

DESIGN
#ArtistRoom : MR.KREME สัตว์ประหลาด ของเล่น และการเป็นผู้สร้างศิลปะที่เป็นตัวเอง 100%
By: GEESUCH July 2, 2024 231675
ถ้าจะเปรียบการทำงานศิลปะเป็นเหมือนการสร้าง ‘เรา’ อีกคนขึ้นมาเพื่อคุยให้เข้าใจความเป็นตัวเอง นั่นก็ไม่ผิด เพราะสำหรับ ‘แอนดี้-วรกันต์ จงธนพิพัฒน์’ งานศิลปะทำให้เขาได้คุยกับ ‘แอนดี้’ ในแต่ละช่วงวัยอย่างจริงจังอีกครั้ง นอกจากจะเพื่อเข้าใจว่าทำไมเราถึงเป็นคนอย่างที่เป็น ก็เพื่อได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วเราอยากเป็นตัวเองไปเพื่ออะไรกันแน่
คอลัมน์ Artist Room ตอนล่าสุด UNLOCKMEN พาไปเปิดห้องทำงานของศิลปิน Street Art ที่หลาย ๆ คนรู้จักเขาใน Aka. MR.KREME และจดจำคาแรกเตอร์ดีไซน์จาก Art Toy ที่ชื่อ ROSADO หรือ MUSHKIN ปีศาจตัวขนปุกปุยในโลกแฟนตาซีที่ชื่อว่า KOOKYWORLD !
บทสนทนานี้เราพาย้อนกลับไปถึงวันแรกที่แอนดี้เริ่มรักงานศิลปะ ตั้งแต่ตอนประถมเริ่มวาดรูปบนสมุดเรียนแล้วเพื่อนในห้องวิจารณ์งาน ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งเติบโตมากับอากงที่เป็นศิลปินสอนทำงานศิลปะแต่บอกว่าอย่าเป็นศิลปิน ! เลือกเรียน INDUSTRIAL DESIGN เพราะต้องการสร้างกรอบให้กับการทำงานศิลปะของตัวเอง และเหล่าภาพวาดการ์ตูนใต้ดินจาก Lowbrow Art ที่ประกอบร่างเป็นงานของ MR.KREME
UNLOCKMEN : แอนดี้เริ่มชอบศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่
เราเป็นเด็กหลังห้องที่ชอบวาดรูป หนังสือเรียนมันจะมี Text ชื่อโรงเรียนอยู่ที่หน้าปกใช่มั้ย เราก็จะแต่งเติมตลอด แล้วตอนนั้นก็จะเสพพวกการ์ตูนเยอะด้วย เพราะว่าอากงของเราที่อยู่ฮ่องกงเขาจะชอบส่งซีดีการ์ตูนมาให้ เราก็วาดรูปตามการ์ตูนยุคเก่าจากซีดีที่ได้ดู
UNLOCKMEN : การ์ตูนยุคเก่า ?
เป็นแผ่นซีดีการ์ตูนที่ไม่มีคนซื้อแล้วเหลือมาจากการขายของร้านน้าของเราที่ฮ่องกง ในแผ่นนึงจะมีหลายเรื่องมาก ๆ แต่ว่ามันเป็นการ์ตูนในยุค 50s ก่อน Disney
UNLOCKMEN : การ์ตูนและการตกแต่งหนังสือเรียน จุดไหนที่ทำให้แอนดี้คลิกจริงจังกับศิลปะ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอากงก็เคยเป็นศิลปินด้วย ถึงเขาจะคอยพูดกับเราตลอดว่า “เอามาทำเป็นอาชีพไม่ได้นะ” แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็สอนวาดรูป ทำให้เหมือนตอนนั้น Mindset ของเรามันก็ Fixed ไปในระดับหนึ่งว่า “คงไม่ใช่อาชีพ” แต่เพราะว่าสิ่งนี้มันคือสิ่งที่เราสนใจจริง ๆ แทนที่จะเล่นเกมเหมือนเด็กคนอื่น เราก็เอาเวลาไปวาดรูป อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเวลาที่มีคนมาชอบรูปของเราในตอนนั้น มันก็ยิ่งผลักดันให้ตัวเองอยากวาดขึ้นเรื่อย ๆ จากตอนนั้นเราก็ไม่ได้หยุดวาดเลย
ยิ่งถ้าเราวาดอะไรไม่รู้เรื่องแล้วคนที่ดูเอาไปคิดต่อ มันทำให้รู้สึกว่า ภาพนั้นมีอะไรบางอย่างไม่ใช่แค่เราที่ค้นหามันในตอนที่วาด คนเสพเองก็มีมุมมองในแบบของเขา มันก็ทำให้ยิ่งสนุกขึ้น
UNLOCKMEN : พูดได้มั้ยว่างานศิลปะในตอนเด็กของแอนดี้มันไม่ใช่เพื่อ Express ตัวเองเป็นหลัก แต่เป็นการสร้างศิลปะเพื่อคนอื่นด้วย
เราว่ามันเพื่อทั้งสองอย่างนะ เริ่มจากสารที่เราอยากจะวาดก่อน พอมีคนอื่นมาพูดมันก็เหมือนมีคนให้โจทย์ สนุกว่ะ ! ไหนลองวาดสิ่งที่เขาพูดดิ เราจะทำได้แบบที่เขาต้องการรึเปล่า
UNLOCKMEN : แล้วถ้าตัดภาพมาในการทำงานปัจจุบัน วันที่แอนดี้เป็น Artist ยังคงทำงานด้วย Mindset แบบนี้อยู่รึเปล่า ทั้งเพื่อ Express ตัวเอง และเพื่อให้คนอื่นมีปฏิสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับงานของเรา
ถ้าเป็นงาน Commercial บางทีมันก็ทำเพื่อคนอื่นในบางพาร์ท สมมติโจทย์ลูกค้าเป็น Halloween เราก็จะเลือกคาแรคเตอร์หรือสีที่เราชอบ เป็น Halloween ในแบบของเราเอง ซึ่งก็จะมีความเป็นศิลปะแบบปี 80s
แต่ถ้าเป็นในพาร์ท Painting ของตัวเองเลย มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบเฉย ๆ นี่แหละ อยาก Express เรื่องไหน มันเป็นเรื่องส่วนตัวเลย ปัจจุบันมันถึงเลเวลที่บางพาร์ทเราก็ไม่ได้แคร์ที่จะต้องเล่าให้คนอื่นฟังแล้ว คล้าย ๆ เหมือนตอนเด็กตรงที่ว่าเราก็วาดออกมาแหละ จากนั้นก็แล้วแต่ว่าคนจะคิดอะไร ซึ่งเราแฮปปี้กับการฟังคนอื่นตีความมากกว่าด้วยซ้ำนะ
UNLOCKMEN : MR.KREME ชื่อที่ได้มาตอนอายุ 13 ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
มันเริ่มจากการที่เราเห็นกราฟิตี้บนกำแพงตอนเด็กเหมือนกัน แล้วก็แยกไม่ออกด้วยนะว่า Street Art กับ Graffiti มันต่างกันยังไง แค่เห็นแล้วก็รู้สึกว่า “เห้ย ! แม่งเจ๋งหวะ” มีงานอาร์ตอยู่ข้างนอกที่ไม่ต้องเข้าแกลเลอรีก็ได้ด้วย เป็นศิลปะรูปแบบที่เราไม่ต้องพยายามค้นหาเพราะว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าอยากมีชื่อของตัวเองบนกำแพงบ้าง เริ่มคิดว่าจะใช้ชื่ออะไรดี และตอนนั้นรู้สึกว่าสิ่งที่มันอยู่บนผนังในแง่ของ Styling เหมือนคนทำงานเหล่านี้เขาจะเลือกใช้ Way เท่หมดเลย เราก็เลยอยากเป็นอะไรที่มันกวน ๆ อยู่บนกำแพง ก็คิดชื่อ MR. KREME เพราะเราชอบไอติมอยู่แล้ว เมืองไทยแม่งร้อนอะ ถ้ามีไอติมละลายน่าจะดี
