

Life
ทนทำไม! มารู้จักวิธีเปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลังงานบวกกัน
By: unlockmen June 14, 2022 215581
ความเจ็บปวดและความโศกเศร้าเป็นสิ่งที่กระทบกับจิตใจเรา คงไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับมัน แต่สัจธรรมคือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันไปไหนได้เพราะความทุกข์ย่อมมาคู่กับความสุขเสมอ
แต่การสะสมความเจ็บปวดไว้ในตัวเรามากเกินไปสุดท้ายมันจะส่งผลกระทบไปสู่อาการอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น ความเครียด, นอนไม่หลับ, วิตกกังวล อาจจะเป็นต้นตอของการเกิดสภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
ทุกคนต้องเจอกับความเจ็บปวด สิ่งที่แตกต่างคือการรับมือกับมันของแต่ละคน หากเราพยายามจะหนีจากมัน ความเจ็บปวดจะยิ่งติดอยู่ในความทรงจำ เราจะไม่มีทางลืมหรือสลัดมันหลุดไปได้ แต่หากเราเลือกที่จะเผชิญหน้ากับมัน ร้องไห้ออกมา แล้วหาทางแก้ปัญหาไม่ให้เราต้องเจ็บปวดจากสาเหตุเดิม ๆ อีก เราจะเอาชนะและก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นไปได้อย่างถาวร
เหมือนกับตอนเราเป็นเด็ก เราวิ่งหกล้มเป็นแผล เรารู้สึกเจ็บ แม้ผู้ใหญ่จะมาปลอบเราด้วยการบอกว่า ไม่เจ็บหรอกนะ เดี๋ยวก็หาย แต่เราก็รู้ดีว่ามันเจ็บ การพยายามหลอกความรู้สึกจึงเป็นเรื่องที่ไรประโยชน์ เราควรรีบไปล้างแผล ปฐมพยาบาล และพยายามไม่หกล้มแบบเดิมอีก
การหลอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ไม่เจ็บ หรือการหาทางออกเช่นการดื่มเหล้า เล่นยา เพื่อให้ลืมความเจ็บปวดนั้นไป มีแต่จะยิ่งสร้างบาดแผลให้ตัวเองเจ็บปวดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบในระยะยามตามมา ดังนั้นการเผชิญหน้าเพื่อรับมือและแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดนั้นให้เป็นส่ิงที่มีประโยชน์ต่อตัวเราเองกันดีกว่า
หนึ่งในอาชีพที่สามารถเปลี่ยนความเจ็บปวดให้กลายเป็นงานศิลปะได้ดีที่สุดก็คือ “ศิลปิน” ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี, นักแต่งเพลง, นัดวาดภาพ, นักเขียนหนังสือบทกวี หรือแม้กระทั่งนักเขียนนวนิยาย พวกเขาสามารถแปรเปลี่ยนห้วงอารมณ์อันมืดมนจนกลายเป็นผลงานที่ช่วยบรรเทาจิตใจ ต่อยอดจนเกิดเป็นการสร้างรายได้ในที่สุด
เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอย ๆ เพราะจากบทสัมภาษณ์ในหลาย ๆ ครั้งของบรรดานักร้องหรือนักแต่งเพลงมักจะหยิบยกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมาใส่ลงไปไว้ในเนื้อเพลง เพราะมันจะช่วยเพิ่มความอินและสามารถส่งต่ออารมณ์ไปให้คนฟังรู้สึกได้ถึงสิ่งที่ต้องการสื่อสาร เราจะเห็นได้ว่าเพลงอกหักหลาย ๆ เพลงในบ้านเราล้วนแต่เป็นเพลงฮิตพิชิตร้อยล้านวิวทั้งนั้น
ส่วนบรรดานักวาดภาพพวกเขาก็มักจะถ่ายทอดอารมณ์อันเจ็บปวดออกมาด้วยรูปหรือเฉดสีที่ใช้ด้วยเช่นกัน หรือนักเขียนนิยายก็มักจะหยิบเอาเรื่องเศร้าในชีวิตจริงของตัวเองมาผสมจินตนาการจนกลายเป็นวรรณกรรมที่เข้าถึงคนอ่านได้อย่างลึกซึ้ง
การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการบำบัดให้อารมณ์ของเราดีขึ้น มันยังช่วยแปรเปลี่ยนส่งเสริมให้จินตนาการของเราเปิดกว้างมากตามไปด้วยเช่นกัน
ใครที่ต้องตกอยู่ในภวังค์ความเศร้าแน่นอนว่าคุณก็ยังคงอยากใช้เวลาอยู่คนเดียวเพื่อคิดทบทวนเรื่องต่าง ๆ หรือบางครั้งก็ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่บนเตียงไปกับน้ำตา ซึ่งการกระทำเหล่านั้นอาจจะพอช่วยได้บ้าง แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ โดยไม่รู้จักระบายย่อมไม่เกิดผลดีกับตัวเราเองอย่างแน่นอน
ดังนั้นคุณควรมองหาคนที่คุณไว้ใจพร้อมรับฟังทุกเรื่องราวของคุณ และแชร์สตอรี่ความเจ็บปวดไปให้พวกเขาเหล่านั้น เชื่อเถอะว่าเมื่อคุณได้พูดสิ่งที่อัดอั้นเก็บไว้ในใจออกไปมันจะช่วยให้คุณรู้สึกโล่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ และที่สำคัญคุณอาจจะได้มุมมองหรือวิธีแก้ไขปัญหาดี ๆ กลับมาจากคนที่รับฟังคุณด้วยเช่นกัน
การหาคนเพื่อปรึกษาแลกเปลี่ยนกันแชร์ความเจ็บปวด ความเศร้า ไม่ใช่แค่ช่วยให้ตัวเรารู้สึกดีขึ้นเท่านั้น มันยังเป็นการช่วยให้คนที่รับฟังได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ และการที่เราได้รับฟังเรื่องราวของอีกฝ่าย ก็อาจจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาของตัวเองในมุมที่เปลี่ยนไป มันอาจจะกลายเป็นปัญหาเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับคนอื่น หรืออาจจะช่วยเปิดมุมมองที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ในต่างประเทศจึงมักจะมี Mutual Support Group สำหรับปัญหาทุกประเภท ซึ่งเป็นการรักษาปัญหาในจิตใจด้วยการให้ผู้คนได้มาแชร์ รับฟัง และให้กำลังใจกันและกัน
ความเจ็บปวดไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลยใช่ไหมครับหากเรารู้จักวิธีรับมือกับมัน ชีวิตมันสั้นอย่าทนทุกข์นานความสนุกจะหายไปหมด แต่หากทำทุกอย่างแล้วยังไม่ได้ช่วยให้คุณดีขึ้น การมองหาจิตแพทย์เฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยเยียวยาคุณได้เหมือนกันนะครับ