

Life
ทำไมยิ่งเห็นใจคนอื่น ตัวเองกลับเหนื่อยล้า และเราจะกลับมาเยียวยาตัวเองอย่างไรดี
By: unlockmen November 16, 2020 188143
เราถูกสั่งสอนกันมาว่าการเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข แต่ทว่า ความเห็นอกเห็นใจ (compassion หรือ empathy) ก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ทำให้เราตกอยู่ในภาวะ Compassion Fatigue ได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? และเราจะป้องกันมันได้อย่างไร? Unlockmen จะอธิบายให้ฟัง
ภาวะเหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (compassion fatigue) หรือ secondary traumatic stress (STS) คือ ความเครียด ความเหนื่อยล้าทั้งกายและใจที่เกิดจากการเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากเกินไปจน ทำให้เราให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง
โดยสาเหตุของ compassion fatigue อาจเกิดจากการรับฟังเรื่องราวของคนที่มีบาดแผลทางจิตใจบ่อย ๆ เช่น คนที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือการสูญเสีย และรู้สึกว่าทำไมเราจึงช่วยเหลืออะไรคนเหล่านั้นไม่ได้เลย และพอความรู้สึกนั้นถูกเก็บสะสมความรู้สึกมาเรื่อย ๆ ก็เกิดความเหนื่อยล้าและความทุกข์ทรมานที่เรียกว่าเป็น compassion fatigue ตามมา
แม้เมื่อก่อน ภาวะ compassion fatigue จะพบในกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เช่น พยาบาล (ซึ่ง Carla Joinson ได้นิยามคำว่า compassion fatigue ขึ้นมาในปี ค.ศ.1992 เพื่ออธิบายอาการป่วยของพยาบาลในแผนกผู้ป่วยฉุกเฉิน อาทิ ความเหนื่อยล้าอย่างหนัก)
แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น เราเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้น สามารถตอบโต้เรื่องราวของคนอื่นได้มากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อเรารับรู้ปัญหาของคนอื่น และรู้สึกทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้บ่อย ๆ เข้า ก็อาจเป็นความทุกข์สะสม เกิดความเครียด จนเป็น compassion fatigue ได้เหมือนกัน
แต่ถึงจะพูดอย่างนี้ ก็ไม่ได้ห้ามทุกคนแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นเลยนะ เพียงแต่อยากให้ระมัดระวังความเห็นอกเห็นใจที่สร้างภาระให้กับเรามากเกินไป เรื่องนี้จะขออธิบายเพิ่มเติมผ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร the Journal of Experimental Social Psychology เมื่อปี ค.ศ.2017
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาผลลัพธ์ของวิธีการแสดงความเข้าอกเข้าใจ 2 รูปแบบ ได้แก่ การจินตนาการว่าตัวเองตกอยู่ในความทรมานแบบคนอื่น (imagine-self perspective taking หรือ ISPT) กับ การจินตนาการแค่ความรู้สึกของคนอื่น (imagine-other perspective taking (IOPT) ผ่านการทดลองให้คน 2 กลุ่มชมวิดีโอของหญิงที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์
ซึ่งนักวิจัยพบว่า กลุ่ม ISPT จะมีระดับความเครียด (cardiovascular stress) และเป็นทุกข์มากกว่ากลุ่ม IOPT โดยที่กลุ่ม IOPT แทบจะไม่พบว่ามีภาวะแบบนั้นเลย
ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เราไม่ควรต้องพยายามแบกรับความทุกข์ของคนอื่น เพื่อเข้าใจความรู้สึกคนอื่น เพราะจะเครียดและเป็นทุกข์ได้มากโดยไม่จำเป็น ซึ่ง Michael Poulin หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วยว่า คนที่ชอบแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแบบพยายามรู้สึกเหมือนที่คนอื่นรู้สึกบ่อย ๆ มีโอกาสเจอกับภาวะ compassion fatigue มากกว่าคนกลุ่มอื่น
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งไหนคือความเห็นอกเห็นใจ และสิ่งไหนไม่ใช่ ซึ่ง Daniel Goleman และ Paul Ekman นักจิตวิทยา ได้แบ่งประเภทของความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
ความเห็นอกเห็นใจแต่ละแบบก็มีฟังก์ชันที่ต่างกัน อย่าง Cognitive empathy จะช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราสามารถเข้าใจได้ว่าคนอื่นต้องการอะไร ส่วน Emotional empathy จะช่วยให้เรารู้สึกผูกพันกับคนอื่นได้ง่าย เพราะเราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และ Compassionate empathy ช่วยให้เรารักเพื่อนมนุษยมากขึ้น เพราะเราจะพยายามหาทางช่วยเหลือคนอื่นอย่างแท้จริง ทักษะเหล่านี้อาจไม่ได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด แต่ก็ไม่ได้ยากเกินที่จะฝึกฝน
อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจก็คือ empathy กับ sympathy ไม่เหมือนกัน โดย empathy เป็นการมองเรื่องคนอื่นจากมุมมองของคนอื่นและพยายามเข้าใจคนอื่น ส่วน sympathy คือ การมองเรื่องของคนอื่นผ่านมุมมองของตัวเอง และใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจเรื่องเหล่านั้น
การมี empathy ย่อมดีกว่า sympathy เพราะ มันทำให้เราไม่ใช้อคติของตัวเองในการตัดสินใจเรื่องของคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้อย่างแท้จริงมากกว่า
ผู้ที่เข้าข่ายเป็น compassion fatigue จะมีอาการคล้ายๆ กับคนที่เป็น burnout คือ เกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) รู้สึกแปลกแยก (alienation) และมีประสิทธิภาพในการทำงานได้แย่ลง (reduced) ด้วย
แต่ข่าวดีคือ ภาวะ compassion fatigue สามารถรักษาได้ ซึ่ง Leanne Hall นักจิตวิทยา ได้แนะนำกลยุทธ์ในการรับมือกับ compassion fatigue เอาไว้ว่า
วิธีการเหล่านี้ก็เป็นแค่ไกด์ไลน์คร่าวๆ หากทุกคนมีวิธีการระบายความเครียดของตัวเองก็เอามาใช้ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการเริ่มหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ จะแก้ไขได้ดีที่สุดครับ
Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล