

Life
เมื่อโลกนี้มีแต่คนเหงา “6 หนังสือเรื่องความเหงา”เพื่อให้เราเข้าใจมันลึกซึ้งยิ่งขึ้น
By: unlockmen August 26, 2019 158253
บ่อยครั้งที่เรารู้สึกเหงา แปลกแยก และแสนเดียวดายบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแสนอ้างว้างใบนี้ ไม่ว่ารอบกายจะมีคนรายล้อมหรือไม่ ความเหงาจู่โจมเราไม่เลือกสถานที่ งอกงามในหัวใจไม่เลือกเวลา จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่ามีแค่เราหรือเปล่านะที่เหงาถึงเพียงนี้?
คำตอบคือ ไม่ เราไม่ได้เหงาอยู่เพียงลำพัง เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยคนเหงา และคนบางคนเขียนหนังสือที่ว่าด้วยความเหงา คนเหงา ความแปลกแยก ความโดดเดี่ยวเอาไว้ให้เราได้พินิจพิจารณาโดยละเอียด บางความเหงาอาจตรงกับสิ่งที่เรารู้สึก บางความเดียวดายอาจใกล้เคียงกับที่เราเคยคิด
แต่ไม่มีความเหงาไหนที่เหมือนกัน และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่เราควรหาหนังสือ 6 เล่มนี้มาอ่าน เพื่อเข้าใจความเหงาในสารพัดมิติและรับมือกับมันให้ดีกว่าที่เคย
“คุณเคยได้ยินเรื่อง 52Hz มั้ย? มันเป็นวาฬสีน้ำเงินที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในมหาสมุทรแปซิฟิคมาเป็นเวลานานถึงยี่สิบปี มันไม่อาจสื่อสารไปถึงวาฬตัวอื่นๆ ได้ เพราะคลื่นความถี่ 52Hz ของมัน ดันเป็นความถี่ที่ไม่เหมือนกับวาฬตัวใดในโลก มันจึงต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมาตลอด…”
เราเหงาที่สุดตอนไหน? ความเหงานั้นหน้าตาเป็นอย่างไร? ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่อ่านย่อหน้าข้างต้นจาก “ยอดมนุษย์ดาวเศร้า” แล้วรู้สึกว่าเจ้าวาฬ 52Hz คือเรื่องของคุณ เล่มนี้คือเล่มที่คุณไม่ควรพลาด
แต่ไม่ต้องห่วงว่าหนังสือจะพาเราจมดิ่งไปในความเหงาเปลี่ยวดายจนไม่อาจย้อนคืน ตรงกันข้าม องอาจ ชัยชาญชีพ จะพาเราไปสำรวจความรู้สึกดิ่งลึกของเราในแง่มุมที่ชวนให้เข้าใจและยอมรับมันมากขึ้น พร้อมกับข้อความจาง ๆ ที่กระซิบบอกคนเหงาอย่างเราทุกคนว่า “อย่างน้อยคุณก็ไม่ได้เหงาอยู่เพียงลำพัง” และจำนวนพิมพ์ 14 ครั้งคงการันตีได้ดีว่าคนเหงาที่ได้รับการปลอบโยนจากหนังสือเล่มนี้นั้นมีมากมายขนาดไหน
ถ้าพูดถึงยุคสมัยแห่งความเหงาแล้วไม่พูดถึง Haruki Murakami อาจเป็นความผิดร้ายแรงเกินให้อภัย ผู้คนจำนวนมากถึงกับกล่าวอ้างว่าเขาคือหนึ่งในผู้แพร่เชื้อความเหงาให้แพร่กระจายไปในหมู่นักอ่านเลยด้วยซ้ำ
แต่อะไรจะดีไปกว่าการพิสูจน์ด้วยตัวเองอีก? เราขอชวนคุณที่เหงา (และไม่ค่อยเหงา) อ่าน “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย” ของ Haruki Murakami เพื่อเข้าใจ เพื่อรับรู้ว่าชีวิตคนก็เป็นเช่นนี้ เป็นวันธรรมดา สัปดาห์ธรรมดา จนรวมกันเป็นปีหรือหลายสิบปีอันธรรมดาสามัญ