UNLOCKMEN : แอนดี้มีความคิดเลยรึเปล่าว่าอยากพ่นบ้าง โดยที่ไม่ได้อยากทำ Letter (ตัวอักษร) เหมือนหลาย ๆ คน แต่อยากพ่นเป็น Character Design
ด้วยความที่เรายังไม่รู้ว่าศิลปะมันมี Genre อะไรบ้าง แต่แค่รู้สึกว่าด้วยความที่ตัวเองวาดคาแรคเตอร์อยู่แล้ว ก็อยากจะเอาคาแรคเตอร์ของตัวเองออกไปในที่สาธารณะ อยากที่จะลองใช้สเปรย์ลองพ่นดูว่าจะออกมาเป็นตัวได้มั้ย จนความอยากตรงนั้นก็ทำให้เราไปลองพ่นครั้งแรกในหมู่บ้าน ตอนนั้นน่าจะอายุ 13 ไปซื้อกระป๋องสีสเปรย์ Leyland จากร้านก่อสร้าง แล้วซื้อมาสีเดียวด้วยกะเอาเต็มที่เลย
ซึ่งพ่อของเราเป็นกรรมการหมู่บ้านนั้น ในไลน์กลุ่มหมู่บ้านเขาก็พิมพ์คุยกันเลย “มีคนมาพ่นอะไรบนกำแพงไม่รู้เหมือนขี้” เราก็เลยเดินไปบอกพ่อว่าผมเอง โดนด่าเละ 555
ความเป็นเด็กทำให้เราไม่รู้ว่าตรงไหนควรไม่ควรพ่น จากเหตุการณ์นั้นส่งผลให้ตัวเองทำทุกอย่างช้าลง ไม่กล้าไปพ่นมั่ว ๆ การไม่มีทีม ไม่มีคนรู้จักพ่นด้วยกัน ก็ยิ่งไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์คืออะไร ทำยังไงถึงจะพ่นได้สวย มีเทคนิคอะไรบ้าง สเปรย์ใช้ยังไง จนกระทั่งเราเจอกับ Temporarywest ก็ถึงจะรู้เรื่องเหล่านี้
เราพูดได้เลยว่าตัวเองพ่นก่อนที่จะเข้าใจ Culture ด้วยซ้ำ เริ่มไปพ่นเพราะว่ามีคนไปพ่นด้วย ในตอนแรกที่จอยกลุ่มเราก็ไม่ได้เข้าใจว่า Culture ของ Street Art มีกฎอะไรบ้าง แบบไหนถึงเรียกว่าดี แต่มันก็ค่อย ๆ โตไปด้วยกันกับทีม รีเสิร์ชกันจนรู้ แล้วจริง ๆ สิ่งที่เรารีเสิร์ชมันจำเป็นที่จะต้องเอามา Adapt กับ Street Art ในไทยด้วยรึเปล่า บางเรื่องเราก็ Adopt เขามา บางเรื่องเราก็อาจจะคิดใหม่เปลี่ยนมุมมองในบางเรื่อง
UNLOCKMEN : แอนดี้เจอกับ Temporarywest ได้ยังไง
ในกลุ่มจะมีคนนึงที่ชื่อ เฟม (Y?) เขาเป็นคนที่อยู่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฟมคิดโปรเจกต์นึงเพื่อไปพ่นที่บางสะพาน โดยตั้งกลุ่มชื่อ Temporarywest คอนเซปต์ในทีแรกคือการเปลี่ยนสมาชิกในกลุ่มไปเรื่อย ๆ พ่นรอบแรกไป 10 คน กลับมาก็อาจจะเป็น 10 คนใหม่ แต่กลายเป็นว่าตอนไปรอบแรกพอเข้ารอบที่สองก็เริ่มสนิทกันละ มันก็เลยไม่ได้ชั่วคราว กลายเป็นกลุ่มจริง ๆ จากโปรเจกต์บางสะพาน พวกเราก็เริ่มเรียนรู้วิธีการหาผนัง ขอผนัง แล้วคราวนี้เราก็เริ่มพ่นกันเยอะขึ้น
UNLOCKMEN : การรวมกลุ่มกับ Temporarywest มันเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด หรือวิธีการทำงานศิลปะของแอนดี้ยังไงบ้าง
ที่ชัดมากคือเรามีสังคมแยกกันชัดเจน Art Toy / Street / Painting แต่ละกลุ่มก็จะมี Mindset ที่ไม่เหมือนกันเลย พอพูดถึงฝั่ง Street ก็คือเข้มข้น ทุกคน Hype มากกับการพ่น บางคนอาจจะพ่นมากกว่า Paint หรือมากกว่าวาดด้วยซ้ำ
แล้ว Temporarywest เด็กลาดกระบังเยอะ 555 ก็ซึมซับความคิดของพวกเขา ด้วยความที่เราจบอินเตอร์มา บางอย่างอาจจะต้อง Adapt ไม่ใช่ในเชิงสังคมนะ กลุ่มนี้เข้ามามันก็ Flow ในระดับนึงอยู่แล้ว มันเกิดการแลกเปลี่ยนความคิด เด็กลาดกระบังก็พ่นเยอะ มันทำให้รู้ว่า Culture ในฝั่ง Street Art ของไทยเป็นยังไง
การอยู่ T-West ก็จะได้เรื่องของ Skill ด้านพ่นที่เราได้ลอง Medium (เครื่องมือ) ใหม่ อีกอย่างนึงที่พิเศษก็คือมันมีเรื่องของ Culture (วัฒนธรรม) และตอนนี้เรามองว่าฝั่ง Street มันก็แข็งแรงระดับหนึ่ง คนพ่นเยอะ เริ่มเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น ซึ่งมันก็ทำให้ Community ยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเรื่อง Styling ก็มีผลนะ เราเองก็อยากทำ Styling แบบนี้อยู่แล้ว พอเราไปอยู่กับคนที่ทำ Styling เยอะ ๆ ก็ยิ่งทำให้ Styling ของเราพัฒนา
UNLOCKMEN : การเอาตัวเข้าไปอยู่ในสังคม Street Art จากแต่ก่อนที่ทำคนเดียว มันมีส่วนกระทบกับงานของแอนดี้ด้วยมั้ย
มีส่วน และเรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะมันไม่ได้เป็นไปในรูปแบบถึงขนาดว่า ตอนแรกเราวาดอย่างนึง พอได้ไปรู้จักอีกคนนึงจนโดนตบไปในทิศทางที่เขว เราไม่ได้โดนกลืนตัวตน เรามองว่ายิ่งถ้าวาดอะไรที่เป็นตัวเรามาก ๆ อยู่แล้ว เราก็แค่ค่อย ๆ โดนหล่อหลอมไปเป็นตัวตนนั้น ๆ เหมือนไดอารี่ เราก็ต้องเขียนในสิ่งที่เราเจอ เราก็วาดในสิ่งที่เราเป็น มันไม่ได้ล้มอีโก้เราเลย
UNLOCKMEN : หลังจากตอนเด็กที่ขีดเขียนและพ่นด้วยตัวเอง พอเข้ามหาวิทยาลัยอยากรู้ว่าทำไมแอนดี้เลือกเรียน Industrial Design มีเหตุผลสำคัญอะไร
ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนชอบ Object ของเล่น ชอบจับ แงะ บางทีก็ไขออกมาเลย ทำให้เรารู้ตัวว่าความเป็นตัวเองของเรามันคือการที่ “เราไม่ค่อยชอบของที่โดนคนอื่นออกแบบมาแล้ว” อยากเป็นผู้สร้างมากกว่า จะชอบมีความเห็นในใจมาตลอดกับสิ่งที่ตัวเองชอบในตอนเด็ก ๆ “ถ้าเป็นหนังเรื่องนี้นะ ฉันจะทำอย่างงี้” ตัวเองก็ไม่ได้ดีหรอกนะ 555 แต่เรามีความเห็น สิ่งนี้มันหล่อหลอมเราในตอนที่โตขึ้นด้วย อีกอย่างคือเพราะอากงชอบบอกว่า “อย่าเป็นศิลปินเลย” เราก็เลยคิดว่าอย่างน้อยขอให้ได้วาดรูปนิดนึงก็ยังดี ก็ไปเรียน Industrial Design ละกัน
UNLOCKMEN : Industrial Design คืออะไร ?
