

Entertainment
EASY RIDER หนังขบถบนถนนไฮเวย์ บิดไปตามสายลม ชื่นชมความเป็นอิสระชนแห่งเสรี
By: Chaipohn August 28, 2021 204882
“A Man Went Looking for America and Couldn’t Find It Anywhere”
คำโปรยบนโปสเตอร์หนัง Easy Rider ที่มีพล็อตแสนเบาบาง เพียงแค่ 2 นักบิดที่เพิ่งขายโคเคนได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ออกเดินทางจากลอสแองเจลิสไปยังนิวออร์ลีนส์ถึงฟลอริดา เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายกับในช่วงสงครามเวียดนามที่คุกกรุ่น แต่พล็อตเบาบางนี้กลับทำกำไรมหาศาล และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการหนังอเมริกัน จนกลายเป็นตำนานหน้าสำคัญแห่งยุคสมัย และเป็นจุดเริ่มของหนัง American Indie
มาย้อนทำความรู้จักหัวขบวนแห่งการขบถครั้งยิ่งใหญ่บนแผ่นฟิล์ม ที่คลอเคล้าไปด้วยบรรยากาศฮิปปี้ ความเมามาย และหมุดหมายแห่งอิสระเสรีที่เปลี่ยนสังคมไปตลอดกาล
“Easy Rider” คือหนังที่สร้างขึ้นในปี 1969 ปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของยาน Apollo 11 ไปจนถึง เหตุการณ์ Woodstock เทศกาลทางดนตรีแห่งสันติภาพที่มีคนร่วมงานเกิน 500,000 คน จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่วอชิงตันดี.ซี.ในจำนวนคนที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีเดียวกันนี้ “Easy Rider” ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญไม่แพ้กัน
หนังนำแสดงโดย Peter Fonda รับบท “Wyatt” พร้อมพ่วงตำแหน่งโปรดิวเซอร์ควบคนเขียนบท และ Dennis Hopper รับบท “Billy” ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีนักแสดงหน้าใหม่ในยุคนั้นอย่าง Jack Nicholson ร่วมซ้อนท้ายและเป็นตัวแปรสำคัญของหนังไปด้วย
เรื่องราวเล่าถึง Wyatt และ Billy ที่เพิ่งได้เงินจากการค้ายามาก้อนนึง จึงตัดสินใจเดินทางตะลอนทัวร์ผ่านมอเตอร์ไซค์คู่ใจ เดินทางจากลอสแองเจลิสไปยังอเมริกาใต้ รวมทั้งนิวออร์ลีนส์ ในช่วงเวลาที่คุกรุ่นไปด้วยความบอบช้ำจากสงครามเวียดนาม นำพาพวกเขาออกเดินทางพบเจอบุปผาชนมากมาย / ได้เจอคนโบกรถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต / ได้ก่อกวนในเทศกาล และพบกับบทสรุปอันแสนเศร้าหมอง
แม้หนังจะดำเนินเรื่องราวไม่ต่างกับการขับรถไปอย่างไร้จุดหมาย หนำซ้ำนักวิจารณ์หลายคนก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไรนัก กระทั่งพ่อของ Peter คือ Henry Fonda นักแสดงรุ่นลายครามที่ได้ดูหนังของลูกก็ส่ายหัวแล้วบอกว่า “ทำหนังอะไร ดูไม่รู้เรื่อง” แต่กลับกลายเป็นที่ถูกใจคนดูในยุคนั้นจนทำเงินได้มากมายมหาศาลในฐานะ “หนังต่อต้านวัฒนธรรมเรื่องยิ่งใหญ่” จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกภาพยนตร์
แม้ปลายทางของหนังจะเต็มไปด้วยความสวยงาม แต่จุดเริ่มต้นของหนังที่กว่าจะได้ออกฉายนั้นไม่ง่ายเลย
เรามาย้อนดูจุดเริ่มต้นของหนัง ที่ในตอนต้นนั้นเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคนานัปการ ก่อนจะกลายมาเป็นตำนานของเหล่า American New Wave