เราอาจมีคนรู้จัก คนที่สำคัญต่อเรา คนที่เราระลึกถึงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และบางวันเราเหงา แต่บางวันมันก็เป็นแค่อีกวันธรรมดาที่ไม่ได้มีใครสนใจกันและกัน หรือมองว่าใครสำคัญต่อกัน จนมวลความเหงาก่อตัวขึ้น
แม้ใคร ๆ จะมองว่า Haruki Murakami สร้างกระแสความเหงาขึ้นในสังคมยุคนี้ แต่เราอยากชวนคุณมาพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าความเหงามีอยู่แล้ว และเป็นเรื่องธรรมดา Haruki Murakami เพียงแต่นำมันมาถ่ายทอดได้อย่างเรียบง่ายและตรงใจคนเหงาที่มีอยู่จริงอย่างเรา ๆ เท่านั้นเอง
ความเหงาของมนุษย์เป็นแบบหนึ่ง เรารับรู้ได้ด้วยขีดจำกัดความเป็นมนุษย์ที่เรามี แล้วความเหงาแบบหมา ๆ ล่ะ? ความเหงาแบบแมว ๆ ล่ะ? หรือแม้กระทั่งความเหงาของเอไอหรือมนุษย์โคลนนิ่งมันมีอยู่จริงไหม? และเราเห็นความเหงาคนอื่นเหมือนที่เห็นความเหงาของตัวเองบ้างหรือเปล่า?
Kazuo Ishiguro นักเขียนรางวัลโนเบลกับนวนิยายดำดิ่งแต่เรียบง่ายชื่อ “แผลลึก หัวใจสลาย” จะพาเราไปรู้จักความรู้สึกบางแบบ ความเจ็บปวดที่เชือดเฉือนแต่ไม่เรียกร้องความสนใจ เจ็บนิ่ง ๆ ปวดลึก ๆ
ไม่สามารถพูดอะไรได้มากกว่านี้ แต่ถ้าอยากเข้าใจความเหงา ความปวดเจ็บ และความแปลกแยกในมิติที่เราอาจไม่เคยจินตนาการไปถึง เพราะบางทีเราก็มัวหมกมุ่นอยู่กับความเหงาของตัวเอง หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปสู่ความเหงาของคนอื่น สิ่งอื่นที่พ้นไปจากตัวเอง
ถ้าความเหงาของคนในเมืองคือการอยู่ท่ามกลางผู้คน แสงสี รถราขวักไขว่ แต่ความเหงาก็ยังกัดกินหัวใจ แล้วเราต่างก็ต้องหลงทางอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายภายนอก แต่โดดเดี่ยวภายในเรื่อยไป
Chris McCandless คือเด็กหนุ่มที่ต่างออกไป การศึกษา ความอบอุ่นของครอบครัว สถานะทางการเงินของเขาพรั่งพร้อม แต่เมื่อจิตใจเขาไม่อาจหาคำตอบได้ว่า “ชีวิตคืออะไร?” เขาจึงไม่ยอมจมอยู่ในชีวิตเก่า เมืองเดิม ตัวตนที่เคยเป็น
เขามุ่งหน้าสู่ความเดียวดาย ทิ้งเงิน การศึกษา สิ่งที่เคยเชื่อ ครอบครัว ความสัมพันธ์ ฯลฯ มุ่งสู่การเดินทางไกลเพื่อตามหาความหมายของชีวิต หนังสือเล่มนี้อาจช่วยตอบคำถามบางประการให้เราได้ว่า ความเดียวดายจริงแท้มีปลายทางแบบไหน? บางความเหงาโดดเดี่ยวอาจโรแมนติก แต่บางครั้งความเหงาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป
“ความเหงา” คือสิ่งที่เรานิยามเมื่อเรารู้สึกเคว้งคว้าง เปลี่ยวดาย แปลกแยกและไม่เป็นส่วนหนึ่งของใครหรืออะไร มนุษย์ร้านสะดวกซื้อคือเรื่องของหญิงสาววัย 36 ซึ่งยังไม่แต่งงานและทำงานอยู่ในร้านสะดวกซื้อมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ร้านสะดวกซื้อคือเพื่อนหนึ่งเดียวที่ซื่อสัตย์ของเธอ
เธอไม่มีเพื่อนที่เธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (นอกจากเพื่อนร่วมงานที่รู้จักกัน) เธอไม่มีเรื่องที่สนใจร่วมกับคนอื่นจนคุยกับใครก็ไม่ได้เพราะไม่มีเรื่องอะไรจะเอามาคุย เธอไม่มีแฟน เธอมีครอบครัว แต่เป็นครอบครัวที่เอาแต่ถามว่าทำไมไม่แต่งงาน? ทำไมยังทำงานในร้านสะดวกซื้อ? ทำไมไม่มีชีวิตเหมือนคนอื่นเขาเสียที? คล้ายว่าการเป็นเธอช่างไม่ปกติและยอมรับไม่ได้
ถ้าเรานิยามความเหงาว่าเป็นความเคว้งคว้าง เปลี่ยวดาย แปลกแยกและไม่เป็นส่วนหนึ่งของใครหรืออะไร ฟุรุคุระ เคโกะ ก็คือหญิงสาวที่แปลกแยกและเปลี่ยวดายที่สุดเท่าที่เรารู้จักมาคนหนึ่ง แต่เธอกลับไม่ได้นิยามสิ่งที่ตัวเองเผชิญไว้แบบนั้น เธอมีวิถีส่วนตัว มีทัศนคติของตนที่ต่างออกไป
“ณ ที่แห่งนั้นเธอพยายามสวมบทบาทเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีชื่อว่า ‘มนุษย์ปกติ‘ คำว่า ‘ปกติ‘ คืออะไร?”
รับรองว่าอ่านจบแล้ว คุณจะตั้งคำถามกับความเหงาและสารพัดความรู้สึกของตัวเองได้อย่างแยบคายมากขึ้น รวมถึงมาตรฐานสังคมที่คอยบงการเราอยู่อย่างแนบเนียน
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา คือคนที่จับความเหงามาชำแหละออกเป็นชิ้นส่วนที่ทั้งน่าสะอิดสะเอียนและน่าทึ่งไปในคราวเดียวกัน นักแซะมักบอกเราว่าความเหงาเป็นเรื่องของชนชั้นกลางเท่านั้น มีแต่คนที่พอมีอันจะกินเท่านั้นที่เหลือเวลามาครุ่นคิดกับความเหงา
แต่วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ปั้นแต่งเรื่องเล่าที่พาไปสำรวจชีวิตของผู้คนในบริบทอื่น ๆ ที่ก็เหงาเป็นเหมือนกับที่ใคร ๆ เหงา กะหรี่ในห้องแสงสลัวที่ต้องรับลูกค้าแปลกหน้าคนแล้วคนเล่า ฆาตกรต่อเนื่องบนรถบุโรทั่งที่ต้องตระเวณหาเหยื่ออย่างเศร้าสร้อย ความเหงาไม่ได้เป็นของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง
ความเหงาเป็นของทุกคน เพียงแต่ใครจะป่าวประกาศมากหรือน้อยเท่าที่เวลาและทรพยากรจะเอื้ออำนวย แต่จักรวาลของการมอดไหม้พาเราไปสำรวความเหงา แปลกแยก เดียวดาย ในรูปแบบที่เราไม่ได้สัมผัสจากหนังสือเล่มอื่นมากนักแน่ ๆ เรารับรอง
เลือกสักหนึ่งเล่มที่คุณถูกใจ อย่างน้อยเมื่อความเหงามาเคาะประตูทักทายครั้งต่อไป คุณก็มีหนึ่งในหกเล่มนี้อยู่เป็นเพื่อน บางครั้งเพื่อนอาจโอบกอดปลอบประโลม แต่บางทีเพื่อนก็อาจโบยตีคุณจนกรีดร้องด้วยเพราะเหงากว่าเดิม…ก็เป็นได้