Industrial Design เป็นคณะออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะเลือก Genre ไหน เฟอร์นิเจอร์ หรือ Lifestyle Product เช่น ลำโพง ออกแบบรถก็นับเป็น Industrial Design เหมือนกัน
แต่เราเลือกสายออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพราะฉะนั้นการเรียนมันก็จะเป็นเรื่องของ Economics และ Human Factor นั่งยังไงให้สบาย โต๊ะต้องความสูงเท่าไหร่ ต้องรีเสิร์ชแบรนด์อย่าง Herman Miller
UNLOCKMEN : แล้ว Industrial Design เป็นสายการเรียนศิลปะที่แอนดี้สนใจอยู่แล้วด้วยมั้ยเพราะว่าเลือกเรียนต่อถึงปริญาโทเลย
ใจเราคือชอบเลยนะ เพราะในการที่เราเริ่มวาดรูปตั้งแต่แรกมันไม่เคยมีเรื่องของเหตุและผลเข้ามาเป็นข้อจำกัด แล้วพอในวันนึงการเรียน ID มันมีเรื่องนี้เข้ามา แทนที่ข้อจำกัดจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไฟหมดในการวาดรูป เรากลับรู้สึกว่าบางทีมีข้อจำกัดมันก็สนุกดีอะ ทำยังไงให้เรายังสามารถดีไซน์สิ่งของในหน้าตาที่เราอยากดีไซน์แต่ต้องมีฟังก์ชันด้วย Industrial Design ทำให้เราเข้าใจหลักการหลาย ๆ อย่างมากขึ้น แล้วก็ชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เรามองสิ่งเหล่านั้นด้วยความมีเหตุและผล
UNLOCKMEN : ถ้าเราจะนิยามเอกลักษณ์ของงาน MR. KREME มันคืองานแบบไหน หรือว่าแอนดี้เรียกมันว่าอะไร
ในตอนแรก ๆ ที่ค้นหาว่าอยากไปใน Way ไหน เราก็กลับไปรีเสิร์ชตัวเอง กลับไปดูหนังที่ชอบ / สื่อที่ชอบเสพ / Styling ของอาร์ตในแบบที่ตัวเองชอบ หาจนเจอว่าสิ่งเหล่านี้เรียกว่า Pop Surrealism (1960) แล้วข้างใต้ศิลปะแนวนี้มันก็มี Genre ที่เรียกว่า Lowbrow อยู่ ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราในสายนี้ก็จะมี Todd Schorr / James Jean / Art Spiegleman
Lowbrow ก็จะเป็น Genre ศิลปะที่คนอาจจะไม่ได้ให้ความยอมรับขนาดนั้น เวลาคนมองงานจะมีความรู้สึกแบบ ‘Lowbrow’ ที่หมายถึงอาการเวลาที่เราเอาคิ้วลง แต่ว่า Lowbrow ก็อาจจะแปลว่า ‘คนชนชั้นกลางถึงต่ำ’ ด้วย เป็นสื่อที่คนพวกนั้นเสพ แล้วเอางานจากสื่อเหล่านั้นมาทำงานของตัวเองในการ inspired อาจจะมีเสียดสีในบางที รูปแบบมีทั้ง Painting / Sculpture
แต่ส่วนมากจะ influenced มาจากอเมริกาซะส่วนใหญ่ ศิลปินในแนวนี้จะมี Robert Williams แล้วก็นิตยสารที่เกี่ยวกับ Lowbrow อย่าง Juxtapoz ซึ่งตอนแรกมันก็จะ Underground สุด ๆ ศิลปินที่เมื่อก่อนไม่ดังสมัยนี้ก็ดังหมดแล้ว
Lowbrow ในสมัยปัจจุบันมันก็กว้างขึ้นนะ แต่ในสมัยก่อนที่ Lowbrow มักจะเป็นการ์ตูนเพราะว่าสื่อที่เสพของคนยุคนั้นมันก็จำกัดเท่านั้น แล้วพอยุคสมัยมันจบไปแล้ว เขาก็อาจจะมีการตีความที่มากขึ้น เพราะเล่าเรื่องการ์ตูนมาเยอะแล้ว อาจจะ Move On ไปเล่น Sub-Culture
พออ่าน Description ในประวัติของศิลปิน Lowbrow เราก็เห้ย ! คนพวกนี้มันชอบหนังสัตว์ประหลาดเก่า ๆ เกรดบีเหมือนเราเลยว่ะ ชอบความปี 1980s ในช่วงหลังสงครามแล้วผู้คนแฮปปี้กับทุกอย่าง สีมันฉูดฉาด ทุกอย่างเหมือนอยู่ในปาร์ตี้ตลอดเวลา เราถึงรู้ว่ามันมีคนที่ไม่ได้แค่ทำงานออกมาแล้วสื่อสารในแบบนี้ แต่มันเกิดจากความชอบของพวกเขาจริง ๆ ก็เลยทำงานแบบนั้นออกมา
ถ้าหนังที่มีผลต่องานของเราก็มีหลายเรื่อง Star Trek จะเริ่มแตะ 90s แต่ก่อนหน้านั้นมันจะมีพวกหนังเกรดบีที่เป็นเอฟเฟกต์เก่า ๆ คือใช้เอฟเฟกต์จริง ๆ ที่แต่งหน้าแล้วฉีกหน้าตัวเอง Critters (1986) / Labyrinth (1986) เราก็จะชอบ Way นั้น
หรือในวงการเฟอร์นิเจอร์ที่มีผลต่องานเรา บางทีการออกแบบเก้าอี้ตัวนึงออกมาแล้วนั่งโคตรไม่สบายเลย แต่เวลามองแล้วคนรู้ว่า อ๋อ วางเท้าตรงนี้แต่ว่าพอนั่งแล้วมันไม่เวิร์คอะ เราชอบความขัดตรงนั้น มันจะมีโปรดักส์ชื่อ Juicy Salif ออกแบบโดย Philippe Starck เป็นที่เอาไว้คั้นน้ำส้มที่ก็เป็นอะไรแบบนั้น ความ 80s คือกูคิดมาแล้วว่ามันน่าจะได้แต่มันไม่ได้ เป็นช่วงเวลาของการ Experiment สิ่งเหล่านี้มีผลต่องานของเรา
UNLOCKMEN : ไม่ใช่เพราะว่ากระแส Art Toy แต่เราเข้าใจว่าแอนดี้หลงใหลในของเล่นตั้งแต่เด็กแล้ว และเรารีเสิร์ชเจอมาว่าชื่อของ ‘แอนดี้’ ตั้งด้วยตัวเองตามตัวละครใน Toy Story ด้วย
ตอนแรกเราชื่อว่า ‘จู่จู๋’ แล้วโดนล้อตอนอนุบาล ก็เลยบอกแม่ว่าขอเปลี่ยนเป็น ‘แอนดี้’ ละกัน เป็นเจ้าของของเล่น เพราะในการ์ตูนมันจะมีอีกคนนึงทีชื่อ ‘ซิด’ ที่ชอบทำลายของเล่น แต่เรารักของเล่น ชอบของเล่นตั้งแต่เด็กแล้ว แม่เคยถามว่าถ้าไม่กินข้าวแล้วเก็บเงินไว้ซื้อของเล่นเอามั้ย “เอา” ไม่กินข้าวก็ได้ 555
UNLOCKMEN : ถ้างั้นสำหรับคนที่รักของเล่นอยู่แล้ว สำหรับแอนดี้ Art Toy คืออะไร
เรามองว่า Art Toy มาในรูปแบบสามมิติ คนสามารถจับและรู้สึกได้ แล้วคนส่วนใหญ่ชอบเอา Art Toy ออกไปถ่ายรูปข้างนอก เราเองก็ชอบเวลาที่ลูกค้าของเราเขาทำเหมือน Monster ของเราเป็นสัตว์เลี้ยงจริง ๆ มันก็บรรลุเป้าหมายเดียวกับที่เราตั้งใจสร้างงานของตัวเองให้มีความเป็น Realistic นิดนึง เพื่อทำให้เขาเชื่อ เรามองว่านั่นคือฟังก์ชันหลักของ Art Toy เลยนะ
อีกอย่างนึงก็คือ Art Toy มันก็เป็นเหมือน Toy Underground ที่มีความ Personal กับคนทำมาก ๆ นี่คือสิ่งที่ฉันอยากจะสื่อสาร ถ้ามีคน Connect กับงานนี้ด้วย มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกอิ่ม
UNLOCKMEN : แต่ Art Toy ดูเป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อเม็ดเงินและความ Commercial มาก ๆ แล้วสำหรับ Monster ใน KOOKYWORLD ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์นี้ด้วยเหมือนกันรึเปล่า
