

Life
THE KAIZEN WAY จงพัฒนาตัวเองวันละ 1% เพราะชีวิตคือกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว
By: unlockmen November 20, 2018 128444
เชื่อว่าหนุ่ม ๆ อย่างเราทุกคนต้องมีช่วงหนึ่งในชีวิตที่รู้สึกว่าตัวเองห่วย ไม่พัฒนาไปไหน ย่ำอยู่กับที่ และในช่วงเวลานั้นเปรียบเสมือนทางแยกในชีวิตที่ต้องเลือกว่าจะปลงหรือจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
แน่นอนว่าถ้ามีไฟในชีวิตหลงเหลืออยู่บ้าง ทุกคนคงเลือกพัฒนาตัวเอง แต่หลังจากที่วางแผนไว้ดิบดีว่าจะเริ่มปรับปรุงพัฒนาตัวเองเรามักโดนคลื่นแห่งชีวิตจริงซัดจนเสียศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นการงานรัดตัว ครอบครัวที่ไม่เข้าใจ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทำให้แรงฮึดที่อยากจะพัฒนาตัวเองโดนวางกองไว้ราวกับเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นเก่าในห้องเก็บของ
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นวนเวียนเป็นวัฏจักร การพัฒนาตัวเองที่คิดไว้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง นับวันไฟและความหวังก็ดับมอดลงไปเรื่อย ๆ หรือบางทีอาจจะถึงเวลาต้องยอมรับความจริงแล้วว่าตัวเองก็ได้แค่นี้ ? อย่าเพิ่งท้อแท้หมดหวังขนาดนั้น อย่างน้อยก็ลองอ่านวิธีพัฒนาตัวเองแบบ The Kaizen Way ก่อน
เพราะความรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองมักจะมาเยือนเราอย่างกะทันหัน เป็นความที่รู้สึกที่แรงกล้าไฟลุกโชน ในสมองเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน แต่เมื่อเริ่มลงมือทำจริง ๆ ก็พบว่ากำแพงความฝันที่วาดไว้นั้นมันสูงจนยากจะปีน และในเวลาไม่นานเราก็ร่วงลงสู่พื้นตามเดิม
อีกหนึ่งเส้นทางที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาตัวเองคือการที่เรามักจะมองหา ‘ทางลัด’ ในชีวิตตลอดเวลา เราหวังว่าจะได้ทำงานน้อยกว่าเพื่อเงินที่มากกว่า เราทุ่มเวลาในการอ่านหนังสือหรือฟัง Podcast ของผู้ประสบความสำเร็จเพื่อจะเก็บเกี่ยวความรู้และมุ่งสู่ทางลัด ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าสักวันโชคจะเข้าข้างให้เราเจอทางลัดที่จะทำให้ชีวิตสบายกว่าคนทั่วไป ความอันตรายของมันคือการที่เรามัวแต่มองหาทางลัดตลอดเวลาจนในชีวิตจริงเราไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งหมายความว่าถ้าเราไม่เจอเส้นทางนั้น ชีวิตเราจะล้าหลังเสียยิ่งกว่าคนทั่วไปเสียอีก
ถ้าการฝันใหญ่เกินไป ทะเยอทะยานเกินไปเกิดผลเสียมากกว่าผลดี The Kaizen Way คืออีกแนวทางการพัฒนาตนเองที่น่าสนใจ
ถึงแม้ฟังจากชื่อจะดูเหมือนเป็นปรัชญาจากญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้วทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นโดยนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การจัดการธุรกิจอเมริกันตั้งแต่ช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นทฤษฎีที่มุ่งสร้างโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ในทางสงคราม ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลอเมริกันต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ในประเทศเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาเข้าใจดีว่าการเปลี่ยนทุกอย่างแบบกะทันหันนั้นเป็นเรื่องยาก รัฐบาลจึงบอกให้ทุกบริษัทมองหาสิ่งเล็ก ๆ ที่พอจะปรับปรุงได้ก่อน และพัฒนาสิ่งนั้นให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะรีเซ็ตระบบใหม่ทั้งหมด
หลังจากอเมริกาได้รับชัยชนะในสงครามโลกด้วยอาวุธที่ผลิตจากโรงงานที่นำแนวคิดการปรับปรุงสิ่งเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องมาใช้ อเมริกาก็แนะนำแนวคิดนี้ให้กับชาวญี่ปุ่นเพื่อให้นำไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘Kaizen’ ซึ่งแปลว่าการพัฒนาในภาษาญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีแนวคิด Kaizen จะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้กับภาคธุรกิจ แต่มันก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของผู้คนได้เป็นอย่างดี Kaizen ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนไปมากกว่าการที่ให้เราเลิกตั้งเป้าหมายใหญ่ เปลี่ยนเป็นการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ จะเล็กแค่ไหนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายเล็ก ๆ นั้นต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันและช่วยเกื้อหนุนนำเราไปสู่ความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าได้
‘เราต้องพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นวันละ 1%’
นี่คือหลักใหญ่ใจความของ Kaizen Way แทนที่จะมองข้ามช็อตไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ ลองเปลี่ยนเป็นตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในทุก ๆ วันและทำมันให้สำเร็จ ก่อนที่จะเพิ่มเป้าหมายขึ้นอีกนิดหน่อยในวันต่อไป จะนิดเดียวหรือเล็กน้อยเท่าไรก็ได้ ขอแค่มันดีขึ้นก็โอเคแล้ว ซึ่งถ้าเราทำต่อเนื่องติดต่อกัน 100 วัน เท่ากับว่าเราก็ได้พัฒนาตัวเองในด้านนั้น ๆ ไป 100% แล้ว
ตัวอย่างเช่น
ข้อดีของ Kaizen Way คือการที่เป้าหมายเราเล็ก ทำให้ไม่รู้สึกท้อแท้ในการจะทำมันให้สำเร็จ นอกจากนั้นการที่เราทำได้ตามเป้าหมายทุกวันยังช่วยสร้างกำลังใจให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ อีกด้วย
เพราะการพัฒนาตัวเองนั้นไม่ได้ง่าย ดังนั้นแน่นอนว่าต้องมีบางคนที่เราไม่สามารถพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น 1% ได้ตามเป้า หรืออาจจะทำได้แย่กว่าเมื่อวานเสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือแค่ลืมมันไป ลืม 1% ที่เราแย่ลงเพื่อเริ่มต้นใหม่ในวันพรุ่งนี้กับ 1% ที่จะทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ง่าย ๆ แค่นั้นเอง
ถือว่าเป็นการพัฒนาตัวเองอีกแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย เป็นแนวทางที่ดูไม่ทะเยอทะยาน อาจจะดูสวนทางกับกระแสของโลกยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและค่อย ๆ ก้าวทีละก้าวไปหามัน อาจจะถึงช้าหน่อย แต่สักวันต้องถึงแน่นอน เป็นการถึงที่เราไม่เหนื่อย นอกจากนั้นยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทางอีกด้วย