Life

ROAD RAGE: หัวร้อนหลังพวงมาลัยบ่อย ๆ ระวังสมองกับร่างกายถดถอย ถ้าไม่รู้จักปล่อยวาง

By: unlockmen August 28, 2018

วันนี้ช่างเป็นวันที่สวยงาม รถไม่ติดมากเกิน ฝนไม่ตก แดดกำลังดี ยิ้มไปเหยียบคันเร่งไป จำพวงมาลัยสลับเคาะจังหวะตามเสียงเพลง รถไหลไปฉิว ๆ ในจังหวะไฟเขียว ทันใดนั้น ก็มีรถมารยาทโคตรแย่อยู่เลนเลี้ยวซ้ายเพื่อทำความเร็ว ก่อนลักไก่ปาดหน้ารถคุณเข้าเลนกลาง ทำให้คุณไม่มีทางเลือกนอกจากกระทืบเบรกเพื่อไม่ชนจนกาแฟแก้วโปรดคุณก็หกเต็มคอนโซล ทันใดในอารมณ์ของคุณก็เดือดพล่าน บีบแตรลั่นลากยาว ก่อนจะตะโกนด่าออกไปว่า “ไอ้เหี้_!” แม้เข้าของรถคันข้างหน้าจะไม่ได้ยิน แต่ก็น่าจะอ่านปากได้ไม่ยาก

จากนั้นอารมณ์คุณก็เย็นลง แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าคุณไม่ได้ขับรถคนเดียว มีสาวนั่งมาด้วยข้าง ๆ  ไม่ก็เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ กว่าจะรู้สึกผิดกับการระบายอารมณ์ของตัวเองก็สายไปแล้ว ทำได้แค่กล่าวขอโทษผู้โดยสารแบบเขิน ๆ  ไอ้ความเดือดดาลบนท้องถนนที่คุณเป็นนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า “road rage”

 

หัวร้อนบนท้องถนนถือเป็นเรื่องปกติไหม ?

ความโกรธเป็นประสบการณ์ปกติของมนุษย์ ซึ่ง road rage คือคำที่นิยมใช้เรียกภาวะที่เราโกรธขณะขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนเคยโมโหหลังพวงมาลัยกันมาแล้ว เกือบ 80% ของผู้ขับขี่ก็เคยระบายออกมาในรูปแบบต่าง ๆ จากผลสำรวจของ American Automobile Association (AAA) Foundation for Traffic Safety

Stan Steindl นักจิตวิทยาคลินิค และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง University of Queensland ให้คำตอบว่า road rage นั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ การคุกคาม และการขับขี่ (หรือไม่ได้ขับขี่) ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นคือผลจากสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ โดยการคุกคามบนท้องถนนก็อย่างเช่นการปาดหน้าอย่างกะทันหัน ทำให้เราต้องเบรกตัวโก่ง และเกิดสัญชาตการต่อสู้ขึ้นมา เพราะว่าเราไม่สามารถเอาตัวออกจากสถานการณ์นี้ได้ นอกจากนี้ Steindl ยังอธิบายอีกว่า สิ่งที่ผลักดันจิตของเราให้ฮึดสู้ขึ้นมาก็คือสถานการณ์ที่ถูกห้ามกระทำหรือเจออุปสรรคบางอย่าง ทำให้เราโกรธและอยากที่จะเอาชนะขวากหนามตรงหน้า

 

แต่ว่าผมว่าผมขับรถดีนะ…

สองในสามของผู้ใช้รถใช้ถนนบอกว่าพวกเขาเป็นคนที่ขับรถดี ถูกกฏจราจร เน้นความปลอดภัย และมีทักษะในการขับขี่ที่ดี ทว่าผลสำรวจจากเพื่อนสนิทของคนเหล่านั้นกลับสวนทาง ทำให้ตัวเลขที่น่าปลื้มใจในตอนแรกลดลงเหลือราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะแม้แต่การบ่นด้วยอารมณ์เซ็งคันอื่นอย่างเช่น “เห้ย ขับรถอย่างงี้ นี่มึงจะฆ่ากันเหรอ!” หรือ “นี่สอบหรือซื้อหรือสอบใบขับขี่มาวะ!?” ก็สามารถเพิ่มอุณหภูมิของความโกรธได้ ยิ่งรู้ตัวว่านั่งอยู่ในพื้นที่ปิดอย่างในรถยิ่งสบถได้เต็มที่ใหญ่ รถติดในกรุงเทพนี่บ่น rhyme ออกมาได้อย่างกะ rapper

“เวลาที่เรารู้สึกเป็นส่วนตัว ไม่มีใครรับรู้ เราจะรู้สึกว่าไม่ต้องแคร์สังคม ไม่รู้สึกอาย ไม่รู้สึกผิด ก็เลยแสดงพฤติกรรมส่วนตัวออกมาได้เต็มที่” Steindl กล่าวเสริม

 

Road rage ทำให้เสียสุขภาพไหม ?