ในภาพรวมก็คงจะห้ามไม่ได้ ด้วยความที่สิ่งนี้มันเริ่มจาก Culture บางอย่าง แต่สุดท้ายแล้วผู้คนมาป๊ะกันตรง Pop Culture พอดี กลายเป็นว่า Art Toy ส่วนใหญ่มันก็จะป๊อปหมด ดูแล้วเข้าใจง่าย แต่เรามองว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีนะ มันทำให้คนที่ตอนแรกไม่ได้สนใจสิ่งนี้เข้ามาได้ง่าย สามารถเสพ Art Toy ที่ Pop ที่สุดแล้วเข้าใจมันได้เลย จากนั้นค่อย ๆ พัฒนาเป็น Art Toy ที่อาจจะเป็นสายลึกขึ้นด้วยการที่เขาแค่ไปรีเสิร์ชต่อ แค่นี้เราก็มองมันเป็นการ Educate คนแล้ว
UNLOCKMEN : เป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับ Art Toy ที่ทำมาเพื่อ Commercial ณ เวลานี้
ใช่ แต่อีกหน่อยมันอาจจะแตกไลน์ไปเป็นอะไรที่ลึกขึ้น ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็น wave แรก โดยเฉพาะที่ไทย
UNLOCKMEN : ในยุคที่ Art Toy มีมูลค่าสูงมาก ๆ แอนดี้มองว่าคุณค่าของสิ่งนี้คืออะไร
มูลค่าที่สูงอาจเป็นเพราะด้วยระบบที่ถูกสร้างขึ้น เพราะว่า Art Toy รากฐานจริง ๆ มันสร้างจากตัวศิลปินเอง ก็เลยผลิตได้ไม่เยอะ แล้วพอเอาเรื่องการตลาดมาใส่ Supply & Demand พอของมันน้อยแล้วลูกค้ามันเยอะ ก็ไม่แปลกที่ราคามันจะขึ้น มันก็เป็นหนึ่งในกลไกธรรมชาติ จะโอเคมั้ยมันก็แล้วแต่คนเลย
บางคนอาจจะเข้ามาเพราะว่าอยากมาลงทุน บางคนเข้ามาเพราะชอบจริง ๆ มันก็อยู่ที่ว่าเราต้อง Value ใครมากว่า เรามองว่าศิลปะมันไม่ใช่แค่เรื่องของคนทำ การวาดที่เก่ง พ่นเก่ง หรือทาสีเก่งจะเท่ากับศิลปะเท่านั้น มันไม่ใช่ บางคนที่มีรสนิยมการฟังที่ดี มันก็ถือว่าเป็นคนที่มีศิลปะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนเสพก็สำคัญเหมือนกัน มันก็ต้องเป็นคนกลุ่มที่มีความสนใจเรื่องศิลปะจริง ๆ มาเสพมันถึงจะดี
UNLOCKMEN : งั้นถ้าเราถามถึง Value ของ Art Toy ในคอลเลกชั่น KOOKYWORLD ของ MR.KREME ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามูลค่ามันไปไกลแล้ว แอนดี้คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่คนให้ค่ากับงานตัวเองมากกว่าของศิลปินหลาย ๆ คน
เราอาจจะโชคดีที่ในช่วงแรกที่เริ่มทำได้ไปอยู่กับค่าย การตลาดจากค่ายมันก็ทำให้คนเห็นแหละ ยอมรับในจุดนี้อยู่แล้ว แต่ว่าอีกพาร์ทนึง คิดว่าที่คนเห็นเยอะอาจจะเป็นเพราะว่าเราเป็นคนที่ไม่อยากหยุดใน Medium เดียว เดี๋ยวก็พ่น เดี๋ยวก็ Paint เดี๋ยวก็ทำงานวิดีโอ ซึ่งในแต่ละ Genre มันก็จะมีคนที่สนใจสิ่งนั้น ๆ อยู่แล้ว มันก็ยิ่งเพิ่มให้คนได้เห็นกว้างขึ้น
UNLOCKMEN : เกริ่นถึง KOOKYWORLD ไปแล้วนิดหน่อย คราวนี้มาเข้าเรื่องกันดีกว่า แต่แรกสุดเราอยากรู้ว่าทำไมแอนดี้เลือกสร้าง Character Design มาโดยตลอดตั้งแต่ที่เริ่มทำศิลปะตอนเด็กด้วยซ้ำ ต้องการใช้เครื่องมือนี้ Express อะไร
จริง ๆ ไม่รู้เหมือนกันนะ ตั้งแต่ที่เป็นเด็กก็รู้สึกว่าตัวเองชอบวาดคาแรคเตอร์อยู่แล้ว เวลาที่ดูการ์ตูนจุดโฟกัสหลักเราคือคาแรคเตอร์เลย ก็อาจจะได้อิทธิพลมาจากตรงนั้น เราก็เลยเริ่มอยากทำคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองบ้าง เหตุผลที่วาดออกมาเป็น Monster เพราะรู้สึกว่าเวลาวาดมันไม่มีข้อจำกัดดี เราจะวาดเป็นสี่ตา สองตา ขาเยอะหน่อย ขนเยอะหน่อย ตัวผอมหรือตัวอ้วน มันได้หมดเลย
UNLOCKMEN : โลกของ KOOKYWORLD ที่ MR.KREME สร้างขึ้นคืออะไร
KOOKYWORLD เป็นโลกใบหนึ่งที่เราทำแล้วเกิดมีคนสนใจขึ้นมา (ซึ่งเราก็ไม่เคยทำโลกอื่นนะ) เราเริ่มจากสร้าง Rosado ปีศาจตัวสีชมพูปลูกเห็ด เกิดมาแล้วมีเป้าหมายว่ากูต้องปลูกเห็ด เป็นเหมือนสัญชาติญาณของมัน จากนั้นเราก็เริ่มคิดต่อว่าต้องมีตัวที่มาแย่งกินเห็ด ก็มี Mushkin ปีศาจที่ลงมาจากภูเขาอากาศเย็น ๆ มันหาอะไรกินไม่ได้ก็เลยกินเห็ดของ Rosado เกิดเมาแล้วก็ชอบขึ้นมา
UNLOCKMEN : เหมือนมี Character Design มาก่อน World Setting มาทีหลังมั้ยนะ
ใช่ เราสร้างมาตัวแรกเราก็แค่คิดว่านี่คือคอนเซปต์ แล้วก็นำพาต่อกันไปเรื่อย ชื่อของ Mushkin มีที่มาจาก Mushroom (Mush + กิน) เพราะมันชอบกินเห็ด จากนั้นเราก็เชื่อว่าเห็ดมันมีวิญญาณในตัวเวลาโดนกิน ก็มีปีศาจชื่อ Corkin ที่คอยมาล่าวิญญาณเห็ดอีกที พอเราฟุ้งไปเรื่อย ๆ ก็คิดไปว่าตัวละครในโลกนี้มันเดินทางกันยังไง มันก็จะมีตัวหนอนที่ชื่อ Gally เป็นหนอนหลายขาพาหนะของโลกนี้
UNLOCKMEN : ตัวละครใน KOOKYWORLD! เป็นเหมือนกระจกสะท้อนตัวแอนดี้ด้วยรึเปล่า
กับ Rosado ตัวแรกมันเกิดขึ้นในช่วงที่เราดูการ์ตูน Troll เวอร์ชั่นเก่าที่เป็นจมูกยาว ๆ เหมือน Goblin แต่รู้สึกว่าอยากทำ Monster ของตัวเองให้มันเข้ากับ Street Art ด้วย ก็เลยคิดถึงสีที่ชอบของตัวเอง ซึ่งจะมีความ 1980s ชมพู ม่วง สีที่ฉูดฉาดไปเลย แล้วตัว Rosado มัน Represent ความเท่เลย ซึ่งก็เหมาะกับตัวเราในเวลานั้นที่ไม่ได้คิดอะไรเยอะ วาดเป็น Hobby สนุก ๆ เฉย ๆ ในศิลปะ Street Art ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะ Graffiti หรือ Street เป้าหมายคือต้องมองจากที่ไกลแล้วเห็นเลย Rosado บางรุ่นที่เราออกแบบแม่งมีถุงเท้าด้วย ใส่รองเท้าสเก็ตบอร์ดอีก
กับ Mushkin เราสร้างตัวนี้ในตอนที่ตัวเองเริ่มทำ Painting จริง ๆ จัง ๆ เป็นอาชีพแล้ว ตอนนั้นมันรู้สึกว่าบางอย่างที่ Paint บางทีมันก็สื่อสารกับเราด้วย การที่เราจะคิดไอเดียที่แม่งรู้สึกว่าเจ๋งมักจะเป็นไอเดียในตอนเด็กเสมอ Mushkin ก็ถูกออกแบบให้เป็นเหมือนผ้าขาว เป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ในการที่กินเห็ดเมาแล้วโดนชักจูงง่าย ๆ พอทำศิลปะแล้วยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเด็กลง เรารู้สึกชอบในพาร์ทของการทำงานตรงนั้น ไปถึงว่าเราเองชอบทำงานเด็กรุ่นใหม่ด้วย ในวันที่เราเริ่มเป็นศิลปิน มันก็เกิด Monster ตัว Corkin ขึ้นมา เหมือนว่าตอนนั้นเราเริ่มเห็นความโหดร้าย Corkin มันเป็นตัวโกงในจักรวาลนี้ สำหรับเรามันคือการโตขึ้นอีกเลเวลนึงของตัวเองที่มองว่าโลกของเรามันไม่ได้ขาวดำ มันเทา แค่จะเทาเข้มหรือเทาอ่อนเท่านั้นเอง
