

Life
วิ่งเพื่อสุขภาพ (คนอื่น): ตูน-อาทิวราห์ ก้าวเพื่อแลกสุขภาพตัวเองกับสุขภาพคนทั้งประเทศ
By: unlockmen November 6, 2017 81366
วินาทีที่ UNLOCKMEN กำลังตั้งใจเขียนบทความนี้อยู่นั้นมีผู้ชายคนหนึ่งกำลังวิ่ง เขาวิ่งมาเป็นระยะทาง 204.30 กิโลเมตรแล้ว และการวิ่งของเขาไม่ได้เป็นการวิ่งเพื่อตัวเอง แต่การวิ่งของเขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มียอดเงินบริจาค 84 ล้านบาทแล้ว
‘ตูน บอดี้สแลม’ หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย คือผู้ชายที่กำลังวิ่งอย่างไม่หยุดยั้งคนนั้นที่เราพูดถึง ผู้ชายที่กล้าที่จะก้าว ไม่ใช่เพียงแค่ก้าววิ่งจากเบตงไปแม่สาย แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการทำเพื่อคนจำนวนมาก ก้าวของการไม่ได้นึกถึงตัวเอง ก้าวแห่งความเท่ที่ UNLOCKMEN ต้องขอปรบมือให้
เช้าวันที่ลมหนาวพัดเข้ามาเยี่ยมเยือนกรุงเทพฯ ให้ใครหลายคนอยากซุกตัวอยู่ในผ้าห่ม ก้าวทีละก้าวของตูนก็กำลังมุ่งไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง สวนทางกับยอดบริจาคที่พุ่งไปที่จำนวน 84 ล้านอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 6 วันเต็ม ซึ่งที่ถือเป็นเงินจำนวนที่เยอะมาก เมื่อเทียบกับเวลาที่ไม่ได้มากตาม แต่ไม่ใช่การวิ่งอย่างเดียวที่ตูนเสียสละแต่เป็นสิ่งที่ประเมิณค่าไม่ได้อย่างสุขภาพตัวเองด้วย
ตูน-อาทิวราห์ เริ่มออกวิ่งด้วยเหตุผลเหมือนคนทั่วไปคือวิ่งเพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจของตัวเอง จนกระทั่งความฝันเริ่มยิ่งใหญ่กว่าการวิ่งเพื่อสุขภาพ และความฝันของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อสุขภาพตัวเองอีกต่อไปแต่เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพคนอื่น ที่จะได้ใช้ประโยชน์จาก 11 โรงพยาบาล แต่ทุกสิ่งย่อมมีการแลกเปลี่ยนเมื่อเขาตัดสินใจวิ่งเพื่อสุขภาพคนอื่น อะไรในสุขภาพตัวเองที่เขาต้องแลกไปบ้าง UNLOCKMEN อยากชวนให้ซึมซับความยิ่งใหญ่ของผู้ชายคนนี้ไปพร้อม ๆ กัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Kidney Diseases เปิดเผยว่าแม้ปกติร่างกายของเราจะสามารถฟื้นตัวจากความเสียหายเพราะการวิ่งมาราธอนภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่การวิ่งมาราธอนก็ยังสร้างผลกระทบในระยะยาวอยู่ดี หากเราย้อนกลับมาในกรณีตูน-อาทิวราห์ ที่วิ่งแทบจะทุกวัน วิ่ง 4 วันพัก 1 วัน (ตามตารางที่จัดไว้) จึงแทบไม่มีเวลาให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองเลย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าวิ่งไม่ได้ตามเป้าก็ต้องออกมาวิ่งในวันที่เป็นวันพักด้วย และการวิ่งของเขายังนี่จึงเป็นความเสียสละที่หาได้น้อยคนนักที่จะทำ
นักวิจัยจาก Yale University ทำการทดลองเรื่องการวิ่งมาราธอนโดยใช้กลุ่มตัวอย่างจากคนที่ร่วมวิ่งใน 2015 Hartford Maratho ซึ่งนักวิจัยเก็บกลุ่มตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการวิ่งมาราธอนเพื่อตรวจภาวะการบาดเจ็บที่ไต ผลการวิจัยออกมาว่า ร้อยละ 82 ของนักวิ่งระยะไกลมีภาวะอาการการบาดเจ็บที่ไตขั้นที่ 1 หรือภาวะที่ไตไม่สามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้
การบาดเจ็บของไตเกิดขึ้นเพราะเป็นกลไกตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายระหว่างการวิ่ง รวมถึงอุณหภูมิของร่างกายที่เพิ่มขึ้น การสูญเสียน้ำ รวมถึงการลดลงของการไหลเวียนของเลือดไปยังไต โดยการฟื้นฟูไตจากอาการบาดเจ็บต้องใช้เวลา 2 วันเป็นอย่างน้อย UNLOCKMEN เห็นการวิ่งที่ยิ่งกว่าการวิ่งมาราธอนของตูน-อาทิวราห์และความอดทนแล้วก็ต้องนับถือใจจริง ๆ
ถึงแม้ใจของตูน-อาทิวราห์จะยิ่งใหญ่ แต่การทำงานของหัวใจเป็นอีกเรื่อง หากติดตามการวิ่งของเขามาโดยตลอดจะเห็นว่าระหว่างทางมีคนตามไปให้กำลังใจเขาเป็นจำนวนมาก เขาก็มักจะหยุดทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง หยุดยกมือไหว้ หยุดให้ถ่ายรูป ซึ่งการวิ่ง ๆ มาแล้วต้องมาหยุดไม่เป็นผลดีต่อร่างกายคนที่ต้องวิ่งระยะไกล ๆ เลย
เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ตูนวิ่งอยู่นั้นเลือดจะสูบฉีดไปยังกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งเมื่อหยุดวิ่งทันที แต่หัวใจไม่ได้ผ่านการค่อย ๆ ผ่อนแรง หัวใจยังทำงานหนัก ยังคงเต้นแรงอยู่นั้น เลือดที่ส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อตอนที่วิ่งอย่างต่อเนื่อง ก็จะค้างอยู่ตามร่างกาย และไม่ไหลเวียนกลับมาที่หัวใจ ผลก็คือเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอและอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
การวิ่งเพื่อสุขภาพของ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย จึงไม่ใช่การวิ่งเพื่อสุขภาพตนเองอีกต่อไป แต่เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพของคนอื่น โดยยอมแลกกับสุขภาพของตนเองซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายสูงมากทีเดียว แต่เพื่อยอดบริจาค 700 ล้านที่ตั้งเป้าไว้เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่ง ผู้ชายคนนี้ก็ทำโดยไม่มีข้อกังขา คงจริงอย่างที่เขาเคยพูดไว้ว่า “…เราอยากที่จะ ก้าว ไปให้ถึงที่สุด
เท่าที่พลังของเราและทุกๆ คนจะมี เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่า…แค่ก้าวเล็กๆ จากทุกคน เมื่อรวมกันแล้ว…มันจะสามารถกลายเป็น“ก้าวยาวๆ”ขึ้นมาได้จริงๆ…” อย่าลืมว่าเราก็สามารถทำให้ก้าวแต่ละก้าวและสุขภาพเขาไม่เสียไปอย่างสูญเปล่าด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก้าวคนละก้าวฯ นี้ได้ ผ่านการบริจาคและส่งใจแมน ๆ ไปช่วยผู้ชายแมน ๆ คนนี้ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย หรือดูรายละเอียดการบริจาคเพิ่มเติมได้ที่ ก้าวคนละก้าว