การระเบิดอารมณ์บนท้องถนนอาจไม่ดีกับตัวเรานัก เพราะมันอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้ จากการวิจัยซ้ำเมื่อปี 2014 ของ NCBI ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์โกรธและปัญหาของระบบหัวใจและหลอดเลือด ยังคงยืนยันว่าความเครียดทางจิตทำให้อัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงความดันเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเหวียนโลหิตสามารถทำให้ไขมันอุดตันในหลอดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้อาจมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดหัวใจและสมองได้

จากการเก็บรวบรวมสถิติที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์ตัวเลขที่น่าสนใจออกมาเมื่อปี 2014 โดยแบ่งกลุ่มสำรวจออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ กับกลุ่มที่สองซึ่งมีอัตรเสี่ยงสูง พบว่า ถ้าทั้งสองกลุ่มโกรธจริงจังสองครั้งในหนึ่งวัน กลุ่มแรกจะมีปัญหาทางระบบหัวใจและหลอดเลือดกว่า 63 อาการ ต่อ 10,000 คน ต่อหนึ่งปี ขณะที่กลุ่มที่สองจะมีอาการกว่า 268 ครั้ง ต่อ 10,000 คน ต่อหนึ่งปี

นอกจากนี้ การศึกษาจาก AAA ยังพบอีกว่า ในหนึ่งปีมีคนราว 8 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาที่ออกอาการ road rage อย่างชัดเจน และก็ตามคาด มีผู้คนที่เสียชีวิตเนื่องจาก road rage ไม่น้อยจากการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนและอาวุธอื่น ๆ ด้วย

 

แล้ว road rage ถึงเรียกว่าพอเหมาะ ?

ยิ่งหัวร้อนแค่ไหนยิ่งอยากเสี่ยง ยิ่งวู่วามยิ่งนำพาสู่การเกิดอุบัติเหตุ โกรธมากก็ก้าวร้าวมาก ยิ่งพูดยิ่งทำอะไรรุนแรงไปใหญ่ ต้องอย่าลืมเตือนตัวเสมอ แม้เราจะไม่เปิดกระจกโผล่หน้าไปด่าใครนอกรถ มันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะควบคุมได้ ยังไงสิ่งที่แสดงออกในที่ปิดก็ไม่ใช่แอคชั่นในแง่บวกอยู่ดี เพราะฉะนั้นต้องคอยควบคุมและบริหารความรู้สึกและการกระทำของตัวเองให้ได้ อย่าให้ติดเป็นนิสัย ค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ ทำจนสามารถควบคุมตัวเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ

 

จะเตือนคนหัวร้อนบนท้องถนนได้อย่างไร ?

การบอกให้คนอื่น “ใจเย็น ๆ” ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากก็คือจังหวะในการห้ามปรามคนที่กำลังลุกเป็นไฟ บางครั้งอาจต้องขออนุญาตเตือนกันก็เป็นได้ ต้องดูอารมณ์คนหลังพวงมาลัยให้ดี

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนหัวร้อนบนท้องถนนก็คือความเครียดในชีวิตประจำวัน จนทำให้มาลงกับเวลาที่อยู่บนท้องถนน สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือคอยเตือนตอนที่เขาอารมณ์ดี แนะนำให้รู้จักควบคุมความโกรธ ไม่ก็สร้างความบันเทิงด้วยการชวนคุยเรื่องฮา ๆ  เปิดเพลงฟังบนรถ ยิ่งสนิทกันยิ่งดี จะได้รู้รายละเอียดที่จะทำให้เพื่อนเราคนนี้เย็นลงได้ แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปพูดแรงเกิน เดี๋ยวจะเดือดไปใหญ่

การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก็มักจะต้องเจอเหตุการณ์บนท้องถนนที่ทำให้โมโหเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ต้องทำใจร่ม ๆ ก่อนสตาร์ทรถทุกครั้ง และเผื่อใจว่าอาจเจอเรื่องน่าเดือดระหว่างทาง อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการจราจรเหล่านี้คงจะใช้เวลาแก้อีกนาน บางทีอาจเกินอายุขัยของพวกเราไปแล้วก็ได้ การปรับใจตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ฝึกควบคุมอารมณ์ควบคู่กับการเคารพกฏจราจรจนกลายเป็นนักขับผู้เยือกเย็น ไม่ใช่นักแข่งบนทางหลวง แค่นี้ก็กลับบ้านนอนหลับสบายแล้ว

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line