หลังจากสามตัวนี้ จริง ๆ มันมีอีกตัวนึงที่ชื่อ Anta จะเป็นตัวสีเขียว ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้โลก KOOKYWORLD สมดุล มันคือตัวที่ใหญ่ที่สุดในเรื่อง เปรียบเป็นเสาหลักของโรมัน ถ้าอันนี้พังทุกอย่างก็จะถล่มลงมาเลย แต่อาจจะไม่ได้ชัดเจนว่าหน้าที่ของตัวนี้เราวางให้มันทำอะไร แต่ว่าถ้ามี Anta อยู่โลกนี้มันก็สมดุล
สิ่งที่จะสื่อจาก Anta คือเป็นตัวที่สะท้อนพาร์ทการวาดแบบที่ชอบใช้ความคิดของเรา มันทำให้นึกถึงอากง เขาจะมีความชีวิตเจอมาเยอะ รู้หลายเรื่อง แล้วความรู้ของเขาทำให้รู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่น่าสนใจไปหมด เพราะเหมือนรู้มาหมดแล้ว เคยเจอแล้ว ในมุมมองของเขามันก็ไม่มีเรื่องใหม่ ๆ เป็นความอิ่มต่อโลก
UNLOCKMEN : ตัวละครไหนใน KOOKYWORLD ที่มีความเป็นแอนดี้มากที่สุด
จริง ๆ คิดว่า Monster ทุกตัวมีส่วนของเราอยู่ มันน่าจะแล้วแต่เรื่องหรือพาร์ทในการทำงานหรือห้วงขณะนั้นของตัวเอง สมมุติถ้าเป็น Mindset ทำงานหรือจะทำงาน Paint เราว่าวิธีคิดแบบ Mushkin มันก็ดีนะ พยายามไม่ต้องคิดอะไร พยายามที่จะใส่สุด หรือมันก็มีบางเรื่องที่หลัง ๆ เริ่มรู้สึกเชื่อมโยงกับ Anta นิดนึง
UNLOCKMEN : เดี๋ยวก่อนนะ เหมือนเราจะข้ามขั้นตอนกันไปนิดนึง ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นในการทำ Art Toy ของแอนดี้หน่อย ตามที่หลาย ๆ คนที่ตามงานรู้ แอนดี้เปิดบูธในงานของเล่นที่ห้างฟอร์จูน พระราม 9 แล้วมีค่ายจากไต้หวันมาเซ็นต์สัญญาทำ Rosado ไป แต่ก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่เราเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อชื่อ “I Am Plastic” แล้วชอบมาก มันเป็นเล่มที่เดินไปเจอที่ TCDC เป็นช่วงชีวิตมัธยมที่กำลังจะเข้าเรียน ID
หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้สึกว่า เห้ย ! มันมีของเล่นสำหรับผู้ใหญ่แบบนี้ด้วย ก็ว้าวในดีไซน์ รู้สึกว่ามันมีความอาร์ตมากกว่าของเล่นปกติ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือมันเป็นของเล่นที่ไม่ได้มีอารมณ์เดียว ยกตัวอย่างถ้าเราดูของเล่นอย่าง ‘คิตตี้’ ก็จะเป็นแอคชั่นแฮปปี้ไปเลย
แต่ว่า Art Toy พวกนี้มันจะอารมณ์แฮปปี้ก็ไม่เชิง จะเศร้าก็ไม่ใช่ มันซับซ้อนกว่าและดูเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่าง Monster ตัวหนึ่งมีนิสัยเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย เศร้าตลอดเวลา พอมันแฮปปี้ก็จะยิ้มแบบที่ยังเศร้าอยู่ เราเลยชอบเสน่ห์ แล้วก็ลองหล่อทำ Art Toy เองโดยเริ่มจากตรงนั้น
ช่วงนั้นเราจะไปร้านนึงตรงหอศิลป์ที่เขามีขาย Art Toy บ่อยมาก ๆ ไปเพื่อคุยกับคนที่คุมร้าน จนวันหนึ่งเขาก็บอกว่าที่ฟอร์จูนกำลังจะมีงานของเล่นนะ เราเอา Art Toy ลองไปขายมั้ย เขาก็เล่าไปอีกว่างานนี้จะมีค่ายมาดูศิลปินพร้อมเซ็นต์สัญญาคนที่ถูกใจด้วย ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ แต่เราก็โชคดีที่โดนเลือก ก็เลยทำมาเรื่อย ๆ
UNLOCKMEN : อยากชวนคุยถึง ‘อากง’ หน่อย
อากงเราเป็นศิลปิน เขาเป็นเหมือน Traditional Artist แกเริ่มจากการ Paint ป้ายโฆษณาแล้วก็ป้ายต่าง ๆ ตามท่าเรือ ป้ายที่บอกว่าต้องเดินไปทางไหน หลัง ๆ อากงก็มาทำพวก Painting สีน้ำมัน แล้วก็งาน Sculpture ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เขาถนัดที่สุด เขาปั้นเก่งมาก แล้วเขาก็พยายามที่จะเป็นศิลปินในช่วงก่อนที่จะแต่งงานมีลูก ก็ทำสิ่งนั้นมาเรื่อย ๆ จนเขาแต่งงาน เขาก็ต้องย้ายไปทำอย่างอื่น เปิดบริษัทของตัวเอง เป็นบริษัทแผ่นหนังทำให้ Levi’s
UNLOCKMEN : ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานศิลปะเลย
สุดท้ายเขาก็บอกว่าตัวเองต้องมองความจริง หลังจากที่มีลูกเขาก็ตัดเรื่องศิลปะออกไปเลย เขารู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในมุมของเขา ก็เลยพยายามไม่โน้มน้าวให้เราทำงานศิลปะด้วย
UNLOCKMEN : อากงมีส่วนสำคัญมากแค่ไหนในการเป็นศิลปินของแอนดี้
จริง ๆ เราค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองชอบศิลปะด้วยตัวเองเป็นพื้นฐานอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่พอยิ่งมีอากงมาสอน ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกชอบขึ้นไปอีก เราก็สนิทกับอากงตั้งแต่เด็ก ๆ จะไปเที่ยวฮ่องกงทุกปี และทุกครั้งที่ไปก็จะกลายเป็นว่าไปซื้อดินน้ำมันด้วยกัน เขาก็จะมานั่งสอนเราปั้น สอนวาดรูป มีพาไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะด้วย มันทำให้เราได้เห็นในพาร์ทที่ว่า ‘ศิลปะที่ดี’ กับ ‘ศิลปะที่ไม่ดี’ เป็นยังไง ผ่านมุมมองในแบบของเขา
“ถามว่าอากงมีผลต่องานของเรามั้ย มีแน่นอน”
แค่พาไปเสพศิลปะก็มีผลแล้ว แต่นี่สอนให้ลงมือทำด้วย ในหลาย ๆ ครั้งเขาก็จะมีพาร์ทคุยกับเราถึงทฤษฎีศิลปะ สำหรับเด็ก 7-8 ขวบ จากการที่เราวาดเองไปเลยมันก็ต่างกันเยอะ แล้วเขาก็ชอบเล่าถึงเรื่องของศิลปินจีนในยุคซึ่งเราไม่มีความรู้เลยให้ฟัง มันก็ทำให้เรายิ่งรู้ว่าเขาชอบและไม่ชอบอะไร มันก็เกิดความเห็นและการวิจารณ์ขึ้นมา
UNLOCKMEN : บทเรียนการสอนให้มีความเห็นต่อ ‘งานศิลปะที่ดี’ กับ ‘งานศิลปะที่ไม่ดี’ ของอากงคือยังไง