แรกเริ่มเดิมที ทั้ง Peter Fonda และ Dennis Hopper รู้จักกันจากการแสดงร่วมงานในภาพยนตร์ The Trip (1967) หนังสยองหลอนยาที่เขียนบทโดย Jack Nicholson
ทั้ง 3 ถูกชะตากันและอยากสร้างโปรเจกต์ร่วมกัน โดย Dennis Hopper อยากทำหนังให้วัยรุ่นยุคนี้ได้ดู เพราะ Hollywood ในยุคนั้นมุ่งเน้นแต่การสร้างหนังรักตลกเบาสมองอย่าง Pillow Talk, The Glass Bottom Boat หรือ Beach Blanket Bingo ซึ่ง Dennis นั้นรู้สึกว่า “มันไม่ใช่หนังวัยรุ่นยุคนี้สักหน่อย”
ใช่แล้ว…เพราะวัยรุ่นในยุคนั้นต่างตื่นรู้ ตื่นกลัวกับอนาคตของเขา จากการถูกส่งไปตายในสงครามเวียดนามแบบไร้เหตุผล หลายคนต้องกลับมาในสภาพร่างกายที่ไม่สมประกอบ ไม่มีใครหรอกที่เอ็นจอยกับการดูหนังเฟค ๆ ที่แสดงโดย Doris Day อีกต่อไป
ทั้ง 3 จึงหาแนวทางในการทำหนัง โดย Peter Fonda อยากทำหนังคาวบอยเจ๋ง ๆ สักเรื่อง แต่ Dennis Hopper ที่ชื่นชอบบทบาทการแสดงของ Peter ในหนัง 1% Motorcycle Club แก๊งฮาร์เลย์นอกกฎหมายจากเรื่อง The Wild Angels (1966) ทั้ง 2 จึงหาจุดกึ่งกลางด้วยการทำหนังเกี่ยวกับคู่หูฮาร์เลย์ที่มีความเป็นคาวบอยตะวันตก โดยทั้ง 2 เลือกรับบทแสดงนำเพื่อประหยัดงบทุนสร้าง
ชื่อของตัวละครทั้ง 2 นั้นก็ใช้ชื่อ Wyatt ซึ่งมาจาก Wyatt Earp นายอำเภอพันธุ์เดือด ส่วน Billy ก็มาจาก Billy the Kid จอมโจรในตำนานคาวบอยเช่นกัน เมื่อตัวละครที่เป็นตัวแทนทั้งผู้รักษากฎหมาย และอาชญากรผู้อยู่เหนือกฎหมายมาร่วมทริปไปด้วยกัน มันจึงสะท้อนทั้งตัวตนที่แตกต่าง และความเวิ้งว้างที่ไม่ต่างกับวีรบุรุษคาวบอยผู้โดดเดี่ยวที่เดินทางไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำโดยไม่มีจุดหมายปลายทาง
บทภาพยนตร์ในตอนแรกถูกเขียนโดย Terry Southern และ Dennis Hopper อาสาลงมากำกับด้วยตัวเอง ภายใต้ชื่อหนังว่า The Loners แต่สุดท้าย Peter Fonda ที่ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตก็ตัดสินใจใช้ชื่อ Easy Rider ในภายหลัง
ในที่สุด Easy Rider ก็ได้เปิดกล้องด้วยจำนวนเงินทุนในการถ่ายทำเพียง 400,000 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ สำหรับชื่อชั้นของ 2 ดารานำระดับนี้ และแน่นอนว่าโปรเจกต์นี้ไม่มีสตูดิโอเจ้าไหนยอมจ่ายด้วยเพราะคิดว่ามันไม่น่าจะทำเงินได้
ทั้ง 2 จึงวางแผนถ่ายทำแบบกองโจร ด้วยจำนวนทีมงานออกกองเพียง 12 คน ในแต่ละวันพวกเขาเดินทางถ่ายทำไปเรื่อย เหนื่อยก็พักค้างแรมแถวนั้น โดย Hoppe พกทั้งกัญชาและโคเคนไปเต็มกำลัง พี้มันทุกวันที่ถ่ายทำ จนกระทั่งเรื่องราวในหน้ากระดาษบทหนังที่เขียนไว้ค่อย ๆ พร่าเลือนไป จนแทบไม่เหลือเค้าโครงจากต้นฉบับเดิมหลงเหลือไว้เลย ซึ่งก็ได้ Jack Nicholson ที่พยายามตบเรื่องราวให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่ Hopper ผู้กำกับตัวดีนั่นแหละ ที่จ้องจะพาหนังออกนอกทะเลไปไกลแสนไกล
แต่ถึงกระนั้น Terry Southern ผู้เขียนบทดั้งเดิมของหนังเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยพอใจที่บทของเขาไม่ได้รับการแยแสอย่างที่ควรจะเป็น จนเกิดมีการฟ้องร้องขึ้นมา แต่ Hopper กลับบอกว่า
