกลับมาที่โปรดักก่อน คือทำให้มันอร่อยก่อน แล้วให้ลูกค้ามาลองว่ามันอร่อยจริง ๆ นะ จากนั้นเราใช้ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งในการให้ลูกค้ามาบอกว่าอร่อยจริง ๆ
Continuous Improvement and Honesty is the key success
ไอเดียตันมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วครับ มันเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ สายงาน ไม่ใช่เฉพาะสายงานที่เป็นครีเอทีพเฉย ๆ ถ้าถามพาร์ทเนอร์ผม และผมก็เคยได้ยินแกสอนน้อง ๆ บ่อย ๆ ก็คือ เรามี 1 วันเนี่ย แต่ไอเดียมันก็เหมือนอาหาร เราก็ต้องเติมมันทุกวัน ไม่งั้นเดี๋ยวมันก็ขาดอาหาร มันก็จะไม่ generate ไอเดียออกมา ฉะนั้นเนี่ยไอเดียมันมาจากสิ่งรอบตัว ไปเปิดโลกเปิดตาตลอดเวลา แล้วไอเดียมันมากับการสังเกตการณ์ตลอดเวลา สังเกตผู้บริโภค สังเกตงานคนอื่น สังเกตคู่แข่ง สังเกตธุรกิจอื่น ๆ สังเกตผู้บริโภคที่อยู่ธุรกิจอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงธุรกิจลูกค้าเรา
ฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับว่า เราจะเปิดโลกทัศน์เราให้ซึมซับกับสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง พอมันมีโจทย์มา มันอยู่ข้างในลึก ๆ ของหัวสมองเราครับ เราจะสามารถคิดขึ้นมา ดึงมันมาใช้ได้ มันจะไม่มีคำว่าตัน ถ้าตราบใดเราเติม เติม เติมแล้วก็มี passion กับมัน
ไอเดียก็เหมือนอาหาร เราต้องเติมมันทุกวัน
ผมไม่ค่อยซีเรียส ว่า FACEBOOK จะตายหรือไม่ตาย เพราะว่าถึงแม้มันตาย เราก็อาจจะมีสิ่งใหม่มาทดแทน คือปัจจุบันเนี่ย คนใช้ออนไลน์ที่มีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ เพื่อการ Connect กับผู้คน และการเสพคอนเทนต์ สมัยก่อนมันเป็นแค่ค้นหาข้อมูลเพื่อได้ในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าอะไรก็ตาม แต่ตอนนี้มันเป็นการเชื่อมต่อหากัน และก็แชร์ประสบการณ์ในชีวิตด้วยกัน บางทีจุดประสงค์ต่อไปมันอาจจะไม่ใช่แค่นี้ก็ได้ เพียงแค่ว่าเราน่าจะเป็นคนที่ช่างสังเกตว่า Consumer Behavior เขาเปลี่ยนไปอย่างไร เฟสบุ๊คจะอยู่ไม่อยู่ ถ้าทุกวันนี้ถ้าไม่มีเฟสบุ๊ค คนก็อยากที่ connect หากันอยู่ดี เพราะมันเป็นปัจจัยที่คนเกิดมาเพื่อที่มีเพื่อนในชีวิต
จุดสำคัญที่เป็นหน้าที่ของเอเจนซี่ที่ต้องเรียนรู้ คือ Customer Behavior ที่มันเปลี่ยนไป แล้วเราจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไรมากกว่าครับ
เริ่มต้นจากการหา PASSION ตัวเองให้เจอว่าคุณชอบอะไร เพราะเวลาคุณชอบอะไร คุณจะเอาสมอง ร่างกาย และหัวใจของคุณเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยที่คุณไม่รู้สึกว่ามันคืองาน แต่มันคือชีวิตเรามากกว่า บางทีเวลาเราคิดอะไรตลอดเวลา 24 ชม.เนี่ย มันไม่ได้เป็นความเหนื่อยเลย มันเป็นความรู้สึก ความสุขที่เราได้แบบ เอ้ย มันจะดีไหมถ้าเราได้ทำนู่นทำนี้ ได้ตั้งคำถาม และมันก็จะทำให้เราพัฒนาธุรกิจของเราไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเกิดเราไม่มี PASSION ตรงนี้แล้วเนี่ย หัวใจเราไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น มันจะมีแค่ร่างกาย เราไปอยู่ตรงนั้นมันก็จะกลายเป็นความเหนื่อยของร่างกายเราที่มัน Response ออกมา ว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ แต่ถ้าหัวใจเราไปอยู่ตรงนั้น เราจะไม่รู้สึกว่ามันคืองาน
มี PASSION อย่าเห็นใครทำ ก็ทำตามเขา ตัวเองยังไงก็ต้องมีจุดยืน