

Business
BETTER LIFE OR FLYPAPER EFFECT: เปย์เงินแก้ปัญหาประเทศได้จริงหรือ? เจาะเหตุผลการสวมบทนักบุญของรัฐบาลหลายประเทศ
By: unlockmen December 13, 2018 131100
“ความจนมันน่ากลัว” คนที่ลำบากทำงานเดือนชนเดือนสายตัวแทบขาดย่อมเข้าใจคำพูดนี้ดี และมันคงยิ่งการันตีได้ชัดเจนขึ้นกับประเทศที่เราอยู่ เพราะดันมีรายงานจาก CS Global Wealth Report 2018 เผยว่าระดับความเหลื่อมล้ำในไทยติดอันดับแรกของโลก เนื่องจากคนที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งคิดเป็น 1% มีทรัพย์สินรวมคิดเป็น 66.9 % ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ล้มอดีตแชมป์อย่างรัสเซีย
พอเงินไม่มีแล้วรัฐในฐานะผู้ปกครองก็เริ่มมานั่งกุมขมับว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ลงเอยแล้วนโยบายการให้เงินอุดหนุนหรือสวัสดิการอุดช่องว่างจึงเหมือนสูตรสำเร็จที่ใช้กันทุกประเทศมาหลายทศวรรษ
ไม่เว้นแม้แต่ในไทยที่นายกรัฐมนตรีนักทำตามสัญญา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งทำล่าสุดกับการให้เพิ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 3.1 ล้านใบ ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดราว 14.5 ล้านใบ แหวกกระเป๋างบจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มาใส่ในบัตรให้กดกันเพลิน ๆ เปย์เงินท่วมท้นด้วยงบประมาณ 7,250 ล้านบาทเพื่อเป็นของขวัญรับปีหมา
ทว่าประเด็นเรื่องการให้เงินเป็นเรื่องทอดทิ้งหรือโอบอุ้มคนจน เราต้องสอนคนจับปลาหรือจับปลามาให้เขากิน ก็ยังถกกันอยู่ไม่หยุดหย่อน เพื่อให้ชาว UNLOCKMEN ได้ใช้ดุลยพินิจกับมันให้เต็มที่ เราขอส่งต่อแง่มุมเรื่องการอุดหนุนเงินคนจนจากภาครัฐทุกแง่มุมมาฝากกัน
มองกันให้เป็นกลางเรื่องนโยบายที่หลายคนสงสัยกันนักกันหนาว่าการเอาภาษีของเราไปแจกเป็นเงินสดมันช่วยอะไรได้ เรื่องนี้อธิบายไว้ในงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน published research paper (paywall) ของ David Evans จากธนาคารโลกและ Anna Popava จาก Standford University ที่เผยว่าทั้ง 19 การศึกษาไม่พบแม้แต่ชิ้นเดียวที่แสดงว่าการให้เงินสดช่วยเพิ่มยอดบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์
ไม่เพียงเท่านั้น การวิเคราะห์ด้วยหลัก Meta-analysis รวบรวมค่าสถิติสรุปผลทุกการศึกษายังพบว่ามันทำให้ยอดการบริโภคยาสูบกับแอลกอฮอล์ลดลงแทน เงินสดสร้างความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐศาสตร์การใช้เงินในครอบครัวยากไร้ได้
จากเดิมก่อนรับเงินทัศนคติเรื่องการใช้เงินด้านการศึกษาหรือการรักษาสุขภาพอาจดูเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แต่หลังจากได้รับแล้วผู้ปกครองจะเริ่มตัดสินใจลงทุนอย่างจริงจังเรื่องอนาคตการเรียนของลูกยิ่งขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลของการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
นอกจากนี้เขายังพูดถึงเรื่องการจัดการมอบเงินที่รัฐมักมอบให้กับเพศหญิงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มากกว่าเพราะพวกเธอมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้เงินเหล่านั้นเพื่อตัวเอง แต่ใช้มันไปกับการดูแลครอบครัวและคนรอบข้าง ดังนั้น เงินสดพัฒนาชาติเลยใช้ได้ผลดี พัฒนาได้ทั้งคนและเศรษฐกิจ
แต่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป ในอีกแง่มันอาจก่อให้เกิด “Flypaper Effect” หรือการให้เงินอุดหนุนแล้วภาครัฐมีรายจ่ายงอกกว่าเดิม รีดภาษีไม่สิ้นสุดแต่ไม่แก้อะไร เช่นเดียวกับที่ตอนนี้บ้านเรากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์
ทำไมเมื่อนายกฯ อยากแก้ปัญหา แจกเงินแจกสวัสดิการบ้างกลับกลายเป็นคนไม่เข้าตา กลับไม่มีใครเห็นด้วยและมองว่าสูญเปล่า นี่ไม่ใช่แค่การกลั่นแหล้ง แต่มีสาเหตุแฝง เพราะถึงการแจกเงินจะพอมีผลดีอย่างที่บอก แต่มันต้องมาพร้อมเงื่อนไขที่รัดกุมพอที่จะทำให้โปรเจกต์ไปได้ดีด้วย และนี่คือปัจจัยที่ขัดขากับมาตรการเปย์ “คนให้” ไม่ได้เฮเหมือน “คนรับ” ของ ครม. ไทย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะไร้ทางออกแต่ต้องเลือกทำและพูดให้ถูกต้อง หากอยากกระตุ้นเศรษฐกิจวิธีที่ทำอยู่ก็ปัดตกไปได้เลยเพราะให้เงินที่ให้ มันไปอยู่กับคนที่เขาแทบจะมีไม่พอกินอยู่แล้วมันจึงไม่เพียงพอจะกระตุ้นอะไรได้
ขณะเดียวกันถ้าอยากแก้ไขในระยะยาว การวางแผนลงทุนมอบสวัสดิการของรัฐที่ดี มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลในองค์รวมเพื่อพัฒนาคนจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่องนั้นคงต้องปรับกันที่โครงสร้างรายได้ประชากร เพราะทุกวันนี้รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ปัญหาเลยพอกต่อเนื่อง แต่ใช่ว่าทั้งหมดจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว
น่าสนใจว่ารัฐนำบทเรียนนี้ไปสานต่ออย่างไร เพราะอย่างน้อยการเก็บข้อมูลจากคุณสมบัติของผู้เข้าเกณฑ์รับบัตรสวัสดิการรัฐ นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นชุดนี้…หรือชุดไหนก็ตาม