ส่วนใหญ่ก็จะสอนเรื่อง Proportion (สัดส่วน) แต่ก็แล้วแต่ Genre ของ Art ด้วยนะ จะเป็นการโยนคำถามให้เราว่า “รู้มั้ยศิลปินคนนี้วาดดียังไง ?” จากนั้นเขาก็จะบอกว่างานนี้สัดส่วนที่วาดยากมากนู่นนี่นั่น หรือว่าศิลปะจีนบางอันอาจจะเป็นการวาดเป็นร้อยเป็นพันแผ่นเพื่อให้ได้แผ่นเดียวด้วยพู่กันจีน อากงก็จะอธิบายให้ฟังในพาร์ทที่เราไม่เห็น มันก็ไม่เชิงว่าเป็นศิลปะที่ไม่ดี แต่มันคือเรื่องของความถูกต้องมากกว่า เราก็เลยเริ่มเข้าใจว่าศิลปะก็มีถูกผิดด้วย เป็นในเชิงของทฤษฎีมากกว่า
UNLOCKMEN : แล้วในเชิงที่เป็นความรู้สึกมาก ๆ อากงพูดว่าอย่างไร
เขาจะไม่แตะสิ่งนั้น เขาไม่เคยพูดว่าศิลปะอารมณ์มันต้องเป็นยังไง แล้วเขาก็ไม่เข้าใจงานหลาย ๆ งาน เอาจริงเขาไม่เข้าใจงานเราด้วยซ้ำ
UNLOCKMEN : ปัจจุบันแอนดี้ยังเอางานให้อากงดูอยู่มั้ย
ยังเอาให้ดูอยู่นะ อากงก็ไม่โอเคกับ Abstract Art เขาจะมีความหัวโบราณนิดนึง แต่เราไม่ได้บอกว่าคนที่เป็นรุ่นเก่าจะไม่เข้าใจ Abstract นะ อันนี้เป็นมุมมองของอากง
UNLOCKMEN : ปัจจุบัน MR. KREME ทำงานศิลปะประเภทไหนอยู่บ้าง
จริง ๆ แล้วก็ทำหลายอย่างนะ ทั้ง Street Art เป็น Spray / Paint / Sculpture / Art Toy ตอนนี้ก็พยายาม Explore เครื่องมืออื่น ๆ อยู่ เพราะรู้สึกว่าแต่ละเครื่องมือมันสามารถเล่ามิติได้ต่างกัน
ในบางทีเลือกทำ Sculpture เพราะเราต้องการที่จะจับฟอร์มที่เป็นสามมิติให้มีความรู้สึกได้ แต่บางทีเราอาจจะแค่อยาก Paint แต่ว่าจะทำยังไงให้มันรู้สึกสามมิติด้วยการมองเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ต้องจับต้อง หรือบางทีอาจจะต้องเป็นวิดีโอเลยเพราะมันอาจจะเป็นการเล่าที่ละเอียดขึ้น แต่ละเครื่องมือมันก็มีข้อดีของมัน
UNLOCKMEN : ถ้าลองให้นิยามว่า MR. KREME ทำงานศิลปะใน Genre อะไร มันก็ไม่สามารถนิยามได้ขนาดนั้นรึเปล่านะ
ส่วนใหญ่เวลาคนถามคำถามนี้แล้วเราตอบว่า Lowbrow เพราะว่าพาร์ทนั้นมันคือจริตอะ เป็นในเรื่องของ Styling มากกว่า ว่าเราชอบที่จะเล่าในมุมมองแบบนี้ Visual แบบนี้ ซึ่งเรามองว่าจะใช้เครื่องมือไหน มันก็ทำ Visual นี้ได้เหมือนกันทั้งหมด เครื่องมือเป็นแค่วิธีการในการเล่า เพื่อที่จะทำให้ Styling ของเรามันชัดในแต่ละแบบ และกับเรื่องเล่าที่เราอยากจะเล่าด้วย
UNLOCKMEN : การเริ่มทำงานศิลปะของแอนดี้แต่ละครั้งมี Process ตายตัวมั้ย ? เริ่มยังไง-จบยังไง หรือว่า Process มันเปลี่ยนตลอด
จริง ๆ กระบวนการทำงานของเราก็อาจจะเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วง ช่วงไหนที่รู้สึกว่าทำสิ่งหนึ่งแล้ว Flow ก็จะทำสิ่งนั้นเป็นพักใหญ่ ๆ เลย ซึ่งตอนนี้เราก็ยังวาดในกระดาษอยู่นะ ทุกอย่างก็จะวาดด้วยพู่กันบนกระดาษ ต่อมาก็ค่อยถ่ายรูปอันนั้นแล้วก็มาลงที่แอพ Procreate ก็จะเริ่มลงสีคร่าว ๆ แล้วก็พรินต์ออกมาแล้วค่อยลงบนเฟรม ตอนนี้รู้สึกว่าวิธีนี้เร็ว แล้วก็ทำให้คิดอะไรได้ง่ายที่สุด ก็เลยใช้วิธีนี้มาเป็นปีละ
UNLOCKMEN : แล้วก่อนหน้านี้ใช้กระบวนการไหนมาบ้าง
เคยลองวาดบน IPAD อย่างเดียวแล้วก็ลงสีตั้งแต่แรกเลย แต่รู้สึกว่ามันใช้เวลาบางอย่างที่อาจจะนาน แล้วมันทำให้ความเป็น ‘ลายเส้น’ ของเราหายไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราเลือกสเก็ตช์ก่อน เพราะไม่ใช่แค่ว่ามันเร็วที่สุดอย่างเดียว แต่ว่ามันทำให้เรายังมีลายเส้นของพู่กันอยู่ ซึ่งมันสามารถไกด์เราได้ว่าถ้าลงพู่กันจริง ๆ มันน่าจะเป็นประมาณไหน
แล้วก็เคยทำวาดมืออย่างเดียว อันนั้นก็จะเสียเวลาสุด ๆ ใช้เวลานานมากกว่าจะพรินต์ กว่าจะแค่ดราฟต์ขึ้นมา สุดท้ายสเก็ตช์ก่อนก็ลงตัวสุด มันทำให้เราวาดที่ไหนก็ได้ด้วย ไม่จำเป็นที่จะต้องพกสีออกไปข้างนอก เราแค่มีพู่กันสามสี-สามเฉด แล้วก็แรเงาในตัวด้วยพู่กัน
UNLOCKMEN : ความรู้สึกในการทำงานบน Digital กับการจับของจริงที่เป็น Analog มีส่วนที่ทำให้แอนดี้ชอบวิธีนี้อย่างหลังมากกว่าด้วยมั้ย
ด้วยความที่เราเริ่มจากการวาดจากกระดาษมาก่อน มันจะมีความฝืดความอะไรบางอย่างที่มันยังเป็นแบบเดิมอยู่ เรามองว่าทำงานแบบนี้มีเสน่ห์กว่าอยู่แล้ว แล้วก็ชอบมากกว่า
UNLOCKMEN : เพราะโตมากับสื่อที่เป็น Physical ด้วยปะ หนังสือ CD VINYL อย่างเราเองก็อ่านหนังสือ E-BOOK ไม่ได้ เพราะรู้สึกว่า Final ของเราที่ได้จากหนังสือเล่มนั้นมันจะไม่เหมือน Final ของตอนที่อ่านหนังสือเล่มจริง มันเป็นอะไรแบบนั้นด้วยมั้ยสำหรับแอนดี้
เราว่าก็มีส่วนนะ ยิ่งวาดใน Sketchbook มันยิ่งทำให้รู้สึกว่าบางทีเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องวาดละเอียด มันไม่จำเป็นที่จะต้องจบในรูปก็ได้ แค่คิดอะไรออกก็วาด แต่เราไม่ค่อยรู้สึกอย่างงั้นกับ IPAD เท่าไหร่ เพราะ IPAD มันดูเป็นสิ่งที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนจบงานในนั้น แต่ Sketchbook แม่งไม่ได้ต้องคิดอะไรเลยอะ แค่รู้สึกอยากวาดอันนี้ก็วาดเลย แล้วบางทีพวกนี้มันก็คือ asset ของเรา ในวันที่เราอาจจะไม่ได้มีไอเดียเยอะ เรามานั่งพลิกหนังสือตัวเองเห็นว่าเคยคิดอะไรมาก่อน มันก็ทำให้เรามีโจทย์ให้ตัวเองมาต่อยอด
Sketchbook เลยเป็นสิ่งที่สำคัญกับเรามาก ๆ เราเชื่อว่าถ้าดู Painting ที่เสร็จแล้วมันก็เห็นอย่างนึง เห็นในมุมที่เราอาจจะอยากนำเสนอ แต่ถ้าจะเข้าใจจริง ๆ ก็ต้องดู Sketchbook นี่แหละ ในช่วงนั้นเราคิดอะไร สนใจอะไรอยู่ แล้วตอนนี้เรากำลังเปลี่ยนเป็นแบบไหนบ้าง มันก็จะเห็น Journey ของตัวเอง มุมมอง และสิ่งที่เราสนใจเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เหมือนไดอารี่ เราก็เปิดดู Sketchbook เก่า ๆ ของตัวเองบ่อยนะถ้ามีเวลา
UNLOCKMEN : ทีนี้พูดถึง Space ในการสร้างงาน งานที่มันแฟนตาซีมาก ๆ ของ MR. KREME ต้องการห้องทำงานในอุดมคติแบบไหน
