

Life
ปลุกความขยัน สร้างแรงกระตุ้นให้พร้อมรับทุกงานด้วย Expectancy Theory
By: unlockmen May 28, 2021 200806
แรงจูงใจถือเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้คนตั้งใจทำงาน และพยายามผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมา แต่ข่าวร้าย คือ แรงจูงใจในการทำงานไม่ได้คงอยู่ตลอดเวลา บางสาเหตุก็ทำให้พนักงานหมดแรงจูงใจในการทำงานได้เช่นกัน (เช่น การปรับลดเงินเดือน เป็นต้น) UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงานมากขึ้นโดยใช้ Expectancy Theory เพื่อให้หัวหน้าทุกคนสามารถรับมือภาวะเบิร์นเอ้าท์ของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Expectancy Theory คือ ทฤษฎีแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1964 โดย Victor Vroom ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ จาก Yale School of Management ทฤษฎีนี้อธิบายว่า แรงจูงใจในการเลือกแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับความคาดหวังในผลลัพธ์ของแต่ละคน กล่าวคือ แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน จะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับ ความต้องการรางวัลที่จะได้รับจากงานนั้น การประเมินโอกาสที่พวกเขาจะทำงานนั้นสำเร็จ รวมถึง ความเชื่อที่ว่าพวกเขาจะทำงานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
Expectancy Theory จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ความรู้ในเรื่อง Expectancy Theory จะช่วยให้หัวหน้าทุกคนสามารถเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของลูกน้องได้ง่ายขึ้น มันเลยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ องค์กร หรือ บริษัทที่น่าสนใจ และทุกคนควรสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้กัน UNLOCKMEN มีวิธีการนำ Expectancy Theory ไปใช้ประโยชน์แบบง่า มาฝากกัน ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
กำหนดรางวัลที่เป็นไปได้จริง
สิ่งที่หัวหน้าไม่ควรทำ คือ การเสนอรางวัลที่โอเวอร์จนเกินไป เพื่อกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงาน พองานเสร็จแล้ว กลับมีการเจรจาต่อรองขอลดรางวัลลงมา แบบนี้จะส่งผลเสียต่อการทำงานของพนักงานในครั้งต่อ ๆ ไปได้ เราควรให้รางวัลแก่สมาชิกทีมที่ทำงานตามที่ตกลงไว้เสมอ เพื่อสร้างความเชื่อใจ และความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ควรเริ่มต้นจากการกำหนดรางวัลตอบแทนที่สอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรสามารถมอบให้ได้
สร้างเป้าหมายที่ไม่ยากเกินความสามารถของสมาชิกทีม
ความท้าทายมักทำให้คนตั้งใจทำงานอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่ความท้าทายที่ยากเกินไป เพราะความท้าทายที่ยากเกินไป อาจทำให้คนเกิดอาการแพนิคจนทำงานได้แย่ลง หรือ ปฏิเสธการรับงานได้ หัวหน้าควรกำหนดเป้าหมายในการทำงานที่ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป เพื่อสร้างแรงจูงใจ และทำให้ลูกน้องมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
ทำให้แน่ใจว่างานแต่ละชิ้นเหมาะสมกับความสามารถของสมาชิกทีม
ถ้าเราอยากจะกระตุ้นให้คนอยากทำงาน เราต้องเข้าใจความสามารถในการทำงานของแต่ละคนก่อน เพราะเมื่อหัวหน้ามอบหมายงานโดยอิงจากความสามารถแล้ว มันมักจะทำให้ลูกน้องมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง และพวกเขาจะมีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น
กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผลงานและรางวัลที่ชัดเจน
พยายามสื่อสารเรื่องความคาดหวังในการทำงานและรางวัลที่จะได้รับอย่างชัดเจน เพราะยิ่งเราตรงไปตรงมามากเท่าไหร่ สมาชิกทีมจะเชื่อว่าตัวเองจะได้รับรางวัลที่เหมาะสมจากการทำงานมากขึ้น
แบ่งปันรางวัลอย่างยุติธรรมและมีเหตุผล
เมื่อถึงเวลาต้องแบ่งปันรางวัลให้กับสมาชิกทีมที่ทำงานสำเร็จ หัวหน้าควรเช็คให้มั่นใจว่ารางวัลที่ให้ไปสอดคล้องกับความพยายามที่สมาชิกได้มอบให้กับงาน นอกจากนีัการแบ่งปันรางวัลควรมีความยุติธรรมกับทุกคนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม Expectancy Theory อาจไม่เหมาะกับใช้ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อขาดแคลนคนที่มีความสามารถในการทำงาน หรือ องค์กรที่มีนโยบายกำหนดเงินเดือนตามตำแหน่งหรือความรับผิดชอบ หัวหน้าจึงควรคิดถึงบริบทก่อนที่จะนำทฤษฎีนี้ไปใช้ทุกครั้ง
IMAGE