Life

ZERO TO HERO: ‘พี่รุ่ง SMALLROOM’ หัวเรือใหญ่ค่ายอินดี้ ที่สร้างคนดนตรีคุณภาพมานานกว่า 2 ทศวรรษ

By: NTman July 10, 2020

หากจะให้พูดถึงอย่างค่ายเพลงทางเลือก ที่แม้ไม่ได้มีสเกลขององค์กรที่ขนาดใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ได้ผลิตผลงาน ผลิตศิลปินที่มีทั้งเอกลักษณ์ และคุณภาพป้อนสู่วงการเพลงมาอย่างยาวนาน

เราเชื่อว่าชื่อแรก ๆ ที่โผล่เข้ามาในหัวของใครหลายคน คงหนีไม่พ้น Smallroom ค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่โดดเด่นจนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของยุคเด็กแนวที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นเป็นต้องอ่าน a day, ไปงาน Fat และฟังเพลง Smallroom ค่ายเพลงทางเลือกซึ่งเราพูดถึงในตอนแรกเริ่ม ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาไม่ใช่น้อย แต่ก็ยังคงความร่วมสมัยภายใต้ตัวตนที่แทบไม่ต่างไปจากเดิม ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

จากความน่าสนใจนี้ คอลัมน์ ZERO to HERO จึงขอพาชาว UNLOCKMEN ทุกท่าน ร่วมย้อนเหตุการณ์ผ่านความทรงจำ และ ประสบการณ์อันเข้มข้นของ ‘รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์’ หรือที่ศิลปิน และใคร ๆ ต่างเรียกเขาว่า ‘พี่รุ่ง’ หัวเรือใหญ่แห่งค่าย Smallroom ผู้เป็นที่เคารพรัก และมักจะได้ยินศิลปินในค่ายกล่าวถึงเขาบ่อย ๆ ด้วยสไตล์การทำงานแบบคลุกวงในคอยให้คำแนะนำปรึกษา แต่งเพลง ช่วยโปรดิวซ์ แม้กระทั่งถ่ายทำ MV ให้ เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมแทบทุกขั้นตอน

กับชุดคำถามที่ว่าทำไมค่ายเพลงอิสระที่เริ่มต้นจากห้องเล็ก ๆ ถึงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงคนดนตรีคุณภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงที่หนักหน่วงไม่ใช่น้อยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในดนตรี สู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกวงอัลเทอร์เนทีฟยุคบุกเบิกอย่างวง Crub?

ก็เริ่มจากพี่โชคดีที่บ้าน ป่าป๊าให้พี่ได้เรียนเปียโนก็เลยพอจะมีพื้นฐานเปียโนคลาสสิก แล้วก็ตอนที่อยู่มัธยมก็มีการทำวงกับเพื่อนบ้าง เพื่อนก็ สุหฤท สยามวาลา ครับ ก็ทำวงดนตรีที่อัสสัมชัญบางรัก ก็แค่นั้น หลัก ๆ แล้วเริ่มกันแบบนั้น

แล้วมันก็สืบเนื่องมาจากตอนที่เราทำเพลงที่บ้านสุหฤท แล้วเราก็รู้สึกว่าเพลงเราน่าจะส่งไปคลื่นวิทยุซึ่งสมัยนั้นมี ‘ป้าแต๋ว วาสนา’ เป็นคนจัดรายการเพลง เราทำเป็นเพลงสากล ส่งไปให้ป้าแต๋วน่าจะดี เพื่อจะได้ฟังคอมเมนต์แกด้วย ก็ส่งไปแล้วปรากฎว่าเค้าชอบมากก็เลยเปิดเพลงเดียวของเราทั้งชั่วโมง แล้วก็พูดให้คนเข้ามาทายว่าเป็นวงฝรั่งวงไหน จุดนั้นมันก็เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่า เออเราอยากทำวงนี้ให้ลุล่วง

ก็เลยเริ่มทำวง Crub หาค่ายมาเรื่อย ๆ จนมาได้ค่าย เกกโกมิวสิก ซึ่งก็มีพวกอู มีเมย์ Kidnappers ตอนนั้นยุคแรกก็มาช่วยกันทำ ถามว่าตอนที่ทำเราคาดหวังมั้ย ไม่ได้เรียกว่าคาดหวังเหมือนทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นรูปธรรมขนาดนั้นอะนะ แค่รู้สึกว่าน่าจะรวย (หัวเราะ)

ไม่รู้ตอนนั้นน่าจะเด็กด้วยมั้ง ก็เออลองทำกันเถอะ แล้วปรากฏว่าเพื่อนทุกคนแทบจะต้องลาออกจากงานอะครับ เพราะตอนนั้นก็จริงจังประมานนึง มือกีต้าร์พี่วิโรจน์ตอนนั้นเค้ามีเงินเดือนคือนข้างสูงมากแล้วพี่ชวนเค้าออกมา ก็ค่อนข้างเป็นประเด็นที่พี่รู้สึกผิดมาตลอด

เพราะว่าพอทำเสร็จผ่านไปสามเดือนผลตอบรับไม่ค่อยดีแล้วเค้าก็เหมือนกับต้องเริ่มใหม่หางานใหม่ ถามว่าเฟลมั้ยตอนทำวง ในแง่กระแสตอบรับก็ค่อนข้างเฟล แต่ทุกคนก็ใช้ช่วงเวลาทำตอนนั้นอย่างสนุกอะนะ แล้วก็ไม่รู้จักคำว่าเพลงขาย ไม่รู้ว่าเพลงขายต้องเป็นยังไงไม่มีคำว่าเพลงขายอยู่ในอัลบั้ม สุดท้ายก็คือสลายตัวกลับไปทำงานด้าน Interior Design ที่เรียนมา และเราก็พูดกันตั้งแต่วันนั้นเลยว่าเราทำแค่ชุดเดียวแล้วเลิก

จากวงดนตรีที่ไม่ประสบความสำเร็จ อะไรที่ทำให้ตัดสินใจหวนกลับมาบนเส้นทางนี้อีกครั้ง?

คือพี่ยังสนใจงานด้านนี้อยู่ เพราะช่วงที่เลิกทำวงไปทำงานประจำ ก็ยังโปรดิวซ์ให้วงสี่เต่าเธอ แต่ด้วยรูปแบบการทำเพลงมันเปลี่ยนไป เป็น Hard disk recording ดังนั้นมันก็จะไม่เหมือนยุคที่เราทำวง Crub จนมาถึงตอนที่เป็นโปรดิวซ์ให้สี่เต่าเธอที่ยังเป็นระบบเช่าห้องอัด ซึ่งมันก็แพงมากสมัยก่อนในการทำหนึ่งอัลบั้ม

พอมันเป็น Hard disk recording ทุกอย่างมันควบคุมได้ด้วยงบที่ต่างกันแบบ 15 เท่าอะไรแบบนี้เลยนะ ก็เลยรู้สึกว่าเราลองทำแบบนี้ ได้ทำสิ่งเรามีความสุขโดยที่ไม่ต้องเสียเงินเยอะในการทำเพลง แล้วก็อยากหางานที่เป็นงานเสริมด้วย ก็เลยคิดว่าจะทำเป็นเหมือนห้องทำเพลงโฆษณาอะไรอย่างงี้อะครับ ก็เลยเริ่มจากจุดนั้น ก็ทำเพลงโฆษณามาประมาน 3 เดือน จนรู้สึกอยากทำค่ายเพลงก็เลยเริ่มทำ Smallroom

ที่มาของชื่อ Smallroom?

คือตอนนั้นเราทำไปสักประมานสองเดือน การรับงานตอนนั้นก็ยังออกบิลรับเงินนามบุคคลอยู่ เป็นเรื่องของระบบการรับเงินจ่ายเงินระบบภาษีเข้ามาด้วย ส่วนนึงเราก็ทำอัลบั้มแรกเสร็จแล้วตอนนั้นคือ Smallroom 001 มี TAXI ของ Bakery Music มาดูแลด้านจัดจำหน่าย ซึ่งเค้าบอกมาว่าควรจดทะเบียนบริษัทนะ เดี๋ยวจะหนีไป

สมัยก่อนก็มีการกลัวกันว่าถ้าเป็นบริษัทจัดจำหน่ายแล้วขายของให้เรา แล้วปรากฏว่าเราหายตัวไปหรืออะไรงี้ เค้าก็เลยอยากให้เราเป็นหลักเป็นแหล่ง ก็เลยตั้งบริษัทชื่อ Smallroom ที่มาก็เนื่องมาจากตอนนั้นเราอัดเสียงของศิลปินหญิงคนนึงเป็นเหมือนเสียงโฆษกอะนะ เป็นงานโฆษณา แล้วเค้าดันพูดขึ้นมา คนนั้นก็พูดขึ้นมาว่า ‘ห้องเล็กนะคะ’ จริง ๆ เราก็ไม่พอใจอะ เราก็ค่อนข้างเก็บกด แล้วก็เลยออกมาเป็นชื่อบริษัท Smallroom

แต่มันก็เล็กจริงอะเราก็ยอมรับตอนนั้นห้องมัน 2×4 เมตร เหมือนรถไฟนั่งหันหน้าไปทางเดียวกัน ก็เล็กมาก เพราะว่าเราแบ่งโซนกับส่วนที่เราทำ Interior ด้านหน้าของออฟฟิศทั้งหมดจะเป็น Interior แล้วด้านหลังเรากั้นเป็นแนวยาว 2×4 เมตร ก็จะเป็นห้องชื่อ Smallroom ครับ

ต้องยอมรับว่ามีศิลปินมากมายที่ผ่านการเคี่ยวกรำจาก Smallroom จนกลายเป็นตัวจริงของวงการ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น พี่รุ่งมีวิธีคัดเลือกคนที่จะเข้ามาทำงานด้วยกันอย่างไร?

โหอันนี้ จริง ๆ มันก็พูดยาก บริบทมันเยอะ แต่ถ้าให้จำแนกจริง ๆ ก็ควรเริ่มจากเรื่องของฝีไม้ลายมือก่อนเรื่องแรก คือเป็นเรื่องฝีมือที่เราชอบ ไม่ใช่ฝีมือเอกอุมาจากไหน แต่หมายถึงฝีมือด้านใดด้านหนึ่ง เช่นแต่งเพลงเก่ง หรือเช่นเขียนคำเก่ง เช่นฟังเพลงเดิร์น อะไรอย่างงี้ครับ

ก็คือมีพื้นฐานรสนิยมเดียวกันก่อน อันนี้คือประมาณนึง แล้วก็หลังจากนั้นข้อ2 น่าจะเป็นเรื่องของแมนเนอร์ เรื่องภายนอก เรื่องบุคลิก เรื่องวิธีการคิดการพูดคุย เรื่องความเป็นครอบครัว ก็จำแนกเป็น 2 ข้อใหญ่ ๆ น่าจะได้ประมาณนี้ในการคิดว่าเราร่วมงานกัน ถ้าย้อนไปในอดีตนะที่ร่วมงานกันแต่ละคนที่เข้ามา เพราะจริง ๆ คำว่าค่ายเพลง มันก็เป็นพาร์ทเนอร์แหละ เราเหมือนแต่งงานด้วยกันอะ เราคิดว่าภาพรวมมาจากอย่างนั้นเป็นหลัก

ยกตัวอย่างวงขอนแก่น ที่หลายคน ณ ตอนนั้นอาจจะมองว่าต่างจากความเป็น Smallroom ที่เค้าคุ้นเคยมาก แต่สำหรับพี่คือส่วนตัวพี่ชอบฝีมือก่อนแหละ อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า การทำเพลง การแต่งเพลง รสนิยม

หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ นี่เป็นรสนิยมของ Smallroom รึเปล่า แต่ส่วนตัวพี่ พี่ฟังเพลงทุกรูปแบบ เพลงไทย พี่ก็โตมากับเพลงไทย ดังนั้นเออ จริง ๆ เรารู้ตัวนะไม่ใช่ไม่รู้ตัว ว่าถ้า Smallroom ออกงานให้ขอนแก่น เราจะถูกกลุ่มเดิมมองว่าเปลี่ยนไปว่ะ หรือไรอย่างนี้

แต่คือมันผ่านมานานแล้วล่ะ ตอนนั้นอะขายไม่ดีเลยพูดตรง ๆ ขอนแก่นก็เป็นวงที่ถูกมองว่าไม่น่าสนใจ ซึ่งพอเวลามันผ่านไปนาน เราก็จะเห็นได้ว่ามีเพลงฮิตของขอนแก่น เปิดอยู่ตามร้านอาหาร ร้านผับ บาร์ อยู่ตลอด ซึ่งพี่ว่าก็ว่ามันเป็นเพลงป็อปที่ดีนะ แล้วก็เป็นวงที่เก่ง นั่นก็เป็นอีกวงก่อน Tattoo Colour ที่เดินทางจากต่างจังหวัดก็คือขอนแก่นกันเกือบหมด แล้วก็มาใช้ชีวิตที่ Smallroom ยุคแรกที่เอกมัย ก็กินนอน ก็ฝ่าฟันกันมา

พี่เคยพูดกับหลายวงว่าพี่ชอบวงที่มาจากต่างจังหวัด เพราะพี่รู้สึกถึงนิสัยใจคอเบื้องลึกของวงเหล่านั้นได้ พี่สัมผัสได้ ว่าน้อง ๆ จากต่างจังหวัดเราน่ารักมากทุกคนที่พี่รู้สึกได้ แต่ก็ไม่อยากให้เปรียบเทียบอะนะว่าเราชอบเด็กต่างจังหวัดกว่าหรืออะไร คือจริง ๆ ก็จะมีเสน่ห์กว่าพูดอย่างนี้แล้วกัน

ความรู้สึกเมื่อศิลปินที่คัดเลือกมากับมือ ดูแล ตบตี ระดมสมองสร้างสรรค์กว่าจะเป็นผลงานสักหนึ่งชิ้น แต่ผลตอบรับดันไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งใจ?

รู้สึกเฟลดิ ยิ่งสมัยก่อนก็ไม่ใช่ Social Media แน่ ๆ ดังนั้นมันเป็นลูกผีลูกคนมันเป็นก้ำกึ่งระหว่างผลิตเทปซีดีกันปริมาณเยอะ ๆ เป็นหลักหมื่น ๆ ยูนิต ซึ่งก็เฟลแบบชัดเจนที่สุดคือตัวเงินนี่แหละ แล้วเรื่องของโปรดักชัน MV สมัยก่อนก็ยังแพง มันไม่ใช่กล้องดิจิทัลหมือนยุคหลัง ๆ นี้แล้ว

คือทุกอย่างมันคือแพงหมด คือตอนนั้น Hard disk recording ในส่วนเพลงช่วยได้จริง แต่ในส่วนที่เหลือมันยังเต็มที่อยู่ เรื่องงบประมาณที่ลงทุนไปใช้เยอะ แต่ถ้าถามว่าเฟลในด้านไหนอ่อ จริง ๆ ก็เจอกับความรู้สึกเฟลมาตลอด

พี่คาดการณ์ได้ยากมากเลยกับการทำเพลง คือเราอยากทำเพลงให้มีมาตรฐานที่ดี แต่ว่าบางทีผลลัพธ์มันไม่สัมพันธ์กัน เราก็จะรู้สึกคอนโทรลไม่ได้ จริง ๆ เราพยายามจะหาว่ามันเป็นเพราะอะไร เพราะเราเป็นพาร์ทเนอร์อย่างที่บอก เหมือนคู่แต่งงาน หรือเราเป็นคู่ค้าของวง เราก็ควรทำให้วงหนึ่งวงไปได้ดี แต่พอมันไม่ Success เราก็จะกลับมาโทษที่ตัวเราเองหมดเลยนะ หรือว่าเราไม่ดี หรือว่าเราทำปกไม่สวย หรือเราทำ MV ไม่ดี ก็จะเป็นแบบนี้

แต่ส่วนใหญ่พี่จะคิดจากตัวเองก่อน พี่ก็จะไม่ค่อยไปโทษข้างนอกเท่าไร จนถึงทุกวันนี้ เพลงหลาย ๆ เพลงที่คิดว่ามันน่าจะ Success พอมันไม่ Success ก็คิดแล้วมันเกิดจากเราหรือเปล่าวะ หรือว่าเราคุมร้องไม่ดีวะ อะไรอย่างงี้ ส่วนใหญ่มันจะไปหมด

ต้องอยู่ในธุรกิจเพลง ที่ความทุ่มเทตั้งใจไม่ใช่สิ่งการันตีความสำเร็จเสมอไป กับความเฟลที่มักจะย้อนมาทำร้ายตัวเองอยู่เสมอ พี่รุ่งผ่านเรื่องราวเหล่านี้ ให้ตัวเองสามารถทำงานต่อไปได้อย่างไร?

โอ้ยยย พี่เคยหาจิตแพทย์เลยนะ เออมันก็เกี่ยวหมดแหละ คือเพราะว่าเราทำงานแบบนี้ เราลงดีเทลทุกเรื่องทั้งเรื่องคน และเรื่องงานอะ จริงๆ งานเพลงถือว่าเป็นงานกลุ่ม พอเป็นงานกลุ่มเราก็จะเจอทั้งนิสัย พื้นฐานทางบ้าน วิธีคิดที่ต่างกัน

แล้วพอเราคอนโทรลไม่ได้ที่จะทำให้มัน Success เราก็จะโทษตัวเอง พอโทษแล้วเองแล้วมันก็จะ.. เกี่ยวข้องกับทางจิตมั้ย เกี่ยวนะ ผ่านมาได้ยังไงหรอ ผ่านไม่ได้หรอก พึ่งหมอ อันนี้คือพูดเลยนะ สมมติใครมีความเครียดหรือทำงานประเภทนี้อยู่แล้วนะ จิตแพทย์ช่วยได้จริง ๆ นะ พี่ใช้อยู่ครับ พี่ใช้จิตแพทย์อยู่ครับ

ทั้งพูดคุย ทั้งกินยาด้วย ซึ่งมันทำให้เราคิดอย่างมีเสต็ปอะ คือเราจะไม่ฟุ้งจนทำอะไรไม่ได้ ถามว่าพี่เคยร้องไห้หนัก ๆ อะไรมั้ย พี่เคยโกรธหนัก ๆ อะไรมั้ย มีตลอดก่อนหน้านี้ เพราะว่าเราไม่รู้ตัว เพราะว่าเราแบกเราเก็บอะไรไว้มันก็ระเบิด จริง ๆ ความเฟลเรามาจากหลายแบบนะ อย่างอย่างคุณพ่อพี่เสียไปเมื่อ 3 ปีก่อนเนี่ย มันเกี่ยวหมดเลย ทุก ๆ เรื่องที่กระทบกับจิตใจอ่ะมีผลต่อการสร้างงาน หรือการดำเนินชีวิต งานประจำ

แล้วมันไม่ได้ไประเบิดลงคนอื่นนะ มันระเบิดจากตัวเองนี่แหละ กับเรื่องเล็กๆ น้อย ๆ อะไรบางที มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ระเบิดได้ จนแฟนพี่เริ่มแบบเฮ้ย ไปพบแพทย์เถอะ

เรื่องนี้ จนทุกวันนี้ เพื่อนที่เป็นผู้กำกับหนังโฆษณายังแซวกันเลย มันเป็นมนุษย์ที่ไม่เชื่อว่าจิตแพทย์และยา จะช่วยได้ยังไง เราต้องเป็นคนคุมตัวเราเองดิ

แต่พี่ก็บอกมันไม่ได้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ ยามันก็เป็นระบบอย่างหนึ่ง คือมันมองเรื่องของเราจะคอนโทรล Mindset เรายังไงอะ พี่ก็เข้าใจคนอย่างมันนะ เพื่อนพี่จะชอบแย้งว่า เอ้ย รุ่งมึงต้องคุมตัวมึงเองดิ ทำไมมึงจะต้องพึ่งยาวะ ยามันช่วยอะไรวะ อะไรอย่างนี้

เราก็ตอบไม่ได้ 100% นะ แต่จากตัวเราเอง จากคนรอบข้าง วง หรือพนักงานในบริษัท จะรู้ว่ายุคหลังมาเนี่ย 3-4 ปีมาเนี่ย พี่เป็นปกติมากขึ้น

ขอย้อนกลับมาที่การทำงานของพี่รุ่งอีกที กับการเลือกวง เลือกศิลปินที่มีแววมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปในการดึงศักยภาพ ดึงตัวตนของศิลปินเหล่านั้นออกมา พี่รุ่งใช้วิธีการแบบไหน?

การดึงศักยภาพหรอ ส่วนใหญ่เราจะวิเคราะห์กันหมด วิเคราะห์ว่าเพลงแบบนี้มันคืออะไรในประเทศนี้ แล้วประเทศนี้มีวงไหนที่เป็นแบบนี้บ้าง เราไม่ควรมีซ้ำ เราควรจะแตกต่างยังไง พอเป็นแบบนี้เราก็จะคุยกันต่อว่ายังไง จะแตกต่างยังไงดี อะไรอย่างนี้ มันก็จะเริ่มจากตัวโปรดักส์ เริ่มจากตัววง โดยพื้นฐานจากคนในวง

“เราคิดว่าคนหนึ่งคนมันไม่สามารถเป็นคนอื่นได้”

ไม่ใช่ว่าเพราะเราอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลองยกตัวอย่าง เราคิดว่าคนหนึ่งคนมันไม่สามารถเป็นคนอื่นได้อะ เหมือนเรารู้ว่า BodySlam คือวงที่ Success แต่จะให้ไปเป็น BodySlam มันไม่ได้หรอก ถูกมั้ย เราก็เลย ต้องนั่งคุยกันว่าจะเป็นแบบเราเองเนี่ยเป็นยังไง

อย่างกรณีของ Polycat จะเห็นว่างานในชุดแรกกับชุดสองมันต่างกันมาก อาจจะสงสัยว่าแล้วเรื่องตัวตน การเป็นแบบของเราเองมันคืออะไร แต่นั่นก็คือพื้นฐานของการมานั่งคุยกัน นั่นคือพื้นฐานของสิ่งที่วงอยากทำ สิ่งที่วงเป็น คือต้องยอมรับก่อน จริง ๆ ก่อนที่ Polycat มาอยู่กับเรา มันก็คือ Ska Ranger อะเนอะ ซึ่งมันก็ยิ่งคนละแนวเข้าไปใหญ่

แต่พอมาออกกับ Smallroom อัลบั้มแรก ซึ่งมันก็เป็นผสมแหละมันก็ไม่ใช่ Ska Ranger ทีนี้พอชุดแรกของ Polycat ไม่ Success มันก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมานั่งคุยกับวงแล้ว เพราะว่าระหว่างทางก่อนที่จะมาเป็นอัลบั้ม 80 Kisses เนี่ย วงได้แตกแนวทางไปหลายแบบ ทดลองไปหลายแบบมาก เช่นทดลองที่จะเป็นแนว EDM ทดลองที่จะมีแร็ปในเพลง

คือทำหลายแบบนะหลังจากอัลบั้มแรก ซึ่งช่วงรอยต่อตรงเนี่ยวงก็มาถามพี่ว่า เอาไงต่อ ก็เลยให้วงไปคุยกันก่อน เพราะว่าทางแบบ EDM ผสมแร็ปหน่อย ๆ พี่ก็ว่ามันทำได้ดีว่ะ แต่มันบอกว่ามันสนใจจะทำแบบย้อนยุค พี่ก็ไม่ติดเพราะว่ายังไม่มีในนี้นะ

เพราะว่าเบื้องต้นต้องมองก่อนว่าในนี้เรามีย้อนยุคแบบนั้นมั้ย ไม่มี ถ้าไม่มีอะ สองแนวทางนี้วงคุยกัน วงก็นั่งคุยกัน 3 คน ว่าเลือกอะไร แต่อันนี้ต้องให้เครดิตวงนะว่าเลือกที่จะไปทางย้อนยุค พอเลือกย้อนยุคปุ๊ป คราวนี้มันก็จะง่ายพี่ละ พี่ก็จะมาเข้าโหมดนี้ได้เลย เพราะว่าพี่เกิดปี 1968 อะ ดังนั้นเพลง วิถีชีวิตปี 60, 70, 80, 90, 2000 พี่ผ่านมาหมดทั้งนั้น

พี่ก็จะโยนว่าในกระบะเนี่ย ย้อนยุคของเอ็งอะมีอะไรบ้าง แล้วก็จะเลือกใช้ ดังนั้นของ Polycat พี่ว่าค่อนข้างโชคดีตรงที่ว่า คือจริง ๆ วง 1 วงอะพอไม่ Success มา จะทำให้ Success อะ เราคุยเรื่องนี้ เพราะนี่เรื่องใหญ่เรื่องที่ทุกคนอยากรู้ คือมันจะบอกยังไงดีอ่ะ ก็คือมันมีคำที่แฝงไว้ในนั้นคือ คำว่าอย่าท้อ เราต้องอย่าท้อ เราก็ต้องฮึดกับมัน

แต่ว่าการที่จะเลือกเวย์ใหม่เนี่ย อันนี้ก็ต้องให้เครดิตเค้าจริง ๆ เพราะว่าวันที่เรามี 3 เพลงแรก คือ เพื่อนไม่จริง เวลาเธอยิ้ม พบกันใหม่ พี่และบริษัททุกคนยังไม่รู้หรอกว่า ‘นะ Polycat’ จะเต้นแบบไมเคิล แจ็คสัน ได้

ไม่มีใครรู้ ณ วันที่เพลงเสร็จเราไม่รู้ว่าเค้าจะเอาโชว์เหล่านี้ไปให้คนดูแบบไหน และเค้าธรรมชาติมั้ย ถ้าอ่านจากบทสัมภาษณ์นี้มันก็จะรู้ว่าเรามองแบบไหน มันดีจริง ๆ อะ พอเราเลือกแนวทางนี้ตัว Frontman อย่าง นะ ก็สามารถที่จะอินที่จะเป็นเค้าเองได้แบบธรรมชาติ

พี่ว่าเราไม่นับแค่เพลง เราไม่นับหนังที่เราใช้ Footage พริกขี้หนู กะ หมูแฮม เราไม่นับเรื่องนี้เลย เรานับแค่ว่าเวลา Polycat เอาเพลง 3 เพลงนี้ไปโชว์ เค้าดันมีสเต็ปแบบนั้น อันนี้พี่บอกตรง ๆ ว่า ถ้าเค้าไม่มีสเต็ปเค้ายืนทื่อ ๆ Polycat ชุดนี้ก็อาจจะไม่ Success นะ

อันนี้พี่มององค์ประกอบเล็ก ๆ หลาย ๆ ส่วนหมด เรื่องแบบนั้นมันคือถ้ามองเป็นค่ายใหญ่ ค่ายใหญ่ก็คงมี Choreography แหละ ต้องมาบอกว่าเฮ้ย นะ คุณต้องเต้นแบบนี้สิ ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดว่ามันต้องอย่างนั้น คืออันนี้มันเป็นธรรมชาติจากวงเอง เค้าไม่ฝืน เค้าสนุกกับมัน พี่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสุดแล้ว และพี่ว่าบอกให้เค้าฝืนทำก็ไม่ได้ด้วย บอกไปก็ไม่ได้ผลดีหรอก

จากการทำงานจะเห็นว่าพี่รุ่งเข้าไปคลุกวงในแทบทุกกระบวนการ แล้วพี่รุ่งวางตัวยังไงให้ศิลปินไม่อึดอัดในการสร้างงาน หรือแม้กระทั่งมองว่าพี่รุ่งเป็นเผด็จการ?

อ่า คำนี้จี๊ด มีเพื่อนหลายคนนะหาว่าพี่เผด็จการ แต่หลายคนที่ทำงานอยู่ด้วยกันก็จะรู้แล้วแหละว่าพี่ไม่ใช่ มันก้ำกึ่งมาก คือช็อตนี้เนี่ยจำได้เลย คือไอ้ ‘รัฐ Tattoo Colour’ มันส่งเพลงขาหมูเนี่ย พี่อ่ะ ทุกวันนี้พี่มีมือขวาพี่ที่ทำงานด้วยกันมา 15 ปีอะ เค้าทันอยู่แล้วตอนมันส่งเพลงขาหมู พี่อ่ะต้องมาถามว่าเฮ้ย นิ้ม ตอนรัฐมันส่งเพลงขาหมู เราทิ่มแหลกเลยหรอ เราไม่โอเคกันหรอวะ

ซึ่งคุยกันแล้วว่าไม่ใช่ รัฐมันจำผิด มันน่ะกดดันเอง ภาพนั้นเราจำได้มันใส่แว่นดำแล้วร้องไห้ เราจำได้ แต่เราจำได้ว่าเราไม่ได้ว่าอะไรเลย แต่ว่ามันน่าจะกดดันจนมันร้องไห้เอง แล้วมันก็กลัวว่าพี่รุ่งจะไม่ให้ผ่าน พี่ขอแก้ตัวเลย ไม่จริงเพราะพี่มีคนยืนยันแล้ว จริงๆวันนั้นพี่ก็คุยกับพี่เล็ก Greasy Cafe เรื่องอย่างนี้เลย เรื่องเหตุการณ์เก่า ๆ ที่เคยส่งงานกัน

แต่ถามว่า พี่เข้าไปมีส่วนร่วมเยอะมั้ย คือมี สมัยก่อนอาจจะเข้มมั้ย เข้ม อย่างที่บอกด้วยความที่พี่ยังเด็ก ตัวพี่ก็มุ่งมั่นสูงแล้วก็ สมัยนั้นเราไม่รู้เลยว่าความมุ่งมั่นสูงมันจะฮิต หรือไม่ฮิตนะ ยังไม่รู้นะ แต่เรามุ่งมั่นสูง เออมันคนละเรื่องกัน ไอ้ความมุ่งมั่นสูงอ่ะมันแบบ เห้ยเท่ว่ะมันต้องแบบนี้สิ แบบว่าพี่เอาตรรกะไหนมาใช้ พี่จะเอาสิ่งที่พี่ฟังมาตั้งแต่ยุค 60 – 2020 เนี่ยพี่ก็จะดึงเอาทุกอย่างมาแหละว่าไอสิ่งที่มันเท่ ไอสิ่งที่พี่สะสมมา เอามาใช้กับเพลง และวงนั้นวงนี้บ้าง ไม่บ้างอ่ะ ก็เยอะ หลาย ๆ อันประกอบกัน

มีอีกเรื่องนึงพี่เป็นมนุษย์เสียงดัง พี่เคยคุยกับพี่ ‘เจ เพนกวินวิลล่า’ เค้าบอกว่าไม่ชอบคนเสียงดัง พี่ก็แบบ พี่ขอโทษว่ะเจ พี่เป็นคนเสียงดัง บ้านคนจีน พี่เป็นลูกคนเล็กสุด บ้านพี่เสียงดัง หลายคนก็สังเกต ไม่ว่าจะออกอากาศหรือหลังไมค์ พี่จะพูดกับเจเบามาก เสียงสองเลย (หัวเราะ)

กลับมาที่เรื่องการตรวจงานการคิดงาน ทำงานร่วมกับวงใด ๆ พี่จะสียงดัง อันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงรู้สึกว่าพี่ดุ พี่เผด็จการ แต่พี่ยอมรับตรง ๆ เลย พี่ไม่ได้เจตนา พี่ไม่กล้าด้วย อย่างหลาย ๆเรื่อง อย่าง เพลงกระเป๋าแบนแฟนทิ้ง The Richman Toy เงี้ย ตอนแรกมันไม่ได้มาแบบนี้ วงทำมาค่อนข้างฉิ่งฉับมากหลั่นล้ามาก Folk song หน่อย ๆ พี่บอกเฮ้ยไม่เท่เลยว่ะ

วงก็เลยอะพี่ปรับให้หน่อย พี่ก็กดดันนะ เพราะว่าแต่ละคนมันเก่งหมดเลย อาจารย์เช่มึงเล่นเบสที่โรงแรม เล่นแจ๊ซ แต่ละตัวมันเก่งหมดเลยอะ พี่ก็ไม่กล้าแต่ก็ต้องเอามานั่งคิดนั่งปรับ ถามว่าพี่กดดันมั้ย พี่กดดัน แต่พี่ไม่ได้ทำเพียงเพราะว่ามันจะฮิตนะ เพราะพี่ไม่ได้รู้ว่ามันจะฮิต พี่แค่รู้ว่าถ้ามันเนิบ ๆ กับแบบเฉี่ยว ๆ พี่อยากให้มันเฉี่ยวๆ ภาพรวมของเพลงน่าจะเท่กว่า แต่ถ้าถามว่าพี่จะเก่งกว่าอาจารย์เช่มั้ย พี่ไม่มีทางเก่งกว่าคนในวง The Richman Toy แน่ ๆ พี่ไม่มีทางเก่งกว่าไอ้เอี่ยว ที่ตีกลองเก่งขนาดนั้น อะไรอย่างนี้ พี่ก็คิดมาตลอดว่าตัวพี่ไม่เก่ง

แล้วมันก็เคยมีเคสนี้ แบบที่พี่รู้สึกโอเค แต่ทำไปแล้ววงไม่โอเค แบบนี้พี่จะถอยแล้ว ให้วงไปคิดว่าจะทำยังไง แล้วพี่ค่อยไปตบให้เข้าที่ แบบนี้ก็มี มันไม่ใช่ว่าพี่ทำแล้ว แล้วทุกคนจะต้องเห็นด้วยหมด มันไม่จริง มันไม่มีจริง มันก็มีแบบที่ไม่โอก็มี แบบนี้พี่ก็จะถอยเลย จะรู้สึกแบบขอโทษว่ะ คือจะรู้สึกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ทำไปแล้วงไม่ชอบก็จะต้องกลัว มันก็กดดันเหมือนรัฐจะส่งเพลงล่ะมั้ง มันก็ต้องเป็นทุกคน

ฉะนั้นถามว่าพี่เผด็จการมั้ย พี่ขอย้อนก่อน 20 ปีนี้ พี่ไม่ได้เผด็จการ แต่พี่อาจจะเสียงดังโผงผาง และก็ไอเดียกระฉูดไปหน่อยในยุคแรก แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแแล้ว เปลี่ยนไปเยอะ

ในวันที่ Smallroom เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไอคอนแห่งยุคเด็กแนว เมื่อมองย้อนกลับไป พี่รุ่งมีความรู้สึกอย่างไรกับช่วงเวลานั้น?

ตลอด 20-21 ปีที่ผ่านมา เรารู้มันมีช่วงหุ้นขึ้น พี่เรียกว่าเป็นช่วงหุ้นขึ้น เราไม่ได้มองว่า เราทำอะไรแล้วมันจะได้หมด เพราะต้องยอมรับว่าวงแต่ละวงแม่งคนละแนวอะ และในหนึ่งวงก็มีเปลี่ยนแนวด้วย นั่นหมายถึงว่าเราไม่ได้มีการยึดโยงอยู่ยาว

โอเค Tattoo Colour อาจจะเป็นวงที่อยู่ยาวในแนวทางที่ชัดเจน ถูกมั้ย แต่วงอื่น ๆ มันไม่ได้แบบว่า จะกินไปได้ตลอดอ่ะ ดังนั้นถามว่าเราแค่รู้ว่ามีช่วงนึงเราหุ้นขึ้น ไอ้คำว่าหุ้นขึ้น มองกลับไปเราก็จะรู้ว่าคำว่า Billing ของบริษัทในช่วงนั้นดีเหลือเกิน ดีจนน่าตกใจ แล้วมันก็ดีแค่ช่วงนั้นอะ เราก็รู้ว่า Billing มันก็ไม่ได้ดีไปตลอดหรอก ถูกมั้ย อันนี้เราวัดแบบรูปธรรมนะ

ส่วนในแง่ความรู้สึกที่มีต่อความสำเร็จยิ่งไม่มีเลย เพราะเรารู้สึกว่าเราส่งเพลงทุกปี ปีละน่าจะประมาณเกิน 24 เพลง เดือนละ 2 เพลงอย่างน้อย ซึ่ง 25-55 เพลงต่อปี มันไม่ได้ Success ทุกเพลงในตลอดเวลา 20 ปีนี้นะ หลาย ๆ คนก็อาจจะไม่รู้ อย่างเช่น เพลงฟ้า ผ่านไป 8 เดือนกว่าจะ success นะ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น

เพลงรอ ของพี่จีนมันจะ Success ได้ไงอะ มันกริบมากเลยตอนแรกมันแค่แสนวิวอ่ะ เอ้ออ คือถ้ามุมของคน Small จริง ๆ  จะรู้สึกเลยว่าเพลงของเราต้องใช้เวลา เหมือนอย่าง Greasy Cafe อ่ะ ผ่านมา 3 ชุด ชุดแรกเพิ่งมาดัง หรือขอนแก่น ซึ่งเลิกมาแล้วแล้วค่อยมาดังอ่ะ อะไรอย่างนี้ พี่เลยบอกว่า Smallroom มันอาจจะอยู่นาน แต่ว่ามันอยู่ด้วยความดีเลย์นะ ไม่ใช่ว่าพุ่ง แล้วก็พุ่ง ๆๆๆ ตลอดไม่มีนะ ไม่เคยอย่างนั้นอยู่แล้ว และทุกอันที่อาจจะมองว่าฮิต มันไม่ได้ฮิตอย่างนั้นตั้งแต่แรก แค่นี้ก็ยากแล้ว จริง ๆ 21 ปีนี้เป็นอะไรที่ยาก

แล้วคือเบื่อมากเลย กับคำว่าเพลงของ Smallroom มันล้ำ มันมาก่อนการณ์ คำนี้อ่ะไม่ชอบเลย ไม่เอา (หัวเราะ)ใครก็อยากมาพร้อมการณ์อ่ะ ต้องมาพร้อมกัน คือถ้าเราทนพิษบาดแผลไม่ไหวแล้วปิดบริษัทไปก่อนหน้านี้จะเป็นยังไง คือคำว่ามาก่อน เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นด้วยนะ เราไม่รู้ว่าเพราะอะไรด้วย แต่มันมักจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งเราพยายามแก้ ก็ยังไม่รู้จะแก้ยังไง เลยคิดว่าภาพความสำเร็จน่าจะเป็นที่มุมมองของคนภายนอกมากกว่า ส่วนเราก็ยังสร้างงานกันต่อไป

แม้พี่รุ่งออกตัวว่า Smallroom อาจไม่ใช่ตัวแทนแห่งความสำเร็จขนาดนั้น แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้ค่ายสามารถยืนหยัดผ่านการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพลงมาได้จนถึงปัจจุบัน?

เอาจริง ๆ ทุกการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาพี่ไม่เคยก้าวนำมันเท่าไหร่ พี่แค่เจอและไปตามนั้น ส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะว่าพี่มาทางคนสร้างสรรค์โปรดักส์ อาจไม่ได้อินในเรื่องนี้ที่มันเป็นมาร์เกตติ้ง ส่วนใหญ่พี่เลยไม่ได้ Beyond มัน พี่ก็จะเมื่อความเปลี่ยนแปลงมันมาก็เข้าไปหามัน ก็ปรับตัวเป็นงาน ๆ บางตัวมากกว่า ไม่ว่าจะเรื่อง MP3 เรื่องผิดสิขสิทธิ์ จนมาถึงยุคนี้ที่ Physical มันหายไปกลายเป็นนระบบ Streaming เป็น Digital มากขึ้น ก็มีบางอย่างที่เราก็ค่อย ๆ ปรับตัวตามเค้าไป

ในวันที่เครื่องไม้เครื่องมือการทำเพลง และช่องทางการโปรโมทเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าใครมีดีพอก็สามารถสร้างงาน และเผยแพร่จนโด่งดังได้ด้วยตัวเอง พี่รุ่งคิดว่ามันส่งผลกระทบต่อค่ายเพลงมากน้อยแค่ไหน?

ดี ก็เห็นด้วย พี่พูดแบบมุมพี่จริง ๆ คือมันทำให้มีโอกาสเกิด New Gen ได้ง่ายขึ้น มีคนสามารถเห็นผลงานได้ง่ายขึ้น ขึ้นมาเหนือน้ำได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าหลาย ๆ คนอยากถามพี่ในฐานะคนทำค่ายเพลงว่า ค่ายมันยังจำเป็นมั้ย และพี่ก็ถามตัวเองเหมือนกัน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปที่พี่บอกตอนแรกว่าการทำค่ายเหมือนเราเป็นพาร์ทเนอร์เป็นเพื่อนคู่คิดกันมากกว่า ดังนั้นการที่ทุกวันนี้ช่องทาง และโอกาสที่เด็กคนนึงทำเพลงอยู่บ้านแล้ว Success แล้วเค้าอยากมีเพื่อนคู่คิดมั้ย ซึ่งเค้าไม่อยากก็ได้ แต่ถ้าเค้าอยากก็ยังมีระบบค่ายที่คอยซัพพอร์ต พี่ตอบแทนคนทั้งโลกเลยว่า ค่ายเพลงมันก็ยังมีอยู่ ค่ายมันก็ยังจำเป็น

เพียงแต่ว่ามันไม่ได้แปลว่าเข้าค่ายแล้วมันจะ Success ก็จะย้อนกลับไปเรื่องเดิมว่าค่ายมันคือเพื่อนคู่คิด ไม่ได้การันตีว่าคุณทำเองปล่อยเองแล้วมัน Success พอมาอยู่ค่ายมันจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน ทุกวันนี้พี่เช็คกับ Dept กับ Daynim ตลอดว่าเฮ้ย เอ็งโอเคมั้ยวะ ที่มาอยู่ด้วยกัน เพราะก่อนหน้านี้เค้าสร้างงานเองปล่อยลง YouTube เอง พอพี่เซ็นเข้ามาในบริษัทพี่ก็จะเช็คตลอดว่ามันช่วยได้มั้ย

ก็น่าจะคิดตรงกันว่าเราเป็นเพื่อนคู่คิด อีกอย่างการอยู่ค่ายพี่ว่ามันเคว้งน้อยกว่าการทำเพลงอยู่บ้าน อย่างน้อยเข้ามาบริษัทเห็นตารางว่าวงนี้ ๆ ๆ กำลังจะออก มันก็ช่วยบิลท์แล้ว โห พี่ ของผมเดือนไหนดี นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของการที่อยู่ค่าย

ในขวบปีที่ 21 ของ Smallroom พี่รุ่งมองตัวเองยังไง ยังคงลุยงานหนักอยู่อีกมั้ย?

คงทำงานหนักไม่เท่าเมื่อก่อนแน่ ๆ หรืออีกนัยหนึ่งอาจเพราะประสบการณ์เยอะขึ้นกว่าตอนแรกเริ่ม ตอนช่วงปลุกปั้นค่าย มันก็เลยไม่ต้องใช้เวลาเยอะเท่าเดิมในการทำงานแต่ละชิ้น แต่สมัยก่อนเรารู้สึกว่าเรายังไม่เก่งไม่มีประสบการณ์ เราก็เลยต้องขยัน

ณ วันนี้ในการผลิตโปรดักส์หนึ่งชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือวง เราคุยกันน้อยกว่าแต่ก่อน แต่พี่ไม่ได้บอกว่าคุยน้อย หรือ คุยเยอะดีกว่ากันนะ แค่เพราะประสบการณ์อย่างที่บอก เหมือนน้องวงนี้คุยว่าแบบนี้นะ เราก็จะเก็ทได้ไว นึกภาพในออก กาง Ref. มาได้เลยว่าที่เอ็งพูดหมายถึงแบบนี้ใช่มั้ย มันก็เลยใช้เวลาน้อยลง แต่บางทีคุยเยอะอาจจะเป็นทางที่ดีกว่าก็ได้ มันก็แล้วแต่งาน อย่างตอน Polycat ที่จะทำชุดสอง แนวย้อนยุค คือเราคุยกันนานมาก คุยกันแต่เรื่องยุค 80

รู้สึกอย่างไรกับรางวัล Lifetime Achievement ที่เพิ่งได้รับไปเมื่อต้นปี?

เราเคยสงสัยนะ ว่าเราทำงานมาเราไม่เคยได้รางวัลเลย แล้วถ้าจะได้จริง ๆ มันจะได้ในสาขาอะไรวะ แต่คือแค่สงสัยนะ ไม่ได้หมกมุ่น หรือถวิลหาอะไรเลย ณ วันที่ Guitar Mag มาบอกว่ารับได้รับรางวัลสาขา Lifetime Achievement มันก็ตรงนะรางวัลของคนเก่าแก่อะ ถามว่าทำค่ายมา 21 ปี แก่มั้ย ก็แก่นั่นแหละ แค่เรายังไม่อยากแก่ (หัวเราะ)

ก็ต้องฝากไปทาง The Guitar Mag นะ ว่าเราก็รู้สึกเป็นเกียรติ รู้สึกภูมิใจ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ถนัดในการขึ้นรับรางวัล ตอนนั้นก็คิดคือจะขอไม่ไปรับได้มั้ย หรือรับคนละครึ่งได้มั้ยเพราะ Guitar Mag ก็อยู่มานานเหมือนกัน (ยิ้ม)

จนถึงวันรับเราก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไร มีแต่ไอ้พวก Tattoo Colour มันก็จะกดดัน มันไปเป็นกองเชียร์ คอยบิลท์เราตั้งแต่บ่าย พี่ต้องคิดแล้ว พี่ต้องเตรียม พี่ต้องจดคำพูด เราก็ไม่เอาเว้ย ก็ขึ้นไปแบบไม่ได้วางแผนอะไร แต่ก็ตื่นเต้นนะ เพราะเราไม่ค่อยได้ออกไปข้างหน้าอย่างนั้นเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ทำงานอยู่ออฟฟิศนี่แหละ

เออ… แต่ยังไม่ได้บอกหม่าม้าเลยว่ะ คิดไปคิดมาจริง ๆ ได้รางวัลควรจะบอกหม่าม้า เดี๋ยวอาทิตย์นี้กลับไปบอก

คำถามสุดท้าย… ถ้าไม่นับเรื่องของรางวัลซึ่งเป็นตัวแทนความสำเร็จที่สังคมมอบให้ โดยส่วนตัวพี่รุ่งมองว่าอะไรคือรางวัลในชีวิตนับตั้งแต่เริ่มทำค่าย Smallroom เป็นต้นมา?

โดยส่วนตัวพี่ ทั้งหมดตอนนี้มันก็คือรางวัลชีวิตนั่นแหละ พี่ไปเจอเพื่อน ๆ ที่เรียนมาด้วยกัน หรือน้อง ๆ คนรู้จัก เค้ามักจะบอกว่าพี่โชคดีที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ แล้วไม่ต้องมีคนคอยควบคุม อย่างที่บอกตอนที่พี่เคยเครียดแล้วไปพบจิตแพทย์ และได้รู้ว่าเราสามารถยกก้อนความเครียดนั้นออกได้ ดังนั้นสิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตประจำวันตอนนี้ มันก็คือ ทำงาน หาเงิน ดูแลครอบครัว กิน นอนหลับได้ สุขภาพดี

แล้วในเมื่อปัจจัยเหล่านี้มันก่อตัวเกิดขึ้นมาในชีวิตพี่เป็นเวลา 21 ปี พี่ว่าพี่ Success นะ นี่แหละคือรางวัล เพราะว่าตอนที่เครียดหนัก Billing ตัวแดงจนต้องไปขอยืมคน มันแค่ 2 ครั้งนะ กับ 21 ปีมันถือว่าน้อยมาก แล้วมันก็ขาดแค่ล้านเดียวด้วยนะ แต่มันเครียดชิบหายเลย สมัยนั้นมันยังเอาก้อนความเครียดออกไปไม่ได้ พอตอนนี้เอาออกได้ ถ้ามองชีวิตทุกวันนี้ กับคนที่อยู่ กับวงที่อยู่ กับ Staff ที่อยู่ด้วยกัน มันมีความสุขนะ มันคือความสุข

ต้องถือว่าพี่โชคดีแล้ว ดังนั้นเรื่องที่เรายังต้องสู้ไม่ว่าจะสถานการณ์ COVID-19 หรือเรื่องอื่น ๆ ที่ยังต้องดิ้นรนอะไรอย่างนี้เราก็ต้องยอมรับมันได้ เพราะถือว่าเราโชคดีมากแล้วในภาพรวม

ส่วนเรื่องเป้าหมายของค่าย Smallroom เรื่องนี้พี่ไม่เคยวางไว้เลยเว้ย แปลกมั้ย หลายคนที่มาสัมภาษณ์เราเรื่องเป้าหมาย แรงบันดาลใจใด ๆ ก็แล้วแต่ ข้อเสียคือเราไม่เคยวางเว้ย อย่างที่บอกเราทำ Interior ตามสายวิชาที่เรียนมา แล้วเราก็อยากหารายได้เสริมด้วยโปรดักชันเพลงซึ่งเป็นอีกสิ่งที่เราชอบ จนวันหนึ่งสามารถเลิกทำ Interior มาทำทางนี้เป็นหลัก นั่นหมายความว่ามันโอเคแล้วนะ

อ้อ ถ้าอยากได้เป้าหมาย เรามีเป้าหมายที่เคยพูดไว้ตั้งแต่ 12 ปี Smallroom แล้ว คือพี่อยากจะส่งไม้ต่อ เพราะพี่ไม่มีลูก สิ่งที่พี่มองในอนาคตคือ ถ้าในเมื่อสิ่งที่พี่ทำอยู่ตอนนี้พี่มีความสุข แล้วพี่ไม่มีทายาท พี่ก็ควรจะให้คนในนี้มีความสุขต่อ พี่มองอย่างนั้น มันคือการส่งไม้ต่อ แต่ถ้าถามว่าส่งไม้ต่อแล้วจะวางมือมั้ย ยังไม่รู้ วางแบบไม่วางมั้ง วางแบบเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง (หัวเราะ)

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line