มันก็ควรจะเป็นห้องที่มีสิ่งที่เราสนใจอยู่รอบ ๆ ตัว มีของเล่น มี Material ที่พร้อมให้เราทำอะไรได้ตลอด อาจจะไม่ใช่แค่พู่กัน อาจจะเป็นผ้าที่เราชอบ หรืออะไรที่เวลาเรากวาดตามองไปแล้วรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราสนใจจริง ๆ
อย่าง ‘ต้นไม้’ ที่เราเพิ่งซื้อมาด้วยเหตุผลเพราะว่ารู้สึกว่ามันเหมือนไก่ต้ม 555 ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชอบอยู่แล้ว เราว่ามันก็สำคัญ หรือว่าการมีทีมที่สนใจในอะไรที่คล้าย ๆ กัน หรือคุยฟุ้ง ๆ กัน บางทีมันก็ดีเหมือนกันนะ เราอาจจะขว้างอะไรมาบางอย่างแล้วถามว่าเขาคิดอะไร มันอาจจะทำให้เราคิดต่อได้
UNLOCKMEN : แสดงว่าไม่จำเป็นต้องการที่ห้องที่แบบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ
เรามองว่ามันแล้วแต่ช่วงอีกล่ะ บางช่วงเราก็อยากให้คนมาเยอะ ๆ แต่จริง ๆ ก็มีทั้ง 2 แบบนะ ทั้งวันที่อยากทำงานอยู่เงียบ ๆ คนเดียว และวันที่ต้องการคนมาห้อมล้อม
ถ้า Process ของเราในตอนนั้นมัน Flow มาก ๆ ได้ผ่านจุดคิดมาระดับนึงและรู้แล้วว่าตัวเองจะวาดอะไร มีหัวเรื่องชัดเจนละ ยิ่งมีเพื่อนมาวาดด้วยกันมันทำให้เรามีไฟขึ้น แต่ส่วนในพาร์ทของการคิดเลยอะ แล้วยิ่งเป็น Process ต้น ๆ นะ ก็จะอยากอยู่คนเดียว กับน้องที่มาช่วยเราก็จะพูดเลยว่าวันนี้ขอเงียบ ๆ นะ ก็มีใส่หูฟังอยู่ในโลกของตัวเอง
UNLOCKMEN : แบบนี้แสดงว่าอารมณ์ก็มีผลต่องานด้วยสิ
แล้วแต่ Genre ของงานที่ทำ อย่างถ้าเราทำ Realistic เป้าหมายของเราคือ Paint ยังไงก็ได้ให้คนรู้สึกเชื่อว่ามีอยู่จริง ขนของ Monster มันน่าจะนุ่ม ผิวมันน่าจะหยาบ ตามันวาวมาก อันนี้ก็เป็น Genre นึงที่เราอยากจะทำให้ Monster ของเรา เวลาคนมาเสพแล้วรู้สึกเชื่อว่ามันเป็นคาแรคเตอร์ด้วยตัวมันเองจริง ๆ อีกฝั่งนึงก็คือ Improvise แค่เราระบายอารมณ์ตัวเอง เราไม่แคร์ว่าเส้นจะบิดเบี้ยวแค่ไหน ถ้าตอนนั้นหงุดหงิดเส้นแม่งก็หงุดหงิดจริง ตอนที่เราใจเย็นหน่อย เราก็จะค่อย ๆ เส้นมันก็อาจจะช้าลงเกิดความไตร่ตรองมากขึ้น
UNLOCKMEN : แล้วแอนดี้มีวิธีการ Switch อารมณ์ในการทำงานยังไงบ้าง กับงานที่ต้องโฟกัส งานที่ต้องการความไม่คิดอะไรเลย หรืองานที่ต้องใจเย็นมาก ๆ
งานแต่ละงานที่เข้ามา โดยเฉพาะยิ่งเป็นงาน Commercial มันจะมีดีเทลหลายอย่าง เราก็จะเลือกส่วนหนึ่งในงาน Commercial นั้นที่เรายังรู้สึกโอเคกับอารมณ์ของตัวเอง ณ เวลานั้นมาทำก่อนเลย
สมมติว่าวันที่เรารู้สึก ‘ไม่อยากวาดรูป’ ไอเชี่ยไม่มีอารมณ์หวะวาดมาหลายวันละ เราก็จะไปคิดอย่างอื่นก่อน ก็จะอยู่ที่ Construction มันยังไง คราวนี้แม่งพาร์ท ID จะเข้ามาละ ‘เหตุ’ และ ‘ผล’ ตัวเรา ณ ขณะนั้นจะสามารถทำพาร์ทที่ต้องการได้จริงรึเปล่า เราก็สวิทช์ไปมากับสิ่งที่เราอยากทำหรือยังทำไหว แต่ท้ายสุดแล้ว ถ้ามันมี Deadline มันก็ต้องฝืนตัวเองในบางทีเหมือนกัน
UNLOCKMEN : ต้องเซ็ทตัวเองยังไงเพื่อให้ทำงานในแบบที่ไม่มีอารมณ์
มันแค่ต้องบังคับตัวเอง ไม่มีการเซ็ทไหนที่มันจะทำให้เรามีอารมณ์อยากทำมากขึ้น เปิดเพลงอาจจะช่วยได้นิดหน่อย อาจจะต้องคิดว่ามันคืออาชีพนึง มันก็คือความ Professional ซึ่งเราเชื่อว่าทุกอาชีพมันก็มีอารมณ์ที่ไม่อยากทำในบางทีแหละ
UNLOCKMEN : ถ้าเราถามว่าสิ่งที่นำไปสู่งานที่ดีของแอนดี้มันต้องมาจากสารตั้งต้นยังไง อยู่ในอารมณ์ไหน เป็นงานที่แอนดี้เรียกมันว่างานที่แบบพอใจ
เราจะมีมาตรฐานบางอย่างในการวัดที่เป็นไปในเชิงของเหตุและผลมากกว่า เช่น Paint เนี้ยบมั้ย ได้เล่าหรือได้วาดใน Element ที่เราอยากรึเปล่า มันอาจจะแค่เลเวลนั้น เพราะเรามองว่าสุดท้ายแล้วถ้าเราไปมีเหตุและผลเยอะจนเกินไปในทุกกระบวนการ จะทำให้ไอเดียไม่ Flow เราควรจะปล่อยตัวเองมาก ๆ ในช่วงแรก พอไอเดียทุกอย่างครบหมดแล้ว ทุกอย่างที่เป็นเหตุผลเอาไว้ที่หลังดีกว่าแล้วมันถึงจะจบงาน
UNLOCKMEN : ไม่แน่ใจว่าการโตมากับอากงมีส่วนในเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน การถูกสอนให้ทำงานศิลปะที่อยู่บนความเป็นจริงมาก ๆ
ก็อาจจะเป็นอย่างงั้น อาจจะเพราะว่าเราเรียน ID ด้วย เราว่าการเรียน ID มันมีข้อดีเยอะนะ ทำให้ Diagram ทั้งหลาย ทั้งวิธีการคิด ทำให้เรารู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างมันสามารถวัดได้ ทำให้มุมมองของเราไม่ได้ฟุ้งเกินไป เราใช้อารมณ์ที่ไม่ได้กอดอกดูงานแล้วรู้สึกว่า “เชี่ย ไม่รู้ว่าทำไมงานมันไม่ดี” แต่มันไม่ดีเพราะมีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้นแน่นอน
UNLOCKMEN : ในทุกงานศิลปะที่แอนดี้ทำ มันจำเป็นที่จะต้อง Input อะไรเพื่อสร้างและ Develop ให้ตัวเองพอใจไปเรื่อยๆ ไม่ว่าสื่อ การออกไปเจอคน สิ่งต่าง ๆ
จริง ๆ การที่เจอคนเยอะมันก็ทำให้เรา input อะไรได้หลายอย่าง ไม่ได้มองแค่ในสิ่งที่เราสนใจอย่างเดียว เราสามารถดูว่าคนอื่น ๆ เขาสนใจอะไรบ้าง แล้วความสนใจนี้มันลิงก์กันยังไง บางทีจากเรื่องที่คน ๆ หนึ่งพูดกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องของเราหมดเลยก็มีนะ เราก็จะมานั่งดูว่าอะไรกันแน่ที่เป็นตัวเรา พอมานั่ง Analyze ก็กลายเป็นว่าเราเจออะไรใหม่ ๆ ในตัวเองจากการที่เจอคนอื่น
มันเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงรับเด็กฝึกงานด้วยนะ เรารู้สึกว่าเด็กฝึกงานก็คือ ‘ปัจจุบัน’ เนาะ แล้วเป็นปัจจุบันที่ยังเรียนอยู่ด้วย บางอย่างที่เราตามไม่ทันแล้วในตอนนี้แบบที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หรืออะไรที่เราอาจจะรู้สึกว่าอันนี้มันเท่จังเลย แต่เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันเท่ ก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราไม่แก่ด้วยแหละ แล้วเราก็เชื่อว่าในการที่เราทำงานกับเด็กมันคือการ Educate ตัวเองด้วย เราจะได้ไปต่อได้ ไม่ใช่แค่อยู่ในยุคของตัวเองแล้วรู้สึกว่าเราเก๋าในยุคเราก็แฮปปี้แล้วจบ
