

Play
รู้จัก “เกมหนอน” เกมแอ็กชันยอดฮิตที่ปรากฏในไลฟ์ของ GAME CASTER ไทยทั่วโลกออนไลน์ช่วงนี้
By: unlockmen February 12, 2020 175416
คนที่คุ้นกับการเล่นเกมภาพสวย แอ็กชันโหดอย่าง PUBG หรือ Rov มาจนเหนื่อยถึงเวลาแล้ว ถึงเวลามาเบรกตามเทรนด์กันหน่อยด้วยการเล่นเกมแอ็กชันล่าสุดอย่าง “เกมหนอน” เกมสีสันสดใสที่จะว่าง่ายก็ไม่ใช่ และฆ่าเวลาเราได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังเป็นเกมยอดนิยมของ Game Casters ไทยช่วงนี้จนเรียกได้ว่าแทบทุกที่ต้องมี
แม้พอพูดว่าเป็นเกมหนอนปุ๊บ เราจะนึกถึงภาพของเกมงูคลาสสิกของ Nokia 3310 ที่กินจุดเพื่อเพิ่มความยาว ทันที แต่สำหรับยุคดิจิทัล เกมหนอนที่แค่ขยายความยาว เล่นคนเดียวลำพังมันธรรมดาไป จึงเกิดเป็นเกมแอ็กชันที่หนอนสามารถกินขยายร่างให้ทั้งอ้วนและยาวและสามารถสู้กันได้บนโลกออนไลน์ขึ้น
หลักการเล่นของเจ้าหนอนจอมเขมือบเหล่านี้วิธีการเล่นก็ไม่ยาก แค่กินจุด ขนม หรือบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่กระจายในแมปไปเรื่อย ๆ จนร่างกายเราเริ่มขยาย โดยระหว่างนั้นต้องระวังอย่าให้หัวหนอนเราไปจนกับหนอนตัวอื่นของ Player คนอื่นและต้องพยายามดักให้หนอนตัวอื่นมาชนตัวเราเพื่อให้พวกนั้นตาย ซึ่งเมื่อตายปุ๊บ พวก Player ที่เกมโอเวอร์เหล่านั้นจะกลายเป็นซากสีรุ้งให้เรากินต่อ และพอกินซากพวกนี้แล้วตัวเราจะใหญ่ขึ้นกว่ากินขนมหรือกินจุด
แผนสังหารของหนอนเหล่านี้บางคนอาจจะอาศัยว่าพอเราตัวใหญ่ก็จะไปล้อมหนอนตัวเล็กกว่าตัวอื่นเพื่อบีบให้หนอนเหล่านั้นชน หรืออาจจะใช้อีกวิธีคือการไต่เลียบขอบเฟรม (ห้ามชน) เพื่อดักหนอนตัวอื่นที่มาทางเดียวกับเรา จากนั้นใช้วิธีเร่งความเร็วด้วยการกด Spacebar ค้างไว้หรือกดดับเบิ้ลคลิกปุ่มซ้ายขวาบนเม้าส์หรือสัมผัสจอสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ศัตรูที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เมื่อเจอเราปาดหน้าเข้าให้แบบไม่ทันตั้งตัวก็ต้องมาชนหนอนเราจนตาย
แล้วปลายทางการเล่นอยู่ที่ไหน เพราะมันจบเป็นรอบ ๆ เรื่องนี้ UNLOCKMEN พิสูจน์แล้วว่าความท้าทายของมันอยู่ที่เราหยุดมันไม่ได้ พักก็ไม่ได้ เพราะเกมนี้ไม่มีปุ่มให้ Pause นะ เรียกได้ว่าแข่งกับความล้าของสายตาและนิ้วมือเราเลยว่าจะล็อกหรือหมดแรงก่อนชาวบ้านเมื่อไหร่
นอกจากนี้ยังมิชชันต่าง ๆ ในเกมเพื่อปลดล็อกสกินเจ๋ง ๆ ไว้ใช้งาน ดังนั้นเวลาเราลงสนาม เราจะไม่ใช่หนอนดาษ ๆ หน้าตา Beginer อย่างแน่นอน แถมเมื่อเราติดอันดับ Top Rank ชื่อเราจะปรากฏให้ชาวหนอนคนอื่นได้รู้ว่าเราเก๋าแค่ไหน และพอถึงเวลานั้นเราก็ไปล้อมตัวอื่นได้สบาย ๆ แคปจอไปโชว์และท้าเพื่อนให้แข่งสกอร์กับเราได้
แต่หนอนก็มีหลายเวอร์ชัน เอาเป็นว่าเราขอเลือกอธิบายที่มาที่ไปเฉพาะ 2 เวอร์ชันที่บรรดา Game Casters เขากำลังนิยมกันช่วงนี้แล้วกันคือ slither.io และ wormate.io
sliter.io เกมนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่อาจจะเพิ่งมาฮิตถล่มทลายในสายตาชาวไทยช่วงนี้ เกมนี้พัฒนาโดย Steve Howse
เบื้องหลังการสร้างเกมนี้ที่หลายคนไม่รู้คือ Howse ได้แรงบันดาลใจเพราะหนี้ เนื่องจากช่วงก่อนสร้างเกมนี้เขามีปัญหาด้านการเงินจนต้องย้ายที่อยู่จาก Minneapolis ไป Michigan แล้วพอไปที่ Michigan เขาก็ไปรู้จักกับเกม agar.io. หรือเกมจุดที่มันเคยดังมาก ๆ ไปทั่วโลก ลักษณะก็เป็นเกมเซลล์กินเซลล์ไปเรื่อย ๆ ตัวเขาเองก็อยากสร้างเกมประเภทเดียวกันที่เล่นได้หลายคนแต่ตอนนั้นทางเลือกเพื่อสร้างเกมคือต้องใช้ Adobe Flash ตัวเขาเลยชะลอแผนนี้ก่อน กระทั่งในที่สุดเขาก็เจอว่า WebSocket นี่แหละคือทางออก เพราะมันเป็น Protocol หน่วงต่ำ แต่เสถียรพอสำหรับการเล่นเกมที่มีจำนวน Player มาก
สุดท้ายเขาสามารถปั้นเกมนี้ได้สำเร็จสมความตั้งใจและเปิดตัวเกมปี 2559 ด้วยการรองรับผู้เล่นได้มากถึง 500 คน โดยสามารถหารายได้เพิ่มได้ด้วยการแทรกโฆษณาในเกมหรือให้ player ซื้อ ads block ไป แต่สิ่งที่ทำให้คนเล่นเกมนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไม่หงุดหงิดก็เพราะเขาเอาเงินไปพัฒนาให้ระบบเสถียรขึ้นและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาเพิ่มความมัน
ส่วนเหตุผลที่เจ้าหนอนสีแสบเหล่านี้โดดขึ้นมาดังเพราะมันถูกพูดถึงในกลุ่ม Youtuber ดัง ๆ สายเกมเมอร์หลายคนทั้ง PewDiePie และติดอันดับใน App Store ด้วย รวมทั้งการอัปเดตแพตช์ใหม่ที่ผู้พัฒนาเพิ่มให้เกมมาเรื่อย ๆ ทำให้เกมที่ดูเหมือนเล่นง่าย ไม่ซับซ้อนนี้ยังคงความเร้าใจ และกลายเป็นเกมดูดเกมเมอร์หน้าใหม่หน้าเก่าให้เล่นเกมนี้
wormate.io อีกเกมที่แนวทางการเล่นเกมคล้ายกับเจ้า slither.io เลย แต่ทีมผู้พัฒนาคือ Oleksandr Godoba ความแตกต่างของเจ้าหนอนตัวนี้กับอีกเกมอยู่ที่หน้าตาของข้าวของการกิน คือขนมต่าง ๆ ทั้งโดนัทและเค้ก รวมทั้งมีไอเทมพิเศษ ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น x2 เหรียญเงิน หรือแม่เหล็กดูด ที่ช่วยให้เราเล่นเกมได้ง่ายและสนุกขึ้น (มีลูกเล่นมากกว่า slither.io)
ตั้งชื่อเข้าไปเล่นแบบ Guest โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับข้อมูลของเราอย่าง Facebook Twitter ฯลฯ ตัดปัญหาคนที่ไม่อยากพ่วงข้อมูลส่วนตัวได้
ตัวอย่างไอเทมพิเศษที่กินเข้าไปแล้วจะเพิ่มพลังให้หนอนใหญ่กว่าเดิม
ความสามารถพิเศษจากไอเทมทั้งหมดนี้จะมีเวลาจำกัดอยู่ที่ 10-40 วินาทีต่อครั้งที่กิน ดังนั้นใครที่ได้มาก็ต้องพยายามฉกฉวยโอกาสจากตรงนี้กันหน่อย
บอกไปหมดแล้วทั้งทริคการเล่นและที่มาของเกม เราขอปิดท้ายด้วยลายแทงด้วยช่องทางการเล่นจากลิงก์ด้านล่างนี้ ใครสะดวกเล่นผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันก็สามารถเลือกเล่นได้ตามต้องการ
SLITHER: Website / Android / iOS
WORMATE: Website / Android / iOS
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าไอ้เกมไม่ซับซ้อนนี้จะทำให้คุณหัวร้อนและเป็นเกมดูดให้คุณติดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ใครไม่ว่างจริงไม่แนะนำให้เข้าไปเล่นเด็ดขาดเพราะถ้าต้องออกกลางเกมเวลาตัวใหญ่เป็นอนาคอนด้ามันน่าเสียดายเสียจริง ๆ
ข้อแนะนำสุดท้ายก่อนจากกันไปเพราะเราจะไปเล่นเกมนี้ต่อ ง่าย ๆ สั้น ๆ คือ
“อย่าตายให้หนอนแดก”