“นอกจากชื่อหนังแล้ว หนังเรื่องนี้แทบไม่เหลือร่องรอยอะไรที่ Southern เขียนขึ้นมาเลย
จริง ๆ บทมันไม่มีมาตั้งแต่แรก เพราะตอนนั้น Southern มันอ้างว่าปวดหลังตลอด
กูนี่แหละต้องลงมือเขียนมันเองจนเสร็จภายใน 10 วัน”
แต่เพราะไม่อยากให้มันมีเรื่องราวบานปลาย ในเครดิตจึงต้องใส่ทั้งชื่อ Fonda, Southern รวมไปถึง Hopper เพื่อยุติปัญหา
ส่วนคนที่ปวดหัวมากที่สุดก็คือคนกลางอย่าง Peter Fonda งบหนังทั้งหมดเขาต้องควักจ่ายก่อนล่วงหน้า ใช้บัตรเครดิตรูดจนเต็มวงเงิน และด้วยความเอาแต่ใจของ Hopper มันก็ยิ่งทำให้เขาต้องปวดขมับ กับการงอกนู่นงอกนี่อยู่เสมอ จนทุกคนต่างเอือมระอาในความบ้าอำนาจของ Hopper แต่ถึงกระนั้นมันก็เต็มไปด้วยความสมจริงของเหล่าขบถ American ตรงยุค รวมถึงร่องรอยของความเมามายไม่ได้สติของทีมงานและนักแสดง
อย่างฉากหนึ่งที่สุสานนิวออรีนส์ Peter Fonda ต้องเมายาเข้าฉากกับโสเภณีที่ทั้ง 2 หิ้วมา (ซึ่งนอกจอพวกเขาก็เมากันจริง ๆ) โดย Hopper สั่งให้ Fonda คุยกับรูปปั้นพระแม่มารี
ตอนแรก Fonda ก็ไม่ยอมคุย จน Hopper บอกว่า “นั่นไม่ใช่พระแม่มารี นั่นคือแม่ของแกเว้ยยย” Fonda ที่เคยมีปมแม่ฆ่าตัวตายตอนที่เขาอยู่ในวัยเพียง 10 ปี ก็เลยแสดงหนังไปร้องไห้ไปด้วยความคิดถึงแม่และฤทธิ์ของกัญชา
ในที่สุดหนังก็ถ่ายทำจนสำเร็จเสร็จสิ้น มีฟุตเตจในการถ่ายทำมากถึง 80 ชั่วโมง!!! ซ้ำร้ายมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson รุ่น Hydra-Glide ยังอันตรธานหายไปในวันเลี้ยงปิดกล้องอีกด้วย ที่สำคัญคือไอ้งานเลี้ยงปิดกล้องนี่ก็จัดกันตอนที่หนังยังตัดไม่เสร็จเรียบร้อยดี จึงมีฉากที่ทั้ง 2 นั่งคุยกันในกองไฟแบบไม่มีมอเตอร์ไซค์ข้างกาย ใครเลยจะรู้ว่าแท้จริงสาเหตุคือมอเตอร์ไซค์ได้ถูกขโมยไปเรียบร้อยแล้ว
จากฟุตเตจที่ถ่ายกันความยาวถึง 80 ชั่วโมง Hopper จัดการตัดมันให้เหลือ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นั่งดู Peter Fonda ก็ได้แต่ส่ายหัวเพราะมันดูไม่รู้เรื่อง แต่ Hopper ก็ยืนกรานที่จะเสนอในรูปแบบนี้ แต่ด้วยสิทธิ์ในการตัดสินใจสำคัญอยู่ในมือของ Fonda เขาตัดสินใจไล่ Hopper ออกจากกระบวนการตัดต่อ และใช้เวลาอีกปีกว่าค่อย ๆ เล็มมันจนเหลือ 96 นาที และเชิญ Henry Fonda ผู้เป็นพ่อมาดู ซึ่งตัวพ่อเองก็ไม่ชอบหนังเวอร์ชั่นแรกของลูกชายตัวเองเช่นกัน
ซ้ำร้าย หนังยังต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับศิลปินมากมายเป็นประวัติการณ์ ในยุคสมัยที่หนังเรื่องหนึ่งจะมีศิลปินเพลงแค่ 1-2 ราย ทำเพลงเพื่อประกอบหนังเรื่องนั้น แต่สำหรับ Easy Rider พวกเขานำเพลงที่มีอยู่แล้วมาใส่ประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมีแต่เพลงจากศิลปินชื่อดังอย่างเช่น The Band, The Byrds, The Jimi Hendrix Experience และ Steppenwolf
สรุปแล้วการใส่เพลงฮิตที่ถาโถมโหมใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้ นำไปสู่การควักเงินจ่ายอีกกว่าล้านเหรียญเป็นค่าลิขสิทธิ์ กลายเป็นว่าเพลงประกอบหนังดันแพงกว่างบถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งเรื่องถึงเกือบ 3 เท่าเลยทีเดียว