การเปิดเพลง การเสพหนัง ก็ทำให้เรามีมุมมองมากขึ้นเหมือนกัน เหมือนที่เราพูดว่าตอนเด็ก ๆ ชอบมีความเห็นของตัวเอง เราไม่ได้เป็นคนที่อยู่ดี ๆ จะมโนขึ้นมาแล้วมีความเห็นกับเรื่อง ๆ นึงนะ มันต้องมีตัวจุดประกาย อันนี้คือนิสัยส่วนตัวด้วยแหละ ยิ่งเป็นหนังบางเรื่องที่มีความเห็นแรง ๆ เราก็จะยิ่งมีความเห็นเยอะ ก็อาจจะเป็นเรื่องเดิมคือ ‘โจทย์’ ที่ทำให้เราคิดในมุมมองของเรา ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากโจทย์พวกนี้
UNLOCKMEN : แบบนี้แอนดี้เสพทุกอย่างเพื่อสร้างโจทย์ในการทำงานเลยรึเปล่า ไม่ได้เสพย์เพื่อความสุนทรีย์เลย
มันต้องมีเสพเพื่อสุนทรีย์อยู่แล้ว เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าดูหนังไม่สนุกเลยเพราะว่ามีความเห็นเยอะ แต่ว่าสมัยนี้พอเราไปเริ่มเสพอะไรมากขึ้น เราเริ่มรู้แล้วว่าชอบอะไร มันก็ทำให้เราอินกับสิ่งที่เราเสพมากขึ้นด้วย แม้กระทั่งเพลง หลัง ๆ ก็มาฟังพวก Jazz เพราะมันมีการ Improvise คีย์นี้แม่งจะหลุดแล้วแต่แม่งดึงกลับมาได้ หรือเครื่องดนตรีที่มันต่างกัน มันก็ทำให้ความรู้สึกต่างกัน บางรูปของเรามาจากเพลงก็มีนะ อันนั้นอาจจะไม่ได้โจทย์ละ อาจจะเป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า
UNLOCKMEN : แล้วยังมีการ์ตูนที่ยังเสพอยู่ปะ แอนดี้ตั้งต้นมาจากการชอบการ์ตูนวินเทจ แถมตอนนี้ก็ยังทำ Character Design ด้วย
ก็ยังเสพอยู่แต่ว่าน้อยลง เพราะเราไม่ได้สนใจเรื่องเนื้อเรื่องเท่าแต่ก่อน แต่ว่าเราดูในเชิง Visual มากกว่า
UNLOCKMEN : งั้นการ์ตูนที่เสพในช่วงตอนนี้มีอะไรบ้าง
ก็มีพวก Rat Fink ก็จะมีศิลปินคนนึง Gary Baseman เราก็ชอบเขามาก เขาก็มีทำการ์ตูนด้วย ถ้าจำไม่ผิดคือน่าจะเป็นของ Nickelodeon เราก็จะไปดูว่า Movement ที่เขาทำมันเป็นยังไง Character Design มันเป็นยังไง อย่างงั้นมากกว่า
UNLOCKMEN : ก่อนหน้านี้เห็นพูดถึงเรื่องเด็กฝึกงาน การชอบทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ เราสนใจเรื่องอัปเดตเทรนด์มากเลย ในมุมมองแอนดี้ศิลปินจำเป็นต้องอัปเดตเทรนด์ใหม่แค่ไหน
เรามองว่ามันก็ต้องอยู่ในปัจจุบันนิดนึงนะ ไม่จำเป็นที่จะต้องล้มอีโก้ของตัวเองหรือแกนของตัวเองอยู่แล้ว
สมมติเราเกิดในยุคที่เพลงร็อคมันมาแรง มันก็ไม่แปลกที่มันจะติดตัวมา ก็เป็นตัวของตัวเองนี่แหละ แต่ว่าอย่างน้อยเราแค่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ดนตรีโลกมันเปลี่ยนไปเป็นยังไงบ้าง แต่ว่าเราจะเปลี่ยนรึเปล่า หรือในพาร์ทไหนจะ Adapt ยังไง อันนี้ก็แล้วแต่คนเลย อย่างน้อยรู้ไว้อะดี
อย่างตอนนี้ Y2K มาแรงมากใช่ปะ เราก็ชอบคุยกับน้อง ๆ ว่า Y2K ในมุมเราเป็นยังไงบ้าง ก็จะรู้เลยว่า Y2K มันไม่เหมือนเดิม มันไม่ใช่ Y2K ตอนยุคเราแล้ว แต่มันคือ Y2K ที่ถูกปรับจนมันเป็นแฟชั่นปัจจุบัน แล้วเด็กมันก็ไม่ได้เข้าใจว่าเมื่อก่อนมัน Analog ยังไง กลายเป็นว่าเราก็แชร์กันได้
UNLOCKMEN : แล้วแอนดี้เอาสิ่งที่แชร์หรืออัปเดทมาใส่ในงานตัวเองด้วยมั้ย หรือว่าดูเพื่อให้รู้เพื่อให้เข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป แต่ว่า MR. KREME ก็จะเป็นงานของตัวเองโดยไม่เอาพวกนั้นเข้ามาใส่ตัวเอง
มันไม่ได้มาทำให้งานเราเปลี่ยน มันยังเป็นแกนของงานเราอยู่ แต่เพราะว่าเราเป็นคนที่สนใจอะไรเยอะ เราอาจจะดึงอะไรที่มันคล้าย ๆ กันที่เราสนใจอยู่แล้วมาให้มันเชื่อมกับสิ่งที่มันเป็นอยู่กับปัจจุบันมากกว่า
UNLOCKMEN : ตอนจะรับสิ่งต่าง ๆ ที่เสพเข้ามาหรือไม่รับเข้ามาอยู่ที่ว่าสิ่งนั้นมัน inspire แอนดี้รึเปล่าด้วยใช่มั้ย
ใช่ แต่ไม่ได้ถึงกับว่าทำเหมือนสิ่งนั้นเลยนะ เราจะ Adapt ให้เป็นตัวเราอยู่ ถ้าเอามาเลยเราไม่ทำ มันไม่สนุก มันไม่ได้เป็นตัวเรา มันไม่ได้ต่อยอดด้วย เราเชื่อในเรื่องการเสพงานเป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราอาจจะเสพมาโดยไม่รู้ตัว แล้วยิ่งเราเสพภาพจบ-ภาพจบมันคือผ่านการคิดจากคนอื่นมาแล้ว เราอาจจะทำมันได้นะในชิ้นแรกที่ขโมยมา แต่สุดท้ายแล้วเราต่อยอดมันไม่ได้เพราะเราไม่เข้าใจแกน และเพราะเราไม่ใช่อย่างงั้นจริง ๆ
UNLOCKMEN : ตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ ‘ศิลปะ’ ให้อะไรแอนดี้บ้าง
ทำให้เราเข้าใจที่จะ Express ตัวเองมากขึ้น พอเราทำไปถึงจุดนึง ทุก ๆ พาร์ทจะมี Checkpoint อยู่ ในแง่ของ Skill พอเราทำได้ Flow ขึ้น จนสิ่งนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบหลักของการทำงาน มันก็เริ่มทำให้เราเป็นตัวเองมากขึ้น เราอยากจะถ่ายทอดอะไร มันก็จะชัดและเคลียร์ขึ้น ในบางที Art ก็คุยตอบโต้กับเราด้วยว่าทำไมเราถึงเป็นคนอย่างที่เป็น
แต่เป้าหมายของเราในการทำศิลปะ หลัก ๆ คือการได้โชว์งานของตัวเองที่เป็นตัวเองจริง ๆ แบบ 100% โดยที่ไม่มีอะไรมารบกวน ต้องพูดว่า Skill มันก็เป็นการรบกวนอย่างนึงเนาะ หรือการที่เราไปทำงานกับคนอื่นแล้วมีข้อจำกัดที่อาจจะไม่ได้เป็นตัวของเรา 100% สุดท้ายแล้วก็เลยกลายเป็นว่าเป้าหมายของเราอาจจะไปทำอาร์ตที่พิพิธภัณฑ์ เพราะตรงนั้นมันก็จะไม่มีเรื่องการขายละ แต่เป็นการเล่าเรื่องที่เราอยาก เท่านั้นเลย ไม่มีอะไรซับซ้อน
มันก็ย้อนกลับไปเหมือนที่เล่าไปในตอนเด็ก ๆ จะเป็น Street Artist / Painter หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เครื่องมือ แต่ว่าเราอยากเป็นคนสร้างมากกว่า สิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ คือสร้างอะไรที่เป็นของตัวเอง แล้วคนอื่นรู้สึกว่าสิ่งที่เราสร้างมันมีความหมายหรือมีเหตุผลที่ต้องมีมันอยู่