

Must Read
Streetwear แฟชั่นที่เริ่มจาก Sub-Cultures สู่ Mainstream
By: Chaipohn August 20, 2015 12178
กระแส Streetwear เป็นคำที่พวกเราคุ้นหูกันดีในปัจจุบัน แต่ในความหมายของคำว่า Street นั้นยังคลุมเครือ และการตีความหมายยังผิดๆถูกๆอยู่บ้าง บางคนคิดว่าใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ก็คือ Streetwear แล้ว แต่จริงๆมันมีนิยามมากกว่านั้น สิ่งที่เรารู้คือ Streetwear ถูกสร้างขึ้นจากพื้นฐานของ Sub-Cutures ที่มีการตีความแตกต่างกันไป บ้างก็ว่ามันมาจากรากฐานของ Hip Hops บ้างก็ว่ามันมาจากชาว Surf บ้าง ชาว Skateboards บ้าง แต่โดยรวมแล้วต้องบอกว่าทุก sub-cultures มีส่วนในการทำให้ Streetwear กลายเป็นสไตล์แฟชั่นหลักและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากดีไซเนอร์และแบรนด์ชั้นนำอย่างทุกวันนี้
ถ้าว่ากันตามข้อมูลที่เสียงส่วนใหญ่พูดเหมือนกัน Streetwear เริ่มต้นในช่วงปลาย 70s ต้น 80s นาย Shawn Stussy ผู้เป็นทั้ง Designer, Surfer และยังทำ Surfboard และ Skateboard ขาย ถือเป็นคนแรกๆที่เริ่มออกแบบทำเสื้อยืดขายไปพร้อมๆกันกับสินค้าอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากการพิมพ์โลโก้ Stussy แบบเดียวกับที่ใช้บนแผ่น boards ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก และเริ่มมีคนทำตามมากขึ้น ก่อนจะแทรกซึมเข้าไปในวงการ Sportwears เช่น Nike ที่จับคู่กับ Michael Jordan ทำให้เสื้อ Jersey และรองเท้าบาสกลายเป็น Streetwear ที่พีคมากในช่วงปี 80s – 90s กระจายไปสู่กีฬาชนิดอื่นๆในช่วงปลาย 90s (คนอายุ 30 ขึ้นน่าจะจำได้ สมัยนั้นทุกคนใส่รองเท้าบาสเท่ๆกันหมด) จาก Sportwears ส่งต่อไปสู่วงการเพลง Hip Hop หรือที่เราเรียกว่า Bling Bling culture ทันทีที่ MTV นำพาเพลง Hip Hop ให้เข้าถึงคนได้ทั่วโลก แบรนด์เนมชั้นนำก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปแปะไว้ใน MV และเริ่มออกแบบเสื้อผ้าที่นักร้อง Rapper สวมใส่ในที่สุด
การแต่งตัวแนว Street ค่อนข้างจะกว้างและไม่มีคำว่าถูกผิด เน้นการแต่งตัวสบายๆ หลวมๆ มีลวดลายไม่ว่าจะเป็น logo หรือประโยคเจ็บๆเด่นชัด มีลูกเล่นพอสมควร เช่นหมวก, แจ็คเก็ต แต่ Concept ของ Streetwear จริงๆแล้วเป็นการแสดงออกถึงความคิดต่างๆของแต่ละบุคคล (Self Expression) ที่แตกต่างกันตามแต่ละยุคสมัย ทำให้คำว่า Streetwear ค่อยๆซึมซับเอาความเปลี่ยนแปลงของสังคมเข้าไปด้วย ถึงกระนั้นตัวตนของ Streetwear ก็ยังคงมีความชัดเจน บางครั้งก็เป็นการสื่อความหมายที่รุนแรงจนเกินงาม โดยเฉพาะเมื่อมีการเมืองและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยความเสรีและเป็นอีกช่องทางในการแสดงออกของแต่ละบุคคลนี้เอง Streetwear จึงถูกคนใน Sub-cultures ต่างๆนำไปปรับใช้กันอย่างรวดเร็ว กระทั่งกระจายไปสู่แฟชั่นในวงการกีฬาและแฟชั่นแบรนด์ชั้นนำ กลายมาเป็น Mainstream ในที่สุด
แล้วใส่ยังไงถึงจะเรียกว่า Streetwear จากคำนิยามของ Mr.Porter Fashion Guru ระดับโลก มีแบ่งเอาไว้ แต่เราจะดึงมาเฉพาะสิ่งที่คิดว่าเหมาะกับบ้านเรานะครับ
1. Wear Oversized ใส่ใหญ่ไว้ก่อน
สิ่งที่ตรงข้ามกับ Streetwear มากที่สุดคือคำว่า Slim Fit ข้อดีที่ผู้ชายหลายคน (รวมทั้งเราด้วย) นิยมแต่งตัวแบบ Street เพราะความสบาย ไร้กฎเกณฑ์ จึงเหมาะกับทั้งผู้ชายตัวเล็กที่ต้องการดูหนาขึ้น หรือผู้ชายตัวใหญ่ที่อยากปิดบังพุงก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ส่วนการเลือกควรเลือกไซส์ที่ใหญ่กว่าปกติสัก 1 ไซส์ หรือจะใส่หลายๆชิ้นให้ดูมีเลเยอร์ก็ได้เช่นกัน
2. Logo ต้องใหญ่
การแต่งตัวแบบโชว์โลโก้แบรนด์ต่างๆอาจดูคล้ายการโชว์ออฟว่าใส่ของมียี่ห้อ แต่นั่นขึ้นอยู่กับภาพรวมมากกว่า และเราคิดว่าหลายคนน่าจะพอนึกภาพออก สำหรับ Streetwear เราจะเห็นการออกแบบที่มี Logo ใหญ่ๆอยู่เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมันเป็นการสะท้อนสไตล์ของคนๆนั้นกับแบรนด์ที่เลือก แต่ต้องระวังไม่ให้โลโก้บนตัวเราเยอะเกินไป คำแนะนำคือเลือกโลโก้ใหญ่ๆแค่ทีละ 1 หรือ 2 ชิ้นก็พอ
3. บอกตัวตนด้วย Statement
ประโยคต่างๆบนเสื้อผ้าที่เราใส่ ไม่ใช่แค่เพื่อความเท่ แต่ด้วยรากของความเป็น Streetwear การบอกตัวตนผ่านประโยคคำพูดบนเสื้อผ้าถือว่าเป็นสิ่งที่ Street มากๆ แต่การเลือกใส่ควรจะดูสถานที่และความเหมาะสมให้ดี เช่นการหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อที่มีประโยคโอ้อวดชวนให้คนหมั่นไส้ รวมถึงการใส่เสื้อที่มีประโยคภาษาแปลกๆ ในที่ต่างถิ่น ในกรณีที่แย่ที่สุดอาจเหมือนการใส่เสื้อ Man City ที่มีคำว่า “กระจอก” ไปนั่งเชียร์บอลในร้านเหล้าที่เต็มไปด้วยชาว Man Utd นั่นแหละครับ
4. Sneakers ผ้าใบต้องสะอาด
รองเท้าเปรียบเสมือนล้อแม็กซ์สวยๆที่ทำให้รถดูดีขึ้นมาก รองเท้าผ้าใบเป็นสิ่งที่ Streetwear ขาดไม่ได้ และสำหรับรุ่นใหญ่ใจรัก รองเท้าเป็นชิ้นที่หลายคนทุ่มเงินเก็บสะสมรุ่นพิเศษๆอยู่เสมอแม้จะไม่ได้ใส่ก็ตาม แม้ Mr. Porter จะพูดถึงแต่รองเท้าสีขาว แต่ในความเป็นจริงรองเท้าผ้าใบสีไหนก็ Street ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ Adidas สีขาวแบบ Run-DMC เท่านั้น อย่าลืมว่า Converse ก็มีหลายสีให้เลือก Vans ก็เป็นสีดำซะเยอะ ดังนั้นข้อนี้เราแนะนำให้เองว่า ดูแลรักษารองเท้าไม่ให้เละเทะ ทำความสะอาดหลังใส่ทุกครั้ง
เรื่องแฟชั่นเป็นเรื่องที่ไม่มีถูกและผิดชัดเจนนะครับ สำหรับอากาศแบบบ้านเรา Streetwear อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อหลายๆตัวแบบต่างประเทศก็ได้นะครับ ลองยึดรากฐาน concept ของมันแล้วเลือกใส่ตามที่สบายใจก็ได้ เอาที่คนใส่สบายใจ สบายกระเป๋าเข้าไว้ก็พอแล้วครับ