

Guide
ART OF ARS: “อาร์ตนูโว” ไม่ใช่วงนูโว ‘SOMETHING, NOUVEAU’ ดิจิทัลอาร์ตระดับโลกที่คนไทยสัมผัสได้
By: unlockmen January 23, 2020 173320
คุณรู้จักอาร์ตนูโวไหม
ไม่แปลกหรอกถ้าฟังแล้วอยากจะถามกลับมาว่า นั่นมันอะไรนะ ? หรือสับสนว่านี่เป็นชื่อสมาชิกใหม่วงนูโวหรือเปล่า เพราะส่วนมากคนเรามักไม่จำชื่อของศิลปิน ไม่จำชื่อผลงานศิลปะ และยิ่งถ้าลึกเข้าไปกว่านั้นอย่างคำว่า “ART NOUVEAU (อาร์ตนูโว)” ที่เป็นชื่อยุคหนึ่งของศิลปะตะวันตก ก็เป็นธรรมดาที่ออกมานอกห้องเรียนแล้วมันจะตกหล่นจากเมมโมรี่ไปบ้าง
แต่ SOMETHING, NOUVEAU เป็นหนึ่งในงานนิทรรศการเปิดต้นปี 2020 ในไทยที่เราแนะนำให้คุณต้องไปสักครั้งในชีวิต งานนี้เป็นซีรีส์ตัวที่ 3 ที่จัดขึ้นที่ River City ต่อจากนิทรรศการรุ่นพี่ 2 ตัวแรก FROM MONET TO KANDINSKY และ ITALIAN RENAISSANCE ที่เคยสร้างความประทับใจ โดยคัดสรรผลงานกว่า 500 ชิ้นของศิลปินตัวพ่อแห่งยุคทองทางศิลปะมาถึง 3 คน ได้แก่ กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) อัลโฟนส์มูคา (Alphonse Mucha) และออเบรย์เบียร์ดสเลย์ (Aubrey Beardsley)
ทั้ง 3 คนนี้ถ้าให้เทียบก็เสมือนอาหารจานเด็ดของยุคอาร์ตนูโวที่ถ้าเราไม่ทำความรู้จักผลงานและตัวตนของพวกเขาก็เหมือนอดกินต้มยำกุ้ง กะเพรา และผัดไทยตอนมาเมืองไทย ที่สำคัญรูปแบบแสดงงานครั้งนี้ยังแปลกใหม่กว่างานอาร์ตเดิมที่เคยไป เติมเต็มจินตนาการเราได้ดีด้วย (เราจะอธิบายอีกครั้งด้านล่างอีกครั้งว่าเจ๋งยังไง)
“อาร์ตนูโว หรือยุคนวศิลป์” เป็นยุคศิลปะแสนสั้นที่เกิดขึ้นและโด่งดังในค.ศ. 1890 – 1910 หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต่อจาก Art and Craft Movement ช่วงนั้นเป็นยุคที่คนเริ่มเบื่อศิลปะ เบื่อการนำเสนอรูปแบบเดิม ๆ อยากหาแนวศิลปะแบบใหม่ขึ้นมา พอมาเจออาร์ตนูโวที่เป็นแนวงานรับอิทธิพลจากธรรมชาติ อ่อนช้อย สไตล์ผู้หญิง (แต่คนทำงานเป็นผู้ชาย) เข้าก็ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ทันที
ผู้คนที่พบศิลปะแนวนี้เข้าก็กล่าวว่าศิลปะแนวนี้คืออวองค์การ์ด หรือนี่มันล้ำยุคมาก (คำว่าอวองค์การ์ดเป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ทหารแนวหน้า ใช้อธิบายสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มักใช้ในวงการศิลปะ) จนทำให้ฟอร์มต่าง ๆ ของอาร์ตนูโวทั้งหมด ลายเส้นพลิ้ว ๆ เครือเถาวัลย์ ความละเอียดประณีต ฯลฯ แพร่ไปสู่ศิลปะแขนงอื่นอย่างรวดเร็วทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และการทำกระจกสี ในช่วง 20 ปีที่ศิลปะเบ่งบาน ตอนนั้นไม่ว่าจะหันไปทางไหนล้วนเจอแต่งานสไตล์นี้ เสน่ห์ของความหรูหราแปลกใหม่ อ่อนช้อย กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ
ศิลปินชาย 3 คนเจ้าของงานในการจัดแสดงนิทรรศการ SOMETHING, NOUVEAU ถือเป็นระดับตำนานที่ผลงานไม่เหมือนกันเลย แม้จะมีความคล้ายเรื่องการใช้ธรรมชาติกับลายเส้นพลิ้วไหวเข้ามาประยุกต์ แต่ต่างคนต่างมีความน่าสนใจทั้งประวัติและผลงาน บางคนอายุสั้น บางคนวาดภาพโป๊เสียจนคนลุกมาต่อต้าน หรือบางคนก็วาดเส้นได้ละมุน ประณีตละเอียดลออเสียจนไม่คิดว่าภาพนี้ผู้ชายนี่แหละวาด
ก่อนจะมาเป็นศิลปินผู้สร้างอวองค์การ์ด Aubrey คือเด็กชายผู้โชคร้ายที่ตรวจพบว่าตัวเองเป็นวัณโรคโดยพันธุกรรมตั้งแต่วัย 7 ขวบ และเสียชีวิตในวัย 25 จากโรคดังกล่าวในยุคศตวรรษที่ 19 ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์ระบุให้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้
เดิมเขาทำงานเป็นเสมียนโดยรับเงินเดือนเพียงเดือนละ 70 ปอนด์ ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางศิลปะจากการวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนจนเพื่อนร่วมงานชื่นชอบ สิ่งนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาไปลงเรียนศิลปะจริงจังที่โรงเรียนสอนศิลปะเวสต์มินสเตอร์จนในที่สุดเขาสามารถเปลี่ยนอาชีพนักวาดภาพประกอบเต็มตัวให้กับหนังสือนวนิยาย นิตยสาร และเคยวาดภาพให้กับนักเขียนหัวขบถผู้เป็นที่กล่าวขวัญแห่งยุคอย่างออสการ์ไวด์
จุดเด่นที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่นชัดเจนคือสไตล์ของผลงานที่ผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก (ศิลปะภาพพิมพ์จากญี่ปุ่น) และได้รับอิทธิพลจากศิลปินหลายคน จนสร้างผลงานได้ในแบบฉบับของตัวเอง ยิ่งเมื่อเซตองค์ประกอบในภาพแบบซ่อนสัญญะไว้ ทำให้ทุกอย่างในภาพมีความหมายกว่าที่คิด ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความชื่นชอบด้านวรรณกรรมและงานหลักที่เขาวาดภาพประกอบหนังสือ เช่น การตกแต่งภาพด้วยเถาองุ่นในภาพสื่อถึงความมึนเมา หรือดอกบัวแฝงนัยความบริสุทธิ์
นอกจากนี้เขายังสร้างความอีโรติกไปในอย่างประณีต ภาพศิลปะของเขาเหมือนงานตีแสกคนในสังคม เพราะซ้อนระหว่างความอีโรติกโป๊เปลือยกับความหรูหรา
หลายคนเห็นงาน Mucha บ่อย เพราะเป็นแนวงานที่คนยุคนี้ยังนิยมแชร์ แต่บางคนแทบไม่รู้เลยว่าภาพนี้วาดขึ้นโดยศิลปินชาย ศิลปินผู้นี้เติบโตและรู้ว่าตัวเองหลงใหลศิลปะจึงมุ่งสอบเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ แม้ครั้งแรกจะสอบตกจนต้องไปทำงานเสมียนคล้าย Aubrey แต่สุดท้าย เขาก็ใช้เวลาว่างเข้าไปเรียนในโรงละครท้องถิ่น เขาจึงมีทักษะการแสดงและทักษะศิลปะจากการตกแต่งวาดภาพให้โรงละครติดตัว
