

Work
จูบกบ กินกบ อย่ายอมโดนต้มกบ ทฤษฎีการพัฒนาตัวเองแบบ “3 กบ” ที่เราควรทำหรือนำมาใช้
By: unlockmen September 3, 2019 159452
ถ้าคุณมองหาหนังสือพัฒนาตัวเองสักเล่ม “Eat That Frog!” ของ Brian Tracy หน้าปกกบตัวโตสีเขียวไดคัตแปะบนพื้นหลังสีส้มจะเป็นหนึ่งเล่มที่มีคนแนะนำคุณซ้ำ ๆ พอ ๆ กับเวลาเริ่มเล่นหุ้นแล้วมีคนแนะนำว่า “นายต้องไปอ่าน Rich Dad Poor Dad นะ เล่มนี้มันดีจริง ๆ”
น่าสนใจว่าหลังจากเราได้ยินคำว่า “กินกบ” เป็นครั้งแรกแล้ว และคิดว่ามันค่อนข้างแปลกพอสมควร เราก็มีโอกาสได้ยินการสำนวนต้มยำทำแกงเกี่ยวกับ “กบ” ต่อไปอีกหลายรูปแบบครั้งไม่ว่าจะเป็นการ “จูบกบ” หรือการ “ต้มกบ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตามแต่ เจ้าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประเภทนี้ก็มักจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาตัวเองเสมอ
เพื่อสรุปให้จบเรื่องกบ ๆ ภายใน 10 นาทีแล้วเอาไปใช้ได้เลย UNLOCKMEN จึงตั้งใจว่าจะเล่าถึงแก่นของหลักการทฤษฎีให้เพื่อน ๆ ทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ใครที่ทำได้ในไม่กี่บรรทัดก็เป็นเรื่องดี แต่ใครที่อยากไปหาอ่านฉบับเต็มต่อให้ละเอียดเพื่อลงลึกเราก็ไม่ว่ากัน
ใครที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วเชิญไปพับกบ เอ้ย! พบกับ กบทั้ง 3 ตัวต่อไปนี้เลย
เริ่มต้นกันที่กบตัวแรกกันก่อนคือการ “กินกบ” ใครที่คิดว่าจะไปสั่งกบปิ้ง ย่าง ทอดมากินให้ลาภปากแล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้หัวหน้าก็ชมเรา ขอให้หยุดฮาก่อน เพราะการ “กินกบ” มันเป็นการเปรียบเปรยเรื่องการบริหารเวลาและเปลี่ยนมุมมองความคิดในการลงมือทำเพื่อประสบความสำเร็จจากหนังสือเรื่อง Eat That Frog! ต่างหาก
หัวใจสำคัญของการกินกบ เราคงต้องบอกก่อนว่า “กบ” หมายถึง “งานที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด” ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนพยายามจะหลีกเลี่ยงแล้วไปใช้เวลาเกือบ 80% ของชีวิตกับสิ่งที่มันไม่ค่อยให้อะไรเรากลับมาแทน โดยเราจะต้องตรวจสอบตัวเองด้วยคำถาม 3 คำถามนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อหา “กบตัวใหญ่” ตัวนั้นให้เจอแล้วจับมันกิน
เลือกกุญแจสำคัญให้ถูกดอกด้วยการบริหารเวลาให้ชีวิตเราก้าวไปข้างหน้าได้ไม่มีสะดุด เอาชนะการผัดวันประกันพรุ่งให้ตัวเองกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพที่ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าจากการกินกบตัวนั้นเสีย ไม่ว่างานนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม จำไว้ว่า อย่าสนใจสิ่งที่รองลงมามา และอย่าให้สิ่งสำคัญที่สุดตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด
โบราณไทยว่าถ้าเอากบตีปากเด็กแล้วเด็กจะยอมพูด เดาว่าความเชื่อน่าจะมาจากอาการที่เด็กกลัวกบจนต้องแหกปากร้อง แต่สำหรับเรื่องนี้ การไล่เราไป “จูบกบ” นั้นมีที่มาจากนิทานปรัมปราที่ชื่อว่า The Frog Prince หรือเจ้าชายกบต่างหาก