หนังก็ถูกส่งเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้เข้าชิงรางวัลสาขา Palme d’Or ซึ่ง Hopper สามารถคว้ารางวัล Best First Work ไปครองได้สำเร็จ โดยคณะกรรมการที่ชอบหนังเรื่องนี้ ต่างพากันปรบมือให้กับความกล้าหาญของหนังที่พาเราโลดแล่นไปอย่างไร้จุดหมาย ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพของคนอเมริกันในยุคสูญญากาศ ที่ไม่รู้ว่าอนาคตของตนจะเป็นอย่างไรต่อไป จนเรียกได้ว่าเป็นหัวขบวนของหนัง American New Wave เคียงบ่าเคียงไหล่กับหนังแห่งยุคสมัยอย่าง Bonnie and Clyde และ The Graduate ที่ฉายในระยะเวลาเดียวกันได้เลย
แต่เมื่อได้เข้าฉายในรอบปฐมทัศน์ที่อเมริกา Easy Rider กลับไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของนักวิจารณ์หนังฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องที่จับต้องไม่ได้ รวมไปถึงความเมามายที่อยู่ในหนังมันช่างไม่ชวนดูเลยสักนิด
ตรงกันข้ามกับคนดู ที่เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ กลับมีความรู้สึกเข้าถึงพวกเขาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาพของฮิปปี้บุปผาชนในหนังที่สะท้อนตัวตนของอเมริกันชนในยุคนั้น คาแรคเตอร์ของ Jack Nicholson ทนายในชุดสูทที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ก็เป็น 1 ในตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงของคนในวัยทำงานที่ต่างต้องการปลดพันธนาการแห่งการถูกกดทับของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะตอนจบที่มืดหม่นจนไม่เหลือซึ่งความหวัง
หลายคนบอกว่า “ถึงหนังเรื่องนี้จะดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันสัมผัสได้ไม่ต่างกับตอนคุณเมากัญชาแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่มันก็ให้ความรู้สึกที่ดีไม่ใช่เหรอ”
เพราะได้ชื่อว่าหนังที่ดูไม่รู้เรื่อง ทำให้เหล่าวัยรุ่นอเมริกันที่เชื่อว่าคนแก่เท่านั้นที่ดูไม่เข้าใจ เพราะเนื้อหามันคือสิ่งที่วัยรุ่นเท่านั้นที่ดูออก ได้แห่กันไปดูจนทำรายได้กว่า 60 ล้านเหรียญ ฟันกำไรไม่รู้กี่เท่าจากทุนสร้างสี่แสนเหรียญในตอนต้น กลายเป็นหนังทำเงินอันดับ 3 แห่งปี 1969 และหนังเรื่องนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนตลอดกาลของวงการหนังอเมริกัน
Easy Rider จึงเป็นภาพยนตร์อินดี้ที่ยิ่งใหญ่จากการเป็นหัวขบวนของการแสดงออกถึงการต่อต้านสังคม เป็นตัวแทนปากเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการท้าทายระบอบเก่า ๆ
แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่มืดหม่น แต่ก็ฉายแสงแห่งความหวังให้ทั้งคนทำหนังได้ทดลองสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ท้าทายให้วัยรุ่นมากมายได้ลุกขึ้นยื่นมือสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมโดยไม่นั่งรอตามคำสั่งที่บอกต่อ ๆ กันอีกต่อไป กลายเป็นหัวหอกของหนังอินดี้สายสร้างสรรค์จวบจนปัจจุบัน