

Business
UNLOCK POTENTIAL: ข้อดี ข้อเสีย และวิธีเอาชนะความขี้เกียจอย่างมีประสิทธิภาพที่ทำได้ง่าย
By: unlockmen August 11, 2020 187527
หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ประมาณว่า “งานจะต้องส่งพรุ่งนี้แล้ว แต่วันนี้ยังทำไม่เสร็จ และรู้สึกขี้เกียจเป็นอย่างมาก” อันเกิดจากการไม่ยอมทำงานให้เสร็จตั้งแต่เนิน ๆ แต่ได้ขยับ timeline ไปเรื่อย ๆ จนถึงหนึ่งวันก่อนส่งงาน
บางคนอาจเริ่มโทษความขี้เกียจของตัวเอง ว่ามีมากเกินไปจนไม่ยอมทำงานให้เสร็จและรู้สึกกระวนกระวายกลัวจะทำงานเสร็จไม่ทัน
ความขี้เกียจเป็นปัญหาหรือไม่? แล้วเราจะทำให้ตัวเอง productive ขึ้นมาได้อย่างไร? UNLOCKMEN จะไขข้อข้องใจเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนได้ปลดล็อกศักยภาพให้เอง
ว่ากันว่ามนุษย์ขี้เกียจกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดั้งเดิมจำเป็นต้องเก็บสะสมพลังงานเพื่อความอยู่รอด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ร่างกายของมนุษย์ใช้พลังงานในการทำงานเยอะมาก (อย่างสมองมีน้ำหนักราว 2% ของร่างกาย แต่กินพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวันทั้งหมดถึง 20%) ความขี้เกียจจึงอาจเข้ามาช่วยให้มนุษย์ไม่ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองเกินไปนั่นเอง
แต่ต้นเหตุของความขี้เกียจก็ไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ความขี้เกียจเข้าครอบงำ ได้แก่
ความกลัว (fear) ความขี้เกียจและความกลัวดูจะมีความสัมพันธ์กัน ความขี้เกียจเปรียบเหมือนพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) สำหรับหนีความกลัวที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น กลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ กลัวว่าจะล้มเหลว กลัวว่าจะตอบสนองความคาดหวังของคนอื่นไม่ได้
ความกลัวในลักษณะนี้หนักหน่วง และเป็นภาระต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด เราจึงต้องขี้เกียจ และผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination) เพื่อปัองกันการเผชิญหน้ากับความกลัวทั้งๆ ที่เรายังไม่พร้อม ซึ่งบางคนกว่าจะรู้สึกพร้อมก็ใช้เวลานานพอสมควร
ภาวะซึมเศร้า (depression) ความขี้เกียจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคซึมเศร้า เราจึงจำเป็นต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงของคนขี้เกียจรอบตัวเราว่าเสี่ยงจะเป็นซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งคนที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการ เช่น รู้สึกสิ้นหวัง คิดลบ มีความคิดฆ่าตัวตาย และไม่มีแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ชอบ
หากพบว่าคนรอบตัวมีอาการเหล่านี้เข้าขั้นหนักจนเป็นปัญหา ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางออกและให้การรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุทางชีวะวิทยา (biological causes) ความขี้เกียจเกี่ยวข้องกับการหลั่งโดปามีนในสมอง (สารสื่อประสาททำหน้าที่เกี่ยวกับการให้รางวัล เช่น ทำให้เรารู้สึกมีความสุข เวลาชนะการพนัน เป็นต้น) เรื่องนี้ได้รับการรับรองจากงานวิจัยหลายชิ้น อาทิ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University) ประเทศสหรัฐฯ ที่พบว่า กลุ่มคนทำงานหนักเพื่อหวังผลตอบแทน (go-getters) จะมีการหลั่งของโดปามีนมากในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้รางวัลและแรงจูงใจสูง (ได้แก่ striatum และ ventromedial prefrontal cortex)
ส่วนคนขี้เกียจ (slackers) จะมีการหลั่งของโดปามีนมากในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และการรับรู้ความเสี่ยง (หรือ anterior insula)
ไร้เป้าหมาย (lack of real purpose) เมื่อไม่มีเป้าหมาย หลายคนก็คงจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่มีคุณค่า ไม่รู้จะทำไปทำไม หรือ พอเจอปัญหาที่ซับซ้อน พยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จสักที หลายคนก็อาจรู้สึกท้อแท้ใจ และหันหน้าเข้าสู่ความขี้เกียจเพื่อพักผ่อนให้ใจสงบสุข ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
การไม่มีเป้าหมายอาจมีผลเสียต่อความสุขในชีวิตด้วย โดยงานวิจัยจากสถาบันระบาดวิทยาและการดูแลสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ระบุว่า สุขภาวะ (well-being) และความสุขมีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนระหว่างการมีเป้าหมายและความหมายในชีวิต