ต้นสำนวนมาจากประโยคที่กล่าวว่า “You have to kiss a lot of frogs to find your prince.” หรือแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ถ้าคุณอยากเจอเจ้าชาย หรืออยากประสบความสำเร็จคุณต้องจูบกบหลายตัวหน่อย เพราะมันตอนประกบปาก คุณอาจจะเจอกบที่เป็นกบจริง ๆ และกบที่เป็นเจ้าชายได้ทุกเมื่อ คล้ายเป็นการสุ่มนั่นแหละ สุ่มพังเพื่อให้มีโอกาสสำเร็จ
สำนวนนี้หนังสือเล่าเรื่องงานโฆษณา Predatory Thinking ก็เคยกล่าวถึงภายในเล่ม โดยเปรียบเทียบว่าการทำงานโฆษณาก็เหมือนการจูบกบ งาน 2 ชิ้นที่ดีอาจเกิดขึ้นจากความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าคุณวิ่งหนีอุปสรรคหรือความล้มเหลวก็เทียบเท่ากับการวิ่งหนีโอกาสไปในตัว ถ้าจะถามว่าแล้วมันจะใช้ได้จริงเหรอ? งานนี้เราว่าต้องลองไปดูคนที่คว้ารางวัลการใช้ชีวิตดู แล้วจะพบว่าเรื่องราวของพวกเขาต้องผ่านการจูบกบที่ไม่ใช่เจ้าชายมานับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว
เรื่องสุดท้ายนี้ค่อนข้างจะต่างจาก 2 เรื่องแรกหน่อย เพราะเขาไม่ได้เปรียบเปรยว่ากบเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ แต่เปรียบเทียบเราเป็น “กบ” เสียเลย
ทฤษฎีกบต้มเป็นแนวคิดของ Tichyand Sherman (1993) นักวิชาการชาวไอริชที่เสนอแนวคิดผ่านการทดลองการตอบสนองของกบที่ต้มในอ่างน้ำ 2 ใบเพื่อเปรียบเทียบปฏิกิริยา โดยตั้งคำถามว่าระหว่างกบที่โดนโยนเข้าไปในอ่างน้ำเดือด กับกบที่อยู่ในอ่างน้ำอุ่นที่เร่งอุณหภูมิคุณคิดว่าใบไหนจะตายก่อน?
ทฤษฎีนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร เพราะฝ่ายตั้งต้นบอกว่ากบที่โยนลงน้ำเดือดน่ะไม่ตายหรอก ไอ้ที่ค่อย ๆ โดนต้มมันจะแช่นิ่ง ๆ นอนใจจนน้ำเดือดตาย ขณะที่ภายหลังก็มีคนกล่าวว่าทฤษฎีนี้ถ้าพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ต้มกันจะ ๆ มันไม่จริงสักหน่อย แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แก่นของมันอยู่ที่สิ่งที่เขาพยายามเล่าต่างหากว่า
“คนเราควรต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง การนอนใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละน้อยคือหายนะ”
หลักนี้ก็ใช้กับโลกที่กำลังโดน Disrupt ทุกขณะ หลายธุรกิจวันนี้ล้มหายตายจาก หลายคนก็โดน Lay off จากงานเพราะไม่ยอมปรับตัว เพิ่มทักษะให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เราไม่ควรทำตัวเป็นกบต้มแล้วปล่อยให้ความร้อนฆ่าเราโดยไม่รู้ตัว
รวม ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกบตัวไหน มันก็เป็นแนวทางการพัฒนาตัวเองที่ดีที่ทำให้เราได้กลับมาเช็กตัวเองอีกทีว่า วันนี้เราใช้เวลา 24 ชั่วโมงไปกับอะไรบ้าง วันนี้เรากำลังกลัวอะไรอยู่หรือเปล่า หรือวันนี้เรายังคงอยู่ในคอมฟอร์ตโซนแล้วปรับเปลี่ยนตัวเองไหม