

Entertainment
‘THE PROMISED NEVERLAND’ แอนิเมชันดาร์กหักมุม เล่นแง่กับความสิ้นหวังจากปากกา SHIRAI KAIU
By: unlockmen April 22, 2020 182513
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ THE PROMISED NEVERLAND
ใครที่เป็นคอมังงะหรือแอนิเมชันญี่ปุ่นอยู่แล้วจะเข้าใจคำว่า “การ์ตูนไม่ใช่เรื่องของเด็ก” ได้เป็นอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่าแค่ลายเส้นกับภาพเคลื่อนไหวในจอ หลายเรื่องเล่าสภาพสังคมอย่างขบขันด้วยแนวแฟนตาซีได้อย่างลึกซึ้ง หรือบางเรื่องก็เล่าเรื่องราวดราม่าและความโหดร้ายของชะตาชีวิตมนุษย์จนนั่งดูไปก็ชวนให้รู้สึกสะอึกตาม
ท่ามกลางแอนิเมชันมากมายใน Netflix ตอนนี้ นอกจากเรื่องราวที่เราคุ้นเคยอย่าง ไซคิ, Attack on Titan, ซีรีส์ Ghibli เราอยากชวนทุกคนไปดูเรื่องราวดาร์ก ลึก และหักมุมของ “The Promised Neverland” หรือในชื่อไทยคือ “พันธสัญญาเนเวอร์แลนด์” ผลงานของอาจารย์ Shirai Kaiu ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ชูเอชะเครือจัมป์มาในปี 2016 ที่หลายคนออกมาพูดตรงกันว่าโคตรดี และเราก็พิสูจน์เองแล้วว่ามันดีจริง ๆ
เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งเรื่องที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักเสพการ์ตูนสายดาร์ก หรือชอบการ์ตูนเรื่องข้น ๆ เพราะสะท้อนมุมมองความคิด สังคม ได้ลึกผ่านตัวละครที่มีอายุไม่ถึง 12 ปีเท่านั้น ฉีกพลอตเดิม ๆ ที่เคยดูเพราะตัวละครเอกเป็นเพียงเด็กมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้มีพลังพิเศษอะไรมากกว่ามันสมองระดับเด็กแต่ต้องสู้กับศัตรูที่แกร่งกว่า จนทำให้คนดูอย่างเราต้องรู้สึกลุ้นตามกับการกระทำของเด็ก ๆ
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง เด็กทุกคนได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีอาหาร มีที่พักที่สะดวกสบาย และมี “หม่าม้า” หรือคุณแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ยังเป็นคนฉลาด ใจดี อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า ก็เป็นบ้านเด็กกำพร้าที่น่าอยู่ ไม่ได้เหมือนบ้านเด็กกำพร้าในความคิดของเราที่ต้องเจอความลำเค็ญอะไร และได้รับการศึกษา รวมทั้งวัดระดับ IQ จากการทดสอบสม่ำเสมอเพื่อจัดลำดับ
เด็กโตสามคนวัย 11 ขวบที่เป็นพี่ใหญ่สุด และเป็นตัวท็อป 3 คนที่ได้คะแนนสูงสุดตอนนี้ ได้แก่ เอมม่า นอร์แมน และเรย์
นอร์แมน (ผมสีขาว), เอมม่า (ผมสีส้ม) และ เรย์ (ผมสีดำ)
ด้วยความที่เป็นบ้านเด็กกำพร้า วันหนึ่งเด็ก ๆ จะต้องมีคนมาอุปถัมภ์พวกเขาไป สิ่งที่แปลกคือแม้ว่าเด็กภายในสถานเลี้ยงดูแห่งนี้จะรักและกลมเกลียวกันขนาดไหน แต่ทุกคนที่ออกไปก็ไม่เคยติดต่อกลับมาเลย กระทั่งวันหนึ่งเมื่อหนึ่งในเด็กที่มีผู้อุปถัมภ์กำลังถูกส่งตัวไป แต่ลืมตุ๊กตาตัวโปรดไว้ เอมม่าและนอร์แมน จึงอาสาออกไปคืนและพบว่าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้แท้จริงแล้วเป็นฟาร์มปศุสัตว์เนื้อมนุษย์ ที่มีไว้สำหรับปีศาจ พวกมันกินทั้งเนื้อและสมองของเด็ก ๆ
ส่วน “หม่าม้า” ที่แสนดีก็อยู่ข้างเดียวกับปีศาจพวกนั้น เป็นคนส่งพวกเขาไปตายอย่างเยือกเย็น ทุกความไว้ใจพังทลายลงและเด็กโต 3 คนที่รู้เรื่องนี้ต้องพยายามวางแผนทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตัวเองและน้อง ๆ กลายเป็นอาหาร
โดยรวมแล้วเนื้อเรื่องจะกระตุกมุมมองของเราตลอดเวลาให้รู้สึกสิ้นหวัง มีหวัง และถามตัวเองว่า ถ้าเราต้องเป็นหนึ่งในตัวละครเบื้องหน้า เราจะตัดสินใจและเลือกใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
ดีเทลของเรื่องเราอยากให้ทุกคนไปลองดูกันเอง เพราะรายละเอียดมันคุ้มค่ากับเวลาแน่นอน แต่จะขอวิเคราะห์ความน่าสนใจเพิ่มจาก 3 ประเด็นที่เราชื่นชอบและเขาถ่ายทอดไว้ได้ดีจริง ๆ ทั้งนี้ เราเน้นเล่าจากมุมมองของแอนิเมชันมากกว่าในมังงะ เพราะน่าจะเป็นช่องทางที่ทุก ๆ คนสะดวกเข้าไปดูมากกว่า
“เนื้อวัวชั้นดีมันแทรก ละลายในปาก ได้จากวัวที่ถูกเลี้ยงดูอย่างดี ในสภาวะที่สุขสบาย ไม่เครียด ทุกตัวจะประทับเลขประจำตัวและบันทึกข้อมูลไว้”
ว่ากันด้วย conflict หลักของเรื่องอย่างการฟาร์มมนุษย์เพื่อส่งไปให้ปีศาจหรือยักษ์กิน ภาพที่แอนิเมชันเรื่องนี้นำเสนอมันทำให้เรารู้สึกว่าปีศาจช่างโหดร้ายทารุณ ทำกับเด็กอายุแค่ 3-12 ขวบได้ยังไง พวกเขาไม่มีทางสู้ด้วยซ้ำทั้งแรงและสติปัญญา ซ้ำร้ายยังโชว์ให้เห็นว่า “เด็ก ๆ” ยังต้องมาเป็นศัตรูกับผู้ใหญ่ที่พวกเขาไว้ใจและเลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดี ยังไงก็ไม่มีทางหนีไปจากสถานที่นี้ได้
ระหว่างที่นั่งดูและลุ้นตาม เรารู้สึกว่าภาพที่เขานำเสนอ มันทำให้เราคิดถึงเนื้อวากิว หรือเนื้อสัตว์จากฟาร์มปศุสัตว์อื่นในโลกความเป็นจริง ทำไมเราจึงมองเห็นความโหดร้ายและดาร์กของมันโดยไม่ทันคิดมาก่อนว่าไม่ได้แตกต่างกันกับสัตว์ที่เป็นอาหารให้เรา ซึ่งถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีโดยไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องอยู่ในวงจรเดียวกันเพื่อเป็นอาหาร รายละเอียดที่คล้ายคลึงนี้อยู่ในการออกแบบไปถึงระดับการติดสัญญาณข้อมูลการติดตามที่ติดอยู่หลังใบหูมนุษย์ในเรื่อง ที่มองแล้วไม่ต่างจากสัตว์อื่น ๆ ที่เรารับรู้มาในโลกความเป็นจริง
สัตว์เหล่านั้นล่ะจะรู้สึกอย่างไร หรือเรามองเห็นความสำคัญเพียงเพราะเป็นเผ่าพันธุ์ของตัวเองเท่านั้น
เหรียญมี 2 ด้าน ถึงตัวละคร “ผู้ใหญ่” ทุกตัวภายในเรื่องจ้องแต่จะขุนและจะขายเด็กให้ออกไปเป็นอาหาร แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางถึงท้ายเรื่อง ตัวละครเหล่านี้จะเปิดเผยความรู้สึกของการเป็น “เหยื่อ” และเรื่องราวภายในอีกด้านที่ทำให้เราเกลียดไม่ลง
“หม่าม้า” มนุษย์แม่ผู้แสนดีเลี้ยงดูเด็กกำพร้า แต่กลายเป็นศัตรูเคยเป็นอดีตเด็กกำพร้าที่จะถูกส่งออกไปกิน แต่ด้วยความฉลาด และการเลือกมีชีวิตต่อ ทางเลือกของเธอเพียงอย่างเดียวจึงเป็นการรับตำแหน่งจาก “หม่าม้า” คนเดิมเพื่อเป็นแม่อุปถัมภ์ของบรรดาเด็กกำพร้า ซ้ำร้ายยังต้องเป็นหนึ่งในระบบฟาร์มที่รับน้ำเชื้อและคลอดลูกออกมาเพื่อเป็นอาหารอีกด้วย
ที่สำคัญ แม้พวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่รอดชีวิต แต่ก็ถูกผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไว้ในร่างกายเพื่อป้องกันการหลบหนีเช่นกัน หากก้าวออกจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าไป กระแสไฟฟ้าจะทำปฏิกิริยากับร่างกายจนทำให้หัวใจหยุดเต้นและตายในที่สุด เรื่องนี้ถ้านับแง่ความรู้สึกและความเป็นมนุษย์ที่มี ทางเลือกเพื่อมีชีวิตต่อไปแบบผู้ทรยศ ซึ่งต้องส่งเด็กที่ตัวเองฟูมฟักและผูกพันไปเป็นอาหาร ก็นับเป็นความรู้สึกทุกข์ทรมานที่เธอต้องแบกรับไว้ตลอดไป
แม้จะถูกมองเป็นตัวร้าย แต่เราจะคิดตามสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ถ้าให้เลือกระหว่างยอมตายแล้วหนทางชีวิตของคนอื่น ๆ หลังจากนี้ เราก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เข้าลูปเดิม ๆ กับอยู่ต่อไป ทำร้ายคนอื่นแต่ยังคงรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้ เราจะเลือกหนทางไหน
“ฉันจะพาครอบครัวออกไป”
ประโยคหนึ่งในเรื่องที่เอมม่า ตัวละครเอกเด็กที่เป็นเด็กผู้หญิงพูดขึ้นทันทีที่เด็กโตทั้ง 3 คนพยายามหนีจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
เอมม่า หนึ่งใน 3 เด็กโตที่ได้คะแนนสูงสุดด้าน IQ
พวกเขาต่างอยากจะหนีออกจากฟาร์มและมีศักยภาพพอจะเอาตัวรอดได้ แต่เอมม่าที่พอดูแล้วหลายคนต้องพูดตรงกันว่าเป็น “ตัวละครโลกสวยจะพาเราตายกันหมด” มักจะยืนหยัดหนักแน่นว่า เธอจะไม่หนีคนเดียว และจะไม่หนีพร้อมเพื่อนแค่ 3 คน แต่จะต้องพาเด็กคนอื่น ๆ ในนี้ให้รอดไปพร้อมกัน นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นแต่ก็ชี้ให้เห็นว่า สังคมก็ยังมีคนที่คิดเพื่อคนอื่นและทำเพื่อคนอื่นอยู่เช่นกัน
เอมม่าแม้จะเป็นเด็กฉลาดในเรื่อง แต่ความคิดหลักก็ไม่ซับซ้อนนัก เพราะเป็นคนใจอ่อน มองโลกในแง่ดี ในที่สุดคุณสมบัติที่เธอมีเผื่อแผ่ถึงคนรอบข้างอย่างนอร์แมนและเรย์ที่เคยเชื่อว่า ลดจำนวนคน = การลดจำนวนภาระเพื่อหลบหนี เพิ่มเปอร์เซ็นต์รอดมากขึ้น ให้กลับมาปรับเปลี่ยนเป็นวิธีหาหนทางเพื่อพาทุกคนไปพร้อมกันแทน
เชื่อว่าช่วงชีวิตหนึ่งของทุกคนคงต้องเคยเผชิญความรู้สึกแบบนี้ จะเข้าไปเปลืองตัวเพื่อช่วยคนอื่นแล้วเราลำบากขึ้นหรือไม่ได้อะไร แต่รู้ว่าผลลัพธ์นั้นจะดีกับส่วนรวม หรือแค่พาให้เราและคนที่รักรอดพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ก็พอ
สุดท้ายเรื่องราวของแอนิเมชันเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร (ขออุบไว้ไม่สปอยล์) เราจะได้เห็นการดิ้นรนมีชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง และมหัศจรรย์ของมนุษย์ที่โชว์ให้เห็นว่าทุกข้อจำกัด หากเราไม่ยอมแพ้ ย่อมมีหนทางของมันอยู่เสมอ
สิ่งที่โหดร้ายสำหรับสิ่งมีชีวิตที่สุดคือความหวัง
หวังแล้วก็ผิดหวัง
หวังแต่ต้องหมดหวัง
หวังแล้วต้องยอมรับชะตากรรมเพื่อทำตามหนทางอันสิ้นหวัง
“The Promised of Neverland” เรื่องนี้ ที่ทำให้เรียนรู้มุมมองความสิ้นหวังจากความรู้สึกเสียเปรียบและการต้องใช้ชีวิตไปวัน ๆ เพื่อรอวันตายว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร อีกด้านของการต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวังต้องแลกอะไรมาบ้าง และไม่ว่าคุณดูจบแล้วจะสมมติตัวเองไปเป็นตัวละครใดและตัดสินใจแบบไหน เราว่า “มันคงไม่มีถูกผิด”
ขอแค่รู้จักตัวเอง และยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราจะไม่หลงทางหรือเสียใจกับสิ่งที่กำลังทำ
ใครที่อยากอ่านอยากเก็บแบบมังงะ เรื่องนี้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Siam Inter Comic ปัจจุบันอัปเดตที่เล่ม 16 แล้ว ส่วนถ้าชอบดูแนวแอนิเมชันมากกว่า ก็เข้าไปดูซีซั่นแรกได้เลยทาง Netflix ส่วนซีซั่น 2 ประกาศฉายเดือนตุลาคมปี 2020 นี้ อย่าลืมติดตามกันได้