แม้ความขี้เกียจจะเป็นคุณสมบัติที่ไม่ดีสำหรับทุกคน แต่คน productive ก็มีข้อเสียเหมือนกัน อย่างเช่นคนที่หาข้อมูลติดตามข่าวสารบน social media ตลอดเวลา ก็อาจทำให้เกิดความเครียดและความตื่นตระหนกจากการตามข่าวมากเกินไป หรือคนที่ฝืนทำงานในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองมากกว่าปกติ และผลงานที่ออกมาอาจจะไม่ได้มาตรฐานที่ดีมากนัก
ดังนั้น เราควรให้ตัวเองมีเวลาขี้เกียจบ้าง เพื่อให้มีเวลาคิดเรื่องต่าง ๆ ก่อนลงมือทำงาน ซึ่งงานวิจัยเรื่อง ‘Back to the future: Autobiographical planning and the functionality of mind-wandering’ (2011) ระบุว่า
“เมื่อความคิดของเราไม่จดจออยู่กับสิ่งใดมากเกินไป (หรือ ความคิดล่องลอย) เราจะคิดถึงเรื่องในอนาคตเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือเรื่องปัจจุบัน และอดีต ตามลำดับ
ความคิดล่องลอยทำให้เรามีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาที่ดีและสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนอนาคต และการคิดหาไอเดียใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังได้เวลาพักผ่อนร่างกายอีกด้วย”
ยามที่เราขี้เกียจขึ้นมา เราแทบหลีกเลี่ยงมันไม่ได้เลย ดังนั้นการฝืนตัวเองไม่ให้ขี้เกียจจึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยพอสมควร แต่โชคดีที่เรายังมีวิธีจัดการกับความขี้เกียจอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ให้ทุกคนทำตาม ดังนี้
1.กำหนดเวลาในการทำ
เจรจากับตัวเองว่าเราจะใช้เวลาทำงานชิ้นนี้นานแค่ไหน (เช่น 10 นาที หรือ 1 ชั่วโมง) จะเป็นการจำลองเดดไลน์ของการทำงาน จะช่วยให้เราเกิดแรงจูงใจในการทำงานให้เสร็จก่อนเวลากำหนด (เพราะการขาดแรงจูงใจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราขี้เกียจ) โดยถึงแม้เราจะทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนดก็ตาม แต่อย่างน้อยงานชิ้นนั้นก็ยังมีความคืบหน้าบ้าง เพราะได้ลงมือทำแล้ว (คล้ายกับ Pomodoro Technique)
2.เปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน
บางครั้งการทำงานจากบ้านก็ทำให้เรารู้สึกขี้เกียจได้ อาจเพราะมีสิ่งรบกวนมากเกินไป การเปลี่ยนสถานที่ก็อาจช่วยให้เรามีความ productive มากขึ้นได้ เช่น ร้านกาแฟซึ่งมีระดับเสียงรบกวนพอเหมาะ เรื่องนี้ได้รับการรับรองจากงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) ที่ได้ศึกษาเรื่องเสียงรบกวนในห้องเรียนกับการทำข้อสอบของเด็กนักเรียน พบว่า นักเรียนที่อยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวน 70 เดซิเบล จะมีผลสอบที่ดีกว่า นักเรียนที่อยู่ในห้องที่มีเสียงรบกวน 50 เดซิเบล และ 85 เดซิเบล (กลุ่มนี้ทำข้อสอบได้แย่ที่สุด) โดย ร้านกาแฟทั่วไปมักจะมีระดับเสียงรบกวนอยู่ที่ราว 70 เดซิเบล
3.ฟังเพลงระหว่างทำงาน
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการฟังเพลงที่เหมาะสมมีส่วนช่วยในการทำงาน เช่น สร้างสมาธิ ช่วยให้เราใจเย็นเวลาแก้ไขปัญหายากๆ หรือ ช่วยให้เราเอาชนะความขี้เกียจและมีความ productive เพิ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น
4.ทำความเข้าใจปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างลึกซึ้ง
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการเผชิญกับปัญหาที่แก้ไขได้ยาก อาจทำให้เรารู้สึกขี้เกียจ และผัดวันประกันพรุ่งได้ ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจปัญหาที่กำลังเจออยู่อย่างลึกซึ้ง โดยอาจจะใช้วิธีการเขียนปัญหาเหล่านั้น พร้อมรายละเอียด ลงในแผ่นกระดาษ ซึ่งเมื่อทำแบบนี้่แล้ว เราอาจเห็นว่าปัญหาใหญ่ๆ สามารถย่อยเป็นปัญหาเล็ก ซึ่งจะช่วยให้แก้ไขปมปัญหาได้ง่ายขึ้น
5.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยให้เรารู้สึกแอคทีฟมากขึ้นได้จริง ซึ่งงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Psychotherapy and Psychosomatics เมื่อปี ค.ศ.2007 ระบุว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายตลอดเวลา จะรู้สึกมีพลังมากขึ้น เหนื่อยลง หลังได้ออกกำลังกายในระดับปานกลางหรือต่ำ อีกทั้งการออกกำลังกายก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วย ถือเป็นวิธีที่ดีในการเอาชนะความขี้เกียจ
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ความ productive และ ความขี้เกียจ ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นความ productive อาจจะเหมาะกับช่วงที่งานเร่งมาก ๆ ส่วนความขี้เกียจอาจเหมาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการแก้ปัญหาที่ลึกซึ้ง ดังนั้นเราจึงต้องเลือกปรับาอารมณ์ใช้ให้ถูกสถานการณ์ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีที่สุดนั่นเอง
Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล