World

NIHON STORIES: YAMAGUCHI GUMI จากอันธพาลย่านคันไซสู่แก๊งยากูซ่าผู้ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น

By: unlockmen October 28, 2019

‘ยากูซ่า’ เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เป็นทั้งคนชายขอบที่คนอื่น ๆ ในสังคมไม่อยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว และในเมืองเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่าโกเบของจังหวัดเฮียวโงะก็มีคนกลุ่มหนึ่งเขียนประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ยามากุจิ-กูมิ (Yamagushi-Gumi)

แรกเริ่มเดิมทีไม่มีใครสนใจพวกเขา มองว่าเป็นแค่อันธพาลข้างถนนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไร้อำนาจ แต่ใครจะรู้ว่าช่วงเวลากว่า 100 ปี นับตั้งแต่ตั้งกลุ่ม พวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นแก๊งยากูซ่าที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

 

จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่

ในปี 1915 หลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มต้นขึ้น มีแก๊งอันธพาลขนาดเล็กชื่อว่า ยามากุจิ-กูมิ (Yamagushi-Gumi) ในเมืองโกเบ ก่อตั้งโดยชายนามว่ายามากูจิ ฮารุกิจิ (Yamagushi Harukishi) หลาย ๆ คนเชื่อว่าฮารุกิจิผู้ตั้งแก๊งของตัวเองขึ้นในวันนั้นคงไม่คาดคิดว่ากลุ่มของเขาจะเติบโตและขยายจนกลายเป็นองค์กรมืดที่มีอิทธิพลมากสุดของประเทศญี่ปุ่น 

ในช่วงแรกแก๊งยามากุจิ-กูมิ อาจยังไม่มีบทบาทอะไรโดดเด่นนักจนกระทั่งทาคาโอะ คาซุโอะ (Takao Kasuo) ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแก๊งรุ่นที่ 3 เขาจัดการเปลี่ยนแปลงระบบแก๊งใหม่ทั้งหมด เพราะคาซุโอะเป็นชายผู้มีมันสมองไม่น้อยกว่าความสามารถเรื่องการต่อสู้ เขาเริ่มเรียกร้องให้สมาชิกที่มีอยู่แค่หยิบมือทำอะไรมากกว่าใช้ชีวิตไปวัน ๆ กระตุ้นให้ทุกคนเริ่มทำธุรกิจสีเทาเพื่อขยายให้ยามากุจิ-กูมิ เติบโตและทรงอิทธิพลกว่าเดิม 

เมื่อกลุ่มเริ่มขยายจากการสร้างธุรกิจเล็ก ๆ และมีสมาชิกเพิ่มขึ้น หัวหน้ารุ่นที่ 3 จึงปรับโครงสร้างแก๊ง ให้ลูกน้องไว้ใจได้สามารถสร้างกลุ่มเป็นของตัวเอง ซึ่งแม้จะมีกลุ่มเป็นของตัวเองแต่ชื่อที่ติดตัวพวกเขาทุกคนไปยังคงเป็นชื่อของแก๊งยามากุจิ-กูมิอยู่

ในที่สุดเขาก็สามารถพากลุ่มอันธพาลเล็ก ๆ จากเมืองโกเบก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่และกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ขึ้นแท่นเป็นแก๊งยากูซ่าทรงอิทธิพลที่สุดในญี่ปุ่น มีเรื่องเล่าว่าหลายต่อหลายครั้งที่ทาคาโอะ คาซุโอะ ถูกนักฆ่าของแก๊งคู่อริลอบสังหาร แต่เขาสามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง แถมครั้งหนึ่งที่เขาเคยถูกลอบยิงในคลับเมืองเกียวโตก็ยังรอดมาได้ ต่อมาหนึ่งอาทิตย์ให้หลังชายที่ลอบยิงคาซุโอะถูกพบเป็นศพอยู่ในป่าแถวเมืองโกเบ ตลอดเวลาของการเป็นหัวหน้า เขาทำหน้าที่ปกครองแก๊งอย่างดีเยี่ยมจนถึงวาระสุดท้ายและจากไปอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายในปี 1981

เมื่อผู้นำสูงสุดของแก๊งจากไป ตำแหน่งยอดพีระมิดที่ว่างอยู่จะต้องมีคนขึ้นมาแทน แต่ด้วยความยิ่งใหญ่ที่เขาสร้างไว้ในช่วงมีชีวิตทำให้สมาชิกแก๊งต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี ถกเถียงหารือกันว่าใครจะเหมาะสมขึ้นมาเป็นรุ่นที่ 4 ของแก๊งยามากุจิ-กูมิ ระหว่างสามปีที่ว่างเว้นได้ภรรยาของรุ่นที่ 3 อย่าง ฟูมิโกะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนตำแหน่งผู้นำสูงสุด แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับการยกให้ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทในแก๊งยากูซ่าแต่เธอก็ทำหน้าที่เพียงในนามเพื่อไม่ให้ตำแหน่งว่างเท่านั้น สุดท้ายก็ได้ผู้นำคนใหม่คือ ทาเคนากะ มาซาฮิสะ (Takenaka Masahisa) ขึ้นดำรงตำแหน่งรุ่นที่ 4 ของแก๊งยามากุจิ-กูมิ 

 

สงครามใหญ่ของยากูซ่า

หลังจากทาเคนากะ มาซาฮิสะ ขึ้นเป็นผู้นำรุ่นที่ 4 หัวหน้ากลุ่มย่อยของแก๊งยามากุจิ กูมิ นามว่า ยามาโมโตะ ฮิโรชิ (Yamamoto Hiroshi) รู้สึกไม่พอใจและประกาศท้าชิงตำแหน่งรุ่นที่ 4 และขอแยกตัวออกจากกลุ่มพร้อมกับยากูซ่าคนอื่น ๆ รวมแล้วกว่า 3,000 คน มาตั้งแก๊งยากูซ่าใหม่ชื่อว่า อิจิวะ-ไค (Ichiwa-Kai) ที่มีฐานอยู่ในเมืองโอซาก้า

การแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มของยามาโมโตะสร้างความตึงเครียดให้กับวงการโลกสีดำย่านคันไซเป็นอย่างมาก กลุ่มยากูซ่าน้อยใหญ่ในละแวกนั้นต่างเฝ้าดูสถานการณ์ระหว่างสองกลุ่มและกังวลว่าความขัดแย้งนี้จะก่อให้เกิดสงคราม สุดท้ายเป็นจริงอย่างที่ใครหลายคนคาดคิดเพราะการต่อสู้ระหว่างแก๊งยามากุจิ-กูมิ กับแก๊งอิจิวะ-ไค ก็เกิดขึ้นจริง ๆ 

สงครามดวลเดือดของลูกผู้ชายนอกกฎหมายครั้งนี้มีชื่อว่า สงครามยามะ-อิจิ กินเวลานานถึง 4 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1985-1989 จุดเริ่มต้นของสงครามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1985 ยามาโมโตะส่งนักฆ่าไปยังบ้านของรุ่นที่ 4 ในย่านซุยตะ สังหารทุกคนในบ้าน ทำให้สมาชิกแก๊งยามากุจิ-กูมิ โกรธแค้นมากและสาบานว่าจะล้างแค้นการกระทำครั้งนี้ให้ได้ 

ช่วงเวลา 4 ปีแห่งความขัดแย้งของยากูซ่าเกิดการต่อสู้ไม่เว้นแต่ละวัน ความรุนแรงแผ่กระจายไปทั่วประเทศไม่ได้จำกัดอยู่ในแถบภาคตะวันตก (คันไซ) อีกต่อไป กว่า 200 ครั้งที่ยากูซ่าทั้งสองกลุ่มปะทะกัน หนังสือพิมพ์ตีข่าวการต่อสู้และประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิตคล้ายการนับแต้มให้แต่ละฝ่ายรับรู้ว่ากำลังสูญเสียไปเท่าไหร่ ไม่มีใครสามารถยับยั้งความรุนแรงครั้งนี้ได้ แต่แม้จะตีกันบ่อยกว่าร้อยครั้งกลับพบจำนวนผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 36 คนเท่านั้น 

ผลของสงครามจบลงด้วยชัยชนะของแก๊งยามากุจิ-กูมิ ชัยชนะที่แลกมาด้วยความสูญเสียไม่น้อยกว่าฝั่งพ่ายแพ้ สมาชิกระดับหัวหน้าของทั้งสองกลุ่มถูกตำรวจจับกุม บางคนตาย หลายคนต้องหนีไปซ่อนตัว ท้ายที่สุดแก๊งอิจิวะ-ไค ยอมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการยอมรับสารภาพแลกกับความคุ้มครองของตำรวจเพราะกลัวว่าคนของยามากุจิ-กูมิจะไม่ยอมรามือ พร้อมกับเจรจาของสงบศึก ส่วนหัวหน้าแก๊งที่พ่ายแพ้อย่างยามาโมโตะ ฮิโรชิ ประกาศล้างมือและหันหลังให้กับวงการยากูซ่า 

 

เสื่อมสลายเพื่อกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง 

วาตานาเบะ โยชิโนริ (เสื้อขาว)

สงครามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ผลของมันสร้างความสูญเสียระยะยาวเสมอ หลังจากต่อสู้มาหลายปี แก๊งยามากุจิ-กูมิ ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย ผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 5 วาตานาเบะ โยชิโนริ (Watanabe Yoshinori) ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเพราะอำนาจการควบคุมแก๊งแท้จริงไม่ได้อยู่ที่เขาแต่อยู่กับผู้อาวุโสประจำแก๊งอีกคนหนึ่ง คล้ายกับว่าวาตานาเบะเป็นผู้นำหุ่นเชิดเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดผู้อาวุโสก็ถูกลอบสังหาร อำนาจแท้จริงกลับมาสู่วาตานาเบะอีกครั้ง

Kenichi Shinoda (C), the boss of Japan’s largest “yakuza” gang, the Yamaguchi-gumi, walks at Tokyo’s Shinagawa station to return to his his home in Kobe, western Japan on April 9, 2011 after he was released from a Tokyo prison after serving time since 2005. AFP PHOTO / JIJI PRESS (Photo credit should read JIJI PRESS/AFP via Getty Images)

การลอบสังหาร ตำแหน่งที่ไม่สามารถสั่งการได้ดั่งใจเป็นเวลานาน และความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ภายในทำให้แก๊งยามากุจิ-กูมิ มีปัญหา ความไม่ไว้ใจกันเองบั่นทอนความมั่นคงของแก๊ง อำนาจล้นมือและอิทธิพลที่เคยสร้างความเกรงกลัวถูกท้าทายจากกลุ่มยากูซ่าใหม่ ๆ ระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่แก๊งไม่สามารถกลับมารุ่งโรจน์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับรุ่นที่ 3 จนกระทั่งในปี 2005 ชายผู้สั่นสะเทือนวงการยากูซ่าได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดของกลุ่ม เขาคนนั้นมีชื่อว่า ชิโนดะ เคนอิจิ (Shinoda Kenishi) หัวหน้ากลุ่มย่อยที่คุมเมืองนาโกย่า ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 6 ของแก๊งยามากุจิ-กูมิ 

Shinoda Kenishi and Takayama Kiyoshi

ชิโนดะเป็นชายกล้าได้กล้าเสียมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ก่อนก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของแก๊งยามากุจิ-กูมิ เขาสร้างผลงานโดดเด่นด้วยการพาลูกน้องไปตีกับแก๊งยากูซ่าอื่น ๆ แถมไม่เคยแพ้กลับมา ชิโนดะกล้าตัดสินใจเรื่องยากๆ เด็ดขาดและเข้มแข็ง แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นกันเอง ใส่ใจพวกพ้อง

ชิโนดะเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านผู้นำสูงสุดหลาย ๆ รุ่นในกลุ่ม ทำให้เขามองเห็นจุดอ่อนว่าอดีตผู้นำไม่มีคู่หูพร้อมลุยไปด้วยกันทุกที่ การยืนบนจุดสูงสุดคนเดียวอาจทำให้พลาดง่าย แต่ความแตกต่างระหว่างเขากับผู้นำรุ่นก่อน ๆ คือเขามี ทากายามะ คิโยชิ (Takayama Kiyoshi) เป็นคู่หูคู่คิดที่แข็งแกร่ง 

Kenichi Shinoda, the boss of Japan’s largest “yakuza” gang, the Yamaguchi-gumi, gets into a car after arriving at the train station in Kobe, western Japan on April 9, 2011 after he was released from a Tokyo prison after serving time since 2005. AFP PHOTO / JIJI PRESS (Photo credit should read JIJI PRESS/AFP via Getty Images)/Getty Images

แม้เขาเป็นชายที่เด็ดขาด แต่การตัดสินใจหลาย ๆ ครั้งของชิโนดะก็สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกในแก๊ง เช่น เขาเกิดความคิดจะย้ายสำนักงานใหญ่ของแก๊งจากโกเบไปอยู่นาโกย่า ทำให้กลุ่มโอซาก้าและโกเบไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะสำนักงานใหญ่ควรอยู่ในเมืองที่ก่อตั้งมากกว่า แถมชิโนดะยังตั้งให้ทากายามะ คิโยชิ คู่หูของเขาเป็น ‘นายน้อย’ หรือเป็นเบอร์สองของกลุ่ม ทำให้ก๊กอื่น ๆ ที่ขึ้นกับแก๊งยามากุจิ-กูมิ มองว่าเขาสนใจแค่พวกพ้องนาโกย่าของตัวเอง

แม้มีคำครหาเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ แต่ชิโนดะกลับไม่แคร์แถมยังไล่ระดับหัวหน้าของกลุ่มโกเบและโอซาก้าออกไปจากแก๊งอย่างไม่ไยดี เหล่าผู้นำกลุ่มเมืองโกเบกับโอซาก้าที่ถูกไล่ออกได้แยกตัวมาตั้งแก๊งของตัวเอง ความตึงเครียดเกิดขึ้นอีกครั้งเหมือนกับเหตุการณ์สงครามยามะ-อิจิเมื่อ 30 ปีก่อน เหล่าสมาชิกแต่ละพื้นที่ต้องเดินทางมาประชุมใหญ่ในเมืองโกเบ ชาวบ้านจะเห็นรถยนต์สีดำแล่นไปมา นักข่าวแห่มารอถ่ายรูป และตำรวจคอยเฝ้าระวังเพื่อเกิดความรุนแรงขึ้นหลังจากการประชุม  

ถึงสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับทุกอย่างที่ชิโนดะและทากายามะตัดสินใจ แต่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งสองคนสร้างความรุ่งเรืองให้กับแก๊งเป็นอย่างมาก โดยแก๊งยามากุจิ-กูมิ มีสมาชิกหลายหมื่นคน แบ่งเป็นก๊กย่อยกว่า 800 ก๊ก กระจายตัวอยู่ทั่วญี่ปุ่น สามารถแผ่ขยายอำนาจปกครองได้ถึง 18 เขต รวมถึงเข้าไปยังภูมิภาคคันโตที่ไม่ใช่ถิ่นของแก๊งได้สำเร็จ ยิ่งใหญ่จนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า

“ถ้าอยากมีชีวิตที่สงบสุขในญี่ปุ่นก็อย่าเป็นศัตรูกับชิโนดะและทากายามะ”

 

ความมั่งคั่งที่แลกมาด้วยหลายสิ่ง

รายได้ของแก๊งยากูซ่ามาจากไหนบ้าง ? เมื่ออ่านเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของโลกมาเฟียญี่ปุ่นอยู่นอกกฎหมายทำให้ใครหลายคนใคร่อยากรู้ว่ารายได้ของพวกเขามาจากอะไร เม็ดเงินที่ว่านั้นมหาศาลมากแค่ไหนถึงทำให้พวกเขาทรงอิทธิพลจนตำรวจยังต้องเกรงใจ 

รายได้หลัก ๆ ของแก๊งยามากุจิ-กูมิ มาจากการรีดไถตามซอย การสร้างบ่อน ค้ายาเสพติด ลักลอบค้าอาวุธ เข้าสู่วงการอุตสาหกรรมทางเพศอย่างการทำหนัง AV ที่เราได้เอ่ยถึงพวกยากูซ่าไปแล้วใน (NIHON STORIES: “แมวมองดารา AV” และฮาราจุกุย่านสว่างที่ซ่อนความดำมืดของวงการหนัง) บางครั้งก็ลักลอบค้ามนุษย์ เก็บค่าคุ้มครอง รับสินบนจากนักการเมืองชั่วเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสะอาดอย่างการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซื้อที่ดินหรือคอนโดเพื่อปล่อยเช่ากินกำไร เป็นนายหน้าค้าผลงานศิลปะและเล่นหุ้น เรียกได้ว่ากลุ่มยากูซ่าระดับหัวหน้าไม่ได้เป็นคนสมองทึบเหมือนในหนังที่ชอบต่อยตี ไถเงินคนตามข้างถนนเพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้ยากูซ่ายังมีการตั้งองค์กรเป็นจริงเป็นจัง หัวหน้าระดับสูงมักแต่งตัวทางการตลอดเวลา สวมสูท มีนามบัตรและสุภาพกับผู้อื่นแต่เบื้องหลังกลับทำธุรกิจสีดำ โดยนิตยสาร Fortune ระบุว่า กลุ่มยามากุจิ-กูมิ มีรายได้ในปี 2014 มากถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท ถือเป็นแก๊งยากูซ่าที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

ความยิ่งใหญ่ของชิโนดะกับทากายามะทำให้ทั้งสองคนถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำในปี 2012 เพราะพบว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ทั้งกลุ่มภราดรรัสเซีย กลุ่มคาโมราของอิตาลี และกลุ่มลอสเซตัวของเม็กซิโก ทำให้ทั้งสองคนถือเป็นตัวอันตรายที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง

แถมเมื่อเดือนตุลาคมปี 2019 ทั่วโลกต้องจับตามองแก๊งยามากุจิ-กูมิ อีกครั้งเมื่อนายน้อยทากายามะพ้นโทษออกจากเรือนจำฟุจูเป็นที่เรียบร้อยด้วยวัย 72 ปี หลังจากโดนจับกุมข้อหาขู่กรรโชกเมื่อปี 2014 โดยคำบอกเล่าก่อนที่นายน้อยออกจากคุกเขากล่าวว่า 

“ยามากุจิจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งได้อย่างแน่นอน”

แสดงให้เห็นว่าเขารับรู้ถึงความขัดแย้งครั้งใหญ่ของแก๊งแม้อยู่ในเรือนจำ การถูกปล่อยตัวของเขาทำให้ตำรวจพากันตื่นตัวอีกครั้งว่าแก๊งยากูซ่าจะเคลื่อนไหวอีกในเร็ว ๆ นี้ แต่เมื่อชาวญี่ปุ่นเห็นภาพถ่ายยังมิวายแซวว่าขนาดนายน้อยของแก๊งยากูซ่าที่ยิ่งใหญ่ก็ยังขึ้นรถไฟชินคันเซ็นเหมือนกับชิโดนะที่เคยทำแบบนี้มาแล้ว

เหตุที่ยังทำให้ยากูซ่ายังคงอยู่ได้ในสังคมญี่ปุ่น นั่นเป็นเพราะค่านิยมเรียกได้ว่าคลั่งชาติ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยอมให้คนญี่ปุ่นด้วยกันขึ้นมาทำเรื่องไม่ดีมีอำนาจในโลกใต้ดินดีกว่าให้มาเฟียชาติอื่นเข้ามามีอิทธิพล แถมเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ แก๊งยากูซ่าพวกนี้จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือชาวบ้านอย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขาถูกปลูกฝังมาว่าคนในชุมชนคือคนใต้ความดูแลของพวกเขา ยิ่งถ้ามาเฟียในย่านไหนมีความใกล้ชิดผูกพันกับชาวบ้านก็จะรีบช่วยเหลือทันที เห็นได้จากข่าวตามโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ว่าพวกเขาเร่งนำเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวออกไปช่วยผู้ประสบภัยก่อนเจ้าหน้าที่ทีมช่วยเหลือจะทราบข่าวเสียอีก 

Kobe, JAPAN: This 20 April 2002 picture shows members of Japan’s largest organised crime syndicate, the Yamaguchi-gumi gathering at a funeral of their boss in Kobe, western Japan. Nagasaki Mayor Iccho Ito was shot dead by Tetsuya Shiroo, an executive member of a local group affiliated with the Yamaguchi-gumi syndicate at Nagasaki city, Japan’s southern island of Kyushu, 17 April 2007. AFP PHOTO (Photo credit should read STR/AFP via Getty Images)

ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีกลุ่มแก๊งครองเมือง แต่ในทุกประเทศต่างก็มีกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘ยากูซ่า’ หรือ ‘มาเฟีย’ ซ่อนตัวอยู่ในเงามืด คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกับสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองไปพร้อมกัน ส่วนใครที่สนใจเรื่องราวเพิ่มเติมของสองคู่หูอย่างชิโนดะและทากายามะก็รอกันก่อนนะครับ ไม่แน่ว่าเร็ว ๆ นี้ UNLOCKMEN อาจจะได้เจาะลึกเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของพวกเขามากขึ้น

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line