ช่วงชีวิตของ Mucha ก่อนเป็นศิลปินดังค่อนข้างระหกระเหิน ช่วงดีก็มีท่านเคาน์พอใจผลงานจนอุปถัมภ์ส่งให้เรียนต่อศิลปะ แต่จังหวะสิ้นโชคก็ต้องกลับมาวาดรูปหาเงิน ทำทุกอย่าง วาดทั้งโปสเตอร์โฆษณา งานพิมพ์ ปฏิทิน เมนูอาหาร บัตรเชิญ ฯลฯ จนกระทั่งวันหนึ่งจู่ ๆ จังหวะชีวิตของเขาก็พุ่งพรวดจากการรับวาดภาพงานช่วงคริสต์มาส เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ศิลปินคนอื่นหยุดยาวและหนึ่งในงานโปสเตอร์ที่เขาวาดไปต้องตาต้องใจ Sarah Bernhardt นักแสดงสาวของโรงละครหนึ่งเข้า จึงเป็นการผูกปิ่นโตให้เขาทำหน้าที่มัณฑนากรของโรงละครนั้นไปโดยปริยาย งานเริ่มหลั่งใหลเข้ามานับจากนั้นและกระจายไปสู่แขนงอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว
หนึ่งในมุมมองของมูคาที่มีต่อสตรีเพศคือการเชิดชูว่าพวกเธอคือยาถอนพิษและพลังใจแห่งบุรุษ
เอกลักษณ์ของงาน Mucha คือการนำเสนอภาพหญิงสาวร่วมกับธรรมชาติ เขาแหกกฎทั้งเรื่องขนาดภาพเพื่อลงรายละเอียดความรุ่มรวยในภาพ การเลือกใช้ภาพที่สดใส และความหลากหลายของประเภทงานเพราะงานเขาไม่ได้อยู่แค่บนผืนผ้าใบ แต่ต่อเนื่องไปถึงงานพิมพ์ วอลล์เปเปอร์ติดผนัง เฟอร์นิเจอร์ จิลเวอรี่ และเสื้อผ้า จนยุคนั้นแทบไม่มีใครที่ไม่เคยเห็นผลงานของเขา ความอ่อนช้อยของลายเส้นที่มีเสน่ห์ นำเสนอภาพมุมมองน่าค้นหา ทำให้แม้ไม่ได้เล่าภาพออกมาด้วยร่างเปลือยเปล่าของหญิงสาวแต่ก็เป็นชิ้นงานที่แตกต่างจากศิลปินยุคเดียวกันอย่างชัดเจน
ถ้าพูดถึง Golden Age ชื่อของ Gstav Klimt จะเป็นชื่อแรกที่คนพูดถึง เพราะงานเขาแปลกตาด้วยเทคนิคการใช้ทองคำเปลวเพื่อนำเสนอในงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเทคนิคที่เขาเลือกใช้น่าจะได้อิทธิพลมาจากครอบครัว เพราะเขาเกิดในครอบครัวของช่างแกะสลักทอง
Klimt เข้าเรียนวิชาศิลปะในโรงเรียน เขาชื่นชมจิตรกรด้านประวัติศาสตร์เวียนนาและหลงใหลการเดินทางตามเส้นทางนี้ กระทั่งได้มีโอกาสออกแบบเสื้อผ้าร่วมกับ Emilie Louise แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวออสเตรียจนเริ่มต้นแนวทางศิลปะของตนเอง ผลงานของเขาส่วนใหญ่พัฒนาและเชิดชูความเป็นเฟมินิสต์ของอิสตรี รวมทั้งเล่าเรื่องเซ็กซ์อย่างเปิดเผยจึงมีผู้คนมากมายที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกระแสความนิยมเวียนนามาถึงผลงานของเขาก็ได้รับการยกย่องในวงสังคม
เทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาคือการใช้ทองคำเปลว เฉดสีโลหะในผลงานเพื่อสร้างความเปล่งประกาย รวมทั้งการแสดงสีหน้าอารมณ์ของภาพหญิงสาวที่เปี่ยมด้วยความเย้ายวน
ถึงศิลปินจะจากโลกนี้ไปแต่ผลงานศิลป์ของเขาจะถูกถ่ายทอดเรื่อยไปด้วยรูปแบบการรับรู้ใหม่ ๆ ตามกาลเวลา ท่ามกลางความคลาสสิกชั้นสูงที่หลายคนเชิดชูจนเหมือนไกลเกินเอื้อม ยุคนี้มีอุปกรณ์ช่วยดีดความโบราณเข้าไม่ถึงออก เปลี่ยนเส้นทางศิลปะให้เข้าถึงจิตใจคนยุคใหม่อย่างใกล้ชิดแบบรดต้นคอ
SOMETHING, NOUVEAU แบ่งโซนศิลปะออกเป็น 3 โซน ได้แก่ Moda Gallery, Moda Gallery และ Moda Space ให้เราเลือกรับประสบการณ์ตามใจชอบ 3 ระดับ ตั้งแต่เห็น สัมผัส จนถึงขั้นทะลุเข้าไป!
ใครที่เคยไปดูงานอาร์ตแล้วรู้สึกว่าเสียเงินมาเกินเอื้อม โดนกั้น เห็นคนรุมเยอะจนถอดใจ ดิจิทัลอาร์ตจากห้อง Moda Gallery เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ เพราะเขาชุบชีวิตผลงานศิลปะให้โลดโผนด้วยการยิงโปรเจกเตอร์ยาวระดับ HD ฉายผนังและพื้นห้อง เคลื่อนไหว ทั่วห้องและตัวเราที่เดินเข้าไปจึงกลายเป็นผืนผ้าใบ เคล้าเสียงดนตรีคลาสสิกประกอบจังหวะจากระบบเสียง Dolby Surrond เพิ่มจินตนาการและความเพลิดเพลิน
ใครอยากถ่ายรูปสวย ๆ ดูศิลปะแบบ 360 องศา เพิ่มเก็บความอาร์ตระดับโลกไว้เป็นเมมโมรี่ ชวนแฟนไปดูงานนี้ก็เหมาะ เพราะเย็นสบาย บรรยากาศดี และเติมเต็มจินตนาการสร้างความครีเอทีฟ
โซนสามมิติ มีแว่นให้สวมใส่ระหว่างดู Installation Interactive เต็มตา จนรู้สึกเหมือนสมผัสได้ด้วยปลายมือ เหมาะกับคนที่อยากดำดิ่ง ลึกซึ้ง ห้องนี้จะต่างจาก Moda Gallery เพราะห้องนั้นจะเป็นการชมแบบ 2D
เข้าไปอยู่ในงานศิลปะมันซะเลย! เราอาจจะเห็น VR พ่วงมากับเกมเป็นส่วนใหญ่ แต่ห้องนี้เขาเอา VR มาใช้กับงานศิลปะ ออกแบบโลกเสมือนให้เราสวมแล้วเหมือนเข้าไปอยู่ในงานของศิลปิน แต่งานนี้หมายเหตุตัวโต ๆ ว่าไม่ศิลปะนูโวแต่เป็นศิลปะที่คัดสรรแล้วจากศิลปินที่น่าสนใจ
แน่นอนว่าห้องนี้มันไม่ได้ฉายมาเป็นภาพแบน ๆ เพราะเราเดินไปเดินมาในภาพได้ ก้มส่องดูพื้น ดูนอกหน้าต่างก็ได้ แถมยังมีคาแรกเตอร์ศิลปินเคลื่อนไหวให้เราได้เดินเข้าไปกระทบไหล่อีกด้วย
ใครที่สนใจอยากไปสัมผัสอาร์ตระดับเทพของศิลปินตำนานที่เป็นมาสเตอร์พีซก่อนใคร การเริ่มต้นปีด้วยนิทรรศการ SOMETHING, NOUVEAU ในไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นประสบการณ์ใหม่ในการเสพศิลปะที่คุณคาดไม่ถึง งานจัดแสดงตั้งระหว่างวันที่ 15 ม.ค. – 16 เม.ย 2020 เวลา 10:00 – 20:00 ณ MODA Gallery ชั้น 2 ศูนย์การค้า River City Bangkok
รายละเอียดค่าเข้าชมสถานที่แบ่งราคาจำหน่ายบัตรตามบริเวณเข้าชม ดังนี้
MODA Gallery และ MODA Space
MODA VR Studio
หมายเหตุ: เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่สามารถใช้อุปกรณ์ VR ได้แต่มีในส่วน Interactive Experience ให้เล่นในราคา 100 บาท
PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri