

Life
ชีวิตแตกสลายแต่หัวใจต้องไปต่อ ‘5 หนังสือปรัชญาญี่ปุ่น’ที่สอนว่าบาดแผลอยู่แค่ชั่วคราว
By: unlockmen May 7, 2020 183487
“หัวใจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแตกสลาย” Oscar Wilde นักเขียนมากฝีมือชาว Irish กล่าวไว้แบบนั้น บางคนอาจเห็นด้วย บางคนอาจไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าหัวใจหรือชีวิตจะแตกสลายเพียงใด เราก็ยังต้องดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอดในโลกใบนี้ต่อไป
คำถามก็คือถ้ามันแตกสลายถึงเพียงนั้น อะไรจะทำให้เรายังก้าวต่อไปได้? บางคนอาจมีคำตอบอยู่แล้ว บางคนอาจไม่แน่ใจกับคำตอบที่มี หรือบางคนเคว้งคว้างอยู่บนความเจ็บปวดแหลกสลายและไม่รู้จะต้องเดินไปทางไหนต่อ
UNLOCKMEN ไม่มีคำตอบถูกต้องตายตัวให้ แต่เราอยากแบ่งปันหนังสือ 5 เล่มที่ว่าด้วยปรัชญา แก่น จิตวิญญาณจากญี่ปุ่น ที่อาจไม่ได้บอกเราว่า “ห้ามแตกสลาย” แต่ 5 เล่มนี้จะบอกเราว่าชีวิตก็เป็นเช่นนี้ มีบาดแผล มีเจ็บปวด มีแหลกสลาย แต่หัวใจของเราต้องไปต่อให้ได้ และได้ในแบบที่ยังรัก เคารพและมีความสุขกับเส้นทางที่เรามีเหลืออยู่
บางครั้งชีวิตที่แหลกสลายคือการไม่อาจหาความหมายของการตื่นมาแต่ละวันได้ เราไม่รู้ว่าเช้านี้เราตื่นมาทำไม แค่ลืมตา หายใจ ไปทำงาน ก้มหน้าก้มตา กินข้าว กลับบ้าน รถติด หมดเวลาเข้านอน วนไปไม่รู้จบ เพื่อเงินเดือนหรือ? หรือเพื่อเอาเงินเดือนมาใช้ชีวิตและหาความสุขอีกทีกันแน่? แล้วถ้ามันเป็นแบบนั้นทำไมเราจึงตื่นมาแล้วพบว่าแต่ละเช้าช่างไร้ความหมายเช่นนี้
“อิคิไก” จึงเป็นแก่นแท้ที่ชวนให้เราค้นหาความหมายและความสมดุลแห่งชีวิต ว่าทำไมเราถึงตื่นมาใช้ชีวิตในแต่ละวัน อะไรกันแน่ที่มีคุณค่าและสำคัญกับเรา เราอาจคิดว่าที่เราแตกสลาย เผชิญปัญหา และปราศจากความสุข เป็นเพราะเราเจอเรื่องเลวร้ายสารพัน เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยหายนะและการทิ่มแทง
แต่อิคิไกจะชวนเราไปสำรวจชีวิตของตัวเราเองในมุมใหม่ และเมื่อเจอความหมายที่จิตวิญญาณหลงทางของเราเจอแล้ว เมื่อนั้นอุปสรรคหรือบาดแผลก็เป็นเพียงแค่ขั้นบันไดหนึ่งที่เราต้องก้าวผ่านเพื่อไปให้ถึงความหมายของชีวิตที่เราค้นเจอ
เพราะแหลกสลายอาจไม่ได้หมายความว่าจบสิ้น เพราะในชิ้นส่วนรวดร้าวแตกหักของชีวิตก็อาจเป็นบทเรียนที่ดีได้ คินสึงิ (Kintsugi) คือปรัชญาว่าด้วยมุมมองแบบคนญี่ปุ่นที่มีต่อความแหลกสลายพังพินาศของชีวิต เพราะพวกเขามองว่าการแตกหักไม่ใช่จุดจบ แต่มันอาจคือจุดเริ่มต้นก็เป็นได้
เพราะไม่มีใครหลีกหนีความปวดเจ็บ แหลกสลายลงได้ เราจึงต้องรู้จักการเยียวยา สมานแผล และกลับมาใช้ชีวิตก้าวต่อไปให้แข็งแกร่งขึ้น เป็นสุขขึ้นและเข้าใจมนุษย์อื่น ๆ ที่กำลังเผชิญความเจ็บปวด คินสึงิ (Kintsugi) ไม่ได้บอกให้เราลืมบาดแผล หรือโยนทิ้ง แต่พวกเขาเชื่อในการซ่อมแซมรอยปริแตกเหล่านั้น พร้อมอยู่กับมันและเรียนรู้จากมัน
ในเล่มนี้เราจะยิ่งเข้าใจว่าเราไม่ได้เจ็บปวดเพียงลำพัง เพราะผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ที่ตัวเขาเองก็มีบาดแผลยากจะเยียวยา และต้องรักษากับมนุษย์ผู้เจ็บปวดอีกหลายชีวิต ในแต่ละหน้ากระดาษเราจึงจะได้เรียนรู้บาดแผลและหนทางเยียวยาของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กับการได้เปิดเปลือยและเยียวยาบาดแผลของเราไปด้วยในคราวเดียวกัน
คุณมองความไม่สมบูรณ์แบบด้วยสายตาแบบไหน? ทุกครั้งที่เจอรอยบูดเบี้ยวของชีวิตคุณรู้สึกเช่นไร? มนุษย์จำนวนไม่น้อยที่มองชีวิตเป็นประติมากรรมชิ้นเอก ไร้ร่องรอยแตกหัก สมบูรณ์ทุกกระเบียดดังใจ และเมื่อความไม่สมบูรณ์แบบมาเยือนจึงเจ็บปวดแหลกสลาย ราวกับทั้งชีวิตจะไม่มีอะไรดีหลงเหลืออยู่เลย
“วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi 侘寂)” คือปรัชญาจากแดนปลาดิบที่บอกเราให้โอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบ อยู่กับรอยแผลในชีวิต ตำหนิจากกาลเวลา และความเปลี่ยนแปลงที่สาดซัดเข้ามา หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าในช่วงเวลาอันยากลำบาก ที่สร้างบาดแผล ฝากรอยบิ่นไว้ให้ชีวิตและความรู้สึกของเรา เป็นเรื่องสามัญธรรมดา
เพราะทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและความไม่แน่นอน แต่เราทุกคนล้วนอยู่ภายใต้ความไม่สมบูรณ์แบบทั้งนั้น หนังสือจะชวนให้เราเห็นหนทางแห่งการยอมรับ การเข้าใจ ไปจนถึงการสามารถเห็นความงามในรอยแยกแตกร้าวแห่งชีวิตได้อย่างสงบนิ่งและเป็นสุขอย่างไม่น่าเชื่อ
“เมื่อไม่สมบูรณ์จึงงดงาม”
เหตุผลหนึ่งที่ใครหลายคนนิยามว่าคือความเจ็บปวดของชีวิตช่วงนี้คือเรื่อง “ธุรกิจ” อย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากหลาย ๆ สิ่งอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี “ริเน็น” เล่มนี้จึงจะพาคุณก้าวไปสำรวจปรัชญาการบริหารธุรกิจแบบญี่ปุ่น ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของเรายืนหยัดฝ่าความแปรปรวนราวพายุคลั่งครั้งนี้ไปได้
ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมร้านค้าเจ้าดัง ร้านอาหารเจ้าเด็ดหลาย ๆ ร้านของญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงแค่ประสบความสำเร็จและขายดี แต่ยังยืนหยัดเปิดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ค้าขายกันมาเป็นร้อยปี ความลับของการยืนหยัดผ่านยุคสมัยและหลายวิกฤตการณ์มาได้อยู่ที่ปรัชญา “ริเน็น” นี่เอง
ความดีงามอีกอย่างของเล่มนี้คือได้ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่คลุกคลีกับธุรกิจญี่ปุ่นมานานเป็นคนเล่าเรื่องและวิเคราะห์ให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ส่วนใครที่อยากทำความรู้จักอาจารย์ก่อนหาหนังสือเล่มนี้อ่าน อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ ZERO TO HERO: ‘เกตุวดี MARUMURA’ จากเด็กสาวผู้อ่านชินจังสู่นักเล่าเรื่องไลฟ์สไตล์ญี่ปุ่น
คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่า “ความเป็นญี่ปุ่น” นั้นเข้มข้น โดดเด่นและเต็มไปด้วยอัตลักษณ์ยากจะหาใครเหมือนขนาดไหน ไม่ใช่แค่ชาวเอเชียเท่านั้นที่สัมผัสได้ แต่ในภาษาฝรั่งเศสถึงกับมีคำนามที่ใช้เรียกความคลั่งไคล้ศิลปะ วัฒนธรรม และสุนทรียะแบบญี่ปุ่นที่ส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะ
“Japonisme” คือคำนั้นที่ว่า และเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ที่จะพาเราไปสำรวจปรัชญาญี่ปุ่นแบบองค์รวมว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในความเป็นญี่ปุ่นและทำให้ความเป็นญี่ปุ่นโดดเด่นขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ชีวิตเราไม่ง่าย ต้องเผชิญความยากลำบากครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเจอการได้อ่านและนำปรัชญาญี่ปุ่นหลายแขนงมาปรับใช้กับชีวิตให้เราเห็นรายละเอียดบางอย่างชัดขึ้น อาจช่วยให้เราเป็นสุขหรือมีเรี่ยวแรงจะสู้ต่อไปได้ดีขึ้นกว่าที่เคย
เพราะในช่วงเวลาที่ชีวิตไม่เจ็บปวด ความสุขของเราอาจยิ่งใหญ่ดังฝัน แต่ในยามที่อะไร ๆ ก็ไม่ง่าย ความสุขเล็ก ๆ และรายละเอียดในชีวิตประจำวันอาจมีความหมายเกินกว่าจะปล่อยให้ตัวเองมองข้ามไปได้อีก
ในช่วงเวลาที่ชีวิตเผชิญความเจ็บปวด คำตอบและทางออกอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว หนังสีอคือเพื่อนคนสำคัญที่จะพาเราโบยบินไปหาคำตอบใหม่ ๆ หรือพาเราไปเห็นคำตอบและหนทางเยียวยาของผู้อื่น เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อในความเรียบง่ายและมีปรัชญาลึกซึ้งเฉพาะตัว แม้เราคงไม่ได้เดินทางไปญี่ปุ่นง่าย ๆ เหมือนก่อน COVID-19 แต่หนังสือว่าด้วยปรัชญาญี่ปุ่น 5 เล่มนี้จะพาคุณไปสัมผัสจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นที่เชื่อว่า แม้เราจะแตกสลาย แต่เราก็เยียวยาได้และต